การลงทุนทางเลือก


นอกจากหุ้นสามัญที่เราคุ้นเคยแล้ว ยังมีการลงทุนทางเลือกอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ที่ดิน ตราสารต่างๆ นำมาเล่าสู่กันฟังและรวบรวมไว้ในหน้านี้ เหตุที่เราควรจะรู้เพราะการลงทุนแต่ละแบบนั้นมีธรรมชาติต่างกัน มีผลตอบแทนและความเสี่ยงไม่เท่ากัน การที่เรารู้จักการลงทุนหลายประเภทมากขึ้น ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น มีความเสี่ยงที่เลือกได้และผลตอบแทนที่คาดหวังได้ เช่น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ตราสารเพื่อการลดความเสี่ยงอื่นๆ และธุรกิจสารพัดรูปแบบ การลงทุนต่างๆ ก็เช่น

ตราสารทุน
ตราสารหนี้
ตราสารอนุพันธ์
กองทุนรวมหุ้น
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
การฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร



ตราสารทุน


พวกนี้เราคุ้นเคยกันดี ก็คือบรรดาหุ้นสามัญ (Common Stocks) ทั้งหลายนั่นเอง ตราสารแบบนี้ก็อย่างที่ชื่อของมันบอก คือเป็นเรื่องของทุน เป็นการแสดงว่าเรามีทุนหรือมีส่วนอยู่ในกิจการเท่าไรนั่นเอง ถ้ามีหุ้นอยู่มาก ก็เหมือนกับเรามีส่วนอยู่มาก ก็จะมีอำนาจในการออกเสียงเพื่อการบริหารมากขึ้น หากเมื่อกิจการทำกำไร และมีเงินเหลือจากการขยายกิจการเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคตแล้ว ผู้ที่มีส่วนเป็นเจ้าของมากกว่า ก็จะได้รับปันผลเงิน (หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ) มากกว่า แต่หากปีใด หรือช่วงเวลาใด ที่กิจการไม่สามารถทำกำไรได้ หรือไม่มีเงินเหลือมาจ่ายปันผลได้ (แล้วแต่นโยบายการจ่ายปันผลของแต่ละบริษัท) ผู้ถือตราสารทุนก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับปันผลนั้นเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรได้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ สามารถสะสมเงินทุนไปลงทุนเพิ่มเติมได้เรื่อยๆ ขยายตลาดและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือตราสารทุนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นไปได้เรื่อยๆ



ตราสารหนี้


อันนี้ฟังแค่ชื่ออาจจะคุ้นเคยน้อยกว่าตราสารทุน แต่จริงๆ แล้วอย่างที่ชื่อมันบอกอยู่ ตราสารชนิดนี้แสดงถึงความเป็นหนี้เป็นสินต่อกันนั่นเอง ตัวอย่างของตราสารชนิดนี้เช่น หุ้นกู้, พันธบัตร นั่นเอง ซึ่งทั้งสองอย่างก็แสดงถึงความเป็นหนี้ที่ผู้ออกตราสารมีต่อผู้ซื้อตราสาร เช่นเอกชนออกหุ้นกู้ให้นักลงทุนซื้อ นักลงทุนก็มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของเอกชนรายนั้น หรือหากรัฐบาลเป็นผู้ออก ก็จะเรียกว่าพันธบัตรนั่นเอง ตราสารประเภทนี้ ต่างจากตราสารทุนที่ว่าผู้ออกตราสารจะกำหนดผลตอบแทนไว้แน่นอนว่าจะเป็นเท่าไร ตราสารนี้มีอายุเท่าไร และจะจ่ายหนี้ที่เป็นเงินต้นคืนอย่างไร (เช่นคืนทีเดียวงวดสุดท้าย หรือทะยอยคืนตลอดอายุของตราสาร หรืออื่นๆ)

ตราสารหนี้เป็นเอกสารอย่างหนึ่งที่คล้ายๆ กับเอกสารการกู้เงิน โดยที่ผู้กู้ (ลูกหนี้) เป็นผู้ออกตราสารชนิดนี้ให้กับผู้ให้กู้ (หรือเจ้าหนี้) เอาไว้โดยเจ้าหนี้ก็ต้องจ่ายเงินให้กับลูกหนี้เพื่อไปทำประโยชน์ก่อน ตราสารหนี้นี้เป็นเหมือนการพบกันครึ่งทางของผู้ออกและผู้ถือตราสาร แทนที่ผู้ออกตราสารหนี้จะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ที่อัตราดอกเบี้ย 6% ก็ออกตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนผู้ถือที่ 4.5% และผู้ถือ แทนที่จะฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์แล้วรับดอกเบี้ย 2% ก็ไปซื้อ/ถือตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย (เรียกว่า Coupon Rate แทนที่จะเรียกว่า Interest) ที่มากกว่า

ตัวอย่างหนึ่งของตราสารหนี้คือจะระบุว่าลูกหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ทุกๆ หนึ่งปี เป็นเวลานานกี่ปี แล้วสุดท้ายก็จะคืนเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ ระยะเวลาที่จะคืนเงินต้นให้กับเจ้าหนี้นี้ เรียกว่า Maturity Date เป็นต้น (ดูรูปที่ 1) ดูๆ ไปแล้วก็ "คล้าย" กับการฝากเงินกับธนาคาร แต่ว่ามีระยะเวลาอันจำกัด และอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่ได้รับนั้นมักจะมากกว่าการฝากเงินกับธนาคารแต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้บางท่านอาจจะบอกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรรัฐบาลนั้นไม่มีความเสี่ยง อันนี้เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วก็มีความเสี่ยงอยู่ดังที่เราจะได้พูดถึงต่อไป

รูปที่ 1 การตอบแทนผู้ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วๆ ไปจะแบ่งออกเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ ก) แบบจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียว และแบบ ข) แบบทะยอยจ่ายคืนเงินต้น

การคำนวณผลตอบแทนของตราสารหนี้

การคำนวณผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็คล้ายๆ กับการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารนั่นเอง (คือเงิน มีค่าตามเวลา เพราะมีดอกเบี้ย - อย่างน้อยก็ดอกเบี้ยเงินฝาก - มาเกี่ยวข้อง) โดยการแปลง (Convert) เงินตามระยะเวลาต่างๆ ไปเป็นจำนวนเงินเสมือนในปัจจุบัน หรือ ณ จุดหนึ่งในอนาคต

 
จากรูปที่ 2 จะเห็นว่าหากเรานำเงิน 100 บาทไปฝากไว้ในธนาคารโดยได้รับดอกเบี้ย 5% ต่อปี จะเห็นว่าปีแรกได้ดอกเบี้ย 5 บาทรวมกับเงินต้นเดิมเป็น 105 บาท และเงินจำนวน 105 บาทนี้จะได้รับดอกเบี้ยอีก 5.25 บาทกลายเป็น 110.25 บาท และได้รับดอกเบี้ยทบต้นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็น 115.7625 บาทเมื่อสิ้นปีที่สาม เราสามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยทบต้นเช่นนี้ได้จาก
FV = PV x ( 1 + i )y
โดยที่
FV คือ Future Value หรือจำนวนเงินเสมือนในอนาคต
PV คือ Present Value หรือจำนวนเงินเสมือนในปัจจุบัน
i คืออัตราดอกเบี้ยต่อปี, ถ้าอัตราดอกเบี้ยเป็น 5% ค่านี้จะเป็น 0.05
Y เป็นจำนวนปีที่ผ่านไป

หรือจากตัวอย่างในรูปที่ 2 เราสามารถพูดได้ว่าเงินจำนวน 100 บาทในปัจจุบัน มีค่าเสมือนกับเงินจำนวน 115.7625 บาทในอีกสามปีข้างหน้าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (แบบไม่มีความเสี่ยง) เป็น 5% ต่อปีหรือพูดในทางกลับกันก็คือ หากใครจะนำเงินจำนวน 115.7625 บาทมาให้เราในอีกสามปีข้างหน้า ก็จะมีค่าเท่ากับเอาเงินเพียง 100 บาทมาให้เราในวันนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนแบบไร้ความเสี่ยงเป็น 5% ต่อปีนั่นเอง

คราวนี้สมมติว่า มีตราสารหนี้อันหนึ่ง มีราคาหน้าตั๋ว (ใช้คืนเงินต้น) จำนวน 10,000 บาท โดยจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ ปีปีละ 500 บาท และเหลือเวลาอีก 3 ปีจนถึงเวลาไถ่ถอน แต่นักลงทุนต้องการผลตอบแทนเป็น 7% ต่อปี เราสามารถคำนวณราคาของตราสารหนี้นี้ (คือราคาที่จะยอมซื้อในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็น 7% ต่อปี) ได้ดังรูปที่ 3 ข้างล่าง

 
นั่นคือนักลงทุนจะยอมซื้อตราสารหนี้นี้ที่ราคา 9475.135 เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็น 7% ต่อปี เพราะหากยอมซื้อที่ราคา 10,000 บาทแล้ว ก็จะเปรียบเหมือนกับได้อัตราผลตอบแทนที่ 5% เท่านั้น แต่หากเราซื้อตราสารหนี้นี้ที่ราคาต่ำกว่า 9475.135 บาทแล้ว จะเสมือนกับเราได้อัตราผลตอบแทนมากกว่า 7% ต่อปี และในทางตรงกันข้าม หากเราจ่ายเงินมากกว่า 10,000 บาทเพื่อตราสารหนี้นี้ นั่นหมายถึงเราได้ผลตอบแทนต่ำกว่า 5% ต่อปี (ซึ่งก็เป็นไปได้ หากอัตราดอกเบี้ยไร้ความเสี่ยงทางการใช้หนี้คืน มีค่าต่ำลงมากๆ)

ความเสี่ยงจากตราสารหนี้

อย่างที่บอกไว้แต่ต้น ว่าตราสารหนี้ก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ดังนั้นแล้วก็ย่อมมีความเสี่ยงติดมาด้วย เช่นเราต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็ย่อมต้องรับความเสี่ยงมากขึ้นเป็นธรรมดา ดังความจริงที่ว่า "ของฟรีไม่มีในโลก" เราสามารถสรุปความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ได้ดังต่อไปนี้:

1) ความเสี่ยงจากความมั่นคงของผู้ออกตราสาร

อันนี้เป็นอย่างแรกที่นักลงทุนเราต้องพิจารณาเลยเป็นอันดับแรก เปรียบเหมือนกับการที่เราให้คนอื่นกู้ยืมเงิน ก็ต้องดูก่อนว่าผู้ที่กู้เงินเราไปนั้นสามารถใช้หนี้เราได้หรือไม่ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากผู้ออกตราสารเอง มีฐานะทางธุรกิจและการเงินไม่ดีแล้ว อาจจะเกิดการ "ชัดดาบ" หรือประเภทที่เรียกว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ก็ได้ แต่เรื่องของการชักดาบนี้ มักไม่เกิดขึ้นกับพันธบัตร เพราะรัฐบาลคงไม่ยอมเสียเครดิตเป็นแน่แท้ หากถึงคราวอับจนขึ้นมา รัฐอาจใช้สารพัดวิธีเช่น เก็บภาษีมากขึ้น หรือแม้กระทั่งออกพันธบัตรชุดใหม่เพื่อนำมาใช้หนีเดิมก่อน หรืออาจจะพูดได้ว่า ความเสี่ยงด้านความมั่นคงกับรัฐบาลคงไม่มีประเด็นในกรณีปกติ แต่ก็ไม่แน่ที่เราเห็นในช่วงวิกฤตของประเทศในแถบยุโรปที่ผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นก็มีให้เห็นกันมาแล้ว

2) ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย

อันนี้พูดถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือแม้กระทั่งอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้รุ่นที่ใหม่กว่า ตัวอย่างเช่นหากคุณถือตราสารหนี้ราคาหน้าตั๋ว (เรียก Face Value) 100,000 บาทที่ให้ผลตอบแทน (Coupon Rate) 4.5% ต่อปีแต่อัตราดอกเบี้ยของเงินฝากธนาคารค่อยๆ ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ จาก 4% เป็น 4.5% แล้วเลยเถิดขึ้นไปเป็น 6% ต่อปี เมื่อเป็นดังนี้แล้ว หากคุณต้องการขายตราสารหนี้นั้นออกไปก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ซื้อก็จำต้องกดราคาลงมาต่ำกว่า 100,000 บาทนั้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนรวมเดียวกับอัตราดอกเบี้ย 6% (เพราะตราสารนั้น ก็ยังคงจ่ายดอกเบี้ย 4.5% เมื่อเทียบกับเงินต้น คือเป็นจำนวน 4,500 บาทต่อปีอยู่)

3) ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง

อย่างไรเสียตราสารหนี้นั้นก็ไม่ใช่เงินสด และไม่ใช่ตราสารทุนประเภทหุ้นสามัญ ดังนั้นแล้วหากผู้ถือต้องการเปลี่ยนเป็นเงินสดโดยทันที อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในตลาดรอง ผู้ที่ต้องการซื้อ ก็อาจจะเสนอซื้อด้วยราคาที่ต่ำมาก (เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง) และผู้ที่ขายก็ต้องการขายด้ายราคาที่สูง (แต่คนที่ซื้อก็จะได้ผลตอบแทนที่ต่ำ) ดังนั้นการซื้อขายมักจะเป็นไปได้ยาก เพราะตกลงเรื่องของราคาไม่ได้นี้เอง

การพิจารณาซื้อตราสารหนี้

สิ่งต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาหากเราต้องการลงทุนในตราสารหนี้:

1) ดูจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ปัจจุบันในประเทศไทย มีสองสถาบันที่ได้รับการยอมรับจาก กลต. ให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ (ก็ความสามารถในการใช้หนี้และเงินต้นคืนได้ครบถ้วนตามเงื่อนไขนั่นแหละ) คือ บริษัท ไทยเรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด (เรียกว่า "ทริส") และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (เรียกว่า "ฟิทช์") ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้จะมีตัวอักษรแสดงอันดับความน่าเชื่อถือแตกต่างกันเล็กน้อย แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถเรียงได้จาก AAA, AA, A, BBB เป็นต้น โดยหากอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB แล้วก็ไม่น่าลงทุนนัก เพราะเริ่มมีความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น

2) เงื่อนไขพิเศษบางประการของหุ้นกู้

ตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้บางตัว มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษเอาไว้ให้ผู้ออก (ผู้กู้) สามารถไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้ (เรียกว่า Callable Bond) หุ้นกู้ประเภทนี้จะมีความเสี่ยงสูงต่อนักลงทุนมากกว่า เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดสูง ผู้กู้ก็ออกหุ้นกู้ด้วยอัตราผลตอบแทน (ดอกเบี้ย - Counpon Rate) ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อระดมทุนในการทำกิจการ ต่อมาเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำลง ผู้ออกหุ้นกู้ก็ไถ่ถอนคืนโดยอาจจะนำเงินมาจากการกู้ธนาคารพาณิชย์ที่มีดอกเบี้ยที่ต่ำลง เมื่อเป็นดังนี้แล้ว นักลงทุนจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง เพราะเมื่อผู้กู้ขอไถ่ถอนหุ้นกู้คืนแล้ว นักลงทุนก็ไม่รู้จะนำเงินต้นที่ได้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงได้ง่ายนัก

3) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond)

หุ้นกู้ประเภทนี้จะมีการกำหนดให้สิทธิไว้ว่า ผู้ถือสามารถเลือกที่จะแปลงสภาพจากหุ้นกู้ (ผู้ออกมีสภาพเป็นลูก "หนี้") ไปเป็นหุ้นสามัญ (กลายเป็น "ทุน" ส่วนหนึ่งของบริษัท) ซึ่งมีทั้งข้อดีต่อบริษัทผู้ออกและผู้ถือหุ้นกู้นั้น แต่เป็นผลเสียต่อผู้ถือหุ้นเดิม กล่าวคือเมื่อเกิดการแปลงสภาพ ภาระหนี้สินของบริษัทหรือผู้ออกก็จะลดน้อยลง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้อาจจะสามารถขายหุ้นสามัญที่แปลงสภาพแล้วนั้นที่ราคาตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนทางดอกเบี้ยโดยรวม (หากเลือกที่จะถือหุ้นกู้นั้นต่อไป แทนที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญแล้วขายในตลาด) แต่ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับผลกระทบทางลบเนื่องจากมีปริมาณหุ้นสามัญเพิ่มขึ้น (Dilution Effect)

4) การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้

หากนักลงทุนไม่มีความชำนาญเรื่องของการติดตามสภาวะเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้แต่ละตัวแล้ว ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้นในการลงทุนกับตราสารหนี้ก็ได้ ซึ่งจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระดับหนึ่ง



ตราสารอนุพันธ์


ตราสารประเภทนี้เป็นเสมือนสัญญาแสดงสิทธิต่อกัน ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้ ด้วยตัวของมันเองแล้วไม่ได้มีราคาอะไร เพียงแต่จะมีมูลค่าเกี่ยวพันอยู่กับสินทรัพย์หรือตัวแปรที่มันอ้างถึง (ผูกพันกันอยู่) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งตราสารประเภทนี้ออกได้เป็นอีกสามประเภทย่อยๆ คือ
3.1) ตราสารสิทธิ (Options - put/pull options)
3.2) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward/Futures)
3.3) สัญญาแลกเปลี่ยน (Swap)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะเน้นก็คือ ทั้งตราสารทุน, ตราสารหนี้, และตราสารอนุพันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นตราสาร "เพื่อการลงทุน" ดังนั้นแล้วตราสารทั้งสามอย่างนี้จะมีความเสี่ยงผูกติดมาด้วยเสมอ เดี๋ยวช่วงมีเวลา ผมจะเขียนถึงรายละเอียดของแต่ละอันกันในภายหลังนะครับ




กองทุนรวมหุ้น


กองทุนพวกนี้สามารถที่จะให้ผลตอบแทนได้เหมือนกับการที่เราลงทุนเอง โดยที่เราไม่ต้องทำงานอะไรเป็นพิเศษนัก เมื่อเรานำเงินส่วนของเราซื้อหน่วยลงทุน เงินของเราก็จะผสมเข้ากับเงินของนักลงทุนคนอื่น และมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพทำหน้าที่เลือกและซื้อขายหุ้นให้กับเรา นอกเหนือไปจากการที่ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความสามารถพิเศษในการดูแลแล้ว การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการคัดเลือกเป็นเจ้าของหุ้นจำนวนหลายๆ ตัวมักจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการที่ลงทุนแยกต่างหาก และนอกเหนือไปจากนั้น (สมมติว่า) ถ้านักลงทุนคนใดคนหนึ่งลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียวของบริษัทเดียว บริษัทนั้นอาจจะล้มละลายทำให้หุ้นมีมูลค่าเป็นศูนย์ได้ แต่กองทุนที่ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 40-50 บริษัท ก็ย่อมมีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้ทุนทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ได้

ในทางตรงกันข้ามของการที่่มีความเสี่ยงต่ำนี้ การลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจำนวนหลายๆ บริษัทมาก ก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่บริษัท ถ้าการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่บริษัทนั้นได้รับการคัดเลือกมาอย่างถูกต้อง และที่สำคัญก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและนักลงทุนก็จะต้องลงมือลงแรงในการเฟ้นหาหุ้นของบริษัทที่ดีและมีโอกาสที่จะเติบโตสูงต่อไปในอนาคต

จริงๆ แล้วการเลือกกองทุน ก็เหมือนกับการเลือกหุ้นนั่นแหละครับ คือถ้าเลือกผิด ก็อาจจะขาดทุนได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการรับประกันว่าจะได้กำไร (หรือแม้แต่เท่าทุน) ดังนั้นวิธีการหนึ่งในการลงทุน นักลงทุนอาจจะใช้วิธีผสมผสานกันก็ได้ โดยลงทุนเองด้วยการคัดเลือกหุ้นเอง และลงทุนผ่านกองทุนรวมผสมกันไปก็ไม่มีใครว่าอะไรนะครับ



ตอนที่ 4 (31 ม.ค. 54)

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์


บ้าน คือวิมานของเรา เป็นดังว่านี้แหละครับ คนเราจะต้องมีที่อยู่อาศัย มีบ้านหรือคอนโด อะไรก็ได้ล่ะครับไว้พักอาศัยหลับนอน ไม่ว่าจะกับครอบครัวหรือว่าอยู่เพียงลำพังคนเดียว และโดยทั่วไปแล้ว ราคาของบ้านและที่ดินก็มักจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (อาจจะเป็นเพราะว่า จำนวนประชากรมากขึ้น หรือเกิดการย้ายถิ่นฐานจากบริเวณวงกว้าง เพื่อเข้ามาอยู่ในบริเวณที่จำกัด) แต่ถ้าเราจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร ก็จะต้องนึกถึงสิ่งต่างๆ บางเรื่องต่อไปนี้ไว้ในใจเช่นกัน

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์โดยมากแล้ว จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็เป็นไปได้ที่ราคาจะลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ลงทุนได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามาในราคาที่สูงเกินจริง หรือว่าเป็นช่วงของฟองสบู่ และการที่มีที่ดินมากกว่าที่จำเป็นต้องอยู่อาศัย ผู้ลงทุนก็จะต้องจ่ายเงินภาษีด้วย และถ้าให้คนอื่นเช่า ก็จะต้องคอยดูแลผู้เช่า คอยเก็บค่าเช่าตลอดจนซ่อมแซมตัวบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นๆ และท้ายที่สุดก็คืออสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องที่ต่ำมาก และไม่สามารถแบ่งขายเป็นส่วนๆ เล็กๆ ได้ (เช่น ซื้ออพาร์ทเมนต์มาให้เช่า แต่ว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ไม่สามารถจะแบ่งขายอพาร์ตเม้นท์ออกไป สองห้อง ได้ เป็นต้น)




การฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร


อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การฝากเงินในบัญชีเงินฝาก จะเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนต่ำมาก แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่ต่ำมากคือตัวเงินต้นก็น่าจะสามารถคงอยู่ได้ การฝากเงินไว้ถือว่าเป็นการเก็บเงินไว้เผื่อยามฉุกเฉินมากกว่า แต่ไม่ใช่วิธีการลงทุนที่ดี เพราะบางที (อย่างในปัจจุบันนี้ ปี 2552-2554) ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังแพ้่อัตราเงินเฟ้อด้วยซ้ำไป

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าการลงทุนในหุ้นอาจจะต้องการการดูแลจากผู้ลงทุน และมีงานที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และตัดสินใจ และมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในอีกหลายๆ ด้าน แต่นักลงทุนก็ต้องไม่ลืมว่า การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมาก และในตอนต่อไป เราจะสามารถคำนวณได้ว่า ในระยะยาวแล้ว อัตราผลตอบแทนที่มากกว่าเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี สามารถสร้างเป็นเงินก้อนจำนวนใหญ่มากให้กับนักลงทุนได้เลยทีเดียว