วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

วิชาแรกวิชาคัทลอส (ทำไมไม่กล้าขายตัดขาดทุน)


แน่นอนว่าในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่นักลงทุนมุ่งหวังก็คือกำไรจากการลงทุน ส่วนกำไรจะใช้เวลาเท่าใดหรืออยู่ในรูปไหนนั้นอาจจะแตกต่างกันไปได้สำหรับแต่ละผู้ลงทุน เช่น กำไรในระยะสั้น กลาง หรือยาว กำไรในรูปแบบของการเปลี่ยนราคาของหลักทรัพย์ที่ซื้อมา หรือสำหรับหลายคนอาจจะเป็นการได้รับปันผลจากการลงทุนจำนวนมาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีสิ่งที่ควรระวังอย่างแรกๆ เลยก็คือ "อย่าขาดทุน" จะว่าไปคำนี้มีความหมายอยู่ไม่น้อย มันอาจจะหมายถึงว่าเราจะต้องคิดให้รอบคอบก่อนการลงทุน และก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้นจะต้องรอจนราคาของมันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นเป็นจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" (margin of safety) ก็จะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าการลงทุนนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ขาดทุนได้ในระดับหนึ่ง หรือหมายความว่าต้องรักษาเงินต้นไว้ให้มากที่สุดหรือแม้ขาดทุนนิดหน่อยก็ย่อมดีกว่าขาดทุนมาก ก็ได้ด้วยเช่นกัน

ในสถานการณ์จริง บางครั้งเราไม่สบโอกาสซื้อหุ้นในราคาที่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมากตามต้องการ (เช่นสำหรับบางคนอาจจะต้องอยู่ในระดับ 25-50% เป็นอย่างน้อย) แต่อาจจะได้เพียง 5-10% แต่ก็เห็นชัดเจนว่าบริษัทที่กำลังพิจารณามีความน่าสนใจในการลงทุนมาก สิ่งที่นักลงทุนบางคนอาจจะควรทำก็คือการซื้อหุ้นนั้นติดพอร์ตไว้บ้าง เนื่องจากในกรณีที่บริษัทนั้นเติบโตและเป็นจังหวะที่หุ้นกำลังปรับตัวขึ้นจริงๆ จะได้ไม่พลาดโอกาสไปทั้งที่ได้พิจารณาเอาไว้แล้ว

ในทางตรงกันข้าม ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าเมื่อเราซื้อหุ้นแล้วหุ้นกลับปรับลดราคาลง กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราพิจารณาบริษัทนั้นผิดจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในบริษัทที่เราคิดว่าจะมีผลประกอบการที่กลับตัว หรือฟื้นตัวจากวิกฤติ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทยังไม่สามารถแก้ปัญหาจนกลับมามีกำไรได้เหมือนเดิม หรือสภาพตลาดย่ำแย่จริงๆ จนทำให้หุ้นน้อยใหญ่ปรับตัวลดลงไปด้วย (โดยเฉพาะบรรดาหุ้นที่กองทุน หรือนักลงทุนต่างชาติชอบเข้าซื้อขายเพื่อทำกำไร) การทนถือหุ้นต่อไปมีแต่จะขาดทุนมากขึ้น และ/หรือ ติดหุ้นนั้นเป็นเวลานานผิดไปจากหลักการ "อย่าขาดทุน" นั่นเอง

ดังนั้นหนึ่งในวิชาแรกคือ "วิชาคัทลอส" ที่นักลงทุนทุกคนล้วนจะต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งสิ้น และถือว่าเป็นวิชาแรกใน วิชาหุ้น เลยทีเดียว

ทำไมเราไม่กล้าขายตัดขาดทุน


แต่หลายคนอาจจะพบว่า การขายตัดขาดทุนนั้นยากยิ่ง ทั้งที่ได้ตั้งใจไว้แล้วว่าหากหุ้นที่ซื้อมาปรับตัวลงจะขายตัดขาดทุนออกไป แต่ถ้าเรามีโอกาสได้ทำความเข้าใจว่าทำไม (จิตใจ) ของเราจึงคิดแบบนั้น ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจตัวเองและตัดสินใจและทำตัวได้ถูกต้องมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้คือ

1) ความรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่เท่ากัน
มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการขาดทุนและการได้กำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ระหว่างการขาดทุน 100 บาทกับการได้กำไร 100 บาทนั้น อย่างแรกจะรู้สึกแย่กว่ามากเป็นสองเท่าเลยทีเดียว นี่เป็นเหตุผลหลักที่คนส่วนมากทนถือ (ไม่ใช่ถือทน) หุ้นเอาไว้ทั้งที่ขาดทุนมากมาย แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ขาดทุน ยังสบายใจอยู่ที่จะทำแบบนั้น ทั้งที่ความจริงเป็นการเสียโอกาสอย่างมากมาย

2) ลืมไปว่าหุ้นนั้นเมื่อซื้อได้ก็ขายได้
พูดไปเหมือนเรื่องแปลกหรือตลก เพราะทุกคนน่าจะรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว นั่นคือหุ้นนั้นเมื่อซื้อได้ก็ขาย (เช่นขายตัดขาดทุน) ได้ และในทางตรงกันข้ามกัน แม้กับหุ้นของบริษัทเดียวกันนั้นเองเมื่อขายออกไปได้ก็ซื้อกลับมาได้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประโยชน์เหนือการลงทุนทำธุรกิจด้วยตัวเองที่การเริ่ม - เลิก - หรือกลับมาทำใหม่นั้นไม่ง่ายเหมือนกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นในเมื่อเราลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งสิ่งที่เป็นจริงหนึ่งคืออาจจมีความเสี่ยงสูงกว่า เราก็ควรจะใช้ความดีของมันคือการ เริ่ม - เลิก - และย้อนกลับมาลงทุนใหม่ที่คล่องแคล่วกว่าให้เป็นประโยชน์สิ จริงไหม

จุดขายตัดขาดทุนขึ้นอยู่กับ


  • ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมีมากหรือไม่ (เทียบกับราคาที่เราซื้อ) และราคาฐานที่อาจจะค้ำไว้ด้วยปันผลที่มั่นคง ถ้ามีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมาก หรือปันผลสูงมากค้ำอยู่ก็กำหนดจุดขายตัดขาดทุนไว้ลึกสักหน่อยได้ (ป้องกันการขายตัดขาดทุนโดยไม่จำเป็น) 
  • ข่าวร้าย/ดีที่ถามโถม ถ้าข่าวร้ายรายรอบมาก ต้องตัดให้เร็วเพราะหุ้นอาจจะปรับราคาลงได้มาก
  • ลักษณะโมเมนตัมการขึ้นลงของหุ้นนั้น (ว่าปรับราคาลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5-30 วันเร็วมากน้อยแค่ไหน ลงเร็วมากไหม) 
  • อีกวิธีคือคือการกำหนด % ขาดทุนรวมเอาไว้เลยว่าต้องเป็นเท่าไร หรือกำหนดจำนวนเงินว่าเสียหายได้กี่บาท
  • ถ้าจำเป็นต้องขายตัดขาดทุน เราอาจจะตัดทีเดียวเลยก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะแบ่งขายตัดขาดทุนก็ยังได้ (เช่น 2-3 ครั้ง ถ้าหุ้นมีโมเมนตัมลงมาก ก็ตัดครั้งเดียวหรือตัดครั้งแรกให้มากหน่อย)

ดังนั้นในการลงทุนทุกครั้ง โดยส่วนตัวหรือลักษณะการลงทุนส่วนตัวของผมแล้ว แน่นอนว่าผมเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เลือกลงทุนตามมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทที่สนใจ แต่ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้รวมทั้งการที่คิดผิดหรือประเมินธุรกิจนั้นผิดไป ดังนั้นผมจะกำหนดจุดขายตัดขาดทุนไว้เสมอโดยจะเป็นเท่าไรนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบเช่น ลักษณะธุรกิจ ความคงเส้นคงวาของตัวธุรกิจ ลักษณะการเติบโตของธุรกิจ สภาพตลาดโดยทั่วไปในขณะนั้น แผนการซื้อหุ้นนั้น และเมื่อผมได้ขายตัดขาดทุนไปแล้วผมก็จะมีจุดที่ตัดสินใจซื้อกลับคืน แน่นอนว่าจะเป็นราคาเท่าไรจะขึ้นกับองค์ประกอบหลายยอย่างแต่ก็คล้ายกับเมื่อตอนที่ตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะเป็นศาสตร์แล้ว ยังมีความเป็นศิลปะในตัวด้วย

แต่อย่างน้อย เมื่อรู้เหตุผลหลักสองข้อด้านบนแล้ว เพื่อนนักลงทุนอาจจะเข้าใจตัวเองและตัดสินใจว่าจะขายตัดขาดทุนหรือไม่ได้ง่ายขึ้นนะครับ