ถ้าจะว่าไปแล้วเวลาคนเราลงทุนลงแรงเพื่อทำอะไรสักอย่าง ก็คงไม่มีใครวางแผนเพื่อที่จะขาดทุนกันหรอก ยกเว้นบางคนที่วางแผนขาดทุนโดยตั้งใจเพื่อผลประโยชน์ที่มากกว่าที่จะตามมาก็มี แต่เอาเป็นว่านั่นเป็นคนละประเด็นกันก็แล้วกัน โดยทั่วไปการซื้อขายหุ้นจริงๆ แล้วก็คือการวางแผนเพื่อให้เราได้กำไรนั่นแหละ ดังนั้นก็มักมีคนถามว่าอ้าวแล้วถ้าแบบนั้นมันไม่ใช่เป็นการเก็งกำไรหรือ ถ้าจะตอบว่าไม่ใช่ไปทั้งหมดก็คงไม่ถูกหรอกครับ เพราะลึกๆ แล้วส่วนหนึ่งมันคือการเก็งกำไรนั่นแหละ
อย่างไรก็ตามการซื้อหุ้นนั้นมี สภาพการณ์ วิธีการ และตัวเลือก ให้เรากระทำได้ในหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การ ฟากการซื้อขายแบบเก็งกำไรจริงๆ ไปจนกระทั่งเป็น ฟากการลงทุนเกือบจะแท้จริง สังเกตดีๆนะครับตรงอย่างที่หลังที่ผมใช้คำว่า "เกือบจะแท้จริง" เพราะอย่างที่บอกไปข้างบนก็คือการลงทุนนั้นในบางแง่มุมก็มีการเก็งกำไรผสมด้วยอยู่ดี
ฟากการเก็งกำไร
การเก็งกำไรแบบแท้จริงอาจจะด้วยการไม่สนใจอะไรเลย และซื้อขายในหุ้นตัวใดก็ได้ที่ถูกใจ ราคาตามมูลค่าต่อหุ้นเป็นเท่าไรไม่ต้องคำนวณหรอก โดยอาจจะเป็นหุ้นพรายกระซิบ หรือให้ทันสมัยหน่อยก็คือไปสอบถามตามเว็บบอร์ดหุ้นว่า พรุ่งนี้เขาจะเล่นอะไรกัน หรือดูการแกว่งตัวของราคาหุ้น แล้วก็ซื้อขาย บางคนซื้อราคาเปิดขายราคาปิดวันเดียวกัน หรือซื้อราคาปิดวันนี้ขายราคาเปิดวันรุ่งขึ้น ให้ได้เสียกันไปข้างหนึ่งเลยก็มี บางคนคิดว่าหุ้นลงมาตั้งเยอะแล้วประเดี๋ยวก็ต้องขึ้นบ้างล่ะ สู้ตาย ว่างั้นเถอะ ไม่รู้ว่ารอดหรือตายไปเท่าไรเหมือนกัน
ฟากการลงทุนเกือบแท้จริง
ไล่เรื่อยมาในวิธีการจนกระทั่งเป็นการ ลงทุนเกือบจะแท้จริง แบบนี้คือดูสารพัดอย่างไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานของบริษัทว่าทำอะไร ขายอะไร บริการอะไร มีลูกค้ามากน้อยเพียงใด มีอัตรากำไรแค่ไหน ประเมินความเป็นไปได้ในการเติบโตของธุรกิจ คำนวณราคาหุ้นตามมูลค่าของบริษัท คำนวณความเสี่ยง วางแผนวิธีการซื้อและขายกับราคาของหุ้นที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แล้วก็ลงมือลงทุน ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนที่ใช้วิธีเช่นนี้ย่อมจะต้องดูว่าราคาที่ซื้อหรือราคาเฉลี่ยที่ซื้อจะต้องต่ำกว่าราคาที่หุ้นของบริษัทนั้นสามารถขึ้นไปได้ภายใต้พื้นฐานของธุรกิจของบริษัท (คือ Value นั่นล่ะ) แต่การคาดการณ์ว่าราคาจะต้องสูงขึ้นไปอีกก็คือการเก็งกำไรที่ผสมอยู่นั่นเอง และเป็นการเก็งกำไรแต่อยู่บนพื้นฐานของความจริงและความน่าจะเป็น เมื่อทำซ้ำๆ กันหลายครั้งก็น่าจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการลงทุนแบบโยนหัวโยนก้อย
สรุป
ดังนั้นโดยหลักแล้วการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ย่อมมีการเก็งกำไรผสมอยู่ด้วยเสมอ เราต้องยอมรับในจุดนั้นก่อน เพียงแต่เราต้องเลือกจุดยืนว่าจะเอียงไปด้านใด เช่น เก็งกำไรมาก หรืออยู่ในด้านการลงทุนมาก ก็เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจเอง ส่วนนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็จะเก็งกำไรกับการซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของธุรกิจนั้น การที่เรานึกเสมอว่าการลงทุนเป็นการเก็งกำไรอยู่ด้วย เพราะสัญชาติญาณหนึ่งของนักเก็งกำไรคือการ เอาตัวรอด การรักษาเงินทุน (เงินต้น) เอาไว้ แม้ว่าเราเป็นนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการ แต่จะเป็นการดีที่เรามีสัญชาติญาณสองอย่างที่ว่ามานั้นด้วย ก็จะทำให้ความเสี่ยงลดลงไปอีก
ทดลองทำ
ลองเลือกหุ้นของบริษัทที่เราสนใจสัก 3 บริษัท แล้วพิจารณาว่าราคาตามมูลค่าเป็นเท่าไร ราคาบนกระดานเป็นเท่าไรต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาตามมูลค่าเท่าไร และใน 3 บริษัทนั้นมีบริษัทใดที่เราคิดว่าจะได้กำไรในระยะเวลาเท่าไร ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง และในที่สุด ใน 3 บริษัทที่เราเลือกมานี้ ถ้าเราซื้อมันจริงๆ จะเป็นการลงทุนหรือเก็งกำไรมากกว่ากัน