ความรู้สำหรับนักลงทุนมือใหม่


ผมพยายามรวบรวมความรู้เกี่ยวกับหุ้น ตั้งแต่เริ่มต้นเอาไว้ เพื่อให้นักลงทุนรุ่นใหม่ได้ศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะเข้าสู่สังเวียน.. เอ๊ย ขออภัย ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ (ที่บางคนก็เรียกว่า ตลาดหลอกทรัพย์บ้าง ตลาด(ห)ลักทรัพย์ บ้าง อันนี้ก็แล้วแต่กรรมแต่วาระนะครับ) เพื่อนๆ ที่เป็นมือใหม่ลองค่อยๆ อ่านดูด้านล่างนี้เพื่อเป็นความรู้และเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองนะครับ

หุ้นคืออะไร
ทำไมเราจึงลงทุนในหุ้น
หุ้นสามัญ
หุ้นบุริมสิทธิ
หุ้นกู้
ตลาดหุ้นคืออะไร ซื้อแล้วหุ้นไปไหน
แนวทางการซื้อขายหลักทรัพย์
เทคนิคต่างๆ ในการซื้อขายหลักทรัพย์



หุ้นคืออะไร


หุ้น ก็คือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของกิจการโดยการร่วมทุน เช่นเมื่อเราต้องการทำธุรกิจกับเพื่อน เราก็เอาเงินมารวมกัน แล้วทำกิจการ และเพื่อป้องกันการคดโกงกันในภายหลัง เราและเพื่อนก็จะต้องทำสัญญาต่อกันว่าได้ลงทุนร่วมกัน รูปแบบหนึ่งที่บอกว่าคนหรือกลุ่มคน ได้ร่วมทุนกันทำธุรกิจ ก็คือการแบ่งเงินทุนออกเป็น "หุ้น" แต่ละ "หนึ่งหุ้น" ก็จะมีส่วนเป็นเจ้าของเท่าๆ กัน คนที่มีหุ้นหรือเรียกว่า "ถือหุ้น" มากกว่า ก็จะมีส่วนเป็นเจ้าของมากกว่าคนที่ถือหุ้นน้อยกว่า เป็นต้น

ผู้ที่ถือหุ้น จะได้รับผลประโยชน์จากการถือหุ้นในหลายลักษณะ เช่นได้รับปันผล, หรือเมื่อมีการเพิ่มทุน ก็จะได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนผู้อื่น และอาจจะในราคาถูกกว่าผู้อื่น เป็นต้น

หุ้น สามารถจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ ดังนั้นแล้วเมื่อมีการจำหน่าย ราคาก็สามารถที่จะเปลี่ยนไปได้ตามความนิยม หรือตามความสามารถในการทำเงินของกิจการนั้นๆ หากกิจการทำเงินได้ดี ได้มาก และมั่นคง เจ้าของหุ้นก็สามารถขายหุ้นในราคาที่สูงได้ (เพราะมีคน "ยอมจ่ายเงินแพงขึ้น" เพื่อแลกกับกิจการที่มั่นคง, ทำเงินได้ดี นั้นๆ) แต่ในทางตรงกันข้าม หากกิจการประสบภาวะขาดทุน และไม่สามรถแข่งขันได้ ราคาหุ้นก็อาจจะตกต่ำลงมามากเนื่องจากไม่มีใครต้องการ

จริงๆ แล้วที่เราเรียกว่าหุ้น ยังสามารถแบ่งออกได้อีกหลายประเภทคือ หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, และหุ้นกู้ โดยที่ทั้งสามอย่างนี้ บอกถึงความมีส่วนเกี่ยวพันกับบริษัท แต่ว่าในลักษณะที่ต่างกัน



ทำไมเราจึงลงทุนในหุ้น


การลงทุนในหุ้น หรือหุ้นสามัญนั้น เป็นเพียงวิธีหนึ่งในหลายๆ วิธีของการลงทุนจากเงินที่เราเหนื่อยยากหามาได้ ยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่บางทีอาจจะฟังดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นการลงทุนเช่น การซื้อของสะสมมาเก็บไว้ เช่นพระเครื่อง เหรียญเก่าๆ รถยนต์รุ่นเก่าๆ เป็นต้น เหตุผลนั้นง่ายมากก็เพราะว่า นักลงทุนที่มีความสามารถดีนั้นทราบดีว่า การลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด และในระยะเวลานาน (ย้ำ) การลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ให้ผลตอบแทนได้สูงที่สุด

เรามาดูในด้านที่ไม่ดีบ้าง การลงทุนในหุ้นก็เป็นการลงทุนที่อาจจะไม่แน่นอนได้ เช่นมูลค่าของหุ้นสามารถที่จะตกลงได้ในบางช่วงเวลา บางครั้งราคาหุ้นอาจะจตกลงมาเป็นเวลานาน ความโชคร้าย หรือว่าการเข้าซื้อหุ้นที่ผิดราคาผิดเวลา สามารถทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่่ต่ำได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการวางแผนในการลงทุนระยะยาว แต่ (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง) สำหรับหุ้นแต่ละตัวที่นักลงทุนได้เลือกลงทุนแล้ว ไม่มีอะไรเป็นการรับประกันได้ว่าจะมีกำไรทุกครั้งไป ถ้านักลงทุนโชคร้ายจริงๆ หรือว่าเลือกหุ้นที่มีราคาลดลงเรื่อยๆ (มันมีเหตุ ที่ทำให้เป็นแบบนั้น ซึ่งเราหลีกเลี่ยงได้) นักลงทุนก็สามารถขาดทุนได้เช่นกันแม้ในระยะเวลานาน

ถ้าพวกเราได้อ่านบทความของผมไปเรื่อยๆ และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนโดยมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้และมีผลตอบแทนที่สูงได้ (low risk, high return) บทความนี้จะเป็นตัวช่วยทำให้พวกเรามีโอกาสเลือกหุ้นได้ถูกตัว ก็คือเลือกธุรกิจที่ดี และหลีกเลี่ยงหุ้นที่เราไม่ควรจะซื้อ (คือธุรกิจที่ไม่ดี) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องทำงานคัดเฟ้นหาบริษัทเหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าเพราะจะเป็นวิธีที่ทำให้เงินของเราทำงานให้กับเราได้ดีกว่าการนำเงินไปทำอย่างอื่น



หุ้นสามัญ (Common Stocks)


คือเอกสารที่บอกถึงความมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงเพื่อการบริหารงาน และมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นสิทธิในเงินปันผล สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน สิทธิในการได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (วอแรนท์ - Warrant) เป็นต้น ดังนั้น การที่เราเป็นเจ้าของหุ้น ก็เหมือนกับว่าเรามีส่วนในการเป็นเจ้าของบริษัทด้วย โดยผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมในการลงทุนในหุ้นนั้นก็คือ ผลตอบแทนจากเงินปันผล, ผลตอบแทนจากมูลค่าหุ้นที่ (อาจจะ) เพิ่มขึ้น, และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการซื้อหลักทรัพย์เกี่ยวพันกับบริษัทในราคาต่ำกว่าบุคคลภายนอก ไม่ใช่เพียงแต่การซื้อมาแล้วขายไปเพื่อกำไรที่เกิดขึ้นจากราคาที่เปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว



หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stocks)


คล้ายกับหุ้นสามัญ เพียงแต่ว่าไม่มีสิทธิออกเสียงในการบริหาร แต่มีสิทธิประโยชน์ด้านเงินปันผลมากกว่าหุ้นสามัญ กล่าวคือเมื่อบริษัทจะจ่ายปันผล จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธินี้ก่อน หลังจากนั้นจึงจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นสามัญ เป็นต้น รายละเอียดของบุริมสิทธิที่พึงจะมี จะต้องดูในเอกสารของบริษัทนั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้ว หุ้นบุริมสิทธิ์มักไม่เป็นที่ดึงดูดในการลงทุนนัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำสูง และมีสิทธิประโยชน์ (กับบริษัทผู้ออก) ต่ำกว่าหุ้นสามัญ ในขณะที่หากบริษัทถึงกาลมีปัญหาจริงๆ ก็มักไม่เหลือเงินคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นชนิดนี้อยู่ดี นักลงทุนส่วนมากจึงมักหลีกเลี่ยงกัน



หุ้นกู้ (Bonds)


พวกนี้ จริงๆ แล้วเป็นเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ต่อบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ซึ่งก็คือการที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ได้กู้เงินผู้ซื้อหรือผู้ถือหุ้นกู้นั้นเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินกิจการ โดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทน (ดอกเบี้ยนั่นแหละ) ให้กับผู้ถือเป็นจำนวนเท่าใด เป็นเวลานานเท่าใด และครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อใด ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว บริษัทก็จะนำเงินสดมาซื้อหุ้นกู้นั้นคืนจากผู้ถือตามราคาหน้าตั๋ว ซึ่งก็คือการใช้หนี้นั่นเอง ส่วนทำไมคนไทยเราเรียกว่าเป็นหุ้นผมเองก็ยังงงๆ อยู่เพราะทั้งนี้ตัวหุ้นกู้เองแท้ๆ แล้วถือว่าเป็นตราสารหนี้ (ส่วนหุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ เป็นตราสารทุน) แต่หากหุ้นกู้ใดถูกกำหนดไว้ว่าสามารถแปลง (ร่าง) เป็นหุ้นสามัญได้ด้วยตามแต่ที่จะได้ตกลงกันไว้ ก็จะเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ผู้ลงทุนจะต้องไปตรวจดูรายละเอียดของหุ้นกู้นั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง

มีข้อหนึ่ง ที่ผมอยากจะบอกเล่าให้กับท่านนักลงทุนหน้าใหม่ได้ทราบ คือการซื้อขายหุ้น ก็เหมือนกับสินค้าทั่วไป คือมันมีราคา เพราะมีคนต้องการ เราขายสินค้าหรือหุ้นได้ทั้งหมดโดยไม่เหลือ ก็เพราะมีคนต้องการสินค้านั้น หรือหุ้นนั้นในปริมาณที่เรามีอยู่ คือวันหนึ่งๆ ซื้อขายกันไม่มากเท่าไร ซื้อยากขายยาก ซึ่งเราเรียกว่าเป็นหุ้นประเภทสภาพคล่องต่ำนั่นเอง ดังนั้นแล้ว หากเรามีหุ้นที่สภาพคล่องต่ำ คือไม่ค่อยมีการซื้อขาย การที่เราจะเปลี่ยนเป็นเงิน "ทั้งหมด" คือขายหุ้นได้ทั้งหมดในราคาหุ้นละเท่าๆ กับราคาสุดท้ายบนกระดาน ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก หรือหากเมื่อใด ทั้งที่บริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ เป็นบริษัทที่ดี จ่ายเงินปันผลสูง การเติบโตดี เรียกว่าดีทุกอย่าง แต่ไม่มีใคร Bid เพื่อซื้อหุ้นนั้นบนกระดาน เราก็ขายไม่ได้ นะครับ ดังนั้นแล้ว เมื่อเราซื้อหุ้น (โดยเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ) เราจะต้องคิดว่ามันให้ผลตอบแทนได้ดี เมื่ออยู่กับเราไปเรื่อยๆ เราไม่เดือดร้อนแม้ว่าขายไม่ได้ หุ้นประเภทนี้เราต้องมองเป็นหุ้นลงทุน ไม่ใช่เก็งกำไร เพราะราคาจะกระโดดไปมาได้มาก การ Bid (ต่อราคาเพื่อซื้อ) /Offer (ตั้งราคาเพื่อขาย) อาจจะไม่ต่อเนื่องกันได้ ตรงกันข้ามกับหุ้นประเภทที่มีสภาพคล่องสูงๆ หุ้นเหล่านี้ซื้อง่ายขายคล่อง สามารถเก็งกำไรได้ง่าย (ถ้าจะทำ) อันนี้ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณานะครับ



ตลาดหุ้นคืออะไร ซื้อแล้วหุ้นไปไหน


ตลาดหุ้นคืออะไร

เมื่อพูดถึงตลาด แน่นอนว่าจะต้องเป็นที่ที่มีสินค้ามากมาย และมีคนนำสินค้ามาขาย ในขณะเดียวกันก็มีคนที่เป็นลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้านั้น โดยปกติแล้วตลาดที่เราเห็นอยู่ ก็จะเป็นสินค้าอาหารแห้ง หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถจับต้องเป็นตัวตนได้ โดยที่ถ้าสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้ ก็เรียกว่าตลาดผลไม้ ถ้าสินค้าส่วนใหญ่เป็นข้าว ก็เรียกว่าตลาดข้าว ดังนั้นตลาดหุ้น ก็คือที่ที่สินค้าส่วนใหญ่เป็นหุ้นนั่นเอง จริงๆ แล้วเรามีชื่อที่เรียกให้ไพเราะหน่อยก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบอกเราให้รู้ว่า จริงๆ แล้วไม่เพียงแต่ว่าเป็นที่ซื้อขายหุ้นเท่านั้น แต่ซื้อขายหลักทรัพย์อย่างอื่นๆ ด้วย (เอ... ชักงงๆ แล้วสิ ว่าหลักทรัพย์ที่ว่านี่มันคืออะไรบ้าง) หลักทรัพย์ที่ว่านี้ ก็ประกอบไปด้วยหุ้นสามัญ, หุ้นกู้, หุ้นบุริมสิทธิ, และวอร์แรนท์ เป็นหลักครับ นั่นไงล่ะ มีตั้งหลายอย่าง ไม่ใช่ว่ามีแต่หุ้นสามัญเพียงอย่างเดียวเมื่อไร

เมื่อมีตลาดเกิดขึ้น ก็จะต้องงมีหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการทำงานซื้อขายสินค้าภายในตลาดของตัวเองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการคดโกงกัน สำหรับเมืองไทยแล้วหน่วยงานนี้ก็คือ "ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" หรือ ตลท. นั่นเอง และหน่วยงานแห่งนี้ก็ต้องมีหัวหน้าคอยควบคุมดูแล ซึ่งก็คือผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นแหละครับ

นอกจากตัวตลาดหลักทรัพย์ ที่มี ตลท. เป็นผู้ดูแลแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานอีกหน่วยงานนึ่งที่มาดูแลตลาดอีกชั้นหนึ่ง (จะเทียบไปก็เหมือนกับกระทรวงพาณิชย์ ที่คอยดูแลตลาดสดจริงๆ ไม่ให้สินค้ามีราคาเกินจริง หรือไร้คุณภาพ) ก็คือคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ กลต. ซึ่งมีหน้าที่หลักคอยควบคุมดูแลตรวจสอบการซื้อขายที่ผิดปกติ หรือการสร้างข่าวที่ผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนต้องการซื้อสินค้าภายในตลาดหลักทรัพย์ จะไม่สามารถเข้ามาซื้อขายได้เองนะครับ แต่จะต้องทำผ่านนายหน้า (โบร๊กเกอร์ - Broker) โดยนายหน้าเหล่านี้จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนพิเศษ ให้ทำกิจการซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉพาะ โดยผู้ซื้อขาย (นักลงทุน) จะต้องเสียค่านายหน้าเป็นจำนวนราวๆ 0.21 - 0.25% รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ของค่านายหน้า (ส่วนของภาษีนี้ บริษัทนายหน้าไม่ได้รับนะครับ แต่จะต้องนำส่งให้กับรัฐ ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศก็แล้วกัน) โดยบางบริษัทจะคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำจำนวน 50 บาท (รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วก็เป็น 53.50 บาท) โดยคิดเฉพาะวันที่ทำการซื้อขาย แต่ถ้าเราซื้อขายจนเสียค่านายหน้าเป็นเงินจำนวนมากกว่า 50 บาทแล้ว ก็นับเอาจำนวนนั้นแทน (แน่นอนล่ะ !) บริษัทนายหน้าเหล่านี้ในปัจจุบันก็มีอยู่มากมายหลายบริษัทนะครับ หากสนใจ ก็เลือกได้ตามใจชอบ โดยอาจจะสอบถามจากเพื่อนๆ หรือคนอื่นที่เคยใช้บริการมาแล้วก็ได้ สำหรับรายชื่อของบริษัทนายหน้าค้าหุ้นเหล่านี้ สามารถดูได้จากเว็ปไซต์ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ครับ
ข้อดีของการซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็คือ หากท่านได้กำไร ท่านไม่จำเป็นต้องเสียภาษี นะครับ (ถ้าขาดทุน ก็ตัวใครตัวมันล่ะครับ รัฐไม่เกี่ยว) แต่ถ้าท่านไปซื้อขายกันนอกตลาด จะต้องเสียภาษีด้วยนะ นอกจากนั้น ท่านยังมีเจ้าหน้าที่การตลาด หรือเจ้าหน้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ คอยให้คำแนะนำอีกด้วย แต่บางท่านอาจจะชำนาญมากจนซื้อขายได้เองโดยไม่ต้องการคุยกับใคร ก็สามารถที่จะเปิดบัญชีซื้อขายผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตก็ได้ หรืออาจจะเปิดทั้งสองบัญชีเลยก็ได้ (ผมเองก็มีสองบัญชีเลยเหมือนกัน - มือเก่าหัดขับ)

สำหรับการจ่ายเงินนั้น สามารถทำได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของบัญชีด้วย เช่นบัญชีเงินสด หรือแบบอินเตอร์เน็ต อาจจะต้องนำเงินเข้าบัญชีไว้ก่อนเลย คือโอนเงินให้กับบริษัทนายหน้าที่เราใช้บริการอยู่ เมื่อเราซื้อหุ้น เงินก็จะถูกตัดออกจากบัญชีของเรา (ที่อยู่กับเขา) โดยอัตโนมัติ แบบนี้เรียกว่าเป็นบัญชีเงินสด หรืออาจจะเป็นบัญชีที่เรียกว่าเครดิต จะทำการจ่ายเงินอีกสามวันทำการถัดมา เช่นซื้อหุ้นวันจันทร์ ก็จ่ายวันพฤหัสบดี หรือซื้อหุ้นวันศุกร์ ก็จ่ายเงินวันพุธ เป็นต้น แบบนี้เรียกว่าเป็นบัญชีแบบเครดิต คือเราสามารถซื้อหุ้นเข้ามาได้ทั้งที่ไม่ได้จ่ายเงินเขาไว้ก่อน และหุ้นที่ซื้อนั้นก็ถือว่าเป็นของเราแล้ว คือเราสามารถขายได้ด้วย ในบัญชีแบบนี้ อาจจะมีการตัดเงินจากบัญชีธนาคารของเรา (เรียกว่าระบบตัดบัญชีอัตโนมัติ) ในวันทำการที่สามก็ได้ (ต้องเซ็นยินยอมไว้ก่อน เพื่อให้บริษัทนายหน้าไปหักจากบัญชีเราได้ ไม่งั้นธนาคารของเราย่อมไม่ยอมจ่ายเงินให้) หรือว่าจะใช้โอนเป็นคราวๆ ไปก็ได้ (ไม่ค่อยสะดวกสำหรับบางคน)

ซื้อหุ้นแล้ว หุ้นไปไหน

นักลงทุนหน้าใหม่ๆ สมัยนี้ อาจจะเคยสงสัยว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้วหุ้นนั้นไปไหน ในสมัยก่อน เมื่อมีการซื้อขาย ก็จะต้องมีการเอาใบหุ้นมาให้เราเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน เวลาที่เราขาย เราก็จะต้องลงลายมือชื่อหลังใบหุ้นนั้นเพื่อโอนให้คนอื่นที่มาซื้อไป แต่เดี๋ยวนี้ตลาดหลักทรัพย์ของเรามีขนาดใหญ่ขึ้นมาก (มูลค่าตลาดปัจจุบัน 5 ล้านล้านบาท : ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548) และมีการซื้อขายที่หนาแน่นกว่าเมื่อก่อนหลายเท่านัก หากจะต้องให้พนักงานส่งเอกสารมาคอยรับส่งใบหุ้น ก็คงจะไม่ต้องทำอะไรกันแล้วครับ

ดังนั้นในสมัยนี้ เมื่อเราซื้อหุ้น หุ้นก็จะถูกโอนไปเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล ว่ามีเราเป็นเจ้าของ ตั้งแต่วันที่เท่าไร ในจำนวนเท่าไร และเมื่อเราขายหุ้นออกไป ฐานข้อมูลนี้ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไป โดยหุ้นก็จะวิ่งไปอยู่ในฐานข้อมูลของผู้ที่ (ได้) ซื้อหุ้นนั้นจากเราไปนั่นเอง

คนหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรักษา "หุ้น" ของเราหรือที่ดูแลฐานข้อมูลของเรานี้ก็คือ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่ตัวบริษัทนายหน้าของเรา โดยที่การเก็บรักษานี้ บริษัทศูนย์รับฝากฯ ก็จะคิดค่าเก็บรักษาด้วย โดยมีผู้ที่ใจดีออกค่าเก็บนี้ให้กับเรา ก็คือบริษัทนายหน้าของเรานั่นเองครับ ดังนั้นแล้ว เวลาเขาคิดค่านายหน้า ก็จ่ายไปแต่โดยดีเถิด เพราะบริษัทเหล่านี้ก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเหมือนกัน (ลำพังบำรุงระบบคอมพิวเตอร์และการซื้อขาย ก็หลายสตางค์แล้วครับ)

นอกจากนี้ ข้อดีของการเก็บรักษาหุ้นของเราไว้ที่บริษัทศูนย์รับฝากฯ ก็คือ เมื่อมีสิทธิประโยชน์ หรือข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรา ทางบริษัทของเรา (ต้องเป็นบริษัทของเราสิ เพราะเราถือหุ้นอยู่ จะมากจะน้อย ก็มีส่วนเป็นเจ้าของด้วยเหมือนกันล่ะน่า) ก็จะแจ้งให้บริษัทศูนย์รับฝากฯ ส่งข้อมูลมาให้กับเรา (รวมทั้งเช็คเงินปันผลจากบริษัทด้วย - อันนี้ดีมาก ผู้เขียนชอบ) เนื่องจากทางศูนย์จะเก็บข้อมูลที่อยู่ของเราไว้เพื่อการนี้ด้วย นอกจากนั้น การเก็บรักษา "หุ้น" ไว้ที่บริษัทศูนย์รับฝากฯ ยังมีข้อดีที่ว่าไม่ต้องกลัวว่าบริษัทนายหน้าของเราจะเอาหุ้นของเราไปขาย หรือไปหมุนเวียนเล่นอีกด้วย (ปัญหาที่เกิดจาก "หุ้นหาย" นั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากบริษัทนายหน้าคดโกง แต่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ซื้อขาย ขโมยหุ้นเราไปหมุนเวียนมากกว่า)



แนวทางการซื้อขายหลักทรัพย์


เมื่อ (ว่าที่) นักลงทุนได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็มักจะต้องทำการซื้อขายหลักทรัพย์ชนิดต่างๆ (หุ้น, วอแรนท์) แทนที่จะได้แต่นั่งดูเฉยๆ (เปรียบเหมือนกับการไปเดินเล่นที่ตลาด เดินอยู่ทุกๆ วันโดยไม่ซื้ออะไรเลย) ทั้งนี้ การซื้อขายนั้น บางท่านก็มีวิธีในการซื้อขายของตัวเอง บางท่านก็ใช้วิธีถามคนอื่นว่าหุ้นนี้ดีหรือไม่ดี ราคาจะขึ้นหรือลง (ผู้เขียนก็ถูกถามบ่อยๆ เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยตอบในเรื่องราคา ว่าจะวิ่งไปที่กี่บาท - มือเก่าหัดขับ) หรือถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ "ซื้อให้ถูก (เข้าไว้ จะได้) ขายให้แพง" หรือไม่ก็ "ยอมซื้อแพง เพื่อ (หวังว่า) จะขายได้แพงกว่า" หรือไม่ก็ "ซื้อแล้ว ให้ได้ปันผลด้วย ได้กำไรด้วย (เอาหมดอ่ะ)" ซึ่งฟังๆ ดูแล้วก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไรนักหนา แต่ว่าอย่างที่ผมเคยบอกไว้หลายที่ ทั้งผ่านกระทู้ต่างๆ ในพันทิป และในเว็ปนี้ว่า เงินทองไม่ได้หามาได้ง่ายๆ โดยการไม่ต้องคิดอะไรหรอก ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครจนน่ะสิ จริงไหมครับ ดังนั้นแล้ว การเข้ามาลงทุน จะต้องศึกษาถึงหลักการต่างๆ ให้ดีเพื่อที่ "น่าจะ" ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนของเราลดลงไป หรือมี "โอกาส" ที่จะได้กำไรกลับมา "มากกว่าความเสี่ยงที่มีอยู่" (High Risk, but higher return to cover the risk)

หลักการต่างๆ ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถสรุปเป็นสังเขปได้ดังนี้ :

การซื้อขายโดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน

เรียกว่าการซื้อโดย "ดูเนื้อผ้า" นั่นเอง เหมือนกับเมื่อเราซื้อบ้าน เราต้องดูว่าบ้านหลังนั้นให้ผลตอบแทนแก่เราอย่างไร สวยงามหรือไม่ ภายในอยู่สบายหรือไม่ เพื่อนฝูงมาหาแล้วเราภูมิใจหรือเปล่า เป็นต้น หุ้นก็เช่นกัน ในมุมมองหนึ่ง ก็คือดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เช่น:
  • บริษัทนั้นทำอะไร ผลิตสินค้าหรือให้บริการอะไร ในอนาคต ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น จะเป็นที่นิยมหรือต้องการมากน้อยแค่ไหนเทียบกับจำนวนผู้ขายในตลาด (Demand / Supply)
  • บริษัทสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้หรือไม่ มีคู่แข่งที่จะมาแข่งขันได้ในอนาคตหรือไม่ อย่างไร (พิจารณา Entry Barrier, Exit Barrier, และ 5-Forces in competitiveness)
  • บริษัทมีกำไรเท่าไร ทั้งอัตรากำไร (Profit Margin) และ กำไรสุทธิ (Net Profit) ยิ่งสูงยิ่งดี แต่เรื่องนี้เหมือนดาบสองคม เพราะหากอัตรากำไรสูง และตลาดกำลังเป็นที่ต้องการมาก (Emerging Market) รวมทั้ง Entry Barrier ไม่สูง ก็จะจูงใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นกระโดดเข้ามาร่วมแข่งขัน แบ่งส่วนการตลาดไป
  • ในอดีตบริษัทมีผลประกอบการเป็นอย่างไร ในอนาคตน่าจะเป็นอย่างไร หากเคยประสบปัญหา เพราะอะไร จะแก้ไขได้หรือไม่ ใช้เวลาหรือเงินหรือไม่ อย่างไร
  • มีเงินสดในบริษัทมากพอขยายธุรกิจหรือจ่ายปันผลหรือไม่ ธุรกิจบางประเภท ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมตลอดเวลา เพื่อดำรงสภาพความสามารถในการแข่งขันได้ บริษัทพวกนี้มักมีเงินสดในมือน้อย มีหนี้สินระยะยาวมาก และค่อนข้างเสี่ยงกว่าบริษัทที่ต้องการเงินทุนต่ำกว่า
  • ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity - ROE) ควรจะมากกว่า 12% หรือยิ่งมากยิ่งดี ตัวเลขนี้บอกความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทเทียบกับเงินของผู้ลงทุนที่จ่ายไป
  • บริษัทมีหนี้สินมากหรือไม่ เป็นหนี้ระยะยาวหรือระยะสั้น อย่างละเท่าใดเมื่อเทียบกับทุน (เรียก Debt/Equity - D/E ratio)
  • มีความสามารถในการจ่ายหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ย แค่ไหน ปกติแล้วจะคิดจากว่ามีกำไรเป็นจำนวนกี่เท่าของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ ตัวเลขนี้เรียกว่า Payout Ratio
  • ผู้บริหารมีความสามารถแค่ไหน ซื่อสัตย์สุจริต และเห็นแก่ประโยชน์ของเจ้าของ (ก็ผู้ถือหุ้นนั่นล่ะ) เป็นที่ตั้ง (รองจากคุณธรรมและจริยธรรมต่างๆ ในการทำธุรกิจ) เพียงใด
เหล่านี้เป็นต้น

การซื้อขายโดยใช้ปัจจัยทางเทคนิค

นักลงทุนหลายท่าน อาจจะบอกว่าการดูปัจจัยพื้นฐานมันยากเหลือเกิน หรือว่าไม่ถนัดในการดูธุรกิจ หรือดูตัวเลขบัญชีต่างๆ อาจจะเลือกใช้วิธีซื้อขายหุ้นด้วยการดูปัจจัยทางเทคนิค หรือดูราคา เวลา และโวลลุ่ม ของหุ้นหนึ่งๆ ที่สนใจจะเข้าซื้อขาย วิธีการเรื่องนี้เป็นเรื่อยาวและมีรายละเอียดมาก พูดโดยรวมก็คือ กล่าวกันว่าปัจจัยเทคนิคจะบอกเราได้ว่ามีคนต้องการหุ้นนั้นหรือไม่ มากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร และน่าจะมีคนเข้ามาซื้อ หรือขายออกมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีคนเข้ามาซื้อมากขึ้น ราคาก็ย่อมจะปรับตัวสูงขึ้น (เราต้องชิงซื้อก่อน) แต่หากมีคนอื่นต้องการขายหุ้นออกมากกว่าซื้อ ราคาก็น่าจะปรับตัวต่ำลง (เราต้องชิงขายก่อน) เรียกว่า ใครเร็วกว่าหรือ "ดูเทคนิค" ออกก่อนกันก็ได้เปรียบคนอื่นครับ

สำหรับนักลงทุนที่สนใจหลักการซื้อขายโดยอาศัยปัจจัยทางด้านเทคนิค ก็สามารถหาซื้อหนังสือเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้จากหลายผู้แต่งนะครับ เล่มหนึ่งที่ดีคือโดยคุณสุรชัย ไชยรังสินันท์ ซึ่งท่านได้เขียนไว้นานแล้ว หรืออาจจะหาหนังสือทางด้านปัจจัยเทคนิคที่มีขายอยู่ในปัจจุบันมาศึกษาดูก็ได้ครับ
มือใหม่ อ่านตรงนี้ (ตอนที่ 4)



เทคนิคต่างๆ ในการซื้อขายหลักทรัพย์


เมื่อเราได้เลือกบริษัทที่ต้องการเข้าไปลงทุนแล้ว การวางกลยุทธ์ในการซื้อขายก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ ในหลายๆ ครั้ง ตลาดก็ไม่ได้มีเหตุผล (หรือมีเหตุผล ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายนัก) ที่ทำให้ราคาหุ้นแต่ละตัวนั้นขึ้นลงได้รวดเร็วมาก เร็วกว่าพื้นฐานของบริษัทที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือแม้แต่เดือนหรือไตรมาสด้วยซ้ำไป ทั้งนี้อาจจะมาจากความ "คาดหวัง" ต่างๆ นาๆ ของนักลงทุน และแรงซื้อขายเก็งกำไรต่างๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลาในตลาดหลักทรัพย์

กลยุทธ์ต่างๆ ในการซื้อหุ้น สามารถแบ่งออกได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้ :

วิธี Dollar Cost Average (DCA)

วิธีนี้จะใช้ประกอบกับการซื้อหุ้นลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน เมื่อเราเลือกบริษัทหรือหุ้นแล้ว เราจะแบ่งเงินออกเป็น 5 หรือ 10 กองเท่าๆ กันเพื่อเข้าซื้อหุ้นเป็นจำนวน 5 หรือ 10 ครั้งทุกๆ ระยะเวลาที่กำหนดเช่น 15 วันหรือ 1 เดือนหรือ 2 เดือนเป็นต้น เช่นสมมติว่าเราต้องการลงทุนหุ้นตัวหนึ่งด้วยเงินหนึ่งล้านบาท เราอาจจะแบ่งออกเป็น 5 กอง กองละสองแสนบาท แล้วเข้าซื้อหุ้นครั้งแรก เมื่อเราเห็นว่าหุ้นนั้นมีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับพื้นฐานของบริษัท โดยการซื้อครั้งละสองแสนบาทนั้น จะได้กี่หุ้นก็ตามแต่ และเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะเป็นราวๆ 1 เดือน เราก็ซื้อหุ้นนั้นอีกด้วยเงินสองแสนบาทเช่นกัน ถ้าหุ้นราคาต่ำลงมา เราก็จะได้หุ้นจำนวนมากขึ้น แต่หากหุ้นมีราคาพุ่งสูงขึ้นไป เราก็จะได้หุ้นน้อยลง (แต่ครั้งแรกก็ได้กำไรแล้วไงล่ะ) และทำอย่างนี้เรื่อยไป จนอาจจะหมดครบครั้งสิบครั้ง หรือหากคิดว่าราคาหุ้นนั้นสูงเกินไปแล้ว เราก็อาจจะตัดสินใจขายออกไปก่อนทั้งที่ยังซื้อไม่ครบทั้งห้าครั้งก็ได้
ด้วยวิธีนี้ เราจะมีเงินเหลือเพื่อซื้อหุ้นให้ได้จำนวนมากขึ้นเมื่อราคาหุ้นนั้นต่ำลง แต่หลายๆ ท่านที่ยึดถือหลักการทางเทคนิค อาจจะค้านและไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ (เราจะไม่ถกกันว่าใครผิดหรือถูก เพราะขึ้นกับสถานการณ์แวดล้อมอีกมาก หรือตราบใดที่ยังทำกำไรได้อย่างมีเหตุผลและสม่ำเสมอ ก็คงพอถือว่าถูกต้องได้) และแนะนำให้ตัดขาดทุนไปแต่แรกก็ได้

วิธี DSM (Densri Method แห่งเว็ปไซต์พันทิป)

วิธีนี้ ผมไม่ขอกล่าวในรายละเอียด เนื่องจากอาจจะติดปัญหาลิขสิทธิ์การประดิษฐ์วิธีการ แต่โดยคร่าวๆ แล้ว หลักการก็คือ "การที่เราต้องการมีหุ้นจำนวนมากขึ้น แต่ไม่ต้องการลงเงินเพิ่มเพื่อซื้อหุ้นนั้น" คือดูที่จำนวนหุ้นเป็นหลัก โดยวิธีการก็คือ เมื่อหุ้นมีราคาเริ่มลดลง จะใช้วิธีขายออกเป็นส่วนๆ ยิ่งราคาต่ำลง โดยไม่ขยับขึ้น นักลงทุนก็จะขายหุ้นออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีเงินสดเต็มมือ และเมื่อหุ้นนั้นราคาไม่ลดต่ำไปอีกแล้ว ก็นำเงินที่ทะยอยขายมานั้นเข้าซื้อกลับคืน ผลก็คือจะได้หุ้นจำนวนมากขึ้นโดยที่ไม่ได้เติมเงินเพิ่มเข้าไป แต่วิธีนี้จะต้องใช้กับหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง และไม่เหวี่ยงไปมามากนัก ไม่เช่นนั้นแล้ว จะมีโอกาสมากที่จะขายแล้วซื้อคืนไม่ได้ครับ

Turtle Trading System

วิธีนี้ ไม่ใช่วิธีใหม่ แต่ถูกสร้างขึ้นมานานเพื่อใช้ในการพิสูจน์ว่าคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการซื้อขายตราสารใดๆ เลย จะสามารถทำกำไรได้หรือไม่หากยึดติดอยู่กับหลักการที่คิดว่าน่าจะทำกำไรได้ในระยะยาว ในเริ่มแรก ผู้ที่คิดวิธีการนี้ได้จัดหาคนที่ไม่มีความรู้เลยในการซื้อขายตราสารสินค้าล่วงหน้า (ดูๆ แล้วจะยากและเสี่ยงกว่าหุ้นเสียอีก) นำมาสอนหลักการในการเข้าซื้อและขายออก คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า Turtle (เต่า) โดยที่ให้ทำการซื้อขายด้วยหลักการอย่างเคร่งครัด โดยไม่จำเป็นต้องรับรู้ถึงข่าวสาร ข่าวลือ ใดๆ จากตลาด โดยความคาดหมายว่า ด้วยหลักการนี้จะให้ผลขาดทุนราว 8 ในสิบครั้ง และได้กำไร 2 ในสิบครั้ง แต่การขาดทุน 8 ครั้งจะขาดทุนไม่มาก (ต้องขายตัดขาดทุน) และในการที่ได้กำไรเพียง 2 ครั้งนั้น แต่ละครั้งจะได้กำไรมากมายกว่าการขาดทุนมากนัก ผลของการทดลองในครั้งนั้น บรรดา Turtles ทั้งหลายสามารถทำกำไรได้มาก คนที่ไม่ได้กำไรก็เพราะไม่ได้ทำตามวิธีการอย่างเคร่งครัดซึ่งบางคนก็ถูกไล่ออกจากกลุ่มเสียกลางคัน
ดูวิธีการนี้จากเว็ปไซต์ http://www.originalturtles.org/

วิธีซื้อขายโดยพิจาณณาคุณค่า/มูลค่า (Value Investment)

วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่ได้รับการถ่ายทอดศึกษามานานแล้ว โดย เบนจามิน เกรแฮม ผู้ที่เป็นอาจารย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนเอกคนหนึ่งของโลกได้ประยุกต์เป็นหลักการเอาไว้นานแล้ว ตัวของวอร์เรนบัฟเฟตต์เอง ก็มาประยุกต์เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ซึ่งจะว่าไปแล้ว การลงทุนในแนวคุณค่า หรือดูมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้น ก็เหมือนกับการที่เราซื้อของอย่างอื่น ที่จะต้องดูว่ามันให้ผลตอบแทนแก่เราอย่างคุ้มค่าหรือไม่ การซื้อหุ้นก็เช่นเดียวกัน จะต้องดูว่าราคาถูกหรือแพง (เมื่อเทียบกับมูลค่าต่อหุ้น หุ้นราคาหุ้นละ 200 บาทอาจจะถูกกว่าหุ้นราคาหุ้นละ 5 บาทมากก็เป็นได้) หากสนใจในการลงทุนแนวนี้ก็ดูเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ ของ เบนจามิน เกรแฮม หรือ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ได้เลยครับ

วิธีผสมผสาน

เป็นการนำเอาความรู้ทุกด้านมารวมกัน ไม่ว่าจะแนวเก็งกำไรด้วยเทคนิค แนวลงทุนด้วยการดูมูลค่าหุ้น วางแผนการซื้อด้วยวิธี Turtle Tradeing หรือว่าแบบ Dollar Cost Average สุดแล้วแต่ว่าจะเน้นหนักทางด้านใดมากกว่าด้านอื่น ก็แล้วแต่นักลงทุนแต่ละคน บางคนจะดูพื้นฐานก่อน แล้วดูราคาหรือรอราคาให้ถูกลงแล้วจึงซื้อ บางคนก็ดูราคาก่อนแล้วค่อยวกกลับมาดูพื้นฐาน หากเห็นว่าพอไปได้แล้วราคาปัจจุบันถูกเกินไป ก็เข้าไปซื้อ ดังนี้เป็นต้น และแน่นอนว่าไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องเลือกอย่างใดก่อน หรือผสมกันอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะถ้าจะว่ากันไปจริงๆ แล้วก็คงไม่มีใครใช้เพียงวิธีเดียวในการตัดสินใจลงทุน แต่ใช้วิธีผสมผสานไม่มากก็น้อยไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นหากเรารู้ว่าเราใช้วิธีผสมอยู่ ย่อมเป็นการดีกว่าแน่ถ้าเรารู้ว่าเราผสมอะไรเข้ากับอะไร จริงไหมครับ