วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โบรกเกอร์ กับ บทวิเคราะห์


หลายๆ ครั้งที่เพื่อนๆ จะบ่นเมื่อได้อ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ นะครับ แต่สำหรับผม ผมเฉยๆ กับเรื่องนี้และสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่เลย เพราะผมจะแบ่งสิ่งที่อยู่ในบทวิเคราะห์ออกเป็น "ความจริง" และ "ความเห็น" เสมอครับ เราที่เป็นนักลงทุน ก็จะต้องแยกให้ออกว่าส่วนไหนเป็นความเห็น ถ้าเรามองความจริงเป็นเพียงความเห็นแล้วเพิกเฉยไปก็ทำให้เราเสียโอกาส ในทางตรงกันข้ามถ้าเราใช้ความเห็นที่อาจจะไม่จริงมาเป็นความจริงและทำตามทั้งหมด เราก็อาจจะขาดทุนได้ง่ายๆ ทีเดียว

"ความจริง" คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มีหลักฐานยืนยัน ไม่สามารถบิดเบือนได้ (หรือได้ยากมาก) เช่น งบการเงินปีที่ผ่านมา ไตรมาสที่ผ่านมา เป็นต้น ส่วน "ความเห็น" คือสิ่งที่ยังไม่เกิด ส่วนนี้แหละที่สำคัญว่า นักวิเคราะห์ทั้งหลายมองโลกในแง่ดีเกินไป ดีมาก ดี อนุรักษ์นิยม ร้าย หรือร้ายมากๆ สุดๆ

การวิเคราะห์ จะผสมรวมกันในของหลายอย่างทั้งความจริงคือผลการดำเนินงานในอดีตและความเห็นของผู้วิเคราะห์ ภายใต้เงื่อนไขเพิ่มเติมอีกหลายประการ เงื่อนไขเหล่านี้อาจจะถูกเขียนระบุไว้ในบทวิเคราะห์อย่างชัดเจนหรืออาจจะไม่ถูกพูดถึงเลยก็ได้ หน้าที่ของเรา (นักลงทุน, นักเก็งกำไร หรือจะอะไรก็แล้วแต่) จะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่นักวิเคราะห์ได้ตั้งเงื่อนไขประกอบ (และสภาพความเป็นจริง) ที่จะได้มาซึ่งการคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นนั้นๆ มาได้อย่างไร มีความเป็นไปได้ มาก หรือน้อยอย่างไร เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่นักวิเคราะห์ที่ประสบการณ์น้อยไม่ได้รวมเข้าไปด้วย ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ในบางส่วน

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การวิเคราะห์ธุรกิจที่ไม่ผันผวนมากจะมีความแม่นยำไม่น้อย (60-80%) เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาในการที่ราคาหุ้นจะสะท้อนผลการดำเนินงาน เพราะราคาของหุ้นในระยะสั้น (นับจากวันที่บทวิเคราะห์ออก) จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่อย่างไร อาจจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าไร อาจจะเป็นเพราะว่านักลงทุนบางส่วน เห็นว่าเมื่อวิเคราะห์ออกมาว่า หุ้นตัวนี้ราคาตอนนี้ 9 บาทแต่ราคาเหมาะสม 12 บาท ก็เป็นข่าวดีซึ่งต้อง Sell on fact เสียอย่างนั้นก็ได้ (ทั้งที่ ราคา 12 บาทเป็นราคาที่เหมาะสมในอีก 6 เดือนข้างหน้า !!??!!)