วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

วงจรเศรษฐกิจ

เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในโลกหรือในสังคมประเทศหนึ่งๆ ที่เศรษฐกิจจะมีวงจรของมัน หรือมีรูปแบบคล้ายเป็นวงจรไม่มากก็น้อย นั่นคือมีทั้งช่วงที่ เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะปกติ หรือถดถอยลง หรือฟื้นตัวกลับขึ้นมา วนเวียนอยู่เช่นนี้ คำถามก็คือว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนไหนเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะใดกันแน่

ตัวเลขหนึ่งที่เราสามารถสังเกตได้ชัดก็คือตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP ซึ่งหากเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่ดีหรือตับโตตัวเล็กนี้จะอยู่ในระดับ 3 ถึง 4% ต่อปี (หรือสูงกว่านั้น) แต่เมื่อใดก็ตามที่การประกาศการเติบโตของ GDP ต่ำกว่า 3% ต่อปีก็เริ่มเป็นสัญญาณที่ไม่ดีแล้ว อย่างไรก็ตามเราก็จะไม่รอจนกระทั่งถึงปลายปีเมื่อมีการประกาศการเติบโตของ GDP แต่สามารถติดตามการประกาศการเติบโตเป็นรายไตรมาสหรือราย 3 เดือนได้ ตรวจปกติแล้วการเติบโตนี้ก็น่าจะอยู่ที่ระดับไตรมาสละ 1% แต่ถ้าการเติบโตของ GDP รายไตรมาสลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ไตรมาสติดต่อกันหรือมากกว่านั้นแสดงให้เห็นถึงการถดถอยของอัตราเติบโตและอาจเป็นสัญญาณที่เตือนว่า เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดการถดถอยหรือการเติบโตนั้นดูเหมือนว่าจะมีไม่กี่อย่าง  ปัจจัยภายในมักจะเป็นเรื่องของการเมือง สภาพดินฟ้าอากาศซึ่งกระทบโดยตรงกับภาคเกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ภัยพิบัติ เช่นน้ำท่วมหรือเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เป็นต้น  เหตุการณ์ภายนอกที่เป็นผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยก็มักจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเรา เช่นประเทศจีน ประเทศกลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา  นอกนั้นก็มักเป็นเรื่องของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีผลกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศเราเช่น ราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมานี้ไม่บอกก็คงจะทราบว่าปัจจัยอะไรที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเราเองมากที่สุด และคราวนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญว่าเราควรจะลงทุนอย่างไรในช่วงต่างๆของวงจรเศรษฐกิจ

ในเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงนั้นเรียกว่าการซื้อขายของต่างๆ ไม่คล่องตัว ธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้เนื่องจากกลัวหนี้เสีย สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆเช่นหุ้นของบริษัทที่มีรายได้ไม่แน่นอนและอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจก็จะถูกขายออกมาก่อน กลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากๆกลุ่มแรกมักจะเป็นสถาบันการเงินต่างๆ ตามด้วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แม้กระทั่งกลุ่มบริษัทที่มีฐานรายได้ค่อนข้างแน่นอนก็ยังอาจจะถูกขายออกมาได้ด้วยเช่นกันเพราะไม่มีใครแน่ใจได้ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยต่อไปมากน้อยแค่ไหนและเป็นเวลานานเท่าใด ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยค่อนข้างรุนแรงนี้จึงจำเป็นที่จะต้องลดพอร์ตการลงทุนลง

ถ้าสมมติว่าเหตุการณ์ไม่เลวร้ายขนาดนั้นแต่เป็นการทดถอยของเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเนื่องจากความชะงักงันบางประการ เช่น เหตุการณ์ทางด้านการเมือง หรือเหตุการณ์เกี่ยวกับพิบัติภัยธรรมชาติที่ไม่รุนแรงใหญ่หลวงนัก สภาพของตลาดทุนแม้จะตกต่ำลงบ้างแต่ก็ไม่ย่ำแย่เท่ากับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ในช่วงเวลานี้เราสามารถถือหุ้นที่เป็นบริษัทที่มีฐานรายได้แน่นอน เช่น บริษัทสาธารณูปโภคต่างๆ น้ำ ไฟฟ้า การเดินทาง หรือแม้แต่บริษัทค้าขายด้านอาหาร นอกจากนี้เราก็ควรจะดูด้วยว่าบริษัทที่เราลงทุนนั้นมีรายได้มาจากภายในหรือภายนอกประเทศอย่างไร เพราะแม้สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศผิดปกติไปแต่ถ้าเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังปกติดีอยู่ บริษัทที่มีลูกค้าเป็นลูกค้าต่างประเทศเป็นหลักก็อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักก็เป็นได้

หลังจากที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะถดถอยคือมีการจับจ่ายใช้สอยต่ำ มีการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนักเนื่องจากว่าอุปสงค์ไม่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สักพัก เมื่อถึงเวลารัฐบาลก็มักจะต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่างออกมาทในช่วงที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ก็มักจะมีเม็ดเงินไหลเวียนเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจหนึ่งของรัฐก็คือนโยบายการเงินโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลงเพื่อดึงดูดธุรกิจต่างๆให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลงในสภาพการณ์แบบนี้ทำได้ไม่ยากนักเนื่องจากว่าไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้สภาพเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างผิดปกติ นอกจากนั้นรัฐบาลอาจจะใช้นโยบายการคลังคือการกำหนดภาษีเพื่อจูงใจให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สินค้าอย่างหนึ่งที่รัฐสามารถใช้นโยบายนี้ช่วยเหลือได้มากก็คือโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธุรกิจอื่นมากมาย การกระตุ้นให้เกิดการซื้อบ้านหมายความถึงการกระตุ้นธุรกิจรอบๆ หลายอย่างด้วยเช่น วัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงิน ตลาดแรงงาน เป็นต้น ดังนั้นในช่วงการฟื้นตัวของวงจรเศรษฐกิจธุรกิจที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างมากก็คือสถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง

เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นไปจนกระทั่งถึงยุคที่เรียกว่าเฟื่องฟูเต็มที่การใช้จ่ายต่างๆเกิดขึ้นมากมาย สินค้าบันเทิง สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ จะขายดีและเติบโต อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูงอาจจะแตะระดับ 4% หรือสูงกว่า การเติบโตของ GDP อาจจะอยู่ในช่วงตัวเลข 5 - 7% ในช่วงนี้ตลาดหุ้นจะคึกคักเป็นพิเศษ ปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจนบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ล้วนทำกำไรได้เป็นอย่างดีและทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ปรับตัวขึ้นสูง จนเป็นที่เล่าต่อกันมาว่า เมื่อใดก็ตามที่ราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นนั่นแสดงว่าเกือบจะจบรอบของวงจรเศรษฐกิจ (ที่ดี) แล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และนักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ดูเหมือนจะทำการซื้อขายรายวันด้วยจำนวนเงินมากมายกว่านักลงทุนกลุ่มอื่นทั้งหมด ทำให้รายได้และกำไรของบริษัทนายหน้าเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณเม็ดเงินของนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดไปด้วย จนบางทีในปัจจุบันการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรหรือราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์อาจจะไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฏจักรเศรษฐกิจนักก็ได้

ด้านการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั้น จะไม่ตรงกับสภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยปกติแล้วดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะขยับตัวก่อนหน้าเป็นช่วงเวลาประมาณ 3-6 เดือน เหตุผลที่แท้จริงของความรวดเร็วนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่อาจจะเป็นเพราะมีกลุ่มบุคคลที่รู้แนวโน้มเศรษฐกิจและทำการซื้อขายปรับพอร์ตหุ้นของตัวเองไปก่อนล่วงหน้า หรืออาจจะเกิดจากความกลัว (ทั้งกลัวหุ้นจะลง และกลัวหุ้นจะขึ้น) ซึ่งก็สุดจะคาดเดาได้ดังเช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน เคยกล่าวไว้ว่าเขาสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาวได้แต่ไม่สามารถคาดการณ์ความบ้าคลั่งของผู้คนในตลาดหลักทรัพย์ได้ นั่นเอง

เมื่อเราทราบถึงวงรอบของเศรษฐกิจและลักษณะการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แล้ว นักลงทุนบางท่านที่ติดตามสภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจรวมทั้งมีความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็อาจจะถนัดในการเปลี่ยนแปลงการลงทุนไปตามสภาพเศรษฐกิจ และตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีธุรกิจต่างกันในช่วงเวลาของวงรอบเศรษฐกิจที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามก็อาจจะมีนักลงทุนอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ชอบติดตามความเปลี่ยนแปลงมากนัก และเป็นนักลงทุนระยะยาวมากก็อาจจะเลือกหุ้นของบริษัทที่เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวและถือหุ้นเหล่านั้นข้าม (หลาย) รอบเศรษฐกิจไปเลยจนในที่สุดก็สามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ (ตัวอย่างของนักลงทุนแบบนี้ก็เช่น วอเรน บัฟเฟตต์) ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหรือสไตล์การลงทุนอีกแบบหนึ่งที่ขึ้นกับความถนัดของนักลงทุนแต่ละท่าน

แล้วตัวท่านเองล่ะครับ ท่านทราบรูปแบบการลงทุนของตัวเองที่แน่นอนหรือเปล่า บางครั้งการที่ไม่ทราบนิสัยใจคอของตัวเองหรือการเปลี่ยนไปมาโดยไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างแท้จริงก็ทำให้เสียโอกาสหรือเกิดการขาดทุนได้นะครับ