วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นิสัยหุ้น IPO


หุ้น IPO หรือ Initial Public Offering คือหุ้นที่เกิดจากกาาเสนอขายให้แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการระดมทุนให้กับบริษัทที่เสนอขายหุ้นนั้นไว้ใช้ในการดำเนินและขยายงานต่อไป ทุกครั้งที่มีข่าวว่าจะมีการจองหุ้นแบบนี้ เหล่านักลงทุนหลายกลุ่มก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยไม่มากก็น้อย ส่วนมากแล้วก็มักต้องการได้รับการจัดสรรหุ้นให้บ้างไม่มากก็น้อย เพื่อหวังว่าจะนำเข้าไปขายในตลาดฯ เมื่อทำการเปิดซื้อขายในวันแรกๆ หรือแม้แต่จะไม่สามารถจองได้ก็ตาม ก็จะคอยติดตามเข้าซื้อเพื่อขายทำกำไรในวันแรกๆ ของการซื้อขายนั่นเอง แต่ก่อนที่เราจะคิดทำการสิ่งใดกับหุ้นในลักษณะนี้ คงต้องเรียนรู้นิสัยของมันก่อน ซึ่งโดยปกติแล้ว หุ้น IPO ไทย จะมีลักษณะหลายอย่างซ้ำๆ กันคือ

(1) มักแพง (คิดอนาคตแล้วก็ยังไม่ถูก)
เรื่องนี้ก็ต้องนับว่าเป็นฝีมือของผู้ที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินและการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และในการทำราคาของหุ้นที่จำหน่ายให้กับสาธารณชนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการขายได้ในราคาที่สูงก็จะทำให้บริษัทได้เงินจำนวนมากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในส่วนของส่วนเกินมูลค่าหุ้นในบัญชีส่วนของผู้ถือหุ้น

สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
โดยที่
ส่วนของผู้ถือหุน = ทุน + กำไรสะสม
ทุน = ทุนเรือนหุ้น (คือ ราคาพาร์ x จำนวนหุ้น) + ส่วนเกินมูลค่าหุ้น (คือ ส่วนราคาที่สูงกว่าราคาพาร์ x จำนวนหุ้น)
ถ้าขายได้ราคาสูง บริษัทก็ก็จะมีสินทรัพย์มากไว้ดำเนินกิจการ

(2) หุ้นดีจริง มักไม่ถึงมือรายย่อย (จองไม่ได้)
บางบริษัทที่มีอนาคตดีจริงๆ หุ้นของบริษัทเหล่านั้นก็จะเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก โดยทั่วไปแล้วการขายหุ้นให้กับสาธารณะชนเป็นครั้งแรกอย่างนี้ผู้ที่ทำการจัดจำหน่ายก็จะต้องการความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าสามารถขายได้จำนวนมากหรือขายได้ทั้งหมด ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วหุ้นของบริษัทที่ดีก็มักจะถูกนักลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อเป็นปริมาณมากจองไปก่อน เรียกง่ายๆ ว่าจองไปเกือบทั้งหมดนั่นแหละ จะเหลือก็ปริมาณน้อยมากหรือแทบไม่เหลือเลยก็ว่าได้เป็นส่วนที่จะมาถึงมือนักลงทุนรายย่อย ดังนั้นถ้าเราเห็นหุ้น IPO ใดที่ตกมาถึงมือรายย่อยได้ก็ควรจะระวังไว้สักนิดว่าอาจจะไม่ใช่หุ้นของบริษัทที่ดีจริง หรือเป็นหุ้นที่ออกมาในราคาที่เหมาะสมน่าลงทุนจริงๆ สักเท่าไหร่นัก

(3) เมื่อเข้าวันแรก มักจะวิ่งหูตาตั้ง ส่วนวิ่งไปได้แค่ไหน นานเท่าไร แล้วแต่ใครบางคน/กลุ่ม
นี่เป็นลักษณะของหุ้นไอพีโอที่เมื่อเข้ามาวันแรกก็จะสามารถซื้อขายได้อย่างเสรี การขึ้นของราคาในอัตราที่สูงมากส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะแรงเก็งกำไรผสมกับความที่นักลงทุนยังมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทนั้นไม่มากนักทำให้การคำนวนราคาที่เหมาะสมที่ควรจะเป็นจริงๆ ไม่ว่าในทางพื้นฐานหรือในทางเทคนิคทำได้ไม่ง่าย และเกิดการเคลื่อนไหวของราคาในอัตราที่สูงมากทั้งทางด้านขึ้นและลงในวันแรกๆ ของการซื้อขาย อย่างไรก็ตามเนื่องจากเราไม่รู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการมากนักเราจึงไม่สามารถคาดการณ์ราคาที่เหมาะสมได้การเปลี่ยนแปลงของราคาในวันแรกๆ จึงมักเป็นไปอย่างไร้เสถียรภาพ และไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าเพราะถ้าจะขึ้นหรือลงเท่าไรและไปหยุดอยู่ที่ใดเป็นเวลานานเท่าไร

(4) มีข้อยกเว้นเหมือนกัน
ถ้าจะว่าในเรื่องของราคาในวันเข้าซื้อขายที่มักจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาจอง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหุ้นของบริษัทที่ไม่ค่อยดีนัก (คือแย่ นั่นแหละ) ที่เจ้าของเดิมอาจจะคิดหากำไรจากการนำหุ้นออกมา "ปล่อย" ออกสู่ตลาด หรือราคาจองสูงมากเกินความเป็นจริงไปมาก และ/หรือ สภาพตลาดไม่เอื้ออำนวยในวันนั้นจริงๆ เมื่อทำการซื้อขายวันแรกราคาอาจจะร่วงตกต่ำตั้งแต่แรกเลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน นั่นหมายความว่าไม่ใช่หุ้นแบบนี้จะมีราคาขึ้นกว่าราคาจองเสมอไปนะครับ

(5) ราคามักลดต่ำลงในกรอบ 1 สัปดาห์ - หลายเดือน บางทีเป็นปีก็มี
เนื่องจากแรงเก็งกำไรที่สูง และทำให้ราคาถูกดีตัวขึ้นไปสูงมากในวันแรกหลังจากที่มีการซื้อขายกันพอสมควรแล้วอาจจะเป็นช่วงเวลาหลายวันหรือประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีทั้งผู้ที่ได้กำไรและรีบหนีออกไปจากหุ้นนั้น และมีผู้ที่ขาดทุนแต่หนีไม่ทันและติดหุ้นอยู่อย่างนั้น (ถ้าไม่ยอมขายตัดขาดทุนออกมา) เมื่อรวมกับการที่ปริมาณการซื้อขายที่ลดน้อยลงจนทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าฝ่อไปหมดหุ้นก็จะอยู่ในสภาวะไม่มีคนเล่น ราคาก็ตกต่ำอยู่อย่างนั้น เมื่อถึงตรงนี้แล้วมักบอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรจึงสามารถกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้

ดังนั้นคำแนะนำของผมสำหรับเพื่อนที่ต้องการซื้อขายหุ้นไอพีโอก็คือเราคงต้องทำตัวแบบผู้ไม่รู้ นั่นคือความไม่รู้แปลว่าเสี่ยง ดังนั้นเมื่อเราทำสิ่งที่เสียงเราย่อมต้องจำกัดการขาดทุนเอาไว้ด้วย ผู้ที่ซื้อหุ้นเหล่านี้จะต้องคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่าหากราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงเท่าใดจะทำอย่างไรกับมัน และในทางตรงกันข้ามหากราคาลดลงถึงเท่าใดขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์จะตัดสินใจอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องคิดไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะทำการซื้อหุ้นไม่ใช่ว่าซื้อแล้วค่อยมาคิดทีหลังนะครับ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น อาจจะไม่ทันการและอาจจะขาดทุนเป็นจำนวนมากได้