การลงทุน จะสำเร็จไหม อยู่ที่ปรัชญาในตัวเรา ต้องถูกต้องก่อน เพราะการลงทุน ก็เหมือนกับความพยายามจะทำธุรกิจกิจการใดๆ คือต้องมีความรู้รอบประกอบการทำกิจการนั้น ในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน อย่าหวังโชคช่วยเสมอไป นักลงทุนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวเน้นมูลค่าของกิจการหรือ Value Investor (VI) ยิ่งต้องรู้แก่นของการลงทุนในแนวนี้ให้ถ่องแท้ คือ(1) ควรได้กำไรแบบมีเหตุผล
ไม่มีอะไรได้ฟรีแบบไม่มีเหตุผล จะกำไรหุ้นไดัต้องทำงาน และลงทุนเวลา ให้บริษัทโตไป โดยทั่วไป คำว่าได้กำไรของ VI คือ 100% ขึ้นไป นั่นคือต้องทำงานหนักพอที่จะคัดเลือกบริษัทที่มีมูลค่าแฝงอีกกว่าเท่าตัวออกมาให้ได้
การจะฉกฉวยโอกาสซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าค่าของมันได้ขนาดนั้น (เท่าตัว) ในยามปกติอาจจะยากสักหน่อย (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้) แต่ในยามที่ตลาดตกใจกลัว ไม่ว่าจะด้วยข่าวลือใดๆ สารพัด ข่าวว่า "อาจจะเกิด" โรคระบาด สงคราม จลาจล ก่อวินาศกรรม ต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ตลาดตกใจ หลายครั้งเรียกได้ว่าขายเกือบทุกราคามาเรื่อยๆ ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ margin of safety ยิ่งกว้างขึ้น และมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น
(2) นักลงทุนแบบ VI ซื้อหุ้นถูกเกินไป เราขายหุ้นแพงเกินไป หรือขายเมื่อมีการลงทุนอื่นที่ดีกว่า
ดังนั้นหัวใจคือต้องรู้ว่าหุ้นไหนถูกหรือแพง นักลงทุนหลายคนซื้อขายหุ้นโดยการดูราคาที่ผ่านมา ว่ามันเคยสูงกว่านี้ ตอนนี้มันต่ำลงแล้วคิดเอาเองว่าราคาถูก หรือในทางตรงกันข้ามกันเคยเห็นหุ้นราคาต่ำ พอหุ้นขึ้นราคาสูงขึ้นก็คิดว่าหุ้นแพงจนไม่กล้าซื้อ ซึ่งในความจริงแล้ว "หุ้นราคาสูงหรือต่ำ" กับ "หุ้นราคาถูกหรือแพง" ไม่ได้เกี่ยวกันเลย หุ้นของบริษัทหนึ่งที่ราคา 10 สตางค์อาจจะแพงกว่าหุ้นของอีกบริษัทหนึ่งที่ราคา 100 บาทก็ได้
นักลงทุนแนว VI จะซื้อหุ้นราคาถูก (ไม่ว่ามันจะราคาหุ้นละ 100 หรือ 500 บาทก็ตาม) และจะไม่สนใจหุ้นราคาแพง (ที่อาจจะซื้อขายกันที่ราคาหุ้นละ 10-20 สตางค์) การที่เราสามารถคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมแล้วลงทุนจนได้กำไรนี่ล่ะจึงเป็นความสามารถของนักลงทุนแบบ VI ในขณะที่การสุ่มเดาซื้อหุ้นแล้วอาจจะบังเอิญได้กำไร ไม่ได้สร้างประโยชน์หรือคุณค่าความสามารถในการลงทุนของเราเลย เรียกว่าได้กำไรแบบงงๆ ก็ว่าได้ (ซึ่งจะไม่เกิดตลอดไปแน่นอน)
ส่วนการดูว่าหุ้นถูกหรือแพงก็เป็นรายละเอียดของการพิจารณาตัวเลข P/E, DDM, ROA, ROE, P/BV ในอนาคต และบริษัทไหนมั่นคงกว่า
(ดู D/E, payout ratio, กำไรสุทธิว่าจ่ายหนี้ระยะยาวได้ในกี่ปี, เครดิตเรตติ้ง เป็นต้น)
ขอเน้นหน่อยว่าการดูว่าหุ้นถูกหรือแพง ขึ้นกับอนาคต ไม่ใช่อดีต คือ บรรดา P/E, DDM, DCF จะได้มาจากการประมาณ ยอดขาย และ กำไรในอนาคต ไม่ใช่อดีต แต่ อดีตก็บอกอะไรๆ ได้หลายอย่าง ส่วนมากแล้วจะบอกนิสัยของผู้บริหารได้ว่า ซื่อสัตย์ไหม ขยันไหม เป็นคนหัวโบราณหรือก้าวหน้า มีความถนัดในเรื่องไหน เป็นต้น ถ้า ผบห. มีนิสัยหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองมากกว่าความตั้งใจในการทำธุรกิจให้ดี เขาก็จะทำอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ ถ้า ผบห. มีนิสัยขี้เกียจไม่รักความก้าวหน้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา การที่จะเปลี่ยนเป็นคนขยันขันแข็งขึ้นมาในช่วงเวลาข้ามคืนก็คงลำบาก
เมื่อรู้อดีต ก็เดาอนาคตได้ไม่ยากแหละครับ
(3) มีกลยุทธ์ในการซื้อขาย
นอกจากจะรอซื้อของถูก และ/หรือ ขายของแพงแล้ว เรายังต้องรู้ด้วยเมื่อไรควรซื้อ ซื้อเท่าไร เมื่อไรควรขาย ขายอย่างไร ซื้อแล้วลง ขายแล้วขึ้น ทำอย่างไร (ทั้งสองอย่างเสี่ยง ก็ต้องยอมเสี่ยง ไม่อย่างนั้นอาจจะเสี่ยงที่สุด ดูเรื่อง เก็งกำไรขาขึ้นและขาลง ประกอบ) และต้องมีทางเลือกเป็นแผนสำรอง เป็นที่พักเงินเสมอ เช่น ขายแล้วเอาเงินไปทำอะไร เอาไว้เฉยๆ หรือ พักไว้ในหุ้นอื่นก่อน -เอาปันผลไหม อย่างไร
นั่นก็คือปรัชญาของการลงทุนแบบเน้นที่มูลค่าของกิจการที่เราต้องการเป็นเจ้าของ และการได้กำไรของเราต้องเป็นการได้แบบที่เราได้คาดการณ์ไว้ก่อน เป็นฝีมือที่เราทำขึ้น ไม่ใช่อาศัยโชคอย่างเดียว เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อไรเราจะโชคดีหรือร้าย แต่ความรู้ ความชำนาญในการจัดการความเสี่ยง (ขายตัดขาดทุน) และการควบคุมต้นทุน เป็นสิ่งที่เราทำเองได้ครับ