วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

มาดู ROA กับ ROE กันดีกว่า


ลักษณะการซื้อขายหุ้นไทยในเวลานี้ หลายๆ ท่านคงมีเวลาว่างสักหน่อย คือไม่สามารถทำอะไรถนัดนักกับตลาดแบบนี้ ก็ลองหาอะไรอ่านที่เป็นประโยชน์กันดีกว่า โดยวันนี้ผมอยากจะคุยเรื่องผลตอบแทนจากการประกอบการของบริษัท และจากเงินที่มาจากการลงทุนของผู้ถือหุ้นกันครับ
ผมแน่ใจมากว่า เพื่อนๆ จะต้องเคยผ่านตาคำศัพท์ทางการลงทุนที่ว่า ROA และ ROE มาบ้าง หลายท่านอาจจะทราบดีแล้วว่าคืออะไร ในขณะที่อีกหลายท่านยังไม่ทราบ วันนี้ผมเลยขอเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อยนะครับว่าเจ้าสองตัวนี้คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกับการลงทุนของเรา เริ่มกันที่ตัวแรกเลยนะครับ

ROA
ROA เป็นคำย่อมาจากคำว่า Return On Asset หรือ "ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์" ถามว่าสินทรัพย์ของใคร ก็คือสินทรัพย์ของบริษัทนั่นเอง โดยที่สินทรัพย์นี้คือสิ่งสารพันที่บริษัทมีและถือครองอยู่ ตัวอย่างเช่น โรงแรม สิ่งที่ธุรกิจประเภทโรงแรมถือครองอยู่ก็เช่น ตึก อาคาร ที่ดิน สวนภายในที่ดิน ห้องอาหารในโรงแรม ห้องพักในโรงแรม สระว่ายน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ และอีกสารพัดที่อยู่ในโรงแรม ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือสินทรัพย์ที่โรงแรมจะต้องมีและพยายามใช้สร้างเงินและผลกำไรให้เกิดขึ้นมาได้ เมื่อได้กำไรมา เราก็จะมาคิดว่า กำไรที่ได้คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของโรงแรมที่มี ซึ่งโดยมากก็คิดเป็นร้อยละ (%) โดยถ้าโรงแรม หรือบริษัท มีความสามารถที่ดีในการบริหารงาน ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนร้อยละที่สูง เรียกได้ว่าสามารถใช้ทรัพย์สินของโรงแรมที่มีอยู่ ในการสร้างกำไรได้มาก ถ้ายกเป็นตัวเลขง่ายๆ ให้เข้าใจได้ก็เช่น กิจการโรงแรมมีกำไรสุทธิเป็น 115 ล้านบาท จากทรัพย์สินทั้งหมดที่มีคือ 1,000 ล้านบาท แบบนี้ก็คือมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เป็น 115x100/1000 = 11.5% เป็นต้น

ROE
สำหรับ ROE ก็เป็นคำย่อมาจาก Return On Equity แปลตรงๆ ตัวก็คือ "ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น" ซึ่งสามารถคิดเป็นอัตราร้อยละของกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เจ้า ROE นี้เรียกได้ว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ของ ROA เนื่องจากในการจัดตั้งบริษัท ตามตัวอย่างนี้ก็คือ  โดยมากก็จะต้องเริ่มด้วยการระดมทุน จากผู้ถือหุ้นทั้งหลาย จนได้เงินสดมาก้อนหนึ่ง จากนั้นบริษัทก็อาจจะไปกู้ยืมเพิ่มเติมมาอีก จนเป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้น เงินทั้งหมดนี้ (ประกอบไปด้วยส่วนที่ผู้ถือหุ้นควักประเป๋าออกมา เรียกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ Equity และส่วนที่กู้มาเรียกว่า หนี้สินหรือ Liability) รวมกันเป็นสินทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้น (สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน) และนำไปทำกินการ การเริ่มต้นกิจการจึงมักจะต้องเริ่มด้วยการมี E-Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) เป็นทุนเริ่มต้นเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มพลังให้เป็น A-Asset (สินทรัพย์)
ถ้าย้อนกลับไปในตัวอย่างที่เป็นตัวเลขด้านบน เราจะเห็นว่าสินทรัพย์จำนวน 1,000 ล้านบาทนี้อาจจะไม่ใช่เป็นส่วนที่มาจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด แต่กลับมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 700 ล้านบาท และมาจากการกู้ยืมอีก 300 ล้านบาท เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงเรียกได้ว่า บริษัทหรือโรงแรมตามตัวอย่างนี้กำลังทำการ "Leverage" เงินที่มีอยู่จาก 700 ล้านบาท ให้เป็น 1,000 ล้านบาทโดยการกู้ยืม และหากคิดผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นก็จะได้เป็น 115*100/700 = 16.42% ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากบริษัทมีการกู้ยืม หรือมีหนี้สิน (ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินแบบระยะสั้น ยาว ต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยโดยตรงก็ตาม) และสามารถใช้ผลประโยชน์จากหนี้สินนั้นได้ดี ผลตอบแทนของส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE จะสูงกว่า ROA ครับ

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมีหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย ก็จะทำให้บริษัทเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินกิจการมากขึ้น นักลงทุนก็จะต้องพิจารณาว่า หนี้สินนั้นเป็นหนี้สินระยะสั้นหรือระยะยาว มีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจ่ายมากน้อยอย่างไร ความสามารถในการทำกำไรเพื่อจ่ายดอกเบี้ยมีมากน้อยเพียงใด (มีกำไรเป็นกี่เท่าตัวของดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เรียกว่า payout ratio - ยิ่งมากยิ่งดี) และที่สำคัญ แนวโน้มของภาระหนี้สินเมื่อเวลาผ่านไปนั้นมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่องนี้กันในบทความอื่นๆ ต่อไปครับ

หมายเหตุ
ในเว็ปของ set.or.th ถ้าจำไม่ผิด จะคิด ROA โดยใช้ตัวเลขก่อนหักภาษี นัยว่าเพื่อให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรของตัวธุรกิจโดยไม่เอาภาษีเข้ามาข้องเกี่ยว เนื่องจากบริษัทต่างๆ นั้นอาจจะเสียภาษีในอัตราที่ไม่เท่ากัน การนำตัวเลขกำไรสุทธิที่หักภาษีแล้วมาคำนวณหา ROA จะทำให้เปรียบเทียบกันได้ยาก
สรุปสั้นอีกครั้ง
- ดูว่าธุรกิจนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นอย่างไร ดู ROA (ว่าทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหนผู้บริหารเอาสินทรัพย์มาสร้างเงินได้แค่ไหน)
- ดูว่าธุรกิจนั้นโดยเนื้อแท้ทำกำไรได้แค่ไหน "บวกกับ" ผู้บริหารมีการจัดการทางวิศวกรรมการเงิน (สร้างหนี้ที่ดี เอาเงินเข้ากระเป๋า) ได้ดีแค่ไหน ก็ดู ROE
- แต่พึงจำไว้ว่า การมีหนี้มาก ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงได้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะงักงัน หรือเกิดปัญหาทางการเงินชั่วคราว ต้องดูอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ประกอบด้วยครับ


Update ความรู้เกี่ยวกับหุ้น และการลงทุน วันนี้
คุยกันต่อในเรื่อง "งบดุล" วันนี้เพิ่มเติมไว้ในเรื่อง
ทรัพย์สมบัติ และ ค่าความนิยม
คลิ๊กที่ "การลงทุนโดยพิจารณามูลค่า - การวิเคราะห์เชิงปริมาณ"
ทางด้านขวามือครับ