สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว สิ่งต่างๆ ที่มีการซื้อขายกันได้จะถูกมองว่าเป็น "สินค้า" หรือ "ผลิตภัณฑ์" ซึ่งมีได้ตั้งแต่หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิในการแปลงเป็นหุ้นสามัญ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นต้น เมื่อตลาดโตขึ้น เศรษฐกิจขยายขึ้น ย่อมมีโอกาสที่จะมีสินค้าเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของ "สินค้าทุน" เองก็คงจำกัดอยู่ที่หุ้นสามัญก่อน (จากนั้น ลูกหลานของมันก็อาจจะติดตามกันมาภายหลัง) หรือที่นักลงทุนเราเรียกติดปากก็คือหุ้นไอพีโอนั่นเองที่จริงผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว (คลิก >> นิสัยหุ้นไอพีโอ) แต่อาจจะคุยในเรื่องของทิศทางราคาในกระดานกับความถูกแพงโดยรวมเป็นหลัก แต่คราวนี้จะเน้นคุยกันด้านพื้นฐาน มากกว่าด้านพฤติกรรมราคา แต่แน่นอนล่ะว่า ต้องมีเรื่องราคา และค่าที่แท้จริงของมันด้วย เพราะเราได้กำไรหรือขาดทุนก็เพราะการซื้อขายที่ราคาต่างๆ และเรามีโอกาสได้กำไรก็เพราะการมอง มูลค่า ของมันได้ถูกต้องและวางแผนการซื้อขายกับราคาที่เกิดขึ้นในตลาดได้ดี โดยเน้นไปที่การให้มุมมองของผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ เป็นหลัก
การวิจารณ์หุ้นรายตัว
ก่อนอื่น อาจจะขออนุญาตทำความเข้าใจกับเพื่อนๆ นักลงทุนสักนิดในด้านที่ว่า ทำไม ในเมื่อมีหุ้นของบริษัทใหม่ๆ เข้ามาซื้อขายมากมาย เหตุใดโดยส่วนตัวผมจึงไม่วิจารณ์หรือระบุคุณภาพของหุ้นบริษัทโดยตรง ผู้ที่ติดตามมากว่าสิบปี จะทราบว่าผมจะหลีกเลี่ยงการวิจารณ์หุ้นเป็นรายตัวเช่นนั้น ยิ่งการแนะนำหุ้นด้วยแล้วจะพยายามเลี่ยงอย่างถึงที่สุด เพราะในปัจจุบันเราก็ทราบกันว่านักลงทุน (รวมทั้งนักเก็งกำไรด้วย) สามารถทำกำไรได้ทั้งเมื่อตลาดหรือหุ้นเป็นขาขึ้นและลง ถึงแม้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงทุนจะเป็นของตัวนักลงทุนเอง แต่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจก็มาจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้อ่าน นี่เอง โดยผมอาจจะให้ความเห็นหุ้นรายตัวได้ในกรณีที่ถูกถามระบุเป็นรายบริษัทเท่านั้นแต่โดยทั่วไปแล้วผมจะไม่เป็นฝ่ายยกตัวอย่างขึ้นมาก่อน
ปกติแล้วสิ่งที่จะสามารถวิจารณ์หรือวิเคราะห์ในบริษัทเหล่านั้นคือ ลักษณะธุรกิจในกลุ่ม ข้อสังเกตความสามารถในการแข่งขันของบริษัท การขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทเฉพาะนั้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทนั้น เพื่อแยกแยะกลุ่มธุรกิจ และ/หรือ บริษัทที่น่าลงทุนหรือหลีกเลี่ยงออกจากกัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่นักลงทุนสามารถนำไปต่อยอดด้วยตัวเองได้มากกว่านั่นเอง
หุ้นใหม่มีอะไรดี
อย่างที่บอกนะครับว่าเราจะตัดเอาเรื่องราคาที่มักจะหวือหวา และมีการไล่ซื้อและหาจังหวะขายเพื่อทำกำไรออกไปก่อน เมื่อมีหุ้นใหม่เข้ามาสิ่งแรกที่เราต้องมองหาก่อนที่เราจะคิดอย่างอื่นก็คือ "เข้ามาทำไม"
แน่นอนว่าการเข้ามานั้นมีสารพัดเหตุผล อยู่ดีๆ เจ้าของบริษัทที่ดำเนินกิจการด้วยความสบายใจ คงไม่นึกสนุกที่จะต้องมานั่งตอบคำถามผู้ถือหุ้นจำนวนมากมายในแต่ละปีสักเท่าไร (ผมก็เป็นเจ้าของบริษัทส่วนตัว ก็ยังไม่อยากตอบคำถามใครเลย) ดังนั้นเหตุใหญ่ในการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ ก็คือการทำให้เจ้าของเดิมมีความมั่งคั่งสูงขึ้น อาจจะมั่งคั่งด้วยการที่มูลค่าต่อหุ้นที่ตัวเองถือไว้สูงขึ้น อาจจะด้วยการทำกำไรจากการแบ่งขายหุ้นบางส่วนออกมา เอาเงินไปใช้หนี้ส่วนตัวบ้าง และบริษัทก็ได้ใช้หนี้บ้าง ได้ปรับโครงสร้างทางการเงินทำให้แข็งแกร่งขึ้น อาจจะมีเงินเหลือเพื่อการดำเนินกิจการ หรือเพื่อการขยายกิจการในแนวราบและแนวดิ่งมากขึ้น เป็นต้น คงมีน้อยมาก (ถ้ามี) ที่เจ้าของเดิมจะคิดถึงแต่นักลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญาติของตัวเองในตลาดหลักทรัพย์ แล้วจะแบ่งส่วนของบริษัทตัวเองมาให้ในราคาถูกๆ ล่ะครับ
นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ถามว่าเราจะดูได้อย่างไร ก็ดูง่ายๆ จากหนังสือชี้ชวน ซึ่งมักบอกตั้งแต่ประวัติที่มาที่ไปของบริษัท ว่าทำอะไรมา ให้ใครบ้าง สถานะก่อนการเข้ามาในตลาดฯ เป็นอย่างไร สถานะเมื่อวินาทีที่เข้ามาในตลาดฯ สำเร็จจะเป็นอย่างไร และจากนั้นก็จะบอกสถานะที่ "คาดว่า" จะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือแผนดำเนินกิจการ ตรงอย่างหลังที่สุดนี่ล่ะครับที่เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นและไม่สามารถเชื่อได้ว่าจะเป็นจริง
ข้อควรสังเกตของนักลงทุน
สิ่งที่นักลงทุนควรสนใจให้มากก็คือ การสร้างสถานะ win-win ให้กับนักลงทุนใหม่และเจ้าของเก่าได้แค่ไหนอย่างไร และหลังจากการใช้หนี้สิน (ส่วนมากก็ไม่ได้ใช้หมดหรอกเพราะไม่จำเป็น ไม่เช่นนั้นจำนวนหุ้นที่เพิ่มทุนเข้ามาจะเยอะมากและ/หรือต้องขายในราคาสูงมาก ทำให้ระดับ P/E ที่คาดหวังต่ำลงเนื่องจากมี dilution สูงหรือความน่าสนใจน้อยลงเพราะราคาเสนอขายสูงเกินไป การใช้หนี้ "บ้าง" จึงมักเน้นไปที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ก่อน แล้วก็เหลือหนี้อยู่บ้างให้สามารถจัดการได้ดี มี ROE ที่ดี) เหลือเงินสดอีกหรือไม่ เท่าไร แล้วค่อยๆ ดูว่า
- เงินที่เหลือ (ถ้ามี) รวบรวมเสร็จสรรพแล้ว จะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียน (working capital = ทรัพย์สินหมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน) เท่าไร มากหรือน้อยกว่าเดิมก่อนการเพิ่มทุนหรือไม่ เท่าไร บริษัทที่มีเงินทุนหมุนเวียนเป็นบวก และเป็นสัดส่วนที่สูง (เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด) ย่อมดำเนินกิจการได้คล่องตัวกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าหนี้มาไล่ทวงเงินมากนัก การจะขอเพิ่มเครดิตต่างๆ ก็ง่าย (คลิก >> ทุนหมุนเวียนสำคัญอย่างไร)
- สินค้าและบริการที่ทำ มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) เท่าไร โดยปกติแล้วอัตรากำไรขั้นต้นแสดงถึงความพิเศษของสินค้านั้นที่ลูกค้ายอมจ่ายในราคาแพงกว่าปกติ การเพิ่มทุนที่ทำให้สถานะทางการเงินเปลี่ยนไปนั้นสามารถทำให้กำไรขั้นต้นเพิ่มมากขึ้น (คือ ทำให้สินค้าและบริการพิเศษกว่าเดิมขึ้นไปอีก) ได้หรือไม่ (ดูเรื่องตัวเลขที่ควรเป็น คลิก >> ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ)
- ดูว่า การเพิ่มเม็ดเงินลงไปนั้น จะทำให้อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin คือ หักต้นทุนต่างๆ และภาษีแล้ว) เพิ่มขึ้นหรือไม่ และกับจำนวนหุ้นที่มากขึ้น จะทำให้ P/E เป็นเท่าไร (ยังไม่ต้องรวมความคาดหวังว่าบริษัทจะเติบโตด้วยประการใดๆ) โดย P คือ Price ที่เป็นราคาที่เราคิดว่าเราจะซื้อในตลาดได้ หรือจองมาได้ก็แล้วแต่
- ดูแผนการเติบโตของบริษัท จะเป็นไปได้ไหม อย่างไร เนื่องจาก P/E ที่เราคิดได้ในส่วนที่ผ่านมานั้น (เอา P/E ก่อน ยังไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอัตราส่วนปันผลตอบแทน) มักมีค่าสูง (เช่น 30 ขึ้นไป) เราต้องดูว่า บริษัทจะมีเงินเหลือไปเพื่อสร้าง สินค้าเดิมที่มีต้นทุนต่ำลง สินค้าเดิมที่ขายได้แพงขึ้น (เช่น ขายไป ต่างประเทศ) ผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ที่มีลูกค้ามากขึ้น และ/หรือ มีอัตรากำไรสูงขึ้นไหม แล้วดูว่า สุดท้ายแล้ว โอกาสที่บริษัทจะได้กำไรมากขึ้นนั้นมีหรือไม่ แค่ไหน ร้อยละเท่าไร (แย่ลงก็มีนะครับ อย่าคิดว่าทำแล้วได้กำไรตลอด) และกำไรที่จะทำได้จะเป็นเท่าไร เราก็นำกลับมาคิดค่า P/E ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Forward P/E) ได้
- ดูเรื่อง วิธีการประมาณการเติบโตของบริษัท ประกอบ
จุดที่นักลงทุนต้องระวัง
(1) ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เวลาไปงานราตรีก็คงต้องแต่งตัวให้สวยให้หล่อ หุ้นเข้ามาใหม่เหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน มักมีการแต่งองค์ทรงเครื่องในระดับหนึ่งก่อนเข้ามา จุดที่แต่งองค์ได้ง่ายและ "เตะตา" ที่สุดก็คือกำไรที่เกิดขึ้นในปีหลังๆ ก่อนเข้าจดทะเบียน (โดยอัดยอดขาย ซ่อนรายจ่าย) รองลงมาคือทรัพย์สินที่อาจจะมีค่าสูงกว่าความเป็นจริง (ส่วนหนี้สิน อาจจะซ่อนยากหน่อย) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถ "เรียกราคาขายหุ้นเพิ่มทุน" ได้สูง ราคาขายหุ้นเพิ่มทุนที่สูงกว่าราคาพาร์ของหุ้นที่จดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องที่ดีต่อ (งบการเงินของ) บริษัท ส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นที่ออกขายกับราคาพาร์จะถูกบันทึกเป็น "ส่วนเกินมูลค่าหุ้น" ทำให้บริษัทมีเงินสดมากขึ้นในการดำเนินกิจการ แต่.... การแต่งองค์ทรงเครื่องนี้เองที่ทำให้เรามี "จุดอ้างอิงผลประกอบการ ก่อนการเข้าตลาดฯ" ผิดไป และถ้าผิดไปมาก ก็ทำให้เราประมาณกำไรใรอนาคตผิดไปทั้งหมด และ
(2) อีกจุดหนึ่งคือ สภาพตลาดของสินค้าและบริการของบริษัทในอนาคต จะเป็นตัวสำคัญที่เป็นโอกาสให้บริษัทเติบโตได้ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด ดังนั้นจึงอาศัยวิสัยทัศน์และความสามารถในการคาดการณ์พฤติกรรมของตลาดและผู้บริโภคของนักลงทุนเป็นสำคัญ จากนั้นนักลงทุนก็ดูว่าบริษัทมีความพร้อมในเรื่องนั้นหรือไม่ สามารถฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
แล้วเราควรจะต้องระวังแค่ไหน เพราะเราไม่สามารถรู้ได้แน่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ตรงนี้จึงเป็นจุดที่เข้ามาของคำว่า "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" (Margin Of Safety) ว่าในระหว่างที่เราประมาณ ประเมิน สิ่งต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น มันมีความเป็นไปได้เท่าไรที่จะเกิด แล้วก็ให้ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเข้าไป สุดท้ายก็จะได้มูลค่าที่เหมาะสมที่ปลอดภัย (ปลอดภัยมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความสามารถในการประเมินธุรกิจของบริษัท และ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยนั้น) เพื่อทำให้เราพอจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า หุ้นที่เข้ามาใหม่นั้น ราคาแพงไปหรือถูกเกินไปแค่ไหน และประเมินความเสี่ยง แผนการลงทุน และตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นครับ
- ถ้าแพงเกินไป เราไม่ซื้อ
- ถ้าแพง ต้องเฝ้า ระวัง กำหนดจุดขายตัดขาดทุน
- ถ้าถูก ย้อนไปดูดีๆ อีกทีว่าถุกจริงหรือไม่ ถ้าถูกจริงอาจจะเรียกได้ว่าพบบ่อทรัพย์ย่อยๆ เลยเชียว