ในการซื้อหุ้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการจัดการต้นทุน การมีต้นทุนที่ต่ำ ต่ำกว่าคนอื่น ก็ย่อมทำให้เรามีโอกาสได้กำไรมากกว่าและเร็วกว่าคนอื่น แต่จะต้องขึ้นกับความสมควร ถูก-แพง ของหุ้นนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าเราซื้อหุ้นของกิจการที่ย่ำแย่มีแต่ขาดทุนและขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งราคาลดลงเรื่อยๆ ก็จะพบกับการซื้อต่ำแล้วมีแต่ำกว่าไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ถามว่าการซื้อที่ต้นทุนต่ำคือการซื้อที่ราคาต่ำสุดไหม คำตอบคือไม่ใช่ และไม่ใช่อย่างเด็ดขาด การหวังซื้อหุ้นที่ราคา (ที่เราคิดว่าต่ำที่สุด) จะพาเราให้ซื้อหุ้นที่กำลังลดราคาต่ำลงไปเรื่อยๆ และจะติดกับ ต่ำแล้วมีต่ำกว่า (สังเกตว่าผมไม่ใช้คำว่า ถูกแล้วมีถูกกว่า เพราะความจริงแล้วราคาที่ต่ำนั้นมันไม่ถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงนั่นเอง การรักษาต้นทุนที่ต่ำเท่าที่จะสามารถทำได้นี้ถือว่าเป็นหนึ่งใน วิชาหุ้น ด้วย
หลายวิธีในการทำให้ต้นทุนต่ำ
คราวนี้เรามาดูกันว่าในการซื้อหุ้นจริงๆ นั้นเรามีวิธีการอย่างไรบ้างในการทำให้ต้นทุนต่ำ ผมพอสรุปจากประสบการณ์ที่ทั้งลอง ทั้งมั่ว ทั้งบังเอิญ แล้วคิดว่าได้ผลดีไว้ดังนี้
- การซื้อหุ้นต้องรู้ ราคาฐาน ของมัน ราคาฐานคือราคาที่ถูกค้ำได้ด้วยเงินปันผลที่ค้ำอยู่ (2-3 เท่าของเงินฝากหรือหุ้นกู้ชั้นดี) - ข่าวดี/ร้ายที่ล้อมรอบอยู่ ยิ่งซื้อใกล้ ราคาฐานเท่าไรยิ่งปลอดภัยเท่านั้น
- จะอะไรก็ตาม อย่าซื้อตอนหุ้นกำลังลง ถ้าซื้อให้ซื้อนิดเดียว การซื้อหุ้นตอนนิ่งหรือกำลังขึ้นนั้นปลอดภัยกว่ามาก
- ถ้าหุ้นกำลังขึ้น และมี MOS พอสมควร เราก็รอราคาฐานไม่ได้เหมือนกัน ควรเข้าซื้อไว้บ้าง
- ถ้าซื้อที่ราคาถูกและมี MOS แล้วหุ้นยังลงห้ามซื้อเพิ่ม ถ้าลงต่อให้ดูว่าจะขายตัดขาดทุนหรือไม่ (ถ้าซื้อมาน้อยมาก จะติดพอร์ตไว้ดูราคาก็ไม่ว่ากัน ไม่อย่างนั้นแล้วต้องขายตัดขาดทุนออกไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่งก่อน จะตัดที่เท่าไรก็แล้วแต่ว่าเราซื้อมาแพงไปแค่ไหน ถ้าซื้อมาแพงมากต้องตัดเร็วหน่อย เช่น 3% (และดูหัวข้อ "การกำหนดจุดขายตัดขาดทุนจะต้องขึ้นอยู่กับ" ด้านล่าง) ไปซื้ออีกทีตอนหุ้นลงจนหมดโวลลุ่มและเริ่มกลับตัว
- ถ้าหุ้นที่เราสนใจ ราคาต่ำลงไปแล้วนิ่ง หมดโวลลุ่ม คนไม่ขายอีกแล้ว และคำนวณแล้วราคาถูก (กว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยมี MOS อยู่) และราคาที่เราซื้อต่ำกว่าคนอื่นที่ซื้อก่อนหน้า (กรอบ 6-18 เดือน) ก็ถือว่าเป็นราคาที่ได้เปรียบ ถ้าหุ้นปรับตัวขึ้นเราจะได้กำไรแล้วในขณะที่คนอื่นๆ ที่ซื้อที่ราคาสูงกว่ายังขาดทุนอยู่
- เมื่อหุ้นนิ่ง แกว่งไปมาเล็กน้อย หรือเริ่มขึ้น ซื้อแบบ DCA (Dollar Cost Average) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีเมื่อเราไม่แน่ใจว่าหุ้นจะไปทางไหน ราคาต่ำกว่า value พอควร (ไม่มากนัก) และมีเวลาค่อยๆ เก็บหุ้น ไม่ต้องรีบ
- เมื่อหุ้นนิ่ง หรือเริ่มขึ้น ซื้อแบบสามเหลี่ยมปิรามิด เป็นการแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เพื่อซื้อหุ้นเหมือนกัน ใช้ได้ดีเมื่อราคาหุ้นมี MOS มากและน้อยกว่าปกติ ถ้ามีมากกว่าปกติซื้อครั้งแรกให้มากหน่อย ถ้าน้อยกว่าปกติก็แบ่งซื้อเป็นหลายไม้หน่อยและชันน้อยหน่อย (ซื้อได้ลึก)
ไม่มีวิธีใดดีที่สุด
แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอยู่ในตัว ซึ่งเป็นความยากในการเลือกใช้ และที่สำคัญคือสิ่งที่เราคาดไม่ถึงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งเราอาจจะคำนวณราคาที่เหมาะสมผิดเนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมผิดไป หรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับบริษัทที่เรากำลังต้องการลงทุน เราจึงต้องสร้างสมดุลย์ระหว่างการซื้อ การทะยอยซื้อ และการตั้งระบบขายตัดขาดทุน เพราะการทยอยซื้อในราคาที่ต่ำลงแสดงว่าการซื้อครั้งแรกนั้นเกิดการขาดทุน (แบบ non-realized) อยู่ เราจึงมีระบบเตือนภัยเพื่อขายตัดขาดทุนด้วย
การกำหนดจุดขายตัดขาดทุนจะต้องขึ้นอยู่กับ
- ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin Of Safety - MOS) และราคาฐานของหุ้นนั้นที่เราคิดว่าควรเป็น ถ้ามี MOS มากหน่อยก็กำหนดไว้ลึกหน่อย
- พิจารณาจากปันผลที่ค้ำอยู่ ถ้าหุ้นจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ส่วนมากราคาจะไม่ตกต่ำลงไปมากนัก เพราะย่อมมีนักลงทุนอีกส่วนหนึ่งที่หวังได้รับปันผลเข้ามาซื้อเพื่อลงทุน
- ข่าวร้าย/ดีที่ถามโถม ถ้าข่าวร้ายรายรอบมาก ต้องตัดให้เร็วเพราะหุ้นอาจจะปรับราคาลงได้มาก
- ลักษณะโมเมนตัมการขึ้นลงของหุ้นนั้น (ว่าปรับราคาลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5-30 วันเร็วมากน้อยแค่ไหน ลงเร็วมากไหม)
- อีกวิธีที่ดีในการกำหนดจุดขายตัดขาดทุนคือการกำหนด % ขาดทุนรวมเอาไว้เลยว่าต้องเป็น จำนวนเงิน เท่าไรก็ได้
และถ้าจำเป็นต้องขายตัดขาดทุน เราอาจจะตัดทีเดียวเลยก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะแบ่งขายตัดขาดทุนก็ยังได้ (เช่น 2-3 ครั้ง ถ้าหุ้นมีโมเมนตัมลงมาก ก็ตัดครั้งเดียวหรือตัดครั้งแรกให้มากหน่อย)
เป็นอย่างไรครับ หวังว่าวิชานี้จะทำให้เพื่อนๆ มีหลักการในการซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมหลักการใหญ่ (Fundamental) ของการลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI (Value Investment) ก็คือเราจะต้องเลือกซื้อหุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันเป็นหลัก อะไรที่นอกเหนือไปจากนั้นถือว่าเป็นการเก็งกำไร และจะต้องมีวินัยในการขายตัดขาดทุนที่รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกครับ
หมายเหตุ
อ่านเรื่อง กลยุทธ์การซื้อหุ้นให้ได้กำไร ประกอบ