วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ศิลปะของการปรับพอร์ต


นอกจากคำว่า "ปรับฐาน" ที่เมื่อเราได้ยินทีไรก็ล้วนทำให้หวาดเสียวทุกที เพราะว่ามักจะมีสิ่งที่เกิดก่อน (ไม่ใช่ทีหลัง) คือการที่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงมาจนถึงจุดหนึ่งที่เกิดสภาพสมดุลก่อนจะสร้างฐานสร้างดัชนีไต่ขึ้นต่อไป พวกเรานักลงทุนก็คงเคยได้ยินคำอีกคำหนึ่งคือ "การปรับพอร์ต" กันมาบ้าง เมื่อไม่คิดอะไรการปรับพอร์ตก็คือการขายหุ้นแล้วเก็บเงินสดไว้และ/หรือนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นนั้นไปซื้อหุ้นตัวอื่น ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่จากประสบการณ์การลงทุนผมก็อยากจะนำศิลปะที่โดยส่วนตัวแล้วใช้อยู่บ่อยๆ มาเล่าให้เพื่อนๆ นักลงทุนได้ฟังเพื่อจะได้ลองนำไปปรับใช้กับสไตล์ของตัวเอง เพื่อการลงทุนที่มั่นคงและมีความสุขขึ้น
 
(1) ขายของแพงไปซื้อของถูก
ขายหุ้นตัวที่ขึ้นมากจนราคาเท่ากับหรือเกิน Value ไปซื้อหุ้นของบริษัทคุณภาพดีที่ยังราคาถูกเกินไป (มักเป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และยังไม่มีใครเห็นซึ่งจะมี MOS กว้างหน่อย หรือเพราะเป็นจังหวะที่ผู้คนกำลังกลัวซึ่งกรณีนี่จะมี MOS น้อยหน่อย)

(2) โบกมือลา
ขายหุ้นตัวที่คุณภาพแย่ หรือพื้นฐานเปลี่ยนไปจากที่คิด แล้วเก็บเงินสดไว้รอจังหวะ และ/หรือ เปลี่ยนไปซื้อหุ้นตามข้อ (1)

(3) เอาเงินทุนไปทำงานต่อ
เช่นเรามีหุ้นที่ราคาขึ้นมามาก เช่นขึ้นมาหลายเท่าแล้ว (และคิดว่าโอกาสที่จะขึ้นต่อไปเริ่มน้อยลงมาก) ก็ขายเอาต้นทุนออกมา กรณีอย่างนี้สมมติว่าถ้าหุ้นขึ้นมา 5 เท่า ก็ขายออก 20% เงินที่ได้มาก็คือต้นทุนของเราโดยหุ้นส่วนที่เหลือจะเป็นกำไรล้วนๆ แล้วเก็บเงินสดไว้รอจังหวะไปซื้อหุ้นตามข้อ (1) ที่ยังราคาถูกและมี MOS สูงหรือนำไปซื้อหุ้นที่ปลอดภัยและจ่ายปันผลสูงตามข้อ (5) ก็ได้

(4) เปลี่ยนตัวแดงเป็นตัวเขียว
บางครั้งเราอาจจะถือหุ้นของบริษัทคุณภาพดี มีการเติบโต (แต่อาจจะช้าหน่อย) จ่ายปันผลสูง แต่ติดตัวแดงคือขาดทุนอยู่ในพอร์ตเล็กน้อยตลอดเวลา เรียกว่าหุ้นนั้นมีการสวิงของราคาแต่ไม่ยอมสูงกว่าต้นทุนของเราสักที หรือแม้จะสูงกว่าก้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ สภาพแบบนี้เราอาจจะรอหาจังหวะทำ "micro short" คือขายออกเมื่อราคาสวิงขึ้น (คือสวิงขึ้นตามปกติตามสภาพตลาด) แล้วรอซื้อคืนที่ราคาต่ำกว่าที่ขายไป สิ่งที่ได้จะมีสองประการคือ จะมีเงินเหลือจากการซื้อหุ้นคืนกลับมา (ได้หุ้นจำนวนเท่าเดิมแต่เงินเหลือ) และเมื่อเวลาผ่านไปอีกครั้ง ราคาหุ้นมักจะสวิงขึ้นจนทำให้มีกำไร (Unrealized) และกลายเป็นตัวเขียวในพอร์ตได้ อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่คุ้นเคยลักษณะการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นตัวนั้นมากๆ และมีเวลาในการคอยซื้อขาย (ช่วงยาวหรือสั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่เราทำงานด้วย) และมีการตัดสินใจที่รวดเร็วพอ

5) ฝากทรัพย์ไว้กับหุ้นที่ปลอดภัย
วิธีนี้เหมาะกับคนชอบหุ้น นั่นคือต้องถือหุ้นไว้เสมอ การที่จะให้ขายหุ้นออกมาถือเงินสดนานๆ นั้นจะรู้สึกอึดอัด เทคนิคนี้ใช้ในกรณีที่เราเกิดความไม่มั่นใจกับตลาดหรือว่าคิดว่าหุ้นบางตัว (สมมติว่าเป็นหุ้น A) มีราคาขึ้นมาสูงมากแล้วและมีโอกาสที่จะลดลงได้มาก ก็อาจจะขายหุ้นของบริษัทนั้นออกไปก่อน แล้วก็เอาเงินที่ได้จากการขายหุ้นของบริษัทแตมไปซื้อหุ้นของบริษัทอื่นที่มีความมั่นคงด้านราคามากกว่า อาจจะเป็นเพราะจ่ายปันผลสูงอย่างสม่ำเสมอ (เช่นหุ้น B) ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะมีความแข็งแกร่งทางราคาสูงมาก และเมื่อราคาของหุ้น A ตกต่ำลงมามากๆ เราก็อาจจะขายหุ้น B เพื่อนำเงินกลับไปซื้อหุ้น A การทำอย่างนี้หากจังหวะดีพออาจจะทำให้ได้ทั้งปันผลจำนวนมากจากหุ้น B, ได้กำไรจากหุ้น B นิดหน่อยและที่สำคัญคือได้หุ้น A ที่ซื้อกลับมาใรจำนวนมากกว่าเดิม โดยไม่ต้องเพิ่มเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

ทั้งห้าข้อนี้คือศิลปะที่ผมนำมาฝากกันเพื่อให้นำไปทดลองใช้กันนะครับ