ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ทุกสาขาอาชีพจะต้องมีความรู้และความชำนาญในการทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นทั้งสิ้น บางอาชีพอาจจะอาศัยความรู้มากกว่าความชำนาญ บางอาชีพอาจจะอาศัยความชำนาญมากกว่าความรู้ทางวิชาการ ในขณะที่บางอาชีพอาจจะต้องอาศัยทั้งความรู้ทางวิชาการและความชำนาญไปด้วยพร้อมกัน
ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักวิทยาศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์ มนุษย์ศาสตร์ ภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ ก็จะมีชุดความรู้พื้นฐานและความรู้ทางวิชาการสำหรับวิชาชีพนั้นทั้งสิ้น ถ้าเป็นแพทย์ พยาบาล วิศวกร หรือแม้แต่คหกรรมศาสตร์ ก็อาจจะต้องมีการฝึกฝนความชำนาญจำเพาะด้านสักหน่อย เพราะเราคงไม่ต้องการศัลยแพทย์ที่มีความรู้ทางวิชาการดีแต่จับมีดผ่าตัดไม่เป็นเลย หรือเราคงไม่ต้องการวิศวกรที่มีความรู้ทางวิชาการดีแต่ออกแบบอะไรมาแล้วใช้การไม่ได้เพราะไม่เคยทำงานกับเครื่องมือเครื่องจักรจริงๆ เลย และแม้กระทั่งเราคงไม่ต้องการนักโภชนาการที่มีผู้ออกแบบอาหารที่มีวิชาการแน่นเปรี้ยะแต่ทำอาหารแล้วกินไม่ลงเป็นต้น
สำหรับวิชาการลงทุนแล้วก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราลงทุนเองก็คงจะต้องอาศัยความรู้ทางการเงิน ความรู้ทางธุรกิจ รวมทั้งความชำนาญในสิ่งที่เรากำลังลงทุนนั้น เช่น การลงทุนในธุรกิจบ้าน ที่ดิน ค้าขาย หรือซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆ ก็มีชุดความรู้เฉพาะของธุรกิจนั้นๆ และเมื่อมาถึงการลงทุนในหุ้นแล้ว นักลงทุนก็ต้องมีชุดความรู้ต่างๆ ด้วยเช่นกัน
วิชาหุ้น
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนเป็นหลัก (ไม่ไม่ใช่เก็งกำไรเป็นหลัก) โดยเป็นการลงทุนผ่าน "หุ้น" นั่นเอง ตลอดเวลานับสิบปีที่ผ่านมาผมพอจะสรุปรวมชุดของความรู้ที่นักลงทุนควรจะมีเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในขณะที่ลดโอกาสในการขาดทุนหรือเสียหายได้เข้าคร่าวๆ ดังนี้
วิชาแรก วิชาคัทลอส
วิชาคัทลอส หรือการขายหุ้นเพื่อตัดการขาดทุนเรียกได้ว่าเป็นวิชาเพื่อความอยู่รอด ใครทำได้เก่ง ดี เร็ว และถูกต้อง ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น (เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมราคาหุ้นได้เลย จึงต้องมีการตอบสนองที่เหมาะสม) การจะขายตัดขาดทุนได้อย่างมีความสุขนั้นเราจะต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติของราคาของหุ้นที่เราสนใจลงทุน และมีวินัย สามารถทำใจได้กับการขาดทุนนิดหน่อยว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถามว่าทำไมผมถึงยกให้วิชาคัทลอส (ขายตัดขาดทุน) นี้เป็นวิชาแรกในการลงทุน เหตุผลก็คือมันเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรทำที่สุดในขณะที่ใช้ความรู้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอีกด้วย เลยต้องเรียนรู้กันเป็นอย่างแรก และทำให้ได้ก่อนที่จะคิดทำอย่างอื่นนั่นเอง
อ่านเรื่อง วิชาแรกวิชาคัทลอส ได้ที่นี่
วิชาที่สอง วิชาหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทและหุ้น
เพื่อให้เราสามารถหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้ วิชานี้เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นแกนหลักหนึ่งของการลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการ โดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าการซื้อหุ้นควรทำในลักษณะเดียวกันกับการซื้อ บ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์คือต้องได้กำไรตั้งแต่ตอนซื้อ ไม่ว่าจะเป็นกำไรในปัจจุบันหรือกำลังในอนาคตที่เรามองเห็นได้ก็ตาม (ต้องมีความรู้ทางการเงิน ทางธุรกิจและการตลาด เข้าใจธุรกิจนั้น และสามารถประเมินแนวโน้มทางการตลาดของธุรกิจนั้นในอนาคตได้)
อ่าน วิชาหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ ที่นี่
วิชาที่สาม วิชาควบคุมต้นทุน
เมื่อเราเห็นว่าราคาหุ้นที่กำลังทำการซื้อขายอยู่นั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท (โดยมี ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ตามสมควร) และเราก็อาจจะตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทนั้น (แน่นอนว่าเราว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้เพราะยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น เรามีหุ้นที่มีลักษณะเช่นนั้นแล้วหรือไม่ เรามีหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วหรือเปล่า รวมถึงว่าเรามีเงินเหลือที่จะซื้อมันไหมด้วย) แต่การตัดสินใจซื้อยังไม่นับว่าเป็นการสิ้นสุดกระบวนการ เพราะยังต้องมีวิธีการในการซื้อที่ทำให้ได้ต้นทุนที่ปลอดภัยด้วย (แน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าต้องพยายามซื้อให้ได้ต้นทุนต่ำสุด เนื่องจากความคิดที่พยายามซื้อหุ้นให้ได้ต้นทุนต่ำสุดนั้นเป็นอันตรายด้วยซ้ำไป) การปลอดภัยที่สุดนี้ก็คือมีส่วนเผื่อเผื่อความปลอดภัยสูงที่สุดจนกระทั่งมีส่วนเผื่อเผื่อความปลอดภัยเมื่อเทียบกับ DDM สูงที่สุดด้วย จึงเป็นวิชาส่วนที่สามที่ต้องเรียนรู้
อ่าน วิชาที่สามวิชาควบคุมต้นทุน ที่นี่
วิชาที่สี่ วิชาขายทำกำไร
ข้อนี้นับว่าเป็นเรื่องของศิลปะของการสร้างสมดุลเป็นอย่างมาก เพราะตามหลักการแล้วนักลงทุนเน้นมูลค่าของกิจการควรจะขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นในกระดานสูงกว่าที่ตัวเองคำนวณมูลค่าของบริษัทได้ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบางอย่างที่ตลาดรับรู้ในขณะที่นักลงทุนมูลค่าของกิจการหรือ VI กลับไม่รู้ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรขายหมูขายไปแล้วราคาคุณก็พุ่งสูงขึ้นต่อไปอีกเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีของธุรกิจนั้นแฝงอยู่ (แน่นอน ถ้า VI ทราบและรวมเอาปัจจัยเหล่านั้นในการคำนวณด้วยก็จะได้ตัวเลขมูลค่าของกิจการใหม่ และไม่ขายหุ้นในราคาต่ำเกินไป) ดังนั้นวิชารักษากำไรจึงเป็นการสร้างสมดุลย์ระหว่างจุดขายรักสาทำไรกับการถือเพื่อติดตามและส่งเสริมกำไรให้สูงขึ้นนั่นเอง)
อ่าน วิชาที่สี่วิชาขายทำกำไร ที่นี่
วิชาที่ห้า วิชาปรัชญาแห่งชีวิต
เป็นปรัชญามากกว่าวิชาการหือความชำนาญ ความเข้าใจถ่องแท้นี้นี้ทำให้เราเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของการทำธุรกิจการเจริญเติบโตและการใช้เวลาโต๊ะของธุรกิจในการสะท้อนออกมาเป็นราคาหุ้นที่เราสัมผัสได้ ไม่ว่าอนาคตของธุรกิจกับราคาหุ้นจะมีอะไรที่นำหรือตามกันอย่างไรก็ตาม การจัดพอร์ต ก็อยู่ในส่วนนี้ สัดส่วนที่จะเป็น หุ้นปันผล (ปลอดภัย โตช้า) หุ้นเติบโต (เสี่ยงมากหน่อย) ที่เกิดจากการสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัย ความโลภ และความกลัว และที่ยิ่งไม่น่าเชื่อว่าในการลงทุนในหุ้นนั้นยิ่งเราไม่โลภเท่าไรก็มีโอกาสได้เข้าไปรับประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
อ่าน วิชาที่ห้าวิชาปรัชญาชีวิต ที่นี่
และในโอกาสต่อไปผมก็จะนำเรื่องรอบข้างที่จะต้องรู้และมีทักษะ (และเป็นนิสัย) ให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนในหุ้นมาคุยในรายละเอียดขึ้นให้เพื่อนๆ นักลงทุนได้ฟังและนำไปใช้กันนะครับ ถ้ารู้ เข้าใจ และทำได้ทั้งหมดนี้ ก็น่าจะสามารถประสบความสำเร็จเป็นเซียนหุ้นได้เลยทีเดียวครับ