วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เก็งกำไรด้านขึ้นและเก็งกำไรด้านลง


ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์นอกจากจะเป็นที่สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารที่ถือเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของบริษัทที่เรียกว่า "หุ้น" แล้ว ก็ยังแตกแยกย่อยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้นักลงทุนสามารถซื้อ/ขายเพื่อการลงทุนได้อีก  เรียกว่ามีเรื่องที่สามารถทำได้กับหุ้น และผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่หุ้น

สำหรับหุ้นแล้วเราก็คงคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่หุ้นก็เช่น ตราสารหนี้ (ราคาก็ขึ้นลงได้ไปตามเวลาที่เหลืออยู่ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินฝากที่ขึ้นลงในเวลานั้น) ตราสารอนุพันธ์ นอกจากนั้นก็ยังมีตลาดล่วงหน้าซึ่งที่จริงมีแนวคิดให้นักลงทุนใช้ประกันความเสี่ยงในการลงทุนกับสินทรัพย์หลักอื่น (เช่น หุ้นสามัญ) ให้ได้ซื้อขายกันอีก (แต่ก็ถูกนำมาซื้อขายเพื่อการเก็งกำไรล้วนๆ หรือเก็งกำไรกึ่งลงทุน - ถ้าหาเหตุผลประกอบในทางพื้นฐานได้แน่นหนาพอ)

เก็งกำไรกับหุ้น


ถึงแม้นักลงทุนระยะยาวจะมีแนวโน้มที่จะลงทุนกับบริษัทที่มีพื้นฐานดี มีการเติบโต และนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการ (Value Investor) จะลงทุนกับบริษัทที่ราคาหุ้นไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับที่ตัวเองคำนวณได้ แต่บางครั้งด้วยการขึ้นลงที่ผิดปกติของราคาหุ้น (บางทีก็เป็นหุ้นที่ตัวเองถืออยู่นั่นล่ะ) ก็เป็นที่มาของการเก็งกำไรได้บ้างในบางโอกาสเช่นกัน อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่เป็นลูกค้าที่ดีของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทั้งหลายที่ได้ค่านายหน้าก็เฉพาะตอนที่เราซื้อและขายหุ้นเท่านั้น ส่วนตอนที่เราถือไว้เฉยๆ ที่จะเรียกว่า อมหุ้น ซุกหุ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ บริษัทนายหน้าเหล่านี้ไม่ได้มีรายได้ไปด้วย คราวนี้ลองมาดูการเก็งกำไรกับหุ้น (ผมอยากบอกว่า เป็นการสร้างกำไรที่มีเหตุผล ว่าทำไมหุ้นจึงจะขึ้น แต่เมื่อกรอบเวลาแคบลงมาก ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการเก็งกำไรได้)

เก็งกำไรด้านขึ้น


ก่อนอื่นต้องสังเกตก่อนว่าผมไม่ได้ใช้คำว่า "ขาขึ้น" เพราะถ้าเป็นขาขึ้นของหุ้นนั้นจริงๆ แล้วเราซื้อลงทุนได้เลย ส่วนการเก็งกำไรด้านขึ้น หมายถึงการซื้อหุ้นที่เราคิดว่ากำลังจะมีราคากระเพื่อมสูงขึ้นในเวลาสั้น (เช่น 3-15 วัน) ด้วยการซื้อหุ้นก่อนแล้วขายออกก่อนที่ราคาจะปรับลงมาอยู่ในระดับปกติของมัน สามารถทำได้กับหุ้นที่เราไม่เคยมีมาก่อน คือเริ่มซื้อแต่แรกเลย หรืออาจจะทำเมื่อเรามีหุ้นนั้นอยู่แล้วและซื้อเพิ่มขึ้นไปอีก (กรณีหลังนี้จะปลอดภัยมากขึ้นถ้าเราซื้อหุ้นนั้นมาด้วยราคาต่ำมาก และเมื่อหุ้นขึ้นไประยะหนึ่งแล้วเช่น 10-20%) จำนวนในการซื้อก็อาจจะมากหรือน้อยไปตามที่เรามั่นใจ ต้นทุนที่ซื้อ ความสามารถในการรับการขาดทุน โดยจุดสำคัญในกรณีนี้คือ

- ถ้าจังหวะที่หุ้นกระเพื่อมขึ้นเนื่องจากสภาพตลาดดี หรือมีข่าวดีชั่วคราวของหุ้นนั้น เราสามารถซื้อหุ้นนั้น (หรือซื้อเพิ่ม) ชั่วคราว แล้วขายเฉพาะส่วนที่ซื้อเพิ่มนั้นออกไปเพื่อทำกำไรก่อนที่ราคาหุ้นจะตกลงมา ส่วนหุ้นที่เหลือแต่แรกก็เก็บเอาไว้เพื่อลงทุนต่อไปก็ได้ (ถ้าราคายังไม่สูงเกินไป)
- ต้องเก็งขาดทุนด้วย โดยการคิดไว้ก่อนว่าถ้าต้องขายในราคาที่ต่ำลงกว่าที่เราซื้อมา เงินส่วนที่เสียหายจะหายไปเท่าไร
ถ้าเราไม่ได้เตรียมเงินพิเศษไว้ขาดทุนได้ ก็จะไม่กล้าทำอะไรเลย

เก็งกำไรด้านลง


เช่นกันกับกรณีก่อนหน้าคือสังเกตว่าผมไม่ได้ใช้คำว่า "ขาลง" โดยการเก็งกำไรในด้านลงที่กำลังพูดถึงนี้ หมายถึงการหาประโยชน์จากการกระเพื่อมของราคาหุ้น (ที่เรารับรู้ได้ล่วงหน้า ว่ามี หรือ จะมีการกระเพื่อมที่ไม่ปกติ) ที่เป็นสิ่งที่เกิดเพียงชั่วคราว ไม่ได้หมายถึงการเก็งกำไรในหุ้นหรือราคาหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงอย่างถาวร (ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็คงขายหุ้นออกไปก่อน สบายใจกว่ามาก) เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการเก็งกำไรด้านขึ้น และในกรณีที่เรากำลังพูดถึงนี้จะไม่นับการยืมหุ้นคนอื่นมาขายช้อตซึ่งกับนักลงทุนรายย่อยและ/หรือนักลงทุนไม่เต็มเวลาทั่วไปแล้วเรามักจะไม่ทำกันนัก เราจะเก็งกำไรด้านลงเมื่อเราเห็นว่าหุ้นที่เราถืออยู่มีราคาสูงผิดปกติเกินพื้นฐานไปมาก (ซึ่งมักจะเกิดเพียงชั่วคราว) โดยการขายหุ้นที่เรามีอยู่นั้นออกไปก่อนแล้วซื้อคืน ในกรณีที่ไม่แน่ใจเราอาจจะ ขายออกบางส่วนของหุ้นที่เรามีอยู่ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องขายทั้งหมด

- การขายหุ้นออกไปก่อนในราคาสูง แล้วซื้อคืนในราคาต่ำลง ก็จะได้กำไร
- วิธีการแบบนี้ ต้องเก็งขาดทุนด้วย เพราะเมื่อขายแล้วหุ้นไม่ลงแต่กลับวิ่งต่อ ในหลายกรณีก็จำเป็นต้องซื้อหุ้นคืน
ถ้าเราไม่ได้เตรียมเงินพิเศษไว้ซื้อคืนที่ราคาสูงกว่าที่ขายออกไป (เก็งขาดทุน) ก็จะไม่กล้าทำอะไรเลยเหมือนกัน

แม้ว่าการลงทุนมีพื้นฐานอยู่บนความสามารถในการประกอบกิจการของบริษัท แต่ในระหว่างทางเราก็มีหนทางทำกำไรได้บ้าง แต่ก็ต้องรู้ว่าเรากำลังเก็งกำไรอยู่ จึงต้องเตรียมเก็งขาดทุนและเตรียมเงินสำหรับการขาดทุนนั้นไว้ด้วย และมีวินัยในการเก็งกำไร คือการตัดขาดทุนนะครับ