วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทุนหมุนเวียนสำคัญอย่างไร



เมื่อเราทำการวิเคราะห์ทางการเงินของบริษัทที่เราสนใจในการลงทุน มีตัวเลขทางการเงินจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ยอดขาย กำไรเบื้องต้น กำไรสุทธิ ทุน หนี้สิน และการหมุนเวียนเงินสดต่างๆ ทั้งหมดล้วนสำคัญ อย่างไรก็ตามมีตัวเลขทางการเงินที่ค่อนข้างสำคัญอีกหลายอย่างที่นักลงทุนอาจจะไม่ค่อยสนใจนัก แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจด้วยผมกลับคิดว่าเป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งความสะดวกในการทำธุรกิจ และแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ นั่นคือ "ทุนหมุนเวียน" (Working Capital)

ทุนหมุนเวียน

คือส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน
ทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน
Working Capital = Current assets - Current liabilities

สินทรัพย์หมุนเวียนคือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องหรือเรียกได้ว่ามีสภาพเป็นเงินสดหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี เช่น เงินสด (จริงๆ)  เงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินรับ ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เป็นต้น หนี้สินหมุนเวียนคือภาระผูกพันที่ธุรกิจต้องชำระคืนภายใน 1 ปี เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร เงินกู้ยืมจากธนาคารระยะสั้น ตั๋วเงินจ่าย เป็นต้น

ทำไมจึงควรมีทุนหมุนเวียนมากๆ

การมีส่วนต่างของสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียนเป็นจำนวนมากๆ ทำให้บริษัทดำเนินกิจการง่ายและแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรที่ดี มีการหมุนเวียนทรัพยากรที่ดี สามารถสร้างรายได้สะสมเอาไว้ได้มาก หรือจะนึกสภาพได้ว่า กิจการมีความสามารถในการจ่ายหนี้ที่มีคนคอยทวงอยู่ได้สบายๆ โดยตัวเองก็ยังสามารถทวงหนี้ลูกค้าของตัวเองเพื่อมาใช้หนี้ได้อีกด้วย ถ้าทุนหมุนเวียนน้อยกิจการจะขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้สินระยะสั้นได้ทัน คือ ลูกหนี้ก็ทวงเงินจำนวนมาก และกิจการก็ไม่มีจ่าย เงินสดก็ไม่มี เงินที่จะตามเก็บหนี้มาก็น้อย ก็คงต้องกู้เงินเพิ่ม ยิ่งถ้าการใช้หนี้ไม่คล่องอยู่แล้วยิ่งแย่  บริษัทที่ดีคือ อัตรากำไรสูง ยอดขายดี สะสมเงินสดได้ดี จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ยิ่งทุนหมุนเวียนมากยิ่งดี แต่ต้องวิเคราะห์ว่าอยู่รูปไหนด้วย

เงินสดและลูกหนี้การค้า

ของสองอย่างนี้เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้กันมาก ถ้าส่วนใหญ่เป็นเงินสดจะมากดี แต่หนี้ต้องน้อยด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นการกู้เงินสดมากองไว้ หรือไม่ยอมใช้หนี้  ถ้าส่วนมากเป็นลูกหนี้การค้าก็ดีอีก เพียงต้องดูว่าจะไม่มีหนี้เสีย และไม่มีปัญหากับวงจรเงินสด คือระยะเวลาเก็บหนี้ยาวนานเกินไป

สินค้าคงคลัง

ถึงตรงนี้ ขอเน้นหรือให้ข้อสังเกตว่า สินค้าคงคลังของบางธุรกิจอาจจะเสื่อมราคาได้เช่น สินค้าเทคโนโลยี ลองนึกภาพดูว่าถ้าบริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วทิ้งไว้สักหนึ่งปีราคาจะตกไปขนาดไหน ดังนั้นในการพิจารณาปริมาณของสินทรัพย์หมุนเวียน ถ้าประกอบไปด้วย เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า ตั๋วเงิน หรือหุ้นของบริษัทอื่น มากๆ ดูจะดีกว่าที่ประกอบด้วย สินค้าคงคลัง มากๆ เพราะการมีสินค้าคงคลังมากๆ อาจจะหมายถึงการขายไม่ออกก็ได้ โดยปกติแล้วสินค้าคงคลังควรจะมากหรือน้อยต้องเทียบกับยอดขาย ว่าเป็นร้อยละเท่าไรของยอดขายต่อปี ถ้าเกิน 50% อาจจะเริ่มผิดปกติแล้ว)

ตัวอย่าง

คราวนี้เราดูตัวอย่างกันบ้างดีกว่า ลองยกมาสัก 3 บริษัท

สินทรัพย์และหนี้สิน บริษัท #1
บริษัทแรกควบคุมหนี้สินหมุนเวียนได้ดี มีทุนหมุนเวียนดังนี้
(ปี 2556) 597.62-254.90=342.72 ลบ.
(ปี 2557) 522.98-243.13=279.85 ลบ.
(ปี 2558) 538.53-227.50=311.03 ลบ.
สร้างสินทรัพย์หมุนเวียนได้ดี
เมื่อดูสินค้าคงคลัง ก็คุมได้ดี ไม่มีมากทับถมเกินไป


สินทรัพย์และหนี้สิน บริษัท #2
บริษัทที่สองก็ดูแลทุนดำเนินงานได้ดี มีทุนหมุนเวียนดังนี้
(ปี 2556) 24,901.49-7,480.86=17,420.63 ลบ.
(ปี 2557) 27,708.51-10,123.87=17,584.64 ลบ.
(ปี 2558) 33,028.79-12,671.37=20,357.42 ลบ.
แต่สินค้าคงเหลือที่เพิ่มมากขึ้นถ้าจัดการไม่ได้ อาจจะเกิดปัญหาได้ แต่หากขายได้ก็คงเป็นรายได้ให้กับบริษํท บริษัทที่มีสินค้าคงเหลือมากขนาดนี้ (คือเป็นสัดส่วนมากเมื่อเทียบสินทรัพย์ทั้งหมด) จะต้องระวังว่ามันเสื่อมค่าได้หรือไม่

สินทรัพย์และหนี้สิน บริษัท #3

บริษัทที่สามนี้น่าเป็นห่วงสักหน่อย มีทุนหมุนเวียนดังนี้
(ปี 2556) 1,644.72-1,839.97=-195.25 ลบ.
(ปี 2557) 2,437.88-3,334.15=-896.27 ลบ.
(ปี 2558) 2,967.25-5,023.98=-2,056.73 ลบ.
ในระยะหลังบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นมากในขณะที่สินทรัพย์หมุนเวียนไม่เพิ่มขึ้นเท่าไร จะเห็นว่าทุนหมุนเวียนติดลบมาตั้งแต่ปี 2556 และติดลบขึ้นเรื่อยๆ และถ้าดูอีกนิดจะเห็นว่าเป็นเงินเบิกเกินบัญชี (ซึ่งมีดอกเบี้ย) ดูเฉพาะตรงนี้ก็พอทราบว่าผลการดำเนินงานในงบ กำไร-ขาดทุน คงมีปัญหา (ซึ่งมีจริงๆ)

หวังว่าคงทำให้เพื่อนๆ เข้าใจตัวเลขที่เรียกว่า ทุนหมุนเวียน หรือ Working Capital ได้ดีขึ้น และใช้เลือกบริษัทที่จะลงทุนได้ดีขึ้นนะครับ

หมายเหตุ
ทั้งหมดเป็นการยกตัวอย่างเพื่อทดลองคำนวณตัวเลขเท่านั้น ไม่มีเจตนาในการแนะนำหรือไม่แนะนำให้ลงทุนในบริษัทหนึ่งบริษัทใดทั้งสิ้น นักลงทุนจะต้องพิจารณาสิ่งอื่นประกอบ และตัดสินใจการลงทุนด้วยตัวเองเสมอ