เราจะเห็นอยู่เสมอว่าในหุ้นตัวเดียวกันแต่มีคนหลายคนซื้อขายอยู่ บางคนซื้อขายแล้วได้กำไรมากกว่าอีกคนหนึ่ง หรือคนหนึ่งขาดทุนมากในขณะที่อีกคนยังเสมอตัวรอดได้ บางคนซื้อขายแล้วขาดทุนในขณะที่อีกคนซื้อขายแล้วกำไรมากก็ยังมี ทั้งที่ทั้งสองคนนั้นล้วนมีข้อมูลครบถ้วนพอกัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพราะคนต่างๆ มีการวางแผนการซื้อและขายต่างกัน การวางแผนในการซื้อซึ่งสำคัญกว่าแผนการขาย เพราะการขายนั้นอย่างมากก็ได้กำไรน้อยลง แย่สุดคือขายที่ราคาต่ำกว่าควรไปมากหรือที่เรียกว่า ขายหมู แต่การซื้อที่ผิดนั้นทำให้ขาดทุนได้มากมายทีเดียว ดังนั้นในคราวนี้เราจะมาดูเรื่องการซื้อขายหุ้นดูคร่าวๆ สักหน่อยว่าจะต้องทำอย่างไร โดยเรื่อง กลยุทธ์การซื้อหุ้นให้ได้กำไร นี้สามารถคิดได้ว่าเป็นส่วนเติมเต็มของ วิชาที่สามวิชาควบคุมต้นทุน ที่เป็นหนึ่งในห้าวิชาสำคัญใน วิชาหุ้น เลยก็ได้
การซื้อหุ้นอย่าผลีผลาม
ในโลกของการลงทุนแล้ว ป๋าวอเรน บัฟเฟตต์ ปรมาจารย์ในการลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI (Value Investment) เคยบอกไว้ว่า "ถ้าเจอหุ้นดีจริงล่ะก็ ส่งไปรษณีย์ไปซื้อก็ยังทัน" คำพูดนี้คำเดียวอาจจะสื่อความหมายได้หลายอย่างทีเดียว เช่น
- ถ้าเจอของดี นั่นคือยังมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยหรือ Margin Of Safety (MOS) สูงแล้วล่ะก็ ค่อยๆ ซื้อก็ยังทัน
- การซื้อหุ้นต้องซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่าค่า/มูลค่าที่แท้จริง/เหมาะสม ของบริษัท จึงเรียกว่าเป็นการลงทุน นอกจากนั้นถือว่าเป็นการเก็งกำไรทั้งสิ้น
- การซื้ออย่าผลีผลามแบบสาวๆ เห็นของลดราคา ค่อยๆ ซื้อก็ได้ คิดให้ดีก่อนว่าจำเป็นต้องรีบไหม มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ ถ้าตัดสินใจจะซื้อก็ต้องวางแผนการซื้อเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสขาดทุนน้อยที่สุด หรือแม้แต่ขาดทุนก็ไม่มาก และสุดท้ายแล้วได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
- หุ้นร้อนที่ทำให้ต้องรีบร้อนซื้อ คือราคากำลังขึ้น คนสนใจมาก บังคับให้เราต้องรีบตัดสินใจรีบซื้อ ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเรามักตัดสินใจไม่เร็วพอ (ซื้อตอนหุ้นขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว คนที่ถือต้นทุนต่ำกว่าเรามากและได้เปรียบมีมาก)
ปกติแล้วเมื่อผมซื้อหุ้น ผมมักจะไม่ซื้อในคราวเดียว แต่วางแผนในการซื้อ (เรื่องขายนั้นไม่ยากเท่าไรเมื่อได้กำไรแล้ว แต่อย่า ขายหมู ก่อนก็แล้วกัน)
มาดูหลักการสักหน่อย
คราวนี้มาดูหลักการการซื้อหุ้นแบบสามเหลี่ยม หรือบางคนบอกว่าเป็นแบบปิรามิด (หัวคว่ำหัวหงายอะไรก็ได้อยู่) จะต้องดูอะไรบ้าง จุดซื้ออย่างไรอยู่ตรงไหน โดยหลักการ (และคำอธิบายหลักการเล็กน้อย) คือ
- หาราคาแรกที่ควรเข้าซื้อ (ราคาหัว) จาก (ราคาตามพื้นฐานหรือมูลค่า - MOS) ดูการกำหนด MOS ในเรื่อง MOS กับการลงทุน
- หา "ราคาฐาน" ทางพื้นฐาน ราคาฐานนี้คือราคาที่จำให้การถือหุ้นได้ปันผลสูงมากและ p/e ต่ำมากพอที่จะดึงดูดนักลงทุนระยะยาวเข้ามา เช่นถ้าพื้นฐานไม่เปลี่ยน แล้วราคาลงมาจนมีปันผล 7-8% แบบนี้จะเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนระยะยาวแล้ว
- สองข้อด้านบนเป็นเรื่องทางด้านพื้นฐานและมูลค่าของกิจการ คราวนี้มาดูด้านราคากันบ้าง ดูว่าถ้าเราจะซื้อ เราได้เปรียบหรือเสียเปรียบคนอื่นแค่ไหน (ถ้าราคาลงมามาก กองอยู่นิ่งๆ จะได้เปรียบ เพราะเมื่อราคาเริ่มเพิ่มขึ้นเราเริ่มได้กำไรแล้วแต่คนอื่นยังขาดทุนกันอยู่ หุ้นมักขึ้นต่อเพราะไม่มีแรงขายทำกำไรออกมา ในทางตรงกันข้ามถ้าเราซื้อราคาสูงแล้ว มีคนที่ถือหุ้นนั้นที่ราคาต่ำกว่าเรามาก หุ้นจะขึ้นได้ยาก และคนอื่นสามารถขายทำกำไรได้เสมอในขณะที่เราขาดทุนแล้ว)
- การค่อยๆ ซื้อยังสามารถทำให้ขายตัดขาดทุนได้ง่าย (ไม่ขาดทุนมาก)
- วางแผนการซื้อแบบสามเหลี่ยม แบ่งการซื้อออกเป็นหลายครั้ง ยิ่งราคาต่ำลงยิ่งซื้อมากขึ้น ดูรูปที่ 1
- ความชัน จำนวนสเต็ป ขึ้นกับความเป็นไปได้ของการแกว่งของราคาของหุ้นนั้น และ/หรือ ความเป็นไปได้ในการลงไปถึงราคาฐานของหุ้นนั้น ถ้าราคาใกล้ฐานมาก อาจจะซื้อแบบเท่าๆ กันก็ได้ ดูรูปที่ 2
- ต้องมีจุด "หยุดซื้อเพิ่ม" (เมื่อหุ้นมีโมเมนตัมการลงที่รุนแรงในเวลาสั้น เราอาจจะหยุดซื้อชั่วคราวก่อน โดยเก็บเงินไว้ซื้อในขั้นที่ต่ำลง ทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำลงไป) และกำหนด "จุดคัทลอส" ด้วยเสมอ แต่คัทแล้วต้องติดตาม ถ้าคัทแล้วหุ้นวิ่งกลับขึ้นต้องพิจารณาซื้อคืน เพราะเรามักขายตัดขาดทุนในจุดต่ำๆ เสมอ ดูรูปที่ 3
- ถ้าซื้อแล้วหุ้นกับขึ้นเป็นกำไร ให้รอจนได้กำไร 5-7% แล้วสามารถซื้อเพิ่มได้เรื่อยๆ จนครบก็ได้ แต่ถ้าราคาหักลดลงให้ขายทั้งหมดทำกำไรออกไปก่อนขาดทุน (แล้วรอซื้อใหม่) อย่างไรก็ตามให้จำไว้ว่า อย่าปล่อยให้กำไรกลายเป็นขาดทุนเป็นอันขาด ดูรูปที่ 4
รูปที่ 1 เมื่อราคาปลอดภัย เริ่มซื้อได้
รูปที่ 2 เมื่อราคาต่ำมาก ใกล้ราคาฐาน อาจจะซื้อแบบทะยอยเท่ากัน เพราะ
หุ้นอาจจะไม่ลงมาถึงหรือใกล้ราคาฐานของเรา จะได้เก็บหุ้นได้พอควร
รูปที่ 3 ถ้ามี MOS น้อย อาจจะต้องรอหรือวางแผนการทะยอยซื้อน้อยๆ ก่อนในช่วงแรก
ถ้าหุ้นปรับตัวลงแรงอาจจะหยุดซื้อแล้วรอ หรืออาจจะขายออกไปก่อนแล้วค่อยซื้อที่ราคาต่ำลง
รูปที่ 4 ถ้าซื้อแล้วหุ้นขึ้น อาจจะรอจนกำไร 5-7% แล้วซื้อตามจนครบจำนวน
(การซื้อเมื่อหุ้นที่กำลังขึ้นปลอดภัยกว่า) แต่ถ้าหุ้นหักหัวลงให้ขายออกทำกำไรไป
สรุป
โดยหลักการลงทุนแล้ว การได้กำไรเกิดเมื่อเราซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าค่าหรือมูลค่าของมัน (มูลค่าของกิจการที่จะทำเงินออกมาได้ ไม่ใช่มูลค่าทางบัญชี) เรียกว่าได้กำไรตั้งแต่ตอนซื้อเลย ทำให้ความเสี่ยงต่ำ และดีไปกว่านั้นคือการซื้อที่มีการวางแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้องจะทำให้เรามีความเสี่ยงต่ำลงไปอีก และลงทุนได้อย่างสบายใจครับ