วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

วิชาที่สี่วิชาขายทำกำไร


นักลงทุนหลายหลายคนมีความสามารถในการคัดเลือกหุ้น มีความสามารถในการซื้อในราคาที่ไม่แพงเกินไป (ควบคุมต้นทุน ได้ดี ซึ่งเป็นหนึ่งใน วิชาหุ้น)  แต่ เมื่อราคาหุ้นที่ตัวเองซื้อเพิ่มสูงขึ้นกลับไม่สามารถรักษากำไรไว้ได้เต็มที่ บางครั้งถึงกับปล่อยให้ราคาปรับเปลี่ยนลดลงอย่างน่าเสียดาย ที่แย่ที่สุดของความแย่ในการลงทุนก็คือการปล่อยให้หุ้นที่ตัวเองกำไรอยู่กลายเป็นขาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด ดังนั้นในการลงทุนจึงต้องมีระบบหรือวิธีในการขายเพื่อรักษากำไรเอาไว้

หุ้นนั้นซื้อขายได้


หลายครั้งของความผิดพลาดในการซื้อขายหุ้นเกิดเพราะ เราลืมไปว่ามันเป็น "หุ้น" ซึ่งสามารถซื้อและขายได้ แปลว่าเมื่อซื้อได้ก็ขายได้ และเมื่อขายไปก็ซื้อกลับมาได้อีกไม่ได้มีใครว่าอะไร เอาล่ะ หุ้นแต่ละตัวก็มีสภาพคล่องต่างกันไปในหุ้นแต่ละบริษัท แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ แล้ว มีหุ้นจำนวนมากที่มีสภาพคล่องพอสมควรให้เราซื้อขายได้ หลายคนซื้อหุ้นมาแล้วเมื่อได้กำไรนิดหน่อยก็ขายไป ต้องขอแสดงความยินดีด้วยเพราะแบบนี้ได้กำไรแน่นอน (แต่ราคาก็อาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกเรียกว่าขายหมู จำหน่ายสุกรไปตามเรื่อง) ในขณะที่บางคนเมื่อหุ้นขึ้นแล้วก็อมเอาไว้ จนกระทั่งราคาลดลงต่ำกว่าที่ซื้อมา แบบนี้บางทีเรียกว่า "รักหุ้น" ในบางแง่มุมก็ทำได้ถ้ามันเป็นเพียงส่วนน้อยของพอร์ตที่เราถืออยู่ เราอาจจะมีความชอบ ความเชื่อ (จากการคำนวณอย่างรอบคอบแล้ว) ว่าบริษัทมีอนาคตดี มูลค่าต่อหุ้นที่เหมาะสมจะต้องสูงกว่าปัจจุบันอีกมาก แต่ในอีกแง่มุมก็คือ ถ้าได้กำไรแล้วอย่าปล่อยให้เป็นขาดทุนเป็นอันขาด ขายไปบ้างด้วยเทคนิคต่างๆ ด้านล่างนี้ และถ้าตัดสินใจผิดเราก็ยังซื้อมันกลับมาได้ เพราะมันเป็นหุ้น ที่ซื้อได้ก็ขายได้ และเมื่อขายไปก็ซื้อกลับมาได้อีก นั่นเอง

เส้นบางๆ ระหว่างการคิดใหญ่และคิดเล็ก


ก่อนจะพูดถึงเรื่องของการขายทำกำไร นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่ามีเส้นบางๆ แบ่งอยู่ระหว่างการออมในระยะยาว กับ การซื้อและขายสั้นๆ เพื่อทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ กรณีแรกหรือการออมระยะยาวเรียกว่าเป็นการ "คิดใหญ่" ในขณะที่การซื้อขายทำกำไรนิดๆ หน่อยๆ สั้นๆ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ "คิดเล็ก" แต่นอกจากนั้นยังมีการ "หาโอกาสทำกำไรบ้าง" นักลงทุนควรต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ และชั่งน้ำหนักสิ่งที่ทำและคงไว้ซึ่งแนวคิดที่ถูกต้องให้ได้ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ ลงทุนระยะยาวให้งอกเงย ให้ได้สินทรัพย์ที่สร้างเงินกับเราได้ แต่ระหว่างนั้นหากมีโอกาสก็ทำกำไรบ้าง ครับ

สารพัดวิธีในการขายทำกำไร


ก่อนอื่นผมอยากทำความเข้าใจก่อนว่าการขายทำกำไรมีหลายรูปแบบ คือขายไปเลย หรือ การขายแล้วซื้อคืน (ดูข้อที่ 4 ด้านล่าง) เมื่อเราซื้อหุ้นเอาไว้ปรับราคาสูงขึ้นถือว่าเป็นจุดที่ได้เปรียบแล้ว ดังนั้นเราจะต้องใช้ความได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ คือให้ได้กำไรจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น มีวิธีการหลายอย่างเหมือนกันในการรักษากำไรที่เกิดขึ้นเอาไว้ เราค่อยๆ มาดูกันจากง่ายที่สุดที่สุดนะครับ

1) ขายหุ้นทั้งหมดเมื่อได้กำไรตามต้องการ

วิธีนี้ไม่ยากเลย ก่อนที่เราซื้อหุ้นเราก็คงจะคาดการณ์อยู่แล้วว่าเราซื้อที่ราคา a และต้องการขายที่ราคา b เมื่อราคาถึง b เราก็ขายทำกำไรออกไป

2) ขายเอาทุนคืน ปล่อยที่เหลือวิ่งต่อไป

ในบางครั้งเราอาจจะโชคดีหรือมีฝีมือดีมากขนาดที่ซื้อหุ้นแล้วราคาเพิ่มสูงขึ้นไปมาก (เช่น 25% หรือสูงกว่า) กรณีอย่างนี้เรามีทางเลือกที่จะขายหุ้นนั้นเป็นจำนวนเท่าที่จะได้เงินลงทุนคืนกลับมา (จะขายไม่หมด แต่เหลือหุ้นไว้บ้างเป็นส่วนของกำไร) การทำอย่างนี้ที่จริงแล้วอาจจะเรียกว่าเป็นการรักษาเงินต้นมากกว่ากำไรก็ไม่ผิด แต่อย่างน้อยก็ได้กำไรแน่นอน เพราะไม่ว่าหุ้นส่วนที่ยังไม่ได้ขายจะเปลี่ยนราคาไปเป็นเท่าใด นั่นก็คือกำไรนั่นเอง (คงไม่แย่ขนาดเหลือ 0 บาท/หุ้นล่ะน่า) ตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้น 10 บาท/หุ้น x 20,000 หุ้น เป็นต้นทุน 200,000 บาท เมื่อหุ้นขึ้นราคาไปเป็น 12.50 บาท/หุ้น เราอาจจะขายออกมา 16,000 หุ้น ได้เงิน 200,000 บาท จะเห็นว่าเราเอาเงินต้นออกมาแล้ว (จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขาดทุน) และเหลือหุ้นอยู่อีก 4,000 หุ้นเป็นกำไรเก็บเอาไว้ในพอร์ต วิธีการนี้ทำให้เราปิดโอกาสในการขาดทุนเพราะถ้าเรายังคงถือหุ้นอยู่ทั้งจำนวน เผลอๆ แล้วหุ้นอาจจะปรับราคาจาก 12.50 บาทลดลงต่ำกว่า 10 บาทซึ่งเป็นต้นทุนของเรา และทำให้เราขาดทุนได้

3) ขายบางส่วน แต่มากพอจนเหลือหุ้นที่ต้นทุนติดลบ

วิธีการนี้คล้ายกับวิธีที่สองด้านบน ในกรณีที่หุ้นมีราคาสูงขึ้นมากเราอาจจะขายในปริมาณที่ทำให้ได้เงินกลับมามากกว่าเงินที่ใช้ซื้อหุ้นนั้นทั้งจำนวนในคราวแรก โดยเหลือหุ้นเอาไว้เป็นกำไรอีกส่วนหนึ่ง เช่น ซื้อหุ้น 10 บาท/หุ้น x 20,000 หุ้น เป็นต้นทุน 200,000 บาท เมื่อหุ้นขึ้นราคาไปเป็น 15 บาท/หุ้น เราอาจจะขายออกมา 14,600 หุ้น ได้เงิน 219,000 บาท จะเห็นว่าได้กำไรเงิน 19,000 บาทในขณะที่ยังเหลือหุ้นอยู่อีก 5,400 หุ้นเป็นกำไร เอาไว้ขายตอนไหนก็ได้

4) หุ้นราคาเกินเป้าหมาย แต่มีโมเมนตัมที่ดี

ในหลายกรณีแม้ว่านักลงทุนแมวเน้นมูลค่าของกิจการโดยคำนวณราคาที่เหมาะสมเอาไว้แต่กลับมีพื้นฐาน (หรือข่าวต่างๆ) ที่ดีเกินคาดราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่นักลงทุนได้คำนวณเอาไว้ เราอาจจะตัดสินใจถือหุ้นนั้นต่อไปอีก แต่คราวนี้เราจะกำหนดจุดขายทำกำไร โดยกำหนดจุดขายจากจุดราคาสูงสุด (peak) ที่เกิดขึ้น จุดขายทำกำไรนี้มีได้หลายจุดคือ
  • กำหนดเอาเลยเช่น 3% ต่ำกว่าจุดสูงสุด
  • กำหนดเป็น 3% + การแกว่งของราคาตามปกติ (ป้องกันการขายหมู)
เป็นต้น โดยการขายก็อาจจะขายเลยทีเดียว (ถ้าดูแล้วว่าหุ้นจะลงแน่) หรือทยอยขายหลายครั้ง (กรณีไม่แน่ใจว่าหุ้นจะลง) และเมือหุ้นลดราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมก็อาจจะทยอยซื้อกลับมาอีก (เป็นรูปแบบของการ short against port ตัวเอง ซึ่งทำกำไรได้บ้าง) แต่ถ้าขายครั้งแรกแล้วหุ้นไม่ยอมลง ต้องหยุดขายก่อน รวมถึงอาจจะต้องยอมซื้อหุ้นที่ขายไปส่วนแรกกลับมาก็ได้ โดยในการซื้อกลับมาเราอาจจะเลือกเอาเฉพาะกำไรมาซื้อหรือทยอยซื้อก็ได้ (กันเงินทุนออกไปก่อน ปิดโอกาสขาดทุน) แต่ถ้าทำแบบนี้ 1-2 รอบแล้วคราวนี้เกิดการขาดทุนแสดงว่าเริ่มเมาหมัด ก็คงต้องถอยออกมาตั้งหลัก หรืออยู่เฉยๆ กับหุ้นนั้นสักพัก แต่อย่างน้อยเราก็ได้กำไรเรียบร้อยแล้ว จริงไหมครับ

เป็นอย่างไรครับ เพื่อนๆ อาจจะลองไปสำรวจหุ้นในพอร์ตตัวเองว่า หุ้นไหนมีราคาอย่างไรเท่าไร ให้ผลตอบแทนเมื่อถือไว้เท่าไร และมีหุ้นใดที่จริงเราควรขายออกทำกำไรบ้าง ทั้งหมดก็ขึ้นกับมูลค่าที่แท้จริงของมัน สภาพตลาด การวางแผนและจัดการตามแผนได้ครับ