ที่แท้แล้วพื้นฐานของการลงทุนอยู่ที่โมเดลของธุรกิจว่าจะสามารถทำกำไรได้มากหรือน้อยแค่ไหน ยากหรือง่ายอย่างไร ในระยะสั้นหรือยาวแค่ไหน เติบโตหรือไม่ ล้วนขึ้นกับสภาพแวดล้อมต่างๆ มากมาย สภาพแวดล้อมเหล่านั้นจะให้คำตอบออกมาในหลากหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในนั้นคือการอยู่รอด ทำกำไร และเติบโตของธุรกิจ ที่จะถูกฟ้องออกมาในรูปแบบของตัวเลขทางการเงิน ซึ่งเป็นปริมาณที่เราสามารถคาดการณ์ คำนวณ และเปรียบเทียบได้ ลองดูว่าเราควรต้องวิเคราะห์อะไรในการลงทุนบ้างการวิเคราะห์เชิงตัวเลข
งบการเงิน
งบกำไรขาดทุน
สิ่งสำคัญที่ต้องดูในงบกำไรขาดทุน
งบดุล (งบแสดงสถานะทางการเงิน)
ดูสินทรัพย์ในงบดุล
ดูหนี้สินในงบดุล
ดูส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล
การลงทุนด้วยหนี้
งบกระแสเงินสด
ทางลัดเพื่อช่วยพิจารณาเรื่องของกระแสเงินสด
สิ่งที่ต้องดูในงบกระแสเงินสด
สรุปสิ่งที่จะต้องมองหาในงบการเงิน
จุดเวลาที่ควรซื้อ-ขายหุ้น
การตีความหมายของตัวเลขต่างๆ ทางการเงิน
เราใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอย่างไร
อัตราส่วนต่างๆ ที่บอกถึงประสิทธิภาพของบริษัท
ตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่อง
อัตราส่วนอำนาจเพิ่มทางการเงิน
อัตราส่วนต่างๆ ที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร
การวิเคราะห์เชิงตัวเลข
ตอนที่ 18 (15 ก.พ. 54)
การประเมินหรือวิเคราะห์บริษัทเชิงคุณภาพหรือ Qualitative Analysis นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่จริงเป็นเหตุของการทำให้เกิดผลประกอบการต่างๆ ที่เป็นตัวเลขออกมาในภายหลัง "เชิงคุณภาพ" นั้นเป็นเรื่องของพื้นฐานของตัวบริษัทเอง ว่ามีสินค้า ผลิตภัณฑ์ และ/หรือ บริการอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง มีลูกค้าเป็นกลุ่มไหน การตลาดเป็นอย่างไร มีการดำเนินกิจการอย่างไร มีการบริหารจัดการที่ดี มีความสามารถ โปร่งใสเพียงใด ต่อไปนี้จะมาดูกันทางด้าน Quantitative Analysis กันบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเลข โดยจะเน้นหนักไปในเรื่องของตัวเลขทางการเงินครับ
หมายเหตุ
ผมอยากจะให้หมายเหตุไว้ ณ ที่นี้สักนิดหนึ่งว่า การวิเคราะห์ทางด้านตัวเลขเหล่านี้ สามารถที่จะนำไปประยุกต์ในการวิเคราะห์ในด้านพื้นฐานของบริษัทด้วยก็ได้ เพียงแต่เรามุ่งเป้าหมายไปที่ตัวเลขส่วนที่ไม่ใช่การเงินเช่น จำนวนลูกค้าที่เพิ่่มมากขึ้น การขยายตัวขอบจำนวนสาขา จำนวนของส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง การขยายตัวของตลาดโดยรวม หรือการเปลี่ยนแปลงของดัชนีใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจ หรือสิ่งที่แทบจะจับต้องไม่ได้เช่นความนิยมในสินค้า ยี่ห้อ ความชอบ โดยการแปลงเป็นตัวเลขก่อนแล้วจึงทำการวิเคราะห์ เป็นต้น
สำหรับบางคนแล้ว การเรียนรู้ทางด้านตัวเลข ทางด้านบัญชีอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจ น่าอภิรมย์นัก แต่กับงานทางด้านการลงทุนแล้ว การที่สามารถเข้าใจงบการเงินต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการที่จะสามาารถรู้ได้ว่า บริษัทใดเข้าข่ายที่จะเป็นบริษัทที่ดีได้ และในทางกลับกันก็คือสามารถบอกพวกเรานักลงทุนได้ว่าบริษัทใดที่เราควรจะหลีกเลี่ยงในการลงไว้ก่อน (ไม่ใช่ ลงทุนด้วยไปก่อน นะครับ ประเดี๋ยวจะแย่) บางที การวิเคราะห์เชิงตัวเลขแบบนี้ สามารถทำได้กระทั่งถึง (ความน่าจะเป็นของ) ระดับธรรมดาภิบาล ว่าบริษัทนี้มีความโปร่งใสอยู่ในระดับใด เป็นต้น
งบการเงิน
ตอนที่ 18 (16 ก.พ. 54)
ก่อนอื่น อยากจะเล่าถึงคำว่า "งบการเงิน" ให้เพื่อนๆ ฟังก่อนนะครับ งบการเงินนั้นมีหลักการและจุดมุ่งหมายที่จะบอกสถานะทางการเงินของบริษัท (เห็นไหมครับ ว่าอย่างน้อยโดยวัตถุประสงค์แล้วก็คือไม่ได้มีไว้เพื่อบอกสถานะด้านอื่นของบริษัท) โดยงบการเงินจะแบ่งออกได้เป็น 3-4 งบย่อยๆ อีกทีหนึ่ง ทั้ง 3-4 งบนี้ รวมกันแล้วเรียกว่า "งบการเงิน" งบใดงบหนึ่งเพียงอย่างเดียวเดี่ยวๆ นั้นไม่พอที่จะเรียกได้ว่าเป็นงบการเงิน เนื่องจากว่าไม่เพียงพอที่จะบอกสถานะของบริษัทได้ งบต่างๆ ดังกล่าวนี้คือ
- งบกำไรขาดทุน
- งบดุล
- งบกระแสเงินสด
- บัญชีแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น
โดยเราจะเน้นหนักไปที่งบสามอย่างแรกกันนะครับ ซึ่งเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถที่จะช่วยบอกให้นักลงทุนทราบได้เป็นอย่างดี (ยกเว้นว่า มีการเล่นแร่แปรธาตุ ปกปิดความผิดปกติบางอย่างเอาไว้) ว่าสุขภาพทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร (เห็นไหมครับว่า "ทางการเงิน" ดังนั้นในบทความแรกๆ ที่ผ่านมา ผมจึงได้แยกการวิเคราะห์ธุรกิจที่เป็นสุขภาพทางอื่นออกไปต่างหาก) เราจะค่อยๆ มาดูแต่ละส่วนของงบการเงินกันไปพร้อมๆ กันนะครับ
งบกำไรขาดทุน (Income Statement, P/L statement)
งบแรกที่เราสนใจคือ งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นงบการเงินส่วนที่บอกว่าการดำเนินกิจการของบริษัทนั้น มีกำไรหรือไม่มีกำไร สำหรับงบกำไรขาดทุนนี้ ผมอยากจะเน้นให้เพื่อนๆ ได้ทราบในสองจุดก็คือ งบกำไรขาดทุนจะเป็นบัญชีส่วนที่บอกว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุน "ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง" และการที่บอกว่าได้กำไรหรือขาดทุนนั้น "อาจจะไม่อยู่ในรูปของตัวเงินหรือเงินสด" ก็ได้ ไว้ว่างๆ เราค่อยกลับมาดูในจุดนี้กันนะครับ ภายในงบกำไรขาดทุน ตัวเลขต่างๆ จะบอกว่าบริษัทได้มีรายได้จากการขายมาเป็นเงินเท่าไร (บางบริษัทอาจจะมีรายได้อัตราแลกเปลี่ยน รายได้จากการลงทุน เป็นต้น เพิ่มเติมเข้ามาอีก) และใช้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างสินค้าและบริการเป็นเงินเท่าไร ใช้จ่ายเงินส่วนที่เป็นเงินประกอบรายการ (เช่นค่าใช้จ่ายในการขายและบริการต่างๆ) เป็นเงินเทาไร มีค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ยจ่าย ภาษี จิปาถะทีเป็นรายจ่าย (โห... แย่จริงๆ นะครับ รายรับมีนิดเดียว รายจ่ายมีเยอะแยะมากมายจริง) และสุดท้ายแล้วความแตกต่างของรายได้และรายจ่ายเป็นเท่าไร (ก็คือกำไรหรือขาดทุน) นักลงทุนสามารถดูตัวเลขกำไร/ขาดทุนนี้ว่าบริษัทได้กำไรมากขึ้นหรือน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา และสามารถที่จะดูแนวโน้มของธุรกิจได้
ตอนที่ 19 (17 ก.พ. 54)
ในเรื่องของกำไร/ขาดทุน นี้ ถ้าพูดกันแบบหยาบๆ ง่ายๆ ก็สามารถจะพูดได้เป็น
กำไร = รายได้ - รายจ่าย
เมื่อใดที่รายได้มากกว่ารายจ่าย ก็คือมีกำไร หรือในทางกลับกัน เมื่อใดที่รายได้น้อยกว่ารายจ่ยก็คือขาดทุน ง่ายๆ แค่นี้แต่ว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรพิจารณาอยู่บ้าง ซึ่งเราจะค่อยๆ ดูว่าแต่ละส่วนของงบกำไร/ขาดทุนนี้ว่ามีอะไร และจะดูว่าตัวเลขต่างๆ เหล่านี้สามารถมีค่าหรือมีลักษณะต่างกันไปในบริษัทประเภทที่ต่างกันไปอย่างไร และในที่สุดเพื่อนๆ จะสามารถรู้วิธีการอ่านงบกำไรขาดทุน และสามารถตอบตัวเองเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของบริษัทได้
- รายได้ (Revenue)
แม้ว่า งบกำไร/ขาดทุนของแต่ละบริษัทที่อยู่ในคนละอุตสาหกรรมกันอาจจะดูต่างกันไปบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันคือจะเริ่มด้วยรายได้สำหรับช่วงเวลาของงบการเงินนั้น รายได้นี้บางทีก็เรียกว่ารายได้จากการขาย เป็นรายได้ที่บริษัทได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ แต่ถ้าเราไปดูงบกำไรขาดทุนของบริษัทอย่างอื่นเช่นธนาคารหรือสถาบันการเงิน รายได้จะมาจากดอกเบี้ย (รับ) นั่นคือเขาไม่ได้ขายอะไร งบกำไรขาดทุนของธุรกิจประเภทดังกล่าวนี้ก็จะดูต่างออกไปจากธุรกิจอื่นโดยทั่วไป
รายได้ที่บันทึกนี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะธรรมชาติของธุรกิจด้วย ตัวอย่างเช่นเมื่อเราซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้า ร้านหรือห้างก็จะบันทึกรายได้เมื่อเราได้จ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือจ่ายด้วยบัตรเครดิต แต่ถ้าเป็นบริษัทประกัน บริษัทจะค่อยๆ ทะยอยบันทึกรับรู้รายได้ออกเป็นช่วงๆ แยกย่อยออกมาตลอดอายุการเอาประกันของลูกค้าที่ซื้อประกันนั้น ซึ่งสำหรับในรายละเอียดแล้ว นักลงทุนจะต้องเข้าไปตรวจดูว่านโยบายการบันทึกรายได้ของบริษัทที่ตัวเองสนใจนั้นทำอย่างไร ซึ่งจะอยุ่ในหมายเหตุต่อท้ายงบการเงินเพื่อที่จะเข้าใจว่าบริษัทมีการบันทึกรายได้อย่างไร
ตอนที่ 20 (18 ก.พ. 54)
- รายจ่ายต่างๆ (Expenses)
ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงิน (อย่างน้อยก็ต้องจ่ายเงินบ้างล่ะ แม้ว่าจะพยายามจับเสือมือเปล่าก็ตาม) เพื่อสร้างรายได้หรือผลกำไร และเงินที่ไหลออกมาเพื่อทำให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือความพร้อมในการบริการก็คือรายจ่ายของบริษัท รายจ่ายของบริษัทมักจะถูกจัดเป็นกลุ่มๆ คล้ายๆ กันเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร
ต้นทุนขาย หรือเรียกว่าต้นทุนของสินค้าที่ขาย (Cost of good sold - COGS)
ก็เป็นไปตามชื่อของมันล่ะครับคือ ต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและ/หรือบริการที่สามารถขายหรือให้บริการและมีรายรับเข้ามายังบริษัท ตัวอย่างก็คือวัตถุดิบ ของที่ซื้อมาเพื่อขายไป ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงงานผลิต และค่าจ้างแรงงาน ตัวอย่างเช่นถ้าบริษัทซื้อขนมเค้กมาเพื่อขายต่อ ราคาของขนมเค้กที่ซื้อมานั้นก็เป็นต้นทุน หรือหากบริษัทผลิตเบาะรถยนต์ ต้องซื้อหนังฟอกมาเป็นวัตถุดิบ ราคาต้นทุนของหนังสัตว์นั้นก็เป็นต้นทุนขาย หรือ Cost Of Good Sold
ตอนที่ 21 (19 ก.พ. 54)
- ค่าใช้จ่ายในการขาย ทั่วไป และทางธุรการ
ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายทั่วไป และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการทำงานทางธุรการ เรียกรวมๆ กันว่า SG&A (Selling, General, and Administration expenses) ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายหลายอย่างรวมกัน ค่าใช้จ่ายในการขายเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดการขาย ตัวอย่างเช่นค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าตอบแทนสำหรับพนักงานขาย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการบริหารงานบุคคลหรือเกี่ยวกับการจัดการสภาพของสำนักงาน (เช่นการตกแต่งออฟฟิศ ค่ากาแฟ) จะจัดอยู่ในค่าใช้จ่ายด้านธุรการ
- ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ลองดูทีละอันนะครับ
ค่าเสื่อมราคา
เมื่อบริษัทได้ตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อใช้งานในการผลิตสินค้า หรือแม้กระทั่งสร้างตึกอาคาร เครื่องจักรหรืออาคารเหล่านั้นจะได้รับการประเมินอยู่แล้วว่าจะสามารถใช้งานได้นานเท่าไรก่อนที่จะเสื่อมสภาพและไม่สามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายสำหรับสินทรัพย์นี้จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในบัญชีค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว แต่ว่าจะบันทึกเป็นส่วนๆ กระจายออกไปตลอดช่วงอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้น ค่าใช้จ่ายนี้จะแทนความเสื่อมสภาพหรือความสึกหรอของสินทรัพย์นั้นและเรียกว่าค่าเสื่อมราคา
ตอนที่ 22 (20 ก.พ. 54)
ค่าตัดจำหน่าย
ก็เช่นเดียวกันกับค่าเสื่อมราคา เพียงแต่ว่าค่าตัดจำหน่ายจะใช้กับสินทรัพย์ทางอ้อม หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่นตราสินค้า แต่ในหลายกรณี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ถูกบันทึกไว้ในรายการ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กล่าวไว้ข้างบน ดังนั้นเราจึงอาจจะไม่เห็นว่ามีปรากฏเขียนไว้แยกออกมาอย่างชัดเจนในงบกำไรขาดทุน อย่างไรก็ตาม ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำน่ายจะถูกเขียนไว้ในในงบกระแสเงินสดซึ่งเป็นอีกงบการเงินหนึ่งที่สำคัญอย่างชัดเจน
นักลงทุนควรมีข้อสังเกตจุดหนึ่งว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนี้ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด เราจะพูดถึงเรื่องของรายรับและรายจ่ายที่ไม่ได้อยู่ในรูปเงินสดในช่วงต่อไปเมื่อเราพูดถึงเรื่องหลักเงินคงค้างทางบัญชี (accrual accounting) กันครับ
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เป็นตามชื่อของมันคือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานหลักของกิจการแต่ว่าไม่สามารถถูกรวมไว้ในประเภทต่างๆ ที่ผ่านมาได้บ่อยครั้งที่ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ นี้อย่างใกล้ชิด บางบริษัทอาจจะพยายามทำให้การเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวนี้ดูเหมือนจะเป็นการเกิดขึ้นเป็นปกติ บางทีบริษัทก็รวมเอาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการปิดโรงงานย่อยเข้าไว้ หรือการใช้จ่ายเงินกับอะไรบางอย่างที่ไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนของบริษัทก็เป็นได้
ตอนที่ 22 (21 ก.พ. 54)
- ดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย
บางบริษัท เลือกใช้วิธีการกู้เงินเข้ามา เพื่อที่จะเป็นทุนในการดำเนินกิจการ (นอกจากที่จะใช้ส่วนที่มาจากผู้ถือหุ้น คือพยายามรบกวนผู้ถือหุ้นในต้องควักกระเป๋าน้อยที่สุด) ในกรณีนี้ ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจำต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยให้กับแหล่งเงินกู้ด้วย (เป็นดอกเบี้ยจ่าย) และในทางกลับกัน หากบริษัทมีเงินสดในมือเหลืออยู่มากเกินไป บริษัทก็อาจจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อ ถ้าการลงทุนี้เป็นการให้ผู้อื่นกู้ ก็จะได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้เหล่านี้ด้วย (เป็นดอกเบี้ยรับ) ในงบกำไรขาดทุน เราอาจจะเห็นดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย เขียนแยกไว้ต่างหากจากกัน หรือว่ารวมๆ กันไว้หักลบกลบหนี้กันเสร็จสรรพก็ได้
- ภาษี
เช่นเดียวกับบุคคลที่เราจะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐเมื่อมีเงินได้ บริษัทก็จะต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน สำหรับบริษัทที่มีกำไร ภาษีจะเป็นรายจ่ายในงบกำไรขาดทุน
การคำนวณที่สำคัญในงบกำไรขาดทุน
ตอนที่ 23 (22 ก.พ. 54)
จากข้างบน เราได้ดูเรื่องของรายรับรายจ่ายต่างๆ ที่เป็นตัวเลขต่างหากที่สำคัญซึ่งมักจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจนไว้แล้ว ต่อจากนี้ลองมาดูตัวเลขที่บางทีจะมีการคำนวณเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วเอามาใส่ไว้ในงบกำไรขาดทุนให้เราเลย (จึงเป็นไปได้ที่เรามักจะไม่รู้รายละเอียดมากเกี่ยวกับมัน เสร็จแล้วก็อาจจะตกเป็นเหยื่อ... เอ๊ย ตกเป็นทาสของตัวเลข แบบไม่รู้ๆ ไป)
- กำไรขั้นต้น
ปกติแล้ว เราจะไม่เห็นตัวเลขนี้ในงบกำไรขาดทุนหรอก แต่ก็สามารถคำนวณเอาเองได้ไม่ยาก แค่เอารายได้ (Revenue) ลบด้วยรายจ่ายจากต้นทุนสินค้าและบริการ (Cost of good sold) กำไรขั้นต้นนี้จะบอกให้เรารู้ถึงกำไรที่ได้ หรือส่วนต่างจากการทำกิจการของบริษัท ซึ่งสามารถคำนวณเป็น อัตรากำไรขั้นต้น (ในรูปร้อยละ) อีกด้วย ซึ่งยิ่งมาก ยิ่งดี ตัวอย่างเช่น บริษัทจ่ายค่าต้นทุนซื้อปูนมาขายเป็นเงิน 9 ล้านบาท และขายได้เป็นเงิน 12 ล้านบาท จะได้กำไรขั้นต้น 3 ล้านบาท และคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 33% เป็นต้น อัตรากำไรขั้นต้นนี้ เป็นสิ่งที่บอกความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย ถ้าธุรกิจมีการแข่งขันสูง และ/หรือ กิจการนั้นไม่มีความแตกต่างที่ลูกค้าคิดเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ อัตรากำไรขั้นต้นจะไม่สูงนัก บางบริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 10-15% นับว่าอันตรายมาก เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินเปลี่ยนแปลงไป ราคาวัตถุดิบเปลี่ยนไป และไม่สามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้ทันที ก็อาจจะพลิกจากกำไรเป็นขาดทุนได้ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ครับ
- รายได้หรือกำไรจากการดำเนินงาน
บางคนบอกว่านี่คือตัวเลขที่สำคัญที่สุดที่จะบอกความสามารถจริงๆ ของบริษัท รายได้จากการดำเนินกิจการสามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งคือกำไรจากการดำเนินกิจการ คำนวณได้จากส่วนต่างของรายได้ (Revenue) ลบด้วยต้นทุนสินค้าและบริการ (Cost Of Good Sold), และค่าใช้จ่ายทุกอย่าง (ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร, ค่าเสื่อมราคา, ค่าตัดจำหน่าย, รายจ่ายในการปรับโครงสร้าง, และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ) รายได้จากการดำเนินงานนี้เป็นตัวชี้วัดกำไรและความสามารถในการทำกำไร (หรือในทางตรงกันข้าม คือการขาดทุน) ของบริษัทในการดำเนินกิจการหลักของบริษัท การได้บางทีเราจะเรียกรายได้จากการดำเนินงานนี้ว่า รายได้/กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT - Earning Before Interest and Taxes) เนื่องจากว่ารายจ่ายพวกดอกเบี้ยจ่ายและภาษี ไม่ใช่รายการที่เกิดจากการดำเนินงาน รายได้ที่เป็น EBIT นี้ เป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้เท่าไรถ้าสมมติว่าบริษัทไม่มีดอกเบี้ยจ่าย (คือโดยประมาณว่าไม่มีหนี้สินระยะยาว) และไม่ต้องเสียภาษี การแยกตัวเลขภาษีออกไปก่อนก็เนื่องจากว่า บริษัทแต่ละชนิด ที่มีรายได้/กำไรต่างๆ กัน หรือได้รับการยกเว้น/ส่งเสริมกิจการจากภาครัฐต่างๆ กัน จะมีภาระภาษีต่างกัน การแยกออกไปก็ทำให้นักลงทุนสามารถพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ตอนที่ 24 (23 ก.พ. 54)
- กำไรสุทธิ
กำไรสุทธิ คือสิ่งที่เหลือทั้งหมดของบริษัท หลังจากหักค่าใช้จ่ายใดๆ สารพัดอย่างออกไปแล้ว บางทีตัวเลขนี้ฝรั่งมังค่าชอบเรียกกันว่า "บรรทัดสุดท้าย" (Bottom Line) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือผลสุดท้าย หลังจากที่ดูงบกำไรขาดทุนมายาวเหยียด สุดท้ายก็ต้องจบที่บรรทัดนี้ล่ะครับว่า ตกลงได้กำไรเท่าไร บรรดานักลงทุน ขาใหญ่ ขาเล็ก หรือแม้แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลาย จะพูดถึงตัวเลขของกำไรสุทธิอยู่มาก แต่พวกเรานักลงทุนจะต้องจำไว้ว่า ตัวเลขนี้เป็นผลพวงรวมของทุกอย่าง ซึ่งรวมทั้งกำไร/รายได้พิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และในทางตรงกันข้าม คือบริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เช่นจ่ายค่าปรับอะไรบางอย่าง) ทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยนไปได้ นอกจากนั้นแล้ว ตัวเลขกำไรสุทธินี้ อาจจะแตกต่างจากตัวเลขของการไหลเวียนของเงินสดอยู่ได้ไม่น้อย ดังนั้นแล้ว แม้ว่าตัวเลขกำไรสุทธิจะสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เป็นตัวเลขสุดท้ายของชีวิตที่เราจะมาดูกัน เรายังจะต้องดูอย่างอื่นประกอบไปด้วยอีกมาก
- กำไรต่อหุ้น
กำไรต่อหุ้น หรือที่เรียกว่า Earning Per Share (EPS) ก็คือกำไรสุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น (คือหุ้นทั้งหมดที่ออกแล้ว ลบด้วยหุ้นซื้อคืน หรือเรียกว่า Outstanding Shares) ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ตัวเลขนี้ พวกเราและนักวิเคราะห์ทั้งหลายจะให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่บริษัททำให้ หรือ สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่ตัวเลข EPS นี้สำคัญ แต่เราก็ต้องดูข้อมูลทางด้านการเงินอื่นๆ ของบริษัทประกอบไปด้วย
พวกเราบางคนอาจจะเป็นคนช่างสังเกต และเห็นว่ามีตัวเลข EPS จำนวนสองตัวอยู่ในงบกำไรขาดทุน ตัวแรกคือ EPS แบบพื้นฐาน (Basic EPS) และ diluted EPS (diluted แปลว่าเจือจาง เหมือนเราเอาน้ำเปล่า เติมใส่ในน้ำเชื่อม ความหวานก็จะลดลงเนื่องจากถูกเจือจาง ในกรณีของหุ้น คำว่า dilute คือการที่มีหุ้นใหม่ โผล่เพิ่มเข้ามาผสมกับหุ้นเดิมที่มีอยู่ ทำให้สัดส่วนการเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง หรือเจือจางลง และผลที่ตามมาอีกอย่างคือต้องแบ่งกำไรไปยังหุ้นใหม่นั้นด้วย ทำให้เกิดการเจือจางของกำไรต่อหุ้นด้วย) ตัวเลขสองตัวนี้ต่างกันเนื่องจากตัวหาร (จำนวนหุ้น ซึ่งคือ Outstanding Shares) ต่างกัน โดยที่ EPS พื้นฐานได้มาจากการใช้ตัวเลข Basic Shares คือจำนวนหุ้น Outstanding จริงๆ ในเวลานั้นๆ เป็นตัวหาร และในทางกลับกัน ตัวเลขที่เรียกว่า Diluted EPS จะใช้ตัวหารเป็น Oustanding share ที่เป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งอาจจะมาจากการแปลงสภาพมาจากตราสารใดๆ ของบริษัท เช่นวอร์แร้นท์, ESOP (Employee Stock Options ตราสารให้สิทธิพนักงานแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ), หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น การใช้ตัวเลขของ Diluted EPS จะดูเข้าท่ากว่าเพราะเป็นการเผื่ออนาคต (อันเลวร้ายลง) เอาไว้ด้วยแล้ว
ตอนที่ 25 (24 ก.พ. 54)
- บัญชีแบบเกณฑ์คงค้าง
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีการบันทึกรายรับ/จ่ายโดยอาศัยเกณฑ์บัญชีแบบคงค้างด้วย มันมีประโยชน์ที่ตรงไหน คำตอบก็คงเป็นเพราะว่ามันมีประโยชน์จริงๆ ล่ะครับ ไม่อย่างนั้นคงไม่ถูกพัฒนามาใช้จนกลายเป็นมาตรฐานหนึ่งทางบัญชีไปได้ เรื่องนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการอธิบายด้วยตัวอย่าง เช่น สมมติว่า เพื่อนๆ ทำการสมัตรสมาชิกรับหนังสือพิมพ์เอาไว้อ่านตอนเช้าๆ (จะเป็นหนังสือพิมพ์หัวดำ หัวสี เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับหุ้น ภาษาอะไรก็แล้วแต่ ไม่เกี่ยงกันล่ะ) บริษัทที่ทำหนังสือพิมพ์ ก็คงจะขอให้เพื่อนๆ ต้องจ่ายเงินค่าหนังสือพิมพ์ของทั้งปีเสียก่อนเลยแต่ทีแรก (โอ้ว) แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งที่บริษัทหนังสือพิมพ์ ได้รับเงินเต็มจำนวนจากการจ่ายของเพื่อนๆ ตั้งแต่ต้นปีที่รับหนังสือพิมพ์นั้น แต่ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกเงินรับนี้ทั้งจำนวนเป็นรายได้โดยทันที (แต่ในบัญชีกระแสเงินสดจะเห็นว่าบันทึกเต็มทั้งจำนวน เพราะว่าเป็นเงินสดรับจริง)
เหตุการณ์ตามตัวอย่างข้างบนนี้ล่ะคับที่เป็นวิธีทำงานของหลักการบัญชีแบบเกณฑ์คงค้าง การบัญชีแบบนี้มีหลักการคือจะต้องบันทึกรายจ่ายและรายรับให้สัมพันธ์กับระยะเวลากำหนดหนึ่งๆ ที่ขณะที่รายจ่ายและรายรับนั้นเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นบริษัทจะบันทึกรายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง่ได้ก็ต่อเมื่อ ได้มีการขายหรือให้บริการที่สัมพันธ์กับระยะเวลานั้นเกิดขึ้น ในตัวอย่างของหนังสือพิมพ์ข้างต้น บริษัทจะต้องค่อยๆ บันทึกรายรับตามระยะเวลาที่ผ่านไป ตลอดอายุการให้บริการแก่ผู้รับหนังสือพิมพ์ ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ขายหนังสือพิมพ์ ยังคงจะต้องบันทึกรายได้ (เป็นครั้งแรก) เป็นเวลานับสัปดาห์ หรือแม้กระทั่งหลายเดือนหลังจากที่ได้รับเงินจากเรา
บัญชีแบบเกณฑ์คงค้างนี้ก็มีผลต่อการซื้อและใช้ทรัพย์สิน เครื่องจัก ขนาดใหญ่หรือแม้แต่อาคาร ด้วย เมื่อบริษัทซื้อทรัพย์สินเหล่านั้น บริษัทจะไม่บันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดล่วงหน้าไว้เป็นรายจ่ายของบริษัทขณะที่เริ่มซื้อสินทรัพย์นั้นเข้ามาไว้ในงบกำไรขาดทุน แต่ว่าจะบันทึกการซื้อทรัพย์สินนั้นเอาไว้ในงบดุล (ไว้เราจะคุยกันเรื่องงบดุลในภายหลังนะครับ) และในแต่ละปีที่ผ่านไป บริษัทก็จะบันทึกเอาบางส่วนของราคาทรัพย์สินนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนในรูปของค่าเสื่อมราคา (เมื่อเป็นดังนี้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีผลไปมีส่วนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล ลดลง)
ตอนที่ 26 (25 ก.พ. 54)
- ค่าเสื่อมราคา
ค่าเสื่อมราคาถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ซึ่งแทนการที่ทรัพย์สินหรือเครื่องไม้เครื่องมือของบริษัท มีการเสื่อมสภาพลง (เหมือนกับการที่เราซื้อรถ และรถก็มีค่า มีราคา น้อยลงทุกปี เพราะว่าอายุการใช้งานที่เหลือก็สั้นลงๆ) ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้มูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์นั้นๆ ลดลงๆ ทุกปี (มีผลทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลง โดยจะได้รับการสะท้อนให้ถูกต้องโดยการบันทึกค่าเสื่อมราคานี้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท) ตรงจุดนี้ ขอให้เพื่อนนักลงทุนสังเกตด้วยว่า ค่าเสื่อมราคานี้ไม่ใช่รายจ่ายที่เป็นเงินสด เพราะว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อบริษัทได้ทำการซื้อสินทรัพย์นั้น และได้บันทึกเอาไว้แล้วในงบดุล (คือ ทรัพย์สินส่วนที่เป็นเงินสดลดลง และแปรรูปไปเป็นทรัพย์สินส่วนที่เป็นที่ดินอาคารอุปกรณ์ แทน)
บัญชีแบบเกณฑ์คงค้าง ทำให้เราสามารถพิจารณารายได้และรายจ่ายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้บริษัทสามารถจับคู่สิ่งที่บริษัทขายหรือให้บริการได้ กับรายจ่ายที่เกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับการขายนั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ถ้าบริษัทไม่ได้ใช้เกณฑ์บัญชีแบบคงค้าง พวกเรานักลงทุน (หรือใครๆ ก็ตาม) ที่นั่งดูบัญชีอยู่ จะทำการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนได้ยาก ว่าในช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้นบริษัทได้กำไรหรือขาดทุนจริงๆ หรือไม่และเป็นจำนวนเท่าไรแน่ แต่ด้วยการใช้หลักบัญชีแบบเกณฑ์คงค้างนี้ นักลงทุนจะเห็นได้ว่า เงินที่บริษัทรับเข้ามา (เป็นเงินสดๆ ก้อนโตนี่ล่ะ) ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นรายได้ของบริษัททั้งจำนวนเสมอไป (ย้อนกลับไปดูกรณีบริษัทขายหนังสือพิมพ์) และในทางกลับกัน รายจ่ายที่จ่ายออกไป (เป็นเงินสดๆ ก้อนโตอีกเหมือนกัน) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรายจ่ายของบริษัททั้งก้อนในช่วงเวลาหนึ่งๆ ด้วยเช่นกัน นี่เป็นจุดที่นักลงทุนจะต้องจำไว้ให้ดีเมื่อทำการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท
- ตัวอย่างของงบกำไรขาดทุน (ล้านบาท)
* เป็นตัวเลขที่อาจจะต้องคำนวณเอง เนื่องจากในงบกำไรขาดทุนจริง อาจจะไม่ได้เขียนแยกไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
สิ่งสำคัญที่ต้องดูในงบกำไรขาดทุน
การดูว่าบริษัทมีกำไรหรือขาดทุนนั้นคงไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน จริงอยู่ที่ว่าหากบริษัทได้กำไรนั้นย่อมเป็นการดีกว่าขาดทุน แต่กำไรนั้นต้องได้มาอย่าง "มีคุณภาพ" ด้วย ดังนั้นเราจึงมีแนวทางที่ต้องดูงบกำไร-ขาดทุนดังนี้- ต้องมีรายได้สูง อย่างน้อยคือสูงเมื่อเทียบกับขนาดบริษัท
- มีต้นทุนขายต่ำสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปมาต่ำบ้างสูงบ้าง (คิดเป็น % เทียบกับรายได้)
- มีกำไรขั้นต้นสม่ำเสมอ ถ้าสูงกว่า 30% ขึ้นไปได้จะดี ไม่เปลี่ยนไปมามาก
- ค่าใช้จ่ายในการขายควรจะสม่ำเสมอ ถ้าต่ำ (กว่า 60% ของกำไรขั้นต้น) ได้ก็จะดี
- ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยและพัฒนา จะดูดเอากำไรออกไป ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ไม่สามารถหยุดวิจัยได้ (ไม่สามารถอยู่รอดได้) บริษัท hi-tech ที่ไม่ได้ผูกขาดทางการตลาด เป็นตัวอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง
- ค่าเสื่อมราคา ต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายจริง แม้ว่าไม่มการจ่ายกระแสเงินสดออกไปก็ตาม อย่าหลงกับ EBITDA ที่ตัดเอาค่าเสื่อมราคา (ที่มีจำนวนมหาศาลในธุรกิจบางประเภท) ออกไป บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน จะมีค่าเสื่อมราคาต่ำกว่า เพราะว่าไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ เสมอๆ เพื่อต่อสู้ในธุรกิจ
- ดอกเบี้ยจ่าย เป็นต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะยาวเพื่อการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ ไม่ว่าจะขายของได้หรือไม่ก็ต้องจ่าย บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง จะมีดอกเบี้ยจ่ายต่ำเมื่อเทียบกับรายได้จากการขายอย่างสม่ำเสมอ [บริษัทที่มีดอกเบี้ยจ่ายมีสองประเภทคือ พวกที่ต้องกู้มาดิ้นรนปรับปรุงกระบวนการผลิตอยู่ตลอดเวลาเพียงเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจ และบริษัทที่ดีมาก จนต้องกู้มาซื้อบริษัทอื่นๆ ข้างเคียง ต้องแยกให้ออกด้วย]
- กำไร/ขาดทุน ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เช่นจากการขายสินทรัพย์) ไม่ควรนำเข้ามาคำนวณเพื่อตัดสินความสามารถในการแข่งขัน (แต่อาจจะนำไปเป็นข้อดีในการพิจารณาเป็นโอกาสในการแข่งขันหรือชำระหนี้เงินกู้เพื่อลดดอกเบี้ยได้ เนื่องจากมีกระแสเงินสดไหลเข้ามา)
- ในการเปรียบเทียบบริษัท ให้คำนวณจากกำไรก่อนหักภาษีเป็นหลัก เนื่องจากบริษัทแต่ละบริษัท/ชนิด เสียภาษีไม่เท่ากัน (และสำหรับเมืองไทย เราสามารถเครดิตภาษีคืนได้ด้วย)
- ภาษีจ่าย ตรงนี้ต้องดูด้วย บริษัทที่ดี ที่บอกว่ากำไรมาก จะต้องมีภาษีจ่ายเป็นเงินสดจริงๆ ออกไป ไม่ต้องตุกติกอะไรตรงส่วนนี้
- กำไรสุทธิ เราจะต้องพิจารณาใน 3 ประการคือ
- มีกำไรสม่ำเสมอ
- กำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ
- มีอัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) สูง (จะเทียบเป็น % กับยอดขาย) ถ้าเกิน 20% ได้จะดี การมีอัตรากำไรสุทธิสูง แสดงได้ถึงความสามารถในการแข่งขันที่สูง
- กำไรต่อหุ้น (EPS - Earning Per Share) จะต้องสูงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ กำไรบ้างขาดทุนบ้าง (ถ้าจะมีการขาดทุนต้องมีเหตุผลที่สุดวิสัยและเกิดเพียงครั้งเดียว หากราคาหุ้นตกต่ำมากก็อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนได้)
ในเรื่องของงบกำไรขาดทุนนี้ เราได้พูดถึงการแปลความหมายของตัวเลขต่างๆ ที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน เพื่อที่จะทราบถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท สิ่งที่ผมได้เล่ามาในบทนี้ มีรายละเอียดมาก อยากจะให้พวกเรานักลงทุนได้อ่านซ้ำอีกหลายๆ รอบในกรณีที่ยังไม่เข้าใจดี หรือแม้แต่เข้าใจดีแล้ว ก็ยังสามารถอ่านได้ซ้ำๆ อีกเพื่อที่จะได้ซึมซับความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปอีก การที่เราสามารถวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนได้นี้ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทนั้นมีกำไรหรือไม่ อย่างไร เพื่อที่จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของบริษัทนั้นหรือไม่
ตอนที่ 27 (26 ก.พ. 54)
เสร็จจากเรื่องของ งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรานักลงทุนจะต้องดูเป็นอันดับแรกๆ ว่าบริษัท หรือ ธุรกิจ ที่เราสนใจจะซื้อนั้น มีกำไรหรือไม่อย่างไร กำไรมาจากไหน ไปแล้ว คราวนี้เราก็จะมาดูกันในเรื่องของ งบดุล กันต่อ นะครับ
งบดุล (Balance Sheet, B/S)
งบดุล มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า balance sheet บางทีก็เรียกเป็นชื่อย่อว่า B/S หรือ BS ก็ได้นะครับ เจ้างบดุลนี้ เป็นตัวบอก "สภาพทางการเงิน" ของธุรกิจ เป็นสิ่งที่บอกนักลงทุนว่า ธุรกิจนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร คือมีสินทรัพย์อยู่ในมือเท่าไร และมีหนี้สินอยู่เท่าไร และส่วนที่ต่างกันระหว่างทรัพย์สินและหนี้สินก็คือ ส่วนของบริษัทเองจริงๆ เป็นเจ้าของ ถามว่าบริษัทคือใคร บริษัทก็คือผู้ถือหุ้น นี่เอง ก็จึงเรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นก็ได้ คำว่า งบดุล คือการ "ดุล" กันหรือ "เท่ากัน" ตามสมการหรือนิยาม
สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
หรือ
สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น
นั่นเอง
ถามว่า ทำไมธุรกิจต้องเป็นแบบนี้ด้วย คำตอบนั้นดูเหมือนง่ายมาก และอาจจะง่ายเกินไปด้วยซ้ำก็คือ เนื่องจากในการทำธุรกิจ บริษัทอาจจะไม่ได้ใช้เงินของตัวเองทั้งหมดมาทำงานตั้งแต่เริ่มแรกก็ได้ เช่นอาจจะเริ่มด้วยการลงขันของผู้ถือหุ้น (ก็เป็นเงินส่วนของผู้ถือหุ้น จะมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นหรือไม่ก็ตามที) และกู้เงินสดมาด้วยอีกส่วนหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นเช่นเงินเบิกเกินบัญชีหรือ OD หรือระยะยาว) โดยทั้งเงินที่ผู้ถือหุ้นควักกระเป๋าจ่ายมาแต่แรก รวมกับเงินส่วนที่กู้มานี้ ก็จะกลายเป็นทรัพย์สินรวมของบริษัท และบริษัทอย่างนี้ก็เริ่มด้วยการมีทั้งส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินแต่แรก แต่ถึงแม้ว่า บริษัทไม่ได้กู้เงินมาเพื่อรวมกับเงินของผู้ถือหุ้นแต่แรก ในระหว่างการทำธุรกิจไป ก็จะต้องมีการซื้อของโดยการเครดิต (คือจ่ายเงินทีหลัง) แบบนี้ก็เป็นหนี้สินอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ตรงจุดนี้ พวกเรานักลงทุนจะต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า หนี้สินนั้น ไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ หนี้สินถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าดอกเบี้ยและเงินต้นจ่ายคืน ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่ดีนะครับ เรียกว่า ยิ่งกู้ยิ่งรวย นั่นเอง
งบการเงินที่เรียกว่า งบดุล นี้ เป็นตัวเลขที่ทำการบันทึกลงในจุดเวลาหนึ่งๆ เช่น 31 ธันวาคม ก็จะเป็นงบดุลปลายปี คือเป็นตัวเลข ณ วันที่ 31 ธันวาคมเท่านั้นว่ามีสินทรัพย์เท่าไร ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไร และมีหนี้สินเท่าไร ส่วนของสามอย่างนี้จะเป็นเท่าใดในวันเวลาก่อน 31 ธันวาคม จะมองไม่เห็นในงบดุล ดังนั้น เวลาที่เราดูงบการเงินที่เรียกว่า งบดุล เขาจึงเขียนไว้ว่า งบดุล ณ วันที่ หนึ่งๆ อย่างไงล่ะครับ
ตรงจุดนี้มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องสังเกตไว้ว่า งบดุล ต่างจากงบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด (ที่เราจะได้ดูกันต่อไป) ที่เป็นตัวเลขแบบสะสม (cumulative) ที่เกิดในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นงบกำไรขาดทุนของไตรมาสที่ 1 จะเป็นตัวเลขสะสมของการได้มาซึ่งกำไร ในช่วงเวลาจาก 1 มกราคม - 30 มีนาคม (สมมติว่าปีงบประมาณของบริษัทนั้นเริ่มที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม เพราะอาจจะมีบางบริษัทที่ปีงบประมาณขยับเลื่อนไปไม่ตรงกับปีปฏิทินก็เป็นได้)
ในระหว่างที่ผมค่อยๆ เขียนเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน ก็อาจจะต้องมีการใช้คำศัพท์แปลกๆ บ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบาย ขยายความให้ดีที่สุดนะครับ แม้จะยากสักนิดในตอนเริ่มต้น แต่รับรองได้ว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการอ่านและทำความเข้าใจแน่นอน ค่อยๆ ติดตามไปนะครับ
ตอนที่ 28 (27 ก.พ. 54)
- ทรัพย์สิน หนี้สิน และ ส่วนของผู้ถือหุ้น ต้องได้ดุลกัน
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เราจะต้องเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกในเรื่องของงบดุลก็คือ มันจะต้องสมดุลกันตามชื่อของมันนั้นแหละ การดุลกันนี้คือ ทรัพย์สินรวมทั้งหมดของบริษัทจะต้องมีค่าเท่ากับหนี้สินบวกกับส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้น ถ้างบดุลจากไตรมาสหนึ่งไปยังไตรมาสถัดไป มีการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สิน เราก็จะรู้ได้เลยว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของผลรวมของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ที่รวมกันแล้วเป็นตัวเลขที่มากขึ้น สมการความสัมพันธ์ของทรัพย์สิน, หนี้สิน, และส่วนของผู้ถือหุ้นก็เป็นแบบง่ายๆ คือ
ทรัพย์สิน (Assets) = หนี้สิน (Liabilities) + ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)
ต่อไปเราจะดูเจาะลึกลงไปในแต่ละส่วนของงบดุล ในที่นี้ แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่สามารถจะมากกว่าที่ผมจะหยิบมายกตัวอย่างและพูดถึงได้ แต่ผมจะเลือกเอาเฉพาะที่เป็นแบบปกติทั่วๆ ไป ที่ทำให้เพื่อนๆ นักลงทุนสามารถเข้าใจได้ โดยเลือกเอาส่วนที่สำคัญๆ มาเป็นหลักครับ
- ทรัพย์สินหมุนเวียน
บริษัท จำเป็นต้องมีทรัพย์สิน เพราะว่าทรัพย์สินนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการไป และสามารถสร้างกำไรได้ ทรัพย์สินแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ทรัพย์สินหมุนเวียน (Current assets) และทรัพย์สินไม่หมุนเวียน (Non-current assets) และภายใต้แต่ละชนิด ก็ยังมีประเภทแยกย่อยออกไปอีก
ทรัพย์สินหมุนเวียน คืออะไรก็ตามที่ธุรกิจเป็นเจ้าของที่ดูเหมือนจะสามารถใช้หมดไป หรือเปลี่่ยนสภาพกลายเป็นเงินสดได้ภายในหนึ่งวงรอบของธุรกิจ (ปกติคือ 1 ปี) สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นทรัพย์สินหมุนเวียนก็เช่นเงินสด และสิ่งใดๆ ที่เทียบเท่าเงินสด, เงินลงทุนระยะสั้น, ลูกหนี้การค้า (account receivable - คือบริษัทมีลูกหนี้การค้าอยู่ เช่นขายสินค้าไปแล้วยังเรียกเก็บเงินไม่ได้หรือยังไม่ครบกำหนดนัดชำระ), สินค้าคงคลัง, และทรัพย์สินหมุนเวียนอื่นๆ
- เงินสด และสิ่งเทียบเท่าเงินสด (Cash and Cash Equivalents)
รายการนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเงินสดที่เก็บไว้ในตู้เซฟของบริษัทหรอกนะครับ โดยทั่วไปก็หมายถึงอะไรก็ตามที่เทียบได้เท่ากับเงินสดและมีความเสี่ยงต่ำเช่นเงินในกองทุนตลาดเงินก็ได้ โดยที่เมื่อเราต้องการจะใช้มัน เราสามารถแปลงสภาพได้เป็นเงินสดโดยที่มีความเสี่ยงในการเปลี่ยนค่าต่ำ เปรียบไปก็เหมือนกับเงินสดที่บริษัทสามารถนำไปซื้อหาจับจ่ายสิ่งของจำเป็นที่จะใช้ในการดำเนินกิจการได้ (หรือเอาไปจ่ายเงินใช้หนี้ก็ตามที)
ตอนที่ 29 (28 ก.พ. 54)
- เงินลงทุนระยะสั้น
ส่วนนี้เป็นส่วนที่บริษัทได้นำเงินที่เหลือ และไม่ได้ทำอะไร ไปทำงานลงทุนต่อ โดยทั่วไปจะเป็นการลงทุนที่มีกำหนดครบภายในหนึ่งปี และสามารถให้ผลงอกเงยมากกว่าการเก็บไว้ในธนาคารเฉยๆ เงินลงทุนส่วนนี้อาจจะต้องใช้ความพยายามสักเล็กน้อยที่จะเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดจริงๆ ได้ แต่โดยทั่วไปนักลงทุนสามารถคิดรวมได้ว่าเทียบเท่าเงินสด และบริษัทสามารถมีไว้พร้อมใช้ได้ในกรณีที่่จำเป็นฉุกเฉิน
- ลูกหนี้การค้า (Account receivable)
รายการนี้ก็คือการที่บริษัทได้ส่งใบแจ้งหนี้ เก็บเงินกับลูกค้าที่บริษัทได้ส่งสินค้าให้แล้ว หรือให้บริการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงินให้เป็นที่เรียบร้อย และมีการคาดว่าลูกค้าจะชำระเงินภายในหนึ่งปี พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ รายการนี้คือรายได้จากการขาย (ที่ได้บันทึกไว้แล้วในงบกำไรขาดทุน) แต่ลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงินสดๆ กลับมา โดยทั่วไปแล้วรายการ ลูกหนี้การค้า นี้จะถูกบันทึกไว้เป็นตัวเลขในจำนวนที่บริษัทคิดว่าจะสามารถเก็บเงินได้ เนื่องจากว่าจะต้องยอมรับว่า ลูกค้าบางคนก็ตั้งใจจะไม่จ่ายเงิน (เรียกว่า เบี้ยวหนี้ หรือ ชักดาบ นั่นแหละครับ) จำนวนเงินที่บริษัทคิดว่าจะถูกเบี้ยว หรือเก็บเงินไม่ได้ จะถูกบันทึกไว้เป็นตัวเลขที่มีชื่อว่ารายการ "หนี้สงสัยจะสูญ" (แหม ชื่อได้ใจความซะ!) การที่มีรายการหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก ไม่ใช่ว่าจะแค่ลดจำนวนของ ลูกหนี้การค้า เท่านั้น แต่จะทำให้เกิดรายจ่ายให้กับบริษัทด้วย ซึ่งเรียกว่า "รายจ่ายจากหนี้เสีย"
นักลงทุนจะต้องคอยจับตาดูตัวเลขของลูกหนี้การค้านี้เอาไว้โดยดูว่ามันสัมพันธ์กับตัวเลขการขายหรือไม่อย่างไร ถ้าตัวเลขของลูกหนี้การค้านี้พุ่งเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ายอดขาย นั่นหมายถึงว่าบริษัทมีความสามารถในการเก็บหนี้ได้ไม่ดี และเป็นการบอกผู้ลงทุนได้ว่า บริษัทอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ด้านการจ่ายหนี้ (ให้ช้า หรือ ยื้อได้) เพื่อการเพิ่มยอดขายในขณะที่มีปัญหาในการเก็บเงินสดที่บริษัทเป็นเจ้าหนี้อยู่ (อย่าลืมนะครับว่า เงินสดนั้น สำคัญกับการดำเนินธุรกิจมาก) แต่ในทางตรงกันข้าม หากอัตราการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้านี้ ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขายมาก ก็อาจจะหมายถึงการที่บริษัทมีการเข้มงวดเรื่องการจ่ายเงินของลูกค้า (อาจจะมากเกินไป) หรือติดตามหนี้ใกล้ชิดมาก ซึ่งก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขายที่สูงตามมา
ตอนที่ 30 (1 มี.ค. 54)
- สินค้าคงคลัง (Inventories)
สินค้าคงคลังมีด้วยกันหลายประเภทเช่น วัตถุดิบ, สินค้าที่กำลังผลิตแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี, สินค้าสำเร็จรูปที่พร้อมขาย เป็นต้น สินค้าคงคลังนี้เป็นที่ควรจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษในบริษัทผลิตขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทค้าขาย (ซื้อมาขายไป) ซึ่งมักจะมีสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมาก
มูลค่าของสินค้าคงคลังควรจะถูกคิดคำนวณมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเช่นเดียวกันกับลูกหนี้การค้า การเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังโดยทั่วไปจะต้องสัมพันธ์กับรายได้จากการขายของบริษัท หรือพูดให้เจาะจงลงไปอีกหน่อยก็คือต้องสัมพันธ์กับกำไรขั้นต้นที่ได้จากการขายแต่ละครั้ง (คือราคาขายลบด้วยต้นทุนของสินค้าคงคลังที่ขายได้) ถ้าระดับของสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการขายของบริษัทมาก นั่นคือบริษัทกำลังซื้อวัตถุดิบและผลิตสินค้าคงคลังขึ้นมากๆ มากกว่าความสามารถในการที่บริษัทจะขายสินค้าได้ ผลก็คือบริษัทจะต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อที่จะขายออกไปให้ได้ ทำให้มีกำไรต่ำลง และในบางกรณีอาจจะต้องถึงกับลดราคาต่ำกว่าทุน (อาจจะเพื่อต้องการเงินสดกลับเข้ามา, ต้องการลดพื้นที่ในการจัดเก็บ, ต้องการลดค่าใช้จ่าย่ในการจัดเก็บ - เช่นเช่าอาคารคลังสินค้าภายนอกอยู่) ทำให้เกิดการขาดทุนได้
และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ วัตถุดิบและสินค้าคงคลังนี้สัมพันธ์กับทุนของบริษัท นั่นคือบริษัทจะต้องใช้เงินไปซื้อหาวัตถุดิบและใช้เงินผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปขึ้นมา เงินที่จ่ายไปในส่วนนี้ก็ไม่สามารถเอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้จนว่าบริษัทจะสามารถขายสินค้านั้นออกไปได้ ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องดูอีกก็คือ บริษัทสามารถขายสินค้าออกไปได้เร็วแค่ไหน
ตอนที่ 31 (2 มี.ค. 54)
- สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ
ยังมีรายการที่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะรวมเอาบรรดาสินทรัพย์อื่นใดที่บริษัทสามารถที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม ยังมีสินทรัพย์อีกหลายอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้หรอก รายการที่เห็นได้บ่อยๆ คือรายจ่ายล่วงหน้า (prepaid expense) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นรายจ่าย (เงินสด หายไป เพราะจ่ายออกไป) แต่เราก็เรียกมันเป็นสินทรัพย์ (บันทึกกลับมาในด้านของสินทรัพย์) ครับ ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตโครงเหล็ก ได้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเอาไว้สำหรับปีที่จะมาถึง กฏทางการบัญชีบอกว่าบริษัทจะต้องบันทึกการใช้จ่ายทั้งจำนวนเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปก่อนล่วงหน้า (prepaid expense - เป็น asset) โดยในกรณีนี้จะไม่เหมือนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามปกติในงบกำไรขาดทุนเนื่องจากจะแสดงถึงอะไรบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อตัวบริษัทในอนาคต (กรณีนี้ก็คือความคุ้มครองในการประกันภัยไปอีกหนึ่งปีเต็ม) ในขณะที่เวลาผ่านไปในหนึ่งปี ค่าของสินทรัพย์นี้จะลดลง เป็นการสะท้อนเวลาเหลือที่กรมธรรม์จะคุ้มครองน้อยลง และจำนวนที่ลดลงนี้จะถูกบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่าย กระบวนการนี้เราเรียกว่า "ค่าตัดจำหน่าย" (amortization) นั่นเอง (เหมือนกับการบันทึก depreciation เป็นค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ที่มีตัวตน ซึ่งบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย และทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ประเภทเครื่องจักรเหลือน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป) โดยหลักการแล้วก็คือ ให้พวกเราจำไว้ว่า ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าของบริษัทจะเป็นการจ่ายเงินสดออกไป และจะทะยอยถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย (expenses) ของบริษัทแทนที่จะเป็นเงินสดในเวลาต่อมา
ตอนที่ 32 (3 มี.ค. 54)
- สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
เป็นส่วนที่ถูกให้คำนิยามไว้แสนง่ายก็คือ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สินทรัพย์หมุนเวียน ก็เรียกว่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนก็แล้วกัน (อืม ง่ายดีแฮะ) รายการหลักๆ ในหัวข้อนีก็เช่น การลงทุนระยะยาว, ทรัพย์สมบัติต่างๆ (เช่นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคาร), โรงงาน, เครื่องจักร, ค่าความนิยม (goodwill) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ ทั้งหลาย
- เงินลงทุนระยะยาว
ส่วนนี้เป็นเงินที่บริษัทได้นำไปใช้ในการลงทุนในตราสารหนี้ หรือสิ่งอื่นใดที่มีกำหนดครบการลงทุนเกินกว่าหนึ่งปี เงินส่วนนี้ไม่ได้มีสภาพคล่องเหมือนเงินสดหรือเงินลงทุนระยะสั้น และมูลค่าของมันอาจจะปรับขึ้นลงไปมาได้ ดังนั้นเมื่อเงินส่วนนี้ปรากฏอยู่ในงบดุล จะเป็นไปได้ว่าจะถูกบันทึกด้วยจำนวนตัวเลขที่สูงหรือต่ำเกินไปได้ ถ้าเงินจำนวนนี้มีมูลค่าสูง นักลงทุนก็อาจจะต้องเข้าไปดูมากสักหน่อยว่าบริษัทได้เอาเงินของผู้ถือหุ้น (ก็พวกนักลงทุนนี่แหละ) ไปทำอะไรในสิ่งที่ถูกต้องสมเหตุสมผล หรือเสี่ยงมากเกินไป (ด้วยจำนวนเงินที่สูง) หรือไม่
ตอนที่ 33 (4 มี.ค. 54)
- ทรัพย์สมบัติต่างๆ (ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร) หรือ PP&E (Property, Plant, and Equipment)
ทรัพย์สินส่วนนี้เป็นส่วนที่จับต้องได้ของบริษัท เป็นส่วนที่เป็นตึกรามอาคารร้านรวงต่างๆ เช่นพวกที่ดิน, อาคาร, โรงงาน, เครื่องตกแต่งประดับ, เครื่องจักรต่างๆ เป็นต้น ตัวเลขแสดงมูลค่าของสิ่งเหล่านี้จะเป็นมูลค่าที่เหลือสุทธิหลังจากการหักลดค่าเสื่อมราคาแล้ว (ซึ่งจะหักลดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดอายุการใช้งานของทรัพย์สินนั้น) และในที่สุดแล้วทรัพย์สินพวก ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร เหล่านี้ก็จะต้องถูกแทนที่ด้วยของใหม่ และค่าเสื่อมราคาที่บริษัทได้คำนวณมาใช้ จะเป็นตัวเลขที่ดีและเหมาะสมที่สุดที่จะใช้แทนความเสียหายและเสื่อมสภาพของ ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร พวกนี้ ในหลายๆ กรณีเราควรสังเกตไว้ว่า ตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินพวกนี้ก็ไม่ได้ถูกต้องตามมูลค่าของมันที่ควรจะเป็น เช่นบริษัทอาจจะมีอาคารบางตึกที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาท แต่ถูกบันทึกไว้ในราคาเพียงนิดเดียวอันเนื่องมาจากถูกหักออกด้วยค่าเสื่อมราคามาหลายปี (แต่ตึก กลับยังอยู่ ไม่พังไปอย่างที่คิดตอนแรก) และในทางเดียวกัน ราคาของที่ดิน อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเวลาผ่านไป คือมากเกินกว่าที่บันทึกไว้ในงบดุลในส่วนนี้อยู่เยอะ ก็เป็นได้อีก
- ค่าความนิยม (Goodwill) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ
สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ ก็เหมือนกับชื่อของมันแหละครับ ก็คือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถจับ ยก ถือ อุ้ม ใดๆ แตะ สัมผัส ใดๆ ได้และโดยปกติก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสด (กันได้ง่ายๆ) ทรัพย์สินแบบนี้โดยทั่วไปอันหนึ่งก็คือค่าความนิยม ค่าความนิยมนี้โดยปกติก็คือส่วนต่างที่บริษัทหนึ่งยอมจ่ายเพื่อซื้ออีกบริษัทหนึ่งด้วยรคาที่เกินกว่าความเป็นจริง (ตามที่ได้รับการประเมินว่าควรมีราคาเท่าไร ด้วยวิธีการใดๆ อาจจะด้วยวิธีคิดลดเงินสด เป็นต้น) ตัวอย่างของค่าความนิยมนี้ก็คือ ยี่ห้อตราสินค้า เป็นต้น
นักลงทุนควรจะสังเกตไว้ว่า หากบริษัทหนึ่งใด คิดตรายี่ห้อของตัวเองขึ้น บริษัทนั้นจะไม่สามารถบันทึกค่าความนิยมในสิ่งใดๆ ที่ตัวเองคิดขึ้นมาเองไว้ในงบดุลได้ (แต่ถ้าซื้อมา สามารถบันทึกได้ นะครับ)
นักลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับรายการค่าความนิยมนี้ คือซอกแซกชวนสงสัยเอาไว้ให้มากๆ เนื่องจากว่าบริษัทส่วนมากมีแนวโน้มท่าทีที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อค่าความนิยมนี้เป็นจำนวนที่มากเกินความจำเป็น ทำให้ตัวเลขของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนชนิดนี้ แสดงเป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริงที่ค่าความนิยมนั้นจะมีประโยชน์จริงๆ กฏทางบัญชีจะกำหนดให้บริษัทจะต้องทำการประเมินมูลค่าของความนิยมนี้ทุกๆ ปี และหากบริษัทบันทึกค่าความนิยม ลดลงๆ ทุกปี นั่นแปลว่าเงินที่จ่ายซื้อมาตอนแรกนั้นมัน แพงไปนั่นเอง
ตอนที่ 34 (6 มี.ค. 54)
หลังจากที่ดูว่าบริษัทมีทรัพย์สิน หรือสมบัติในการดำเนินงานเป็นอะไรบ้างแล้ว คราวนี้เราก็มาดูในส่วนของหนี้สินกันบ้าง หนี้สินเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องมีโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากใครบางคนด้วยเงินเชื่อ ก็ทำให้บริษัทเกิดหนี้สินแล้ว แต่ถ้าหากบริษัทสามารถสร้างกำไรจากส่วนของหนี้นั้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องการ และแบบนี้เรียกว่า ยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งรวย ครับ
หนี้สิน
เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งที่บริษัทเป็นเจ้าของ เราก็สามารถมองอีกด้านหนึ่งของงบดุลได้ นั่นคือดูว่าบริษัทมีหนี้สินอะไรไว้กับใครบ้าง ก็เหมือนกับสินทรัพย์ที่ว่ามีประเภทหรือรายการหลักๆ ของหนี้สินอยู่สองประเภทคือ หนี้สินหมุนเวียน (current liabilities) และหนี้สินไม่หมุนเวียน (noncurrent liabilities)
- หนี้สินหมุนเวียน
หนี้สินที่บริษัทจะต้องจ่ายคืนภายในหนึ่งปีจะเรียกว่าหนี้สินหมุนเวียน รายการหลักๆ ที่นักลงทุนจะต้องให้ความสนใจก็คือเรื่องของ หนี้สินระยะสั้นและเจ้าหนี้การค้า (เรียกว่า account payable - เจ้าหนี้การค้า คือ บริษัทมีเจ้าหนี้การค้าอยู่) ซึ่งเรียกง่ายๆ ก็คือหนี้สินที่เกิดจากการที่บริษัทได้ไปซื้อเงินเชื่อมา ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะต้องใช้คืนนะครับ
- หนี้สินระยะสั้น
รายการนี้คือเงินที่บริษัทได้ขอยืมมาโดยมีกำหนดที่จะใช้คืนภายในหนึ่งปี ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นเงินเบิกเกินบัญชีทั้งหลาย โดยทั่วไปแล้ว เงินในส่วนนี้จะต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ในระยะสั้น คือเป็นเงินหมุนเวียนเท่านั้น ไม่ใช่นำไปซื้อเครื่องจักวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เวลาในการคืนทุนนาน บางทีเงินส่วนที่เป็นหนี้สินระยะยาวที่ถึงคราวที่จะครบกำหนดชำระคืนเหลือภายในหนึ่งปี ก็จะโดนย้ายมาไว้ในรายการนี้เช่นกัน เงินส่วนนี้เป็นหนี้สินที่มีความสำคัญ เนืองจากจะต้องมีการใช้หนี้คืนกลับไปในเวลาอันสั้น ทำให้ต้องวุ่นวายมากในการจัดการกับเงินสด
ตอนที่ 35 (7 มี.ค. 54)
- เจ้าหนี้การค้า
เจ้าหนี้การค้าหมายถึงหนี้สินที่เกิดจากการทบริษัทได้ซื้อสินค้าและ/หรือ บริการจากผู้อื่น แล้วยังไม่ได้ชำระเงินให้กับผู้ขายนั้น รายการนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ ลูกหนี้การค้า จะพูดไปก็คือ นักลงทุนจะต้องการเงินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ตรงกันข้ามกันของรายการทั้งสองอย่างนี้ (คือ อยากจะเห็นลูกหนี้การค้ามีมากขึ้น ในขณะที่เจ้าหนี้การค้ามีน้อยลงๆ) และในอีกแง่มุมของเวลา หากบริษัทมีลูกหนี้การค้า ผู้ถือหุ้นก็ย่อมอยากให้บริษัทสามารถเก็บหนี้ได้เร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม ในรายการเจ้าหนี้การค้า บริษัทก็ย่อมอยากจะประวิงเวลาจ่ายเงินออกไปให้นานอีกหน่อย (โดยที่ไม่สร้างปัญหาให้กับทั้งตัวเองและคู่ค้า) การที่ทำเช่นนี้ จะทำให้บริษัทสามารถถือเงินสดไว้ได้นานขึ้น ทำให้มีสถานะการไหลของเงินสดเป็นบวก
- หนี้สินไม่หมุนเวียน
หนี้สินไม่หมุนเวียนเป็นอีกด้านตรงกันข้ามของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หนี้สินพวกนี้ก็คือเงินที่บริษัทเป็นหนี้และมีกำหนดที่จะต้องชำระคืนในเวลามากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป แม้ว่าเราอาจจะเห็นรายการย่อยหลายอย่างเขียนฝังไว้ในรายการนี้ แต่โดยหลักใหญ่ใจความก็คือหนี้สินระยะยาวนั่นเอง
- หนี้สินระยะยาว
รายการนี้เป็นรายการที่แสดงถึงเงินที่บริษัทได้หยิบยืมมา โดยทั่วไปก็เช่นการออกตราสารหนี้ (บ้านเราเรียกว่า หุ้นกู้) ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินต้นคืนเป็นเวลาหลายปี การที่บริษัทมีหนี้สินระยะยาวมากเกินไป เป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทเนื่องจากบริษัทจะยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ ไม่ว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร (กำไรมาก กำไรน้อย หรือแม้แต่ไม่มีกำไร ก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ย) การที่จะบอกว่าบริษัทหนึ่งๆ มีหนี้สินระยะยาวมากเกินไปหรือไม่ หรือควรมีไม่เกินแค่ไหน เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับชนิดของบริษัทนั้นๆ เอง (คือไม่สามารถกำหนดบอกตายตัวได้ เพราะว่าขึ้นอยู่กับธรรมชาติของธุรกิจ เช่นบริษัทที่ต้องลงทุนจำนวนมาก ซึ่งหากใช้เงินของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ก็จะทำให้ผลตอบแทน ROE - Return On Equity ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่องนี้่ในภายหลัง - ต่ำลง แต่สินค้า/บริการนั้นเป็นการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดในระยะยาว มีลูกค้าแน่นอน การกู้ระยะยาวมากก็อาจจะเป็นการเหมาะสมได้) การที่จะดูว่าหนี้สินระยะยาวมากเกินไปหรือไม่อย่างง่ายๆ ก็คือ ดูว่ากำไรของบริษัทหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการต่างๆ และค่าเสื่อมราคาแล้ว แต่ก่อนหักภาษี (EBIT - Earning Before Interest and Tax) เป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย (พูดง่ายๆ คือ มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างสบายๆ หรือไม่) ยิ่งกำไรมีค่าเป็นหลายเท่าของดอกเบี้ย ยิ่งแปลว่าสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างสบายๆ
ตอนที่ 36 (8 มี.ค. 54)
- ส่วนของผู้ถือหุ้น
รายการนี้นี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ถือหุ้นมาก เนื่องจากชื่อของมันก็บอกอยู่ชัดเจนว่า "ส่วนของผู้ถือหุ้น" อย่างไงล่ะครับ ตามสมการของงบดุลแล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ก็คือสินทรัพย์ของบริษัททั้งหมด ลบออกด้วยหนี้สิน ซึ่งแสดงตัวเลขของส่วนของบริษัทที่เป็นของผู้ถือหุ้นจริงๆ จึงเรียกชื่อว่าส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง ในบางที่บางเวลา อาจจะมีคนเรียกส่วนนี้ว่า ทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งต้องระวังให้ดีเพราะว่าอาจจะเกิดความสับสนได้ (เรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นกันนั่นล่ะ ดีแล้วครับ ชัดเจนดี) ถึงแม้ว่าจะมีรายการย่อยจำนวนหลายรายการในส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ รายการย่อยที่สำคัญสนส่วนนี้มีสองอย่างคือ กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร (Retained Earnings) และหุ้นซื้อคืน (Treasury Stock)
- กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร
รายกานี้แสดงตัวเลขของกำไรทั้งหมดของบริษัทที่มีมาตั้งแต่ตั้งกิจการ หักออกด้วยเงินที่บริษัทได้จ่ายออกไปให้กับผู้ถือหุ้นเป็นปันผล เนื่องจากตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสะสม ถ้าบริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่เรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ ตัวเลขกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรนี้ก็สามารถจะมีค่าเป็นติดลบได้ และจะกลายเป็น "ขาดทุนสะสม" (accumulated deficit) ไป
- หุ้นซื้อคืน (Treasury Stock)
รายการนี้แสดงถึงว่าบริษัทได้มีการซื้อหุ้นของตัวเองคืนจากตลาดหรือไม่เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งจริงๆ แล้วการซื้อหุ้นคืนจากตลาด ก็เปรียบเสมือนเป็นการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น (และในบางกรณี ดีกว่าการจ่ายปันผลด้วยซ้ำไป) นักลงทุนควรจะคอยสังเกตตัวเลขนี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่ง
ตอนที่ 37 (9 มี.ค. 54)
หลังจากที่เราได้รู้จักงบดุลไปแล้ว ว่ามีส่วนของสินทรัพย์ ซึ่งจะเท่ากับหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น คราวนี้เรามาดูว่านักลงทุนควรจะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขนี้อย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะสามารถเลือกลงทุนได้ถูกในบริษัทต่างๆ
ดูสินทรัพย์ในงบดุล
สินทรัพย์แบ่งออกเป็นหลายส่วนมากมาย สินทรัพย์หลายอย่างเป็นตัวทำเงิน ในขณะที่สินทรัพย์บางอย่างไม่ได้ทำเงินแถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลและเกิดค่าเสื่อมราคาสูงอีก ในฐานะนักลงทุนเราจึงต้องพิจารณาสินทรัพย์เหล่านี้ด้วย
- สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) เป็นตัวทำเงินให้กับธุรกิจ บริษัทที่ดีควรมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนมาก ยิ่งส่วนต่างมาก ยิ่งดี ตัวเลขนี้คำนวนได้เรียกว่า current ratio (อัตราส่วนหมุนเวียน) = current assets (สินทรัพย์หมุนเวียน) / current liabilities (หนี้สินหมุนเวียน) ถ้ามีค่ามากกว่า 1 เยอะๆ จะดี โดยที่ ทรัพย์สินหมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน = ทุนดำเนินกิจการ (Working Capital) ยิ่งมีมากยิ่งดี
- วัฎจักรของการทำเงินของธุรกิจคือ เงินสด -> วัตถุดิบ -> สินค้าคงคลัง -> ลูกหนี้การค้า -> เงินสด ยิ่งบริษัททำให้วงรอบนี้สั้นและมีประสิทธิภาพได้เท่าไร ธุรกิจก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากเท่านั้น
- ดูเงินสด (Cash and cash Equivalents) บริษัทที่มีเงินสดในมือมาก จะได้เปรียบบริษัทอื่น (ยกเว้นผู้บริหารไร้ความสามารถ ไม่รู้จักหาประโยชน์จากเงินสดนั้น) โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ความสามารถในการอยู่รอดและการมีเงินสดมาก สร้างโอกาสได้มาก แต่ เงินสดนั้นจะต้องได้มาจากการดำเนินงานตามปกติ ไม่ใช่ขายสินทรัพย์ที่มีออกไป หรือกู้มาไว้เฉยๆ แนวโน้มของเงินสดต้องดีคือไม่ใช่ร่อยหรอลงๆ อย่างไม่มีเหตุผล แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นกับบางบริษัท ที่ตัวเองคิดว่าแข็งแกร่งมาก และไม่จำเป็นต้องเก็บเงินสดไว้เยอะ แต่ใช้ไปในการซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ก็มี
- มองดูที่สินค้าคงคลัง (Inventory) ให้ระวังให้ดีโดยเฉพาะสินค้าที่ล้าสมัยได้ เพราะการมีสินค้าคงคลังได้ บริษัทจะต้องใช้เงินสดในการสร้างขึ้นมา หากถึงเวลาแล้วขายไม่ได้ จะเกิดการขาดทุนได้ แต่หากปริมาณสินค้าคงคลัง เพิ่มขึ้นตามยอดขาย (และกำไร) ที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงจุดที่ดีเพราะหมายความว่ามีสินค้าเตรียมไว้รอขาย
- ดู ลูกหนี้การค้า (Account receivables) ลำพังตัวเลขนี้เดี่ยวๆ คงบอกอะไรไม่ได้มากนัก แต่บริษัทที่ดีจะมีอัตราส่วนของลูกหนี้การค้าค้างจ่าย (ที่ยังเก็บเงินไม่ได้) ต่อยอดขายต่ำกว่าคู่แข่ง นั่นแปลว่าสามารถขายของแล้วเก็บเงินได้เร็ว หรือแม้แต่ขายเป็นเงินสด (ลูกค้าต้องยอมจ่ายเร็ว) คือมีอำนาจต่อรองสูง
- ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses) คือเงินที่จ่ายไปก่อน ก่อนที่บริษัทจะได้รับสินค้าหรือบริการ ตัวเลขนี้ตัวเดียวจะบอกอะไรเราไม่ได้มากนัก แต่ไม่ควรมีจำนวนมากผิดสังเกต
- ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ของพวกนี้ล้าสมัยได้ เสื่อมสภาพได้ และมีค่าเสื่อมราคา ที่ต้องหักออกจากกำไรขั้นต้น ทำให้กำไรสุทธิต่ำลง บริษัทที่ดีน่าจะมีจำนวนเงินของสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักร จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับยอดขาย คือสามารถทำเงินได้มาก (และมีกำไรมาก) จากเครื่องจักรนั้น ให้สังเกตการลงทุนเครื่องจักรของบริษัทต่างๆ ให้ดี บริษัทที่ต้องลงทุนเครื่องจักรบ่อยๆ เพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ในธุรกิจ (พวกบริษัท hi-tech ทั้งหลาย) เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรระมัดระวัง
- ค่าความนิยม (Goodwill) เป็นเงินส่วนที่บริษัทจ่ายออกไป แล้วได้กลับมาในรูปของค่าความนิยมเช่น ยี่ห้อ ตราสินค้าหากตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น แสดงว่าบริษัทได้ทำการซื้อธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้นมา หากไม่มีการซื้อเพิ่มเข้ามา ให้นักลงทุนติดตามดูตัวเลขนี้ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปีหรือไม่ การลดลงแสดงถึงการที่ตอนแรกจ่ายเงินซื้อมากเกินไป
- สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ ถ้ามีตัวเลขพวกนี้เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าบริษัทได้ซื้อทรัพย์เหล่านี้เข้ามาจากคนอื่น บริษัทไม่สามารถบันทึกทั้ง Goodwill, ค่าสิทธิบัตร, ค่าลิขสิทธิ ใดๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นเองภายในของบริษัทได้ นั่นคือในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นของธุรกิจที่มีชื่อตราสินค้าที่พัฒนาโดยตัวเองได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากบริษัทไม่สามารถบันทึกค่าของสิ่งเหล่านี้ไว้ในมูลค่าทางบัญชีได้
- ดูที่ตัวเลขการลงทุนระยะยาว (Long Term Investments) ธุรกิจที่ดีควรแบ่งเงินไปลงทุนระยะยาว เพื่อผลสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว คือสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากและมีความได้เปรียบในการแข่งขัน การลงทุนระยะยาวนี้รวมถึงการซื้อธุรกิจอื่นด้วย สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ ตัวเลขของการลงทุนระยะยาวนี้จะถูกบันทึกไว้ด้วยมูลค่าเมื่อซื้อ หรือราคาตลาด แล้วแต่ว่าอันไหนจะต่ำกว่า ดังนั้นการเลือกบริษัทที่ได้นำเงินไปลงทุน (ซื้อ) ธุรกิจอื่นที่ดีเอาไว้ จะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว และตัวบริษัทเองก็เพิ่่มค่าขึ้นไปเรื่อยๆ
- สินทรัพย์ระยะยาวอื่นๆ จริงๆ ตัวเลขนี้บอกอะไรไม่ได้มากนัก แต่ไม่ควรมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์โดยรวม เพราะว่าผู้บริหารควรจะหาทางเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สร้างรายได้และกำไร ไปเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลกำไรให้กับบริษัทมากกว่า
- ขนาดของสินทรัพย์รวม และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ยิ่งอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA - Return On Asset) มีค่ามากยิ่งดี คือสามารถทำประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีได้ดี แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าขนาดของสินทรัพย์นั้นใหญ่มากๆ ด้วย เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าแข่งขันของผู้อื่น (Entry Barrier) ทำให้บริษัทมีคู่แข่งน้อยรายและมีการแข่งขันต่ำในอุตสาหกรรมนั้น
ตอนที่ 38 (10 มี.ค. 54)
ดูหนี้สินในงบดุล
- หนี้สินต่างๆ รวมทั้งหนี้สินระยะสั้นที่จะต้องครบกำหนดชำระในหนึ่งปี ประกอบไปด้วยหลายส่วนเช่น เจ้าหนี้การค้าคือหนี้สินที่บริษัทซื้อของเครดิตมาและได้รับใบแจ้งหนี้แล้ว, ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายคือหนี้ที่ต้องจ่ายแต่ยังไม่ได้รับใบแจ้งหนี้, และหนี้สินหมุนเวียนอื่นๆ ซึ่งคือหนี้ระยะสั้นอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสองแบบข้างต้น หนี้พวกนี้เป็นหนี้สินปกติ แต่ให้นักลงทุนระวังหนี้สินระยะสั้นที่เบิกมาเป็นตัวเงินสดให้ดี ดูข้อ 14 ต่อไปครับ
- เนื่องจากโดยปกติแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น จะต่ำกว่าเงินกู้ระยะยาว บางบริษัทรวมทั้งพวกสถาบันการเงิน เลยทำการกู้หนี้ระยะสั้นมาเพื่อใช้งานระยะยาว ปัญหาจึงอาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อการลงทุนระยะยาวนั้นยังไม่คืนทุน แต่ถึงกำหนดที่จะต้องใช้หนี้เงินต้นและบริษัทยังหาเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อมาชดใช้หนี้เดิมไม่ได้ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสภาพที่อันตรายมาก ดังนั้นนักลงทุนจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีหนี้สินระยะสั้นมากๆ แล้วเอาเงินไปลงทุนระยะยาว (ดูยากสักหน่อย แต่ขอให้พยายามดูก็แล้วกัน)
- บริษัทที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง ไม่ควรจะมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในหนึ่งปีก้อนโต แต่ถ้าหนี้สินนั้นเป็นการกู้มาเพื่อใช้หนี้เพียงชั่วคราว ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการได้ซื้อหุ้นของบริษัทนั้นในราคาถูก เนื่องจากนักลงทุนทั่วไปจะตกใจที่กำไรของบริษัทลดลงอย่างมากเพราะว่าต้องใช้หนี้ก้อนใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว
- จำนวนรวมของหนี้สินหมุนเวียนต่ำๆ เป็นสิ่งที่ดี (เพราะทำให้ทุนดำเนินกิจการหรือ working capital สูงได้จากสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวนเดิม - ดูข้อ 1)
- บริษัทที่แข็งแกร่งในการแข่งขัน (ไม่ต้องปรับปรุงอะไรมากมายนัก) จะมีหนี้สินระยะยาวต่ำ และสามารถชดใช้ได้ (ถ้าจะทำ) ด้วยผลกำไรภายในเวลา 3-4 ปี
- จะมีบริษัทบางอย่างที่มีความแข็งแกร่งมากแต่ก็มีหนี้สินระยะยาวมาก ในกรณีแบบนี้เราควรพิจาณาซื้อหุ้นกู้ของบริษัทนั้นจะดีกว่า เพราะว่าบริษัทจะต้องวุ่นวายกับการหาเงินมาใช้หนี้ จะไม่ค่อยมีเวลาจัดการงานให้เติบโตได้มากนัก
- ยังมีหนี้สินอื่นๆ จิปาถะเช่น ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (ไม่น่าสนใจมาก), ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (เอาไว้ดุลกับทรัพย์สินของบริษัทร่วม), หนี้อื่นๆ (ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรนัก แต่ไม่ควรมีจำนวนมากจนผิดสังเกต)
- สัดส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio) ไม่ควรเกิน 0.8 แต่บางบริษัทอาจจะนำเงินสดทั้งหมดไปใช้ในการซื้อหุ้นคืน หรือเพื่อสร้างมูลค่าอื่นๆ โดยบริษัทไม่สนใจจะถือเงินสดไว้เนื่องจากมีความแข็งแกร่งมาก (เครดิตดี ยืมเงินใครเขาก็ให้ ว่างั้นเหอะ) ทำให้ D/E ดูแย่มากก็มี นักลงทุนจะต้องดูดีๆ ด้วย คือดูงบกำไรขาดทุนประกอบด้วยว่าเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้สูงมากหรือไม่
ตอนที่ 39 (11 มี.ค. 54)
ดูส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล
- ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder's Equity) = สินทรัพย์รวม (Total Assets) - หนี้สินทั้งหมด (Total Liabilities) ซึ่งส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ประกอบไปด้วยส่วนประกอบย่อยคือ
- หุ้นบุริมสิทธิ์ (จะทำงานเหมือนหนี้ ไม่ใช่ทุน/เจ้าของ ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ และไม่สามารถหักดอกเบี้ยจ่ายนี้ออกก่อนคิดภาษีได้ เป็นทุนที่มีต้นทุนทางการเงินสูงมาก บริษัทที่มีการเงินแข็งแกร่งและยั่งยืนจะไม่มีหุ้นชนิดนี้)
- หุ้นสามัญ ซึ่งคือส่วนของทุนเรือนหุ้น หุ้นบุริมสิทธิ์, หุ้นสามัญ, ทุนเรือนหุ้น พวกนี้จะถูกบันทึกไว้ในราคาพาร์ หากสามารถขายหุ้นได้สูงกว่าราคาพาร์ ก็มาบันทึกไว้ตรงส่วน
- ส่วนเกินทุนมูลค่าหุ้น
- กำไรที่ยังไม่ได้จัดสรร ตรงนี้เป็นของสำคัญ เดี๋ยวเราจะมาดูกันภายหลัง
- หุ้นซื้อคืนหรือ treasury stocks จะเป็นส่วนของหุ้นสามัญที่บริษัทมีเงินสดเหลือและซื้อหุ้นของตัวเองกลับเข้ามา การมีหุ้นซื้อคืนเป็นสิ่งที่ดี ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ เพราะเวลาหารจ่ายปันผลจะจ่ายตาม outstanding shares คือจ่ายเท่าที่มีหุ้นอยู่ในมือผู้ถือหุ้น หุ้นซื้อคืนจะไม่ถือว่าอยู่ในมือผู้ถือหุ้น ตัวหารจึงน้อยลง และเมื่อหุ้นของบริษัทมีจำนวนน้อยลง ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเองด้วย ดูข้อ 5 ด้านล่างประกอบด้วย
- ทุนอื่นๆ
- ส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ มีที่มาได้สามอย่างคือ
- IPO (การระดมทุนออกขายหุ้นให้แก่สาธารณชนทั่วไปเป็นครั้งแรก)
- การเพิ่มทุน
- กำไรสะสม
- หุ้นกู้" จะไม่ใช่ทุน แต่จะถูกบันทึกไว้เป็นหนี้สิน ผู้บริหารมีหน้าที่นำกำไรสะสมไปทำให้งอกเงยให้มากที่สุด
- กำไรสะสมส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรร เป็นเหมือนคลังสมบัติของบริษัท บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน ควรจะมีตัวเลขของกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรนี้เพิ่มขึ้นๆ ทุกๆ ปี บริษัทควรจะนำเงินนี้ไปลงทุนต่อให้งอกเงย โดยไม่ต้องใช้เงินทุนปกติของบริษัทอีก เช่นเอาไปซื้อกิจการอื่นที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน จะทำให้บริษัทรวยขึ้นๆ เอง (เป็นวิธีที่เบิร์กไชร์ ฮาร์เธอเวย์ รวยขึ้นๆ)
- กำไรส่วนที่จัดสรรแล้ว เช่นเป็นปันผล จะต้องไปดูในบัญชีกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) เพราะว่าจะไม่เห็นในงบดุลนี้ (คือมันเป็นเงินสด ไหลออกไปแล้วก็หายไป ไม่มีหนี้, สินทรัพย์ หรือส่วนของผู้ถือหุ้นค้างอยู่ให้เห็น)
- หุ้นซื้อคืนจะถูกบันทึกไว้ในงบดุล (ในส่วนของ Equity) เป็นติดลบ เพื่อหักออกจากทุนเดิม (คือเงินหาย แต่ว่าอมหุ้นไว้แทน) จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง ไม่ต้องตกใจ (ถ้าอยากรู้ว่าแบบไม่ลดเป็นเท่าไร ก็ลองเอามูลค่าของหุ้นซื้อคืนบวกกลับดูก็ได้) การที่เป็นแบบนี้จะทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงขึ้น ถ้าเห็นค่า ROE สูงมากๆ ให้กลับไปดูว่าบริษัทมีหุ้นซื้อคืนหรือไม่ ถ้ามีจำนวนมาก ให้ลองคำนวณ ROE ดูใหม่แบบไม่หักหุ้นซื้อคืนออก เพื่อดูความสามารถในการบริหารหนี้-ทุนของบริษัทจริงๆ
- การซื้อหุ้นคืน จะทำให้ทุนต่ำลง บางบริษัทอาจจะมี ROE สูงมากและมีส่วนของทุนติดลบ อาจจะเป็นเพราะว่าบริษัทแข็งแกร่งมาก หรือว่าใกล้เจ๊งก็ได้ ให้ดูให้ดี (ไปดูงบกำไร/ขาดทุน ก็ได้ ถ้าบริษัทขาดทุนตลอดจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ แบนี้คือใกล้เจ๊ง แต่ถ้าเอาเงินทั้งหมดที่มี ไปไล่ซื้อหุ้นตัวเองคืนมาจากตลาด แบบนี้อาจจะดีมากๆ ก็ได้
การลงทุนด้วยหนี้
แน่นอนว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลงทุนก็คือการใช้เงินของตัวเอง เมื่อมีกำไรก็เก็บเงินไปลงทุนเพิ่มเริ่อยๆ แต่กิจการบางอย่างต้องการเงินทุนจำนวนมากมาย หากใช้เงินผู้ถือหุ้นทั้งหมดก็จะต้องเพิ่มทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ดีนัก อีกทั้งยังเติบโตได้ช้าอีกด้วย การกู้เงินจึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดเวลาลงได้ การกู้มากจะทำให้ได้ ROE สูง โดยทั่วไปการที่ได้ ROE สูงๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่จริงๆ แล้วก็มีที่มาได้สองวิธีคือ
- วิธีปกติ คือบริษัทต้องมีความได้เปรียบในการแข่งขันมาก ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงและมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่ำ สุดท้ายทำให้อัตรากำไรสุทธิสูง และสามารถใช้เงินส่วนของผู้ถือหุ้นที่พอกพูนเพิ่มขึ้นมาไปใช้ได้อย่างคุ้มค่า
- แบบทุนน้อย กู้มาก แบบนี้ธุรกิจธรรมดาๆ ก็สามารถมี ROE สูงๆ ได้เช่นกันแต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยง หากรายได้ไม่แน่นอน ก็จะมีปัญหาเรื่องการใช้หนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยได้
ตอนที่ 40 (12 มี.ค. 54)
งบกระแสเงินสด
หลังจากที่เราได้รู้เรื่องของงบกำไรขาดทุน และงบดุลมาแล้ว คราวนี้ลองมาดูงบการเงินอีกอย่างหนึ่งที่เหลือ ซึ่งสำคัญมากเช่นกันโดยที่บางคนบอกว่าซับซ้อนที่สุด และยุ่งยากที่สุดในการทำความเข้าใจในบรรดางบการเงินทั้งสามชนิด ก็คือ "งบกระแสเงินสด" ซึ่งเป็นงบการเงินที่บอกว่ามีเงินสด (เน้นว่า เงินสดๆ) วิ่งเข้าออกบริษัทเป็นจำนวนเท่าใดในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่นหนึ่งไตรมาส จะวันที่เท่าไรถึงเท่าไร หรือว่าในหนึ่งปีงบประมาณ เป็นต้น) หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ งบกระแสเงินสดนี้จะบอกว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้จากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน และเงินสดนี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของบริษัท
- งบกระแสเงินสดบอกอะไรเรา
งบกระแสเงินสดดูเหมือนๆ กับงบกำไรขาดทุนที่แสดงให้เราเห็นรายได้ที่เข้ามาและรายจ่ายที่ไหลออกไป แต่แน่นอนล่ะครับว่าจะต้องไม่เหมือนกันจริงๆ หรอก และความแตกต่างนี้ก็อยู่ที่ส่วนของเกณฑ์บัญชีแบบคงค้าง (Accrual Accounting) นั่นเอง อย่างที่เราเคยได้พูดถึงมาแล้วในเรื่องของงบกำไรขาดทุนว่า บริษัทจะต้องบันทึกรายได้และรายจ่ายเมื่อมีการทำรายการ (Transaction) เกิดขึ้น ไม่ใช่เมื่อเกิดการไหลเข้าออกของเงินจริงๆ หลักการนี้เรียกว่าการจับคู่กัน (matching) คือรายจ่ายต่างๆ จะต้องจับคู่กันได้กับรายได้ที่เกิดจากรายจ่ายนั้นๆ เมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ ในขณะที่หลักการที่ว่านี้ฟังดูง่ายแต่ก็วุ่นวายโกลาหลมากเมื่อลงมือทำเข้าจริงๆ และงบกระแสเงินสดก็จะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถแยกความโกลาหลนี้ออกจากกันได้
งบกระแสเงินสดจะจัดการแยกให้เราเห็นส่วนที่เป็นรายได้ที่ไม่ใช่เงินสดและรายจ่ายที่ถูกรวมเข้าไปในงบกำไรขาดทุนออกมาให้เห็น มีบริษัทจำนวนมากที่แสดงงบกำไรขาดทุนสวยหรูคือมีกำไรดี แต่ประสบความลำบากในการดำเนินงานในภายหลังเนื่องจากมีการจัดการด้านเงินสดไม่ดี คือมีเงินสดใช้ไม่เพียงพอ ถ้านักลงทุนสามารถอ่านงบกระแสเงินสดได้ดีก็จะสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า บริษัทนั้นกำลังจะมีปัญหาด้านเงินสดในไม่ช้า
ตอนที่ 41 (13 มี.ค. 54)
- เงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Cash Flows from Operating Activities)
เนื่องจากบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้ด้วยหลายวิธี จึงต้องมีการแยกออกให้แน่ชัดว่าได้มาด้วยวิธีการใด งบกระแสเงินสดจึงแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
1) เงินสดจากการดำเนินงาน
2) เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน และ
3) เงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน
เงินสดจากการดำเนินงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและจะบอกพวกเรานักลงทุนว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้จำนวนมากแค่ไหนจากการดำเนินงานตามปกติ (คือด้วยธุรกิจปกติที่บริษัทมีความชำนาญ - Core Business) ไม่ใช่มาจากการลงทุนอื่นหรือการกู้ยืมเงิน(สด)มา ดังนั้นตัวเลขของส่วนที่เป็นเงินสดจากการดำเนินงานจึงเป็นตัวเลขที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นตัวที่บอกว่าบริษัทสามารถทำเงินได้แค่ไหน โดยที่ในที่สุดแล้วเงินสดส่วนนี้ก็จะกลับมาตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนนั่นเอง ส่วนหลักๆ ของเงินสดจากการดำเนินงานนี้ก็เช่น
- รายได้สุทธิ
ตัวเลขนี้ได้มาโดยการดึงมาตรงๆ จากงบกำไรขาดทุน รายได้สุทธินี้เป็นตัวตั้งต้นที่จะนำมาคิดว่าบริษัทสามารถมีเงินสดได้เท่าไรจากการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีรายการอีกจำนวนมากในงบกำไรขาดทุนที่มีผลต่อรายได้แต่ไม่มีผลกับการไหลของเงินสด ดังนั้นรายการอื่นๆ (ที่จะพูดถึงตามหลังต่อไป) จะเป็นตัวเลขที่จะเอาเข้ามา "ช่วยปรับ" ตัวเลขรายได้สุทธินี้เพื่อให้ได้ตัวเลขของเงินสดที่บริษัทสามารถสร้างขึ้นได้จริงๆ
- ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
ตามที่เราได้เคยพูดถึงไปแล้วในงบกำไรขาดทุน ค่าเสื่อมราคาเป็นวิธีทางบัญชีที่ใช้บันทึกการเสื่อมสภาพต่างๆ ของสมบัติต่างๆ, โรงงาน, ตึกอาคาร, เครื่องจักรต่างๆ ของบริษัท แม้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน แต่ค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบต่อการไหล(ออก)ของเงินสด ดังนั้นตัวเลขนี้จะถูกบวกกลับเข้าไปในตัวเลขของรายได้สุทธิ
- การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของทุนดำเนินงาน
Working Capital หรือทุนดำเนินงานนี้คำนวณได้จากสินทรัพย์หมุนเวียนลบด้วยหนี้สินหมุนเวียนที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน และตัวเลขนี้ก็บอกนักลงทุนเหมือนที่ชื่อของมันบอกไว้แหละครับว่าคือทุนที่บริษัทจะต้องมีไว้เพื่อการทำงาน ดังนั้น เงินสดใดๆ ที่ใช้ไป หรือได้มาจากทุนดำเนินงานจะถูกรวมคิดไว้ใน "เงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน" ด้วย
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแต่ละรายการของทุนดำเนินงานจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่งจะมีผลต่อการไหลของเงินสดของบริษัท ตัวอย่างเช่น ตัวเลขของลูกหนี้การค้า (Account receivable อยู่ในงบดุล - บริษัทขายของให้ลูกค้า ส่งใบเก็บเงินไปให้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน) ของบริษัท มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในปลายปี 2553 (เทียบกับปีที่แล้ว) นี่ก็แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการเก็บเงินจากลูกค้าน้อยกว่าที่ได้บันทึกว่าสามารถขายได้ในทั้งปี 2553 ในงบกำไรขาดทุน ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี คือเป็นผลเสียในเรื่องของงบกระแสเงินสด และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ "การเปลี่ยนแปลงสุทธิของทรัพย์สินหมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน" ในงบกระแสเงินสดของบริษัทเป็น "ติดลบ" แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเลขของเจ้าหนี้การค้า (Account Payable อยู่ในงบดุล - บริษัทซื้อสินค้ามา ได้รับใบแจ้งหนี้แล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน) มีขนาดเพิ่มขึ้น ก็หมายความว่าบริษัทมีความสามารถในการพยายามจ่ายเงินช้าๆ ได้ดีขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อการไหลของเงินสด
ตอนที่ 42 (14 มี.ค. 54)
ทางลัดเพื่อช่วยพิจารณาเรื่องของกระแสเงินสด
ลองดู "ทางลัด" เพื่อช่วยพิจารณาเรื่องของกระแสเงินสดให้ง่ายขึ้น โดยนักลงทุนควรจะรู้ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทุนดำเนินงานกับเงินสดดังนี้:
. ถ้าทรัพย์สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะลดลง
. ถ้าทรัพย์สินมีจำนวนลดลง, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น
. ถ้าหนี้สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น
. ถ้าหนี้สินมีจำนวนลดลง, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะลดลง
ทรัพย์สินหมุนเวียนอาจจะรวมสิ่งต่างๆ เช่นสินค้าคงคลังและลูกหนี้การค้า (Account receivable) ในขณะที่หนี้สินหมุนเวียนอาจจะรวมหนี้สินระยะสั้นและเจ้าหนี้การค้า (Account payable) ไว้ด้วย
- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน
หลังจากที่ได้ปรับตัวเลขต่างๆ หมดแล้ว ตัวเลขที่เหลือก็คือเงินสดสุทธิที่ได้มาโดยกิจกรรมการดำเนินงาน หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ เงินสดจากการดำเนินงาน (Operating Cash Flow) ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขเดียวกันกับรายได้สุทธิ แต่เป็นตัวเลขที่บอกได้เป็นอย่างดีว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดจากการดำเนินงานโดยสิ่งที่ตัวเองถนัด (Core Business) ได้มากแค่ไหน
- เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน
ตัวเลขส่วนนี้ในงบกระแสเงินสดแสดงจำนวนของเงินสดที่บริษัทได้ใช้ไปในการลงทุน "การลงทุน" สามารถแบ่งออกได้เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Captital Expenditures) ซึ่งก็คือเงินสดที่จ่ายเพื่อได้มาซึ่งเครื่องจักรใหม่หรืออะไรก็ตามที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ หรือเงินสดที่ใช้ในการลงทุนอื่นๆ เช่นที่ใช้ซื้อหรือขายพันธบัตรเป็นต้น ส่วนที่สำคัญที่สุดของรายการนี้ที่นักลงทุนจะต้องดูให้ดีคือ จำนวนค่าใช้จ่ายในการลงทุน (ซื้อเครื่องจักร เครื่องกล) และจำนวนเงินสดที่ใช้ไปในการซื้อธุรกิจ/บริษัทอื่น ดูคำอธิบายต่อข้างล่างนี้นะครับ
- ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขแสดงจำนวนเงินสดที่บริษัทได้จ่ายออกไปเพื่อซื้อสิ่งของที่มีอายุยืนยาวเช่น ที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร เป็นต้น โดยทั่วไปในบัญชีภาษาอังกฤษเราอาจจะเรียกค่าใช้จ่ายในการลงทุนนี้ว่า "Capex" ก็ได้ ซึ่งเป็นเงินที่จะต้องจ่ายเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการและเติบโตไปได้อย่างปกติ ตัวอย่างเช่นโรงแรมก็จะต้องมีการปรับปรุงห้องพักใหม่ ทำการซื้อทีวี ตู้เย็น ใส่ห้องพักของแขกต่างๆ เพื่อให้แขกที่มาพักเกิดความพอใจและแนะนำต่อๆ กันไป ค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้จะแสดงออกมาอยู่ในรายการ ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capex) ในส่วนของ เงินสดจากกิจการการลงทุน
- กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)
ตัวเลขหนึ่งทางบัญชีในส่วนของงบกระแสเงินสดที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจดีคือ "กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)" กระแสเงินสดอิสระนี้สามารถคำนวณได้จาก กระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมการดำเนินงาน (operating cash flow) ลบด้วย ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures) กระแสเงินสดอิสระนี้แสดงจำนวนของเงินสดส่วนเหลือที่บริษัทสร้างขึ้นมาได้ เงินสดส่วนนี้สามารถใช้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น หรือนำไปใช้ลงทุนในโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจโดยไม่มีผลร้ายกับการดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัท เงินส่วนนี้สำคัญมากต่อผู้ถือหุ้นแบบสุดๆ ล่ะครับ
- เงินสดที่ใช้ไปในการซื้อกิจการอื่น
รายการเงินสดที่ใช้ในการซื้อกิจการ แสดงจำนวนเงินที่บริษัทได้ใช้ไปในการซื้อกิจการของบริษัทอื่น โดยทั่วไปแล้ว บริษัทมักจะจ่ายเงินมากเกินไปในการซื้อกิจการของคนอื่นเข้ามาเป็นของตัวเอง ดังนั้นนักลงทุนควรจะคอยตรวจดูรายกานี้เพื่อดูว่าบริษัทได้จ่ายเงินออกไปเท่าไร และมากเกินไปหรือไม่ ตัวเลขนี้อาจจะทำให้นักลงทุนสามารถมีความรู้สึกได้ว่า การที่บริษัทเติบโตนั้น มาจากการดำเนินงานภายในของตัวเอง หรือว่าจากการซื้อกิจการอื่นเข้ามา (แล้วกิจการพวกนั้นทำกำไรให้)
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน
ส่วนสุดท้ายของงบกระแสเงินสดคือ "กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน" ส่วนนี้จะเป็นที่รวมของกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของหรือเจ้าหนี้ของบริษัท ตัวอย่างเช่นถ้ามีการออกหุ้นใหม่หรือซื้อหุ้นคืน การสร้างหนี้เพิ่มหรือการจ่ายใช้หนี้คืน รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลออกมาก็จะบันทึกไว้ในส่วนนี้ แม้ว่ารายการต่างๆ ในส่ว่นนี้จะดูชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายด้วยชื่อของมันแบบตรงไปตรงมา เช่นเงินปันผล ก็คือเงินปันผล แต่ขอให้พวกเรานักลงทุนดูตรงการออกหุ้นใหม่ และการซื้อหุ้นคืน ว่ามีจำนวนมากน้อยอย่างไร
- การออกหุ้นใหม่ และการซื้อหุ้นคืน (Issuance/Purchase of Common Stock)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สำคัญเนื่องจากจะแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจนั้น บริษัทใหม่ๆ ที่กำลังโตอย่างรวดเร็วจะต้องการเงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการดำเนินงาน หนึ่งในวิธีหาเงินคือการออกหุ้นใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการลด (dilute) ส่วนของความเป็นเจ้าของของเจ้าของเดิมลง แต่ก็เป็นการทำให้บริษัทขยายกิจการได้ ในขณะที่บริษัทที่เติบโตแข็งแรงแล้วและมีกระแสเงินสดอิสระจำนวนมาก จะทำการซื้อหุ้นคืน ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของหุ้นที่เหลือ (ในตลาด ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน) มีค่าสูงขึ้น การจ่ายปันผลและการซื้อหุ้นคืน เป็นของเพียงสองอย่างที่บริษัทสามารถทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์จากกระแสเงินสดของบริษัทได้
ตอนที่ 43 (15 มี.ค. 54)
-สรุปสิ่งที่ต้องเข้าใจสำหรับงบกระแสเงินสด
กระแสเงินสดในงบฯ เป็นผลรวมของตัวเลข 3 ส่วน (ซึ่งเมื่อจับรวมเข้าด้วยกัน จะทำให้ได้ยอดการเปลี่ยนแปลงของเงินสดสุทธิ) คือ
ก) กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน
เป็นตัวเลขของเงินสดของบริษัทที่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจหลักของตัวเอง ส่วนนี้เราจะตั้งต้นด้วยกำไรสุทธิแล้วบวกกลับเข้าไปด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (ซึ่งตัวเลขสองตัวนี้ ไม่ได้เป็นเงินสดจริงๆ ที่บริษัทจ่ายออกไปในงวดงบการเงินนั้น แต่กลับถูกหักออกจากผลกำไร ก่อนที่จะคิดเป็นกำไรสุทธิ - จริงๆ แล้วบริษัทได้จ่ายเงินสดออกไปเพื่อการซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ ไปก่อนแล้วล่วงหน้า)
ข) กระแสเงินสดจาก (ที่ใช้ไป) กิจกรรมการลงทุน
จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน (Capital Expenditures) ตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขที่จะติดลบเสมอ จะเขียนในวงเล็บแสดงถึงการจ่ายออกไปทำให้จำนวนเงินสดในมือลดลง และอีกส่วนคือกระแสเงินสดจากการลงทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นการรวมกันของเงินสดทุกรายการที่เข้าและออกจากบริษัทในการซื้อขายสินค้าที่ทำให้เกิดกำไร ตัวเลขนี้อาจจะเป็นบวกหรือลบก็ได้ หากเงินเข้ามากกว่าเงินออกในงวดบัญชีนั้นก็จะเป็นบวก หากเงินออกมากกว่าเงินเข้าในงวดบัญชีนั้นก็จะเป็นลบ ทั้งนี้ไม่ได้สนใจว่าการลงทุนนั้นจะได้กำไรหรือเปล่า
ค) กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน
ตัวเลขภายใต้รายการนี้ แสดงถึงจำนวนเงินสดที่ไหลเข้าหรือออก(อะไรมากกว่ากัน) จากกิจกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะกู้เงินเข้ามา จ่ายเงินออกไปด้วยประการใดๆ ก็ตาม เช่นจ่ายเงินปันผล (เงินไหลออก) ซื้อขายหุ้น (เงินไหลเข้า) หรือซื้อหุ้นคืน (เงินไหลออก) ของบริษัท ขายหุ้นกู้ (เงินไหลเข้า) ไถ่ถอนหุ้นกู้ (เงินไหลออก) เป็นต้น ตัวเลขส่วนนี้สุดท้ายแล้วอาจจะเป็น บวก หรือ ลบ ก็แล้วแต่ว่าเงินสดไหลเข้าหรือออกมากกว่ากัน
สิ่งที่ต้องดูในงบกระแสเงินสด
- ธุรกิจที่มีความแข่งขันอย่างยั่งยืน ไม่ควรจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน (Capital Expenditures) มากเกินกว่า 30% ของกำไร และต้องไม่ลงทุนบ่อยๆ ซึ่งจะต้องหลีกเลี่ยง
- ดูว่าบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนหรือไม่ การซื้อหุ้นคืนเป็นวิธีการในการเพิ่มมูลค่าให้กับหุ้นที่ยังเหลืออยู่ในตลาด (Outstanding shares) คือสามารถเพิ่ม EPS ได้โดยที่ไม่ต้องเพิ่มกำไรจริงๆ และบริษัทที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้จะต้องมีเงินสดในมือ
- ระวังพวกบริษัทที่ออกวอร์แร้นท์หรือเพิ่มทุนบ่อยๆ ถ้าการเพิ่มทุน ไม่สามารถจะนำไปทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงแล้ว จะเกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อมูลคาของหุ้นที่เราถืออยู่
ตอนที่ 44 (16 มี.ค. 54)
จากงบการเงินทั้งหมด เราสามารถประเมินงบการเงินโดยรวม เพื่อมองหาบริษัที่สามารถแขงขันได้อย่างยั่งยืน และมีความทนทานต่อการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและเศรษฐกิจได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในรูปของงบการเงินเป็นเครื่องยืนยัน
สรุปสิ่งที่จะต้องมองหาในงบการเงิน
1) มองหาบริษัทที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยการดูจาก
- ธรรมชาติของสินค้า คือเป็นสินค้าพื้นฐาน ไม่ใช่แฟชั่น สามารถอยู่ได้นาน รายได้จะไม่วูบวาบ
- โครงสร้างของสินค้า การมีสินค้าหลากหลายชนิด จะสามารถแบ่งความเสี่ยงลงได้
- ลูกค้า มีความแข็งแกร่ง มีความมั่นคงทางการเงิน ไม่ใช่เบี้ยวหนี้ หนีเก่ง
- โครงสร้างลูกค้า ต้องมีลูกค้าหลายเจ้า ไม่ใช่มีเพียงรายใหญ่ๆ 1-2 ราย หากมีปัญหาจะลำบาก
- เรื่องของคู่แข่ง การต่อสู้ในตลาด จะต้องมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนในการต่อสู้ ทั้งจากภายในอุตสาหกรรมเอง (Same Industry) เอง และตลาดทดแทน (Substitution) ส่วนนี้จะสัมพันธ์มากกับการวิเคราะห์พื้นฐานเชิงคุณภาพ
- มีการหมุนเวียนของสินค้าเร็ว, สินค้าคงคลังมีจำนวนพอดี (ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป) และสินค้าคงคลังไม่ล้าสมัยหรือตกรุ่นง่าย ทำให้เสียราคา
- เก็บหนี้ได้เร็ว จ่ายหนี้ได้ช้า กระแสเงินสดจะเป็นบวก ไม่มีปัญหาในการดำเนินงานมาก
2) บริษัทควรมีหนี้สินระยะยาวน้อย หรือน้อยลงๆ เรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 5-10 ปี และมีกำไรที่สามารถใช้หนี้สินก้อนโตนี้ได้ภายใน 3-4 ปี (แต่เลือกที่จะไม่ใช้หนี้ก็ไม่เป็นไร) ไม่ต้องไปลงทุนอะไรที่ไม่คุ้มค่า หรือลงทุนมากๆ เพียงเพื่อต้องการอยู่รอดในตลาด/ธุรกิจเท่านั้น
3) มีเงินสดในมือเยอะ (โดยทั่วไป ยกเว้นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งมาก จนไม่คิดว่าจะต้องมีเงินสดไว้มาก คือเอาไปทำงานให้ดีกว่า)
4) มีกำไรขั้นต้น > 30% และกำไรก่อนหักภาษีในอัตรา > 10% และเพิ่มขึ้นอย่างเรื่อยๆ สม่ำเสมอ แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันที่สูง สามารถคิดราคาสินค้า/บริการได้สูง
5) บริษัทจะต้องสามารถทำกำไรเป็นเงินสดได้มาก เพื่อที่จะนำเงินสดที่มีไปลงทุนเพิ่มได้อย่างคุ้มค่า หรือให้ดีกว่านั้นคือไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าที่ตัวเองจะทำได้ เรียกว่าใช้เงินทำงานให้เต็มที่
6) เป็นบริษัทที่ลงทุนเพิ่มน้อย หรือถ้าลงทุนเพิ่มก็จะต้องให้ผลตอบแทนในเวลาอันรวดเร็วและคุ้มค่า ไม่ใช่ว่าจะต้องลงทุนตลอดเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น
7) เป็นบริษัทที่เติบโต คือยอดขายสูงขึ้นโดยอัตรากำไรไม่ลด (ไม่แข่งขันด้วยราคา) จุดนี้เป็นสิ่งที่ดีคือทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้ และข้อดีอีกอย่างคือสามารถเติบโตชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อได้
8) เมื่อบริษัทมีการเติบโตที่แน่นอน เราจะสามารถคำนวณผลตอบแทนกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน (Net Present Value) ได้ง่าย หรืออีกวิธีคือเราสามารถคำนวณค่าของ P/E ของหุ้นนั้นในอนาคตเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ P/E ของอุตสาหกรรมนั้น ทำให้สามารถประเมินราคาหุ้นนั้นในอนาคตได้โดยประมาณ
9) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานควรเป็นบวก (+), กระแสเงินสดจาก (ที่ใช้ไป) กิจกรรมการลงทุนควรเป็นลบ (-), กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงินควรเป็นลบ (-)
10) ความพิสดารและยากของนักลงทุนก็คือ จะต้องสามารถหาบริษัทที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1-9 ข้างบนให้ได้ และจะต้องมีความสามารถในการประเมินความสามารถในการทำกำไรในอนาคตได้ดี
ตอนที่ 45 (17 มี.ค. 54)
จุดเวลาที่ควรซื้อ-ขายหุ้น
- ซื้อเมื่อบริษัทชั้นยอดทำความผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นในครั้งเดียวและสามารถแก้ไขได้ในครั้งเดียว ไม่มีภาระผูกพันเกิดขึ้นไม่ว่าทางกฏหมาย, ทางการตลาด, กับลูกค้า เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้จะทำให้หุ้นตกลงมามากๆ แต่เพียงชั่วคราว
- ซื้อเมื่อตลาดเป็นหมีแบบสุดๆ คือ P/E ของหุ้นทุกตัวต่ำมาก คือหุ้นถูกมากๆ และในทางกลับกันก็จะต้องระวังการซื้อหุ้นในตลาดกระทิงเต็มที่ คือเมื่อ P/E > 15 (กรณีของไทย)
- ขายหุ้นเมื่อมีโอกาสในการลงทุนอื่น (ไม่ใช่เก็งกำไรอื่น) ที่ดีกว่า
- ขายหุ้นเมื่อบริษัทเสียความสามารถในการแข่งขันไป คือพื้นฐานเปลี่ยนจนทำให้กำไรหดหายหมด
- ขายหุ้นเมื่อตลาดเป็นกระทิงแบบสุดๆ และหุ้นมีราคาแพงไปมาก ให้ขายเพื่อเอาเงินไปลงทุนในพันธบัตร คือไปพักไว้ก่อน เมื่อตลาดกลับมาเป็นหมีอีกครั้งหนึ่ง ค่อยนำเงินออกมาซื้อหุ้น
ตอนที่ 46 (19 มี.ค. 54)
การตีความหมายของตัวเลขต่างๆ ทางการเงิน
ในข้อเขียนต่างๆ ข้างบนที่ผ่านมา หรือแม้แต่เพื่อนๆ นักลงทุนได้ไปอ่านมาจากที่ใดก็ตาม เราได้คุยกันไปแล้วถึงงบการเงินที่สำคัญๆ จำนวน 3 งบ (คืองบกำไรขาดทุน, งบดุล, และงบกระแสเงินสด) เราได้ดูกันแล้วว่า งบกำไรขาดทุนนั้นเป็นอย่างไร ตัวเลขต่างๆ ในงบกำไรขาดทุนมีผลอย่างไรกับการทำกำไรหรือการขาดทุนของบริษัท และตัวเลขต้องเป็นอย่างไร บริษัทจึงได้กำไร ในงบดุล เราได้ดูกันในเรื่องของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น และได้รู้ว่าตัวเลขแต่ละตัวในงบดุลนั้นจะอยู่ตรงไหน (การที่รู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ที่อยู่ ก็เหมือนกับการที่รู้จักหน้าตาหญิงสาว หรือชายหนุ่มก็ตามที แต่ไม่รู้ว่าเจ้าตัวอยู่ไหน ทำอะไรเป็นอย่างไร คงใช้การอะไรไม่ได้มาก) และสุดท้ายสำหรับในเรื่องของงบกระแสเงินสด เราได้ดูไปแล้วว่าบริษัทใช้เงินสดไป หรือได้มา จากกิจกรรมสำคัญจำนวนสามอย่างคือ กิจกรรมการดำเนินงาน กิจกรรมการจัดหาเงิน และกิจกรรมการลงทุน อย่างไร
ปัญหาก็คือ เมื่อเรามีความรู้เหล่านี้แล้ว ในฐานะนักลงทุน เราจะใช้งานมันอย่างไร?
ในตอนต่อๆ ไปนี้เราจะนำความรู้ที่เราได้อ่านมาแล้วในตอนที่ผ่านๆ มาทำการวิเคราะห์ทางการเงิน การวิเคราะห์งบการเงิน (Financial Statement Analysis) นี้โดยส่วนมากก็คือการดูเพื่อการอธิบายความสัมพันธ์กันระหว่างตัวเลขต่างๆ ในงบการเงิน ซึ่งส่วนมากจะโดยการดูที่อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratios) ต่างๆ วัตถุประสงค์หลักของการวิเคราะห์นี้คือจะช่วยเราแปลความหมายของตัวเลขต่างๆ และทำให้เรามองภาพของความสามารถและสถานะทางการเงินของบริษัทได้ชัดเจน
แต่ก่อนที่เราจะเริ่มเข้าไปดูตัวเลขกันจริงๆ ผมอยากจะบอกเพื่อนๆ ไว้ก่อนว่า ตัวเลขสัดส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เราจะดูกันจะเป็นตัวเลขของบริษัทที่ "ไม่ใช่" บริษัทที่ดำเนินงานทางการเงิน โดยที่สำหรับบริษัทที่ดำเนินงานทางการเงิน (ธนาคาร, บริษัทประกัน, บริษัทที่ดำเนินงานด้านสินเชื่อ) จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ทำให้ตัวเลขต่างๆ ผิดแผกไปจากนี้มาก
ตอนที่ 47 (20 มี.ค. 54)
เราใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอย่างไร
บางทีเราจะเห็นตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้มาแล้วเช่น P/E, ROE, ROA, P/BV เป็นต้น แต่ในบทความช่วงนี้ผมจะเล่าให้ฟังแบบเน้นเรื่องของเนื้อหาเฉพาะตัวเลขที่สำคัญที่เราจะต้องดู ตัวเลขพวกนี้บางตัวจะมีประโยชน์เลยด้วยตัวของมันเอง แต่อีกหลายๆ ตัวที่เหลืออาจจะแทบไม่มีประโยชน์หรือใช้ตีความอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ดูส่วนอื่นประกอบ โดยปกติแล้วอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ จะมีประโยชน์มากที่สุดเมื่อเราได้จับมันไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนอื่นๆ ที่เหมือนกัน
ปกติแล้วเราจะใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในสองวิธีคือ เปรียบเทียบกับของบริษัทเองในช่วงเวลาที่ต่างกัน (เช่นดูย้อนหลังไป 5 ปี) หรือเมื่อเปรียบเทียบกับของบริษัทอื่น การเปรียบเทียบกับตัวเลขของบริษัทเองทำให้เรารู้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริษัทว่าดีขึ้นหรือแย่ลง (เช่นตัวเลข net profit margin ว่าเมื่อ 5, 4, 3, 2 และเมื่อปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้น คงที่ หรือแย่ลง) ถ้าตัวเลขเดียวกันของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทน่าจะมีการปรับปรุงการทำงานไปในทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขมีแนวโน้มที่แย่ลง ก็อาจจะแสดงว่าบริษัทมีแนวโน้มการทำงานที่แย่ลงหรือว่ามีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่ผ่านมา)
อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือนักลงทุนควรจะเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทที่ตัวเองสนใจ กับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตัวเลขทางการเงินของบริษัทหนึ่งอาจจะดูดีขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา (เช่น 3 ปีหลัง) แต่เราก็ต้องดูไปอีกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นล่ะ ตัวเลขเหล่านี้ดีกว่าคนอื่นหรือไม่ ถ้ากลับกลายเป็นว่าแย่กว่าบริษัทอื่น ความหมายก็อาจจะเป็นเพราะว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสู้บริษัทอื่นไม่ได้ เป็นต้น
นักลงทุนอาจจะเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินจำนวนหลายๆ ตัว โดยสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดูเป็นพิเศษคือตัวเลขที่เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพ (efficiency), สภาพคล่อง (liquidity), การเพิ่มพลังของเงิน (leverage - ใช้เงินคนอื่นมาร่วมทำงานกับเงินของเราด้วย), และอัตรากำไรต่างๆ เมื่อผมพูดถึงตัวเลขแต่ละตัว ก็จะอธิบายไปด้วยพร้อมๆ กันว่ามันแสดงถึงอะไร หรือว่า เรากำลังวัดอะไรอยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นหมายความถึงอะไรได้บ้างนะครับ
ตอนที่ 48 (21 มี.ค. 54)
อัตราส่วนต่างๆ ที่บอกถึงประสิทธิภาพของบริษัท (Efficiency Ratios)
ไม่ว่าบริษัทหรือธุรกิจนั้นๆ จะอยู่ในอุตสาหกรรมใด บริษัทจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ของตัวเองเพื่อที่จะสร้างการทำงานขึ้น ตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพนี้จะบอกให้เรารู้ว่าบริษัทได้ใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร และเราก็จะรู้ด้วยว่าบริษัทมีการจัดการหนี้สินได้ดีแค่ไหน
- การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover)
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง จะแสดงให้เราเห็นว่าบริษัทจัดการเรื่องการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังได้ดีแค่ไหน ถ้าการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังต่ำเกินไป ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังสร้างสินค้าคงคลังจำนวนมากเกินไป หรือเก็บวัตถุดิบมากเกินไปหรือว่ามีปัญหาในการขาย (คือขายไม่ทันผลิต ขายได้น้อยเกินกว่ากำลังการผลิต) โดยหลักการแล้ว ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมด การหมุนเวียนของสินค้าคงคลังยิ่งมากยิ่งดี และคิดได้ตามข้างล่างนี้
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover) = ค่าใช้จ่ายในการขาย / ปริมาณสินค้าคงคลังเฉลี่ย
- การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover)
การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าเป็นการวัดนโยบายการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของบริษัทว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ถ้าการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ามีค่าต่ำเกินไป แสดงว่าบริษัท "ใจดี" เกินเหตุหรือว่ามีปัญหาในการเก็บหนี้จากลูกค้าของตัวเอง ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมด ยิ่งตัวเลขการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ามาก ยิ่งดี
การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover) = รายได้ / ตัวเลขจำนวนลูกหนี้การค้าเฉลี่ย
- การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable Turnover)
การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า ตัวเลขนี้เมื่อทำการคำนวณ เราจะเอาตัวเลขหนี้มาคำนวณ (ก็เพราะว่าตัวเลขเจ้าหนี้การค้าก็คือการที่เราเป็นหนี้คู่ค้าอื่น และยังไม่ได้จ่ายเงิน) ตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญเพราะแสดงถึงความสามารถในการยื้อไม่ยอมจ่ายเงิน การที่ตัวเลขนี้ต่ำเกินไปอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าบริษัทไม่ได้รับการปล่อยเครดิตที่ดีจากผู้ขาย ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมดแล้วล่ะก็ ตัวเลขนี้ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ
การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable Turnover) = ค่าใช้จ่ายในการขาย / ตัวเลขเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
- การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยรวมเลยที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการจัดการสินทรัพย์ของตัวเอง (ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม) ได้ดีแค่ไหน ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมดแล้ว ตัวเลขของการหมุนเวียนสินทรัพย์ยิ่งมากยิ่งดี และสามารถคำนวณได้ตามข้างล่างนี้
การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) = รายได้ / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย
ตอนที่ 49 (23 มี.ค. 54)
ตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่องต่างๆ (Liquidity Ratios)
โดยสรุปสั้นๆ ได้ใจความอย่างรวดเร็วก็คือ สภาพคล่องของบริษัทหมายถึงความสามารถในการทำตามสัญญาการใช้เงินในระยะสั้นได้ และเป็นตัวหลักในการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัท สภาพคล่องสามารถวัดได้ด้วยอัตราส่วนหลายอย่างดังนี้
- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)
ตัวเลขอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่องนี้ เป็นตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นด้วยสินทรัพย์ระยะสั้น ตัวเลขระดับ 1 เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ และถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่ามีปัญหาแล้วล่ะ
อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio หรือ Acid Test Ratio)
เป็นตัวเลขการทดสอบที่โหดกว่าอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนธรรมดา โดยเป็นตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณที่ได้ตัดเอาสินค้าคงคลังและรายจ่ายล่วงหน้าซึ่งยากในการจะแปลงเป็นเงินสดออกไป ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่ามากกว่า 1 ก็น่าจะแสดงว่าบริษัทน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ยิ่งมีค่าสูงมากขึ้น ยิ่งมีสภาพคล่องสูงขึ้นและบริษัทแบบนี้จะสามารถอยู่รอดได้ในช่วงขาลงของวัฏจักรธุรกิจ
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) = (เงินสด + ลูกหนี้การค้า + หลักทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว) / หนี้สินหมุนเวียน
- อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เพื่อนๆ อาจจะไม่ค่อยได้เคยเห็นเท่าไร ถือว่าเป็นตัวเลขที่อนุรักษ์นิยมที่สุดตัวหนึ่งของทั้งหมด เป็นอัตราส่วนที่วัดความสามารถทางเงินสดและการลงทุนอื่นของบริษัทที่สามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ เพื่อที่จะนำไปใช้จ่ายหนี้ระยะสั้น และเหมือนกันกับ อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) ก็คือ ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งหมายถึงว่าบริษัทมีสถานะการเงินดีขึ้นครับ คือจะไม่ขาดเงินไปจ่ายหนี้คนอื่น แล้วโดนชาวบ้านเขาว่าเอาว่าเบี้ยวครับ
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) = (เงินสด + หลักทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว) / หนี้สินหมุนเวียน
ตอนที่ 50 (24 มี.ค. 54)
อัตราส่วนอำนาจเพิ่มทางการเงินต่างๆ (Leverage Ratios)
การเพิ่มอำนาจของเงิน (ตัวเอง) ของบริษัทต่างๆ จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์มากกับการสร้างหนี้ของบริษัทนั้นๆ ในบัญชีงบดุล และหนี้เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัทด้วย โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งบริษัทมีหนี้สินมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นกับหุ้นของบริษัทนั้น เนื่องจากเจ้าหนี้จะเป็นผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของบริษัทก่อน เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญได้เนื่องจากว่า หากบริษัทเกิดล้มละลายไป อาจจะไม่มีอะไรเหลือไว้ให้กับผู้ถือหุ้นเลยก็ได้หลังจากที่บริษัทได้ชดใช้สิ่งต่างๆ ให้กับเจ้าหนี้ไปแล้ว
- อัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio)
อัตราส่วนนี้แสดงว่าบริษัทดำเนินงานทางด้านการเงิน ด้วยเงินส่วนที่เป็นหนี้สินเมื่อเทียบกับส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นเองเป็นอย่างไร บริษัทที่มีหนี้จำนวนมหาศาลจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมาก ในขณะที่บริษัทที่่มีหนี้สินน้อยจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ สมมติว่าถ้าบริษัทมีความสามารถอื่นๆ เท่าๆ กันหมด บริษัที่มีหนี้สินน้อยกว่าจะปลอดภัยกว่า
อัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio) = (หนี้สินระยะสั้น + หนี้สินระยะยาว) / ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
- ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage)
ถ้าบริษัทมีการกู้เงินมาทำงาน ก็จะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้บ้าง ไม่มากก็น้อย (ตรงนี้ ขอให้เพื่อนๆ นักลงทุนลองสังเกตดูนะครับว่า บางทีเราจะเห็นบางบริษัทที่มีหนี้สินมากๆ แต่ว่ากลับมีดอกเบี้ยจ่ายน้อย แสดงว่าเป็นหนี้สินที่ไม่มีดอกเบี้ย จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ เช่น เป็นหนี้สินแบบยอดเครดิต หรือเงินให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย และถ้าหากบริษัทสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้หาประโยชน์ได้มากโดยที่ดอกเบี้ยจ่ายน้อย จะเป็นประโยชน์กับบริษัทเป็นอย่างมาก) ตัวเลขความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยนี้ เป็นอัตราส่วนความสามารถของบริษัทว่า มีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติเป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ยิ่งเป็นหลายๆ เท่าได้ยิ่งดี และหากตัวเลขนี้เข้าใกล้ 1 หรือกลับต่ำกว่า แสดงว่าบริษัทจะมีปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ยในไม่ช้า
ตอนที่ 51 (26 มี.ค. 54)
อัตราส่วนต่างๆ ที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร
ธุรกิจที่เราสนใจนะลงทุนนั้นดีแค่ไหน ทำกำไรได้แค่ไหน ความสามารถของธุรกิจดูเหมือนจะดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ธุรกิจมีกำไรหรือเปล่า ทำกำไรได้มากกว่าหรือน้อยกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน คำถามพวกนี้เราสามารถได้คำตอบจากการดูตัวเลขแสดงอัตราส่วนของความสามารถในการทำกำไร
- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin)
ในงบกำไรขาดทุน เราได้เห็นมาแล้วว่า กำไรขั้นต้นเป็นการคำนวณแบบง่ายๆ มาจากส่วนต่างระหว่างรายได้จากการขาย และ รายจ่ายหรือต้นทุนขาย (ที่จะได้สินค้าและบริการนั้นพร้อมจะขายให้กับลูกค้า) อัตรากำไรขั้นต้นเป็นตัวเลขที่บอกว่า ทุกๆ การขายจำนวน 1 บาท บริษัทมีอัตรากำไรเป็นจำนวนกี่สตางค์ และโดยปกติแล้วก็จะมีการบอกเป็นร้อยละ ยิ่งมีตัวเลขที่ยิ่งมากยิ่งดี คือมีอัตรากำไรสูง (แต่ถ้าอัตรากำไรสูงมาก และธุรกิจเป็นแบบไม่ผูกขาด หรือไม่มี Entry Barrier มากคือใครๆ ก็ทำได้ ก็จะต้องเผชิญกับคู่แข่งในไม่ช้า) นักลงทุนจะต้องจำไว้ว่า ตัวเลข Gross Margin หรืออัตรากำไรขั้นต้นนี้ สามารถต่างกันได้มากขึ้นอยู่กับชนิดของธุรกิจ ตัวเลขนี้ ยิ่งสูงยิ่งดี ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานมานาน และตัวเลขนี้ยังคงสูงได้อย่างต่อเนื่อง (เช่น 30% ขึ้นไป) จะแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันที่คนอื่นไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงลูกค้าไปได้ง่ายๆ ด้วยสงครามราคา
อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) = กำไรขั้นต้น (Gross Profit) / รายได้จากการขาย (Sales)
- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin)
คล้ายๆ กับอัตรากำไรขั้นต้น แต่ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงาน จะเป็นตัวเลขของกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ คือเป็นกำไรที่เกิดจากการหักรายจ่ายของต้นทุนสินค้า รายจ่ายด้านการบริหารการขาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่อาจจะมีขึ้นได้ด้วย เราสามารถคำนวณได้ดังนี้
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) = กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income) / รายได้จากการขาย (Sales)
- อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin)
อัตรากำไรสุทธิเป็นตัวเลขที่บอกเราว่า บริษัทสามารถเก็บเงินไว้เป็นผลกำไรที่แท้จริงจากการขาย เมื่อหักเอาค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างออกไปแล้วได้เป็นจำนวนเท่าไร (กลายเป็นรายได้สุทธิ หรือ Net Income) แต่นักลงทุนจะต้องสังเกตให้ดีเนื่องจากตัวเลขนี้อาจจะผิดไปได้มากเนื่องจากรายได้พิเศษ รายจ่ายพิเศษ จึงจะต้องสังเกตดูให้ดี อัตรากำไรสุทธิคำนวณได้จาก
อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) = รายได้สุทธิ (Net Income) / รายได้จากการขาย (Sales)
ตอนที่ 52 (28 มี.ค. 54)
- อัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow Margin)
ในตอนที่ 42 ข้างบน เราได้พูดถึงเรื่องของกระแสเงินสดอิสระไว้แล้ว ตัวเลขอัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระนี้ เป็นตัวเลขที่บอกว่า รายได้จากการขายนั้นจะทำให้เกิดเป็นกระแสเงินสดอิสระจำนวนเท่าไร ซึ่งคำนวณได้ง่ายๆ ตามนี้
อัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow Margin) = กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) / รายได้จากการขาย (Sales)
- อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA)
ตัวเลข ROAนี้เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการสร้างผลกำไรจากสินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่ (ซึ่ง สินทรัพย์นั้นประกอบไปด้วยหนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น) อาจจะดูคล้ายๆ กับ การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) ที่ได้คุยมาแล้วในตอนที่ผ่านๆ มา แต่ว่าตัวเลขการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม เป็นการคำนวณว่าสินทรัพย์ทำให้เกิดยอดขายได้เท่าไร (อาจจะได้ยอดขายมากแต่ขาดทุนก็ได้นะ) หาก ROA เป็นการคำนวณว่าทำกำไรได้เท่าไรดังนี้
อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA) = (กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี) / ทรัพย์สิน (Total Assets)
จะเห็นได้ว่าเราได้มีการบวกตัวเลข ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) กลับเข้าไปในกำไรสุทธิ (ซึ่งเป็นตัวเลขที่หักทุกสิ่งทุกอย่างแล้วรวมทั้งภาษีด้วย) โดยตัวเลข (กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี) จะมีค่าเท่ากับกำไรที่ได้จากการหักค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ไปแล้ว (แต่ยังไม่ได้หักดอกเบี้ยจ่าย) และนำตัวเลขกำไรนี้มาหักภาษีออก ถ้าถามว่าทำไมจึงทำอย่างนั้นล่ะ ก็เพราะว่าตัวเลข ROA นี้เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด ไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะมาจากผู้ถือหุ้นควักกระเป๋าจ่ายเงินมา หรือมาจากการกู้ยืมเงินของตัวบริษัทก็ตาม ดังนั้นเราจึงบวกค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่เจ้าหนี้ได้ทำการคิดเงิน (Charge เงิน) จากบริษัท กลับเข้าไปด้วย
ตัวเลขดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) นี้สามารถคำนวณได้ไม่ยาก ขั้นแรกก็จะต้องรู้อัตราภาษี (Tax Rate) ของบริษัทเสียก่อน โดยการหารตัวเลขจำนวนภาษีจ่ายด้วยกำไรก่อนหักภาษี (อาจจะได้เป็น 0.25 สำหรับอัตราภาษี 25%) จากนั้นคำนวณด้วยสมการ
ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) = (1 - อัตราภาษี) x (ดอกเบี้ยจ่าย)
ถ้าทุกอย่างของบริษัทเหมือนกันทั้งหมด ROA ยิ่งสูงยิ่งดี
ข้อสังเกต สำหรับตัวเลข ROA ที่แสดงในเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ไทย จะเป็นการคำนวณจากตัขเลขกำไรก่อนหักภาษี เนื่องจากว่าหลายบริษัทมีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน และในเมืองไทยยังสามารถเครดิตภาษีได้อีกเป็นบางส่วน จึงเป็นการยุติธรรมกว่าที่จะใช้ตัวเลขก่อนหักภาษีมาคำนวณ
ตอนที่ 53 (31 มี.ค. 54)
- ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity - ROE)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่แสดงว่า บริษัทสามารถสร้างกำไรสุทธิ ต่อส่วนของเงินที่เป็น (หรือสมควรจะเป็น) ของผู้ถือหุ้นที่อยู่ในบริษัท (ที่เห็นได้จากสมการง่ายๆ ของงบดุลว่าบริษัททั้งบริษัทประกอบด้วย สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน) มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากสมการงบดุล เราจะเห็นว่าบริษัทนั้นจริงๆ แล้วสามารถสร้างกำไรได้จาก "สินทรัพย์" ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นกับหนี้สิน ตรงนี้เพื่อนๆ สามารถเห็นได้ว่าถ้าบริษัทเลือกที่จะกู้เงินมากๆ และนำเงินนั้นมาสร้างผลกำไรให้ได้มากๆ (และต้องมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย และการใช้หนี้เงินต้นด้วย) ก็จะทำให้ผลตอบแทนเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้มาก แต่ก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงด้วยเนื่องจากการเป็นหนี้ อย่างไรก็ตาม หนี้สินตรงนี้อาจจะหมายถึงหนี้สินที่ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายด้วยก็ได้ เช่น หนี้สินการค้า หนี้สินที่เป็นการซื้อเครดิต หรือว่าเป็นการยืมมาวางขายไว้ในห้างสรรพสินค้าของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะสร้างกระแสเงินสดได้มากโดยที่ไม่ต้องเกิดรายจ่ายจากดอกเบี้ยเงินกู้ บริษัทแบบนี้มักจะต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง จึงมีอำนาจต่อรองในเรื่องเหล่านี้สูง (เอาของ มาขายก่อน มาใช้ผลิตก่อน โดยยังไม่จ่ายเงิน) และเช่นเดียวกับอัตราส่วนอื่นๆ ROE มีการวัดผลตอบแทนเป็นร้อยละ (เปอร์เซ็นต์) ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี (12% ถือว่าใช้ได้, 20% ถือว่าดี, 25% ถือว่าดีมาก ถ้าเกินกว่า 30% ถือว่าดีสุดๆ แต่ว่าจะต้องระวังเรื่องของหนี้สินว่ามากเกินไปหรือไม่ ให้ดู debt/equity ratio, ดอกเบี้ยจ่าย, และ pay out ratio ประกอบด้วย) โดย ROE สามารถคำนวณได้จาก
ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) = กำไรสุทธิ (Net Income) / ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholders' Equity)
สรุป
ตั้งแต่ตอนที่ 46-53 นี้ เราได้รู้เกี่ยวกับการนำตัวเลขต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในงบการเงินมาตีความหมาย ตัวเลขหลายๆ อย่างที่พูดถึงอาจจะต้องได้มาจากการคำนวณเอาเอง คือไม่ได้เขียนเอาไว้ตรงๆ ในตัวงบการเงิน ในขณะที่ตัวเลขอีกหลายตัวก็มีการคำนวณไว้ให้ล่วงหน้าแล้วในเว็ปไซต์บางแห่งเช่นเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นต้น เมื่อเพื่อนๆ นักลงทุนได้ฝึกฝนการอ่านและวิเคราะห์งบดุลให้ดี ก็จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการมองเห็นสิ่งที่เป็นไปในบริษัทครับ