วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

วิชาที่ห้าวิชาปรัชญาแห่งชีวิต


เรื่องนี้จะถือว่าเป็นวิชาก็ไม่เชิง จะบอกว่าไม่ควรพูดถึงเลยย่อมไม่ใช่แน่ แต่การลงทุนกับชีวิตนั้นไปด้วยกันเสมอ จึงจำเป็นต้องพูดถึงเพื่อให้เพื่อนๆ หรือนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ได้ตระหนักถึงความจริงที่เป็นอยู่ของโลก และทำใจได้กับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราลงทุน เพื่อการลงทุนที่มีความสุข ไม่หาเรื่องใส่ตัว และมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและเป็นสุขมากขึ้น สุดท้ายจึงรวมไว้เป้นวิชหลักหนึ่งใน วิชาหุ้น ครับ

เงินไม่ใช่สิ่งเดียวของชีวิต


จะว่าไปการลงทุนมีหลายชนิด ไม่ได้จำกัดจำเพาะกับการลงทุนในหุ้น การเปิดบริษัทโดยเป็นผู้ถือหุ้นและดำเนินกิจการ การซื้อที่ดินเพื่อแบ่งให้เช่า การซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียมให้เช่า และอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนด้วย (นอกจากการซื้อหุ้น ตราสารหนี้ หรืออื่นๆ) แน่นอนแต่ละคนมีเป้าหมายในการลงทุนต่างกัน แต่ส่วนที่คล้ายและร่วมกันอยู่ก็คือการได้เงิน ได้กำไร และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง แต่ถามว่าเงินเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราต้องการหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่เลย เงินจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่แน่นอนว่าซื้อไม่ได้ทุกอย่างและยังห่างไกลจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่มาก เช่น การมีสุขภาพที่ดี การมีครอบครัวที่เป็นสุข การได้ทำในสิ่งที่อยากทำ (และไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ) เป็นต้น และในความเป็นจริงแล้ว คนที่มีเงินห้าสิบล้านกับหลายร้อยล้านบาท มีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ต่างกันไปสักเท่าไรหรอก เมื่อเรามีเงินเพียงพอถึงระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือก็คือส่วนเกิน นอกจากนี้ไม่ว่ารวยหรือจน ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ต้องพร้อม ป้องกันและรับปัญหาในแบบจนๆ และแบบรวยๆ ด้วยเสมอ

ชีวิตมีขึ้นมีลง


ชีวิตคนเรามีการเปลี่ยนแปลงได้ ที่จริงไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่หรือต้องการหรือไม่ เราก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าตัวเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งรอบข้างรอบตัวของเราก็จะเปลี่ยนเราให้อยู่ดี วันนี้เราอาจจะรู้สึกย่ำแย่ท้อถอย แต่อีกสองวันต่อมาเราอาจจะเปลี่ยนความคิด หรือสิ่งต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนแปลงไปทำให้เรามีแรงสู้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือเรารู้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่อยู่กับเราถาวร ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ เรียกว่า สุขก็ไม่นาน ทุกข์ก็ไม่ได้ถาวร ดังนั้นอย่างเอาสุขหรือทุกข์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ให้เราคิดว่าทำอย่างไรจึงมีความสุข จึงแก้ปัญหาได้ จึงเดินไปดักปัญหาเอาไว้ได้ แบบนั้นจะมีความสุขกว่า

หุ้นก็เหมือนกัน เราควบคุมมันไม่ได้แต่เราควบคุมระเบียบความคิดและการกระทำของเราได้
  • หุ้นลง นั่งเครียดไม่มีประโยชน์ เราตัดสินใจได้ว่า จะอยู่เฉยๆ ซื้อเพิ่ม หรือขายออกไปก่อน เราเลือกได้
  • หุ้นขึ้น เราก็เลือกได้ว่าจะอยู่เฉยๆ หรือซื้อเพิ่ม หรือขายออกไปบางส่วนหรือทั้งหมด ก็เลือกได้ เราตัดสินใจได้เองหมด และต้องมีความสุขกับการตัดสินใจเหล่านั้นด้วย
  • แต่ถ้าคิดจะได้ทั้งขึ้นทั้งลงทุกครั้งไป จะเข้าข่ายความโลภ และเอาเปรียบคนอื่นตลอดเวลา และนำมาซึ่งความทุกข์

หุ้นขึ้นๆ ลงๆ อะไรนักหนา


การซื้อหุ้นคือการซื้อส่วนของบริษัท เราเป็นเจ้าของบริษัท (อย่างน้อยก็ตามกฏหมาย ไม่ว่าใครหลายคนอาจจะเป็นเจ้าของแค่หนึ่งวัน หนึ่งชั่วโมง หรือเสี้ยววินาทีก็ตาม) ตามหลักการแล้วหุ้นจะเปลี่ยนราคาได้เมื่อบริษัทเปลี่ยนความสามารถในการดำเนินกิจการ การที่ราคาหุ้นเปลี่ยนรวดเร็วทันใจเรานั้นต้องพิจารณาให้รู้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า (คิดสักนิด ว่าบริษัทอะไรมันจะเปลี่ยนพื้นฐานไปมารวดเร็ว กลับไปกลับมา ขนาดนั้น) โดยแยกออกได้ดังนี้
  • ถ้าไม่ผิดปกติก็คือกรณีที่บริษัทดีจริง (หรือแย่จริง) แต่คนเพิ่งรับรู้ ราคาก็ขยับวิ่งไปในทางนั้นๆ
  • ถ้าไม่ผิดปกติ แต่คนไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ราคาก็จะสวิงไปมาในกรอบกรอบหนึ่ง
  • ถ้าพื้นฐานคงเดิม มีแต่ข่าว หรือแม้แต่ไม่มีข่าว แล้วราคาวิ่งยาวเปลี่ยนแปลงมาก ถือว่าผิดปกติไว้ก่อน ถ้าซื้อ/ขาย ให้ถือว่าเข้าข่ายเก็งกำไร ให้ จัดการความไม่รู้ ด้วย


รู้อะไรไม่สู้รู้ตัวเอง


เข้าใจการลงทุนจริงๆ คือการนำเงินหรือทรัพย์ของเราไปทำให้งอกเงย และ/หรือ เกิดดอกผล (โดยทรัพย์นั้นยังคงอยู่) ถ้าทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าทำได้ทั้งสองอย่างถือว่าดี แต่เราต้องรู้ธรรมชาติของคนเรา (มักจะรวมตัวเราเองด้วย) ว่ามนุษย์มีความโลภอยู่เสมอ ดังนั้นจึงต้องระวังใจของเราเอง อย่าโลภเกินความรู้ความสามารถ (เรารู้เรื่องอะไร เราก็ลงทุนเรื่องนั้น) และเท่าที่ผ่านมาจะเห็นนักลงทุนหลายคนประสบความสำเร็จได้มากมายทั้งที่เขาไม่ได้รู้อะไรมาก แต่สามารถสร้างสมดุลในการเอาความรู้และความสามารถที่มีไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ไม่เกินเลยไป

มองเห็นสิ่งที่เป็นจริง


การซื้อมาขายไปในระยะสั้นมาก เป็น zero-sum-game คือการเอาเงินคนนั้นไปไว้กับคนนี้ ถ้าไม่เป็นการเอาเงินของคนอื่นมาไว้กับเรา ก็เป็นการเอาเงินเราไปไว้กับคนอื่นนั่นเองซึ่งในบางแง่มุมแล้วการทำแบบนั้นอาจจะหมายถึงว่าเรากำลังเอาเปรียบคนอื่นอยู่ก็ได้ เราจึงมีสิทธิเลือกได้ว่าเราจะทำอย่างนั้นหรือไม่ เราพร้อมจะ (กึ่ง) เอาเปรียบคนอื่นหรือพร้อมให้คนอื่น (กึ่ง) เอาเปรียบเราไหม แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องถูกกฏหมายทุกอย่าง แต่การทำแบบนั้นจะทำให้เราเป็นทุกข์ไหม เราเลือกเองได้ว่าจะทำหรือไม่ อย่างไร แค่ไหน

ซื้อแล้วหุ้นไม่ขึ้น ต้องเข้าใจได้ว่า เพราะคนยังไม่อยากได้ ไม่อยากจ่าย หรือผลประกอบการที่ดีขึ้นที่เรามองเห็นอยู่นั้นยังไม่มาถึง และถึงแม้หุ้นไม่ขึ้นแต่เราได้ปันผลที่ดีกว่าการฝากธนาคารหรืออย่างอื่น และได้มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (เรียกว่าทันเงินเฟ้อ) ก็ต้องถือว่าน่าพอใจ เพราะว่านั่นคือผลตอบแทนจากการลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน


การเอื้อเฟื้อในตลาดหุ้น


อย่าคิดว่าต้องได้มากที่สุด ต้องเสียน้อยที่สุดเสมอ แน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำแต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาให้ไกล้เคียงที่สุดก็พอแล้ว เมื่อขายหุ้นไป โดยถือว่าราคาถึงจุดที่ควรขาย แต่หุ้นขึ้นอีก ต้องถือว่าเรามีทางเลือกคือซื้อคืน พิจารณาว่าพื้นฐานเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นอีกแล้วซื้อคืน หรืออยู่เฉยๆ โดยคิดเสียว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ลูกค้าของเรา (ที่ซื้อหุ้นเราไป) มีโอกาสได้กำไรบ้าง ในทางตรงกันข้ามถ้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมไปมากแล้วหุ้นปรับตัวลงต่ออีก ต้องถือเป็นมารยาทอันดีที่ทำให้คนที่ขายให้เราได้กำไรบ้างเช่นกัน อย่าคิดว่าเราต้องได้คนเดียว ได้ทุกครั้ง ได้มากที่สุด ได้มากกว่าคนอื่น แบบนี้มีเท่าไรก็คงเป็นทุกข์ตายไม่สามารถมีความสุขได้หรอกครับ

ที่สุดของการเป็นนักลงทุน


แน่นอนว่าต่างคนต่างมีเป้าหมายในการลงทุนต่างกัน เป็นเรื่องดีที่ตั้งเป้าไว้สูง อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่าเราไม่สามารถควบคุมราคาหุ้นได้ (ยกเว้นเป็นเจ้ามือ ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงผิดกฏหมาย) ดังนั้นการตั้งเป้าหมายควรอยู่ในกรอบที่ "เป็นไปได้" คือเป็นอิสระทางการเงิน ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือความเป็นอิสระทางการเงินคือมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาให้ได้ใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องทำงานและตัวเราเองมีชีวิตและความสุขไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มีมากมายนัก (หยุดโลภ นั่นเอง) ในขณะที่สุดปรารถนาของการลงทุนคือ การมีส่วนแบ่งจากผลกำไรของบริษัทที่เราเป็นเจ้าของในรูปของเงินปันผลที่เติบโตขึ้นตลอดเวลาเมื่อเวลาผ่านไป โดยเงินปันผลเหล่านั้นมากเพียงพอที่จะธำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และการได้กำไรที่แท้จริงคือการเป็นเจ้าของบริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วอยู่กับมันจนบริษัทเติบโตและราคาหุ้นเพิ่มขึ้นสูงเองตามความสามารถในการดำเนินกิจการ


รวยจริงต้องเป็นผู้ให้


ถึงวันหนึ่ง เมื่อเรามีมากพอ มากเกิน เราก็สมควรเป็นผู้ให้บ้าง ถ้าเราคิดถึงวันที่ผ่านมาเราก็คงเป็นผู้รับมาหลายต่อหลายคราไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจากใครหรือใครก็ตาม ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ถึงวันหนึ่งเราควรต้องชดใช้สิ่งเหล่านั้นกลับไป โดยเริ่มจากคนใกล้ๆ ตัวของเราก่อน พ่อ แม่ ลูก ภรรยา สามี อาจจะในรูปแบบสารพัดเช่น การบริจาคเงิน การให้ความรู้ การช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เป็นการช่วยให้คนอื่นสามารถช่วยตัวเองได้ต่อไป เรียกว่าคืนสิ่งที่เราเคยได้มาให้กับสังคมนั่นเอง

สิ้นสุดของชีวิต


ไม่ว่าใครก็ตาม รับประกันได้อย่างเดียวว่าต้องตายจากโลกนี้ไป และเมื่อตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่างเดียว การที่อยู่อย่างมีเพียงพอ (หาได้พอ มากกว่าใช้ มีเหลือ และสร้างความมั่งคั่งได้พอควร) อยู่อย่างมีค่า สร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ เป็นที่รักของคนข้างๆ รอบตัว เป็นที่จดจำเมื่อเราจากโลกนี้ไปต่างหาก เป็นสิ่งที่เป็นสุขอย่างแท้จริงครับ

เรื่องการลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องแปลกที่ว่า ยิ่งมีความรู้มาก โลภน้อย และอดทนมาก ยิ่งมีโอกาสรวยได้เท่านั้น เพราะนั่นคือการให้โอกาส "ทุน" ได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ คนที่มีความสุขได้ในระหว่างที่อดทนรอ มักเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด