หลายคนที่ทำงานในองค์กรอาจจะเคยได้ยินคำว่า "การจัดการความรู้" (Knowledge Management) พอได้ยินหัวข้อนี้อาจจะตกใจว่าเป็นการพิมพ์ผิดหรือไม่ ความจริงก็คือพิมพ์ถูกแล้วล่ะ นั่นคือ "ความไม่รู้" ก็ต้องถูกจัดการอย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำในการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการลงทุนในหุ้นเป็นการทำตามสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าจะเป็น แต่สิ่งที่เราคาดการณ์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งใดที่เกิดมาแล้วในอดีตราคาของหุ้นก็จะรับข่าวรับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วทั้งหมด และราคาของหุ้นก็จะตั้งหน้าตั้งตาตอบรับต่อสิ่งที่ผู้คนในตลาดคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตกับธุรกิจนั้น และอนาคตที่ว่านี้ก็คือรายได้ของธุรกิจว่าจะเพิ่มมากขึ้นเท่าใดและสุดท้ายก็คือกำไรของธุรกิจนั้นจะเป็นเท่าไหร่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆที่ยังไม่เกิดก็คือเรื่องของอนาคตและไม่มีใครรู้นี่ว่ามันจะเป็นอย่างไร ของหลายอย่างเราคิดว่าเราควบคุมได้แต่กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดก็มีให้เห็นมากมาย การดำเนินงานของบริษัทก็เช่นเดียวกัน บางครั้งผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทเดิมยังไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าในปีข้างหน้าหรือหลายปีข้างหน้านั้นยอดขายและกำไรจะเป็นเช่นไร หรือโดยเฉพาะหุ้นเข้าใหม่ เรายังไม่เห็นฝีมือการทำงานจริงๆ ของผู้บริหาร หรือการเอาตัวรอดในวิกฤติต่างๆ ของธุรกิจนั้น เราที่เป็นนักลงทุนรายย่อยที่อยู่นอกบริษัทคือไม่ได้ทำงานในบริษัทก็คงจะรู้ดีไปกว่าคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทไม่ได้มากนัก สรุปคือเราก็คงจะมีความไม่รู้อยู่ส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยนั่นเอง
และทำอมตะคำหนึ่งของการลงทุนก็คือไม่รู้คือเสี่ยง เมื่อไหร่ที่มีความไม่รู้เกิดขึ้นก็คือมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองเราย่อมต้องจัดการความเสี่ยงอย่างถูกต้องตามสมควร สำหรับการลงทุนในหุ้นแล้วการจัดการความเสี่ยงคงหนีไม่พ้นข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) วางแผนการซื้อ
คือจะซื้อเมื่อไหร่นั่นคือจะต้องรู้ว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร ราคาที่มีการซื้อขายอยู่เป็นเท่าไร การเปลี่ยนแปลงของราคาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรและควรตัดสินใจซื้อเมื่อใด การซื้อหุ้นเราจะต้องคำนวณถึงระดับความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่อาจะได้รับ (คำนวณ risk and return) และแน่นอนว่าจะต้องไม่นำเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นเพียงบริษัทหรือกิจการเดียว เมื่อเสียหายจะต้องไม่ทำให้การลงทุนทั้งหมดเสียหายไปด้วย
2) วางแผนการขายตัดขาดทุนและซึ้อคืน
แน่นอนว่าการลงทุนนั้นทุกคนต้องการหวังผลกำไร แต่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาคือการขาดทุน การได้กำไรนั้นเป็นสิ่งที่ดี กำไรมากย่อมดีกว่ากำไรน้อย กำไรนิดหน่อยย่อมดีกว่าไม่ได้กำไร และแน่นอนว่าการเท่าทุนย่อมดีกว่าขาดทุน นั่นเลยไปถึงว่าขาดทุนน้อยย่อมดีกว่าการขาดทุนมาก ดังนั้นการพยายามขาดทุนให้น้อยย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นในการลงทุนในระยะยาว ก่อนการลงทุนทุกครั้งเราก็ต้องคิดในใจก่อนเสมอว่าเราสามารถขาดทุนได้เท่าไหร่และต้องตั้งขีดจำกัดในการหยุดการขาดทุนนั้นไว้เสมอ อย่างไรก็ตามสำหรับหุ้นของธุรกิจที่เราได้พิจารณาดีแล้วการขายตัดขาดทุนนั้นไม่ได้หมายความว่าขายแล้วก็เลิกแล้วต่อกัน เพราะถ้าธุรกิจนั้นยังเป็นธุรกิจที่ดี เพียงแต่เราซื้อหุ้นผิดจังหวะ เราก็ต้องวางแผนในการซื้อหุ้นนั้นกลับคืนมาด้วย อาจจะเป็นการซื้อหลังจากที่ราคาได้ลงไปจนถึงจุดต่ำสุดและเริ่มขยับขึ้นแล้วก็ได้ หรือแม้แต่เมื่อขายแล้วราคาขยับขึ้นโดยทันทีเราก็อาจจะจำเป็นต้องซื้อคืนในราคาที่สูงกว่า (แต่ยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน) ก็ได้นะครับ
3) วางแผนการซื้อเพิ่ม
ไม่ว่าในกรณีที่เราซื้อหุ้นแล้วราคาได้ปรับตัวขึ้นหรือลงก็ตามเรายังมีทางเลือกในการจัดการกับมันก็คือการซื้อเพิ่ม อย่างไรก็ตามการซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงขาลงนั้นย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าการซื้อเพิ่มในช่วงขาขึ้น (ดูบทความเรื่องซื้อเฉลี่ยประกอบ) ดังนั้นการวางแผนในการซื้อเพิ่มที่ราคาเท่าไหร่เป็นจำนวนเท่าใดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในแผนการลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ เสมอ
4) วางแผนการขายทำกำไรหรือการถือเพื่อรับผลประโยชน์
ถ้าเราสามารถประเมินมูลค่าหุ้นได้ถูกต้อง และมีโอกาสในการลงทุนที่ดี และสามารถฉวยโอกาสนั้นไว้ได้ ก็นับว่าเป็นโชคเพราะสิ่งที่เหลือก็คือการวางแผนเพื่อขายทำกำไร หรือหากว่าธุรกิจนั้นได้ปรับตัวจนมีผลประกอบการที่ดีขึ้นทำให้มูลค่าของธุรกิจสูงมากขึ้นไปกว่าตัวเลขที่เราเคยประเมินไว้แต่ครั้งแรกเมื่อเริ่มลงทุน เราก็อาจตัดสินใจถือหุ้นของบริษัทนั้นต่อไปเพื่อให้ราคาสะท้อนผลประกอบการที่แท้จริงต่อไปในอนาคต หรือเราอาจจะถือหุ้นไว้เพื่อรับผลประโยชน์อื่น เช่น เงินปันผล หุ้นปันผล หรือสิทธิประโยชน์อื่นเช่นการจองซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญก็ได้อีก
จะเห็นได้ว่านอกจากการประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่เป็นสาระสำคัญในการลงมือทำจริงๆให้เราต้องศึกษาเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญอีกด้วย ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาซื้อหุ้น แล้วก็มองดูราคาของมันลดลงๆ พอทนไม่ได้ก็ขายตัดขาดทุนแบบเจ็บหนัก แล้วไม่เคยหันกลับไปมองหุ้นนั้นอีก พอหันกลับมาอีกทีราคาก็เพิ่มขึ้นไปหลายเท่าของราคาที่เราเคยซื้อครั้งแรกให้เจ็บใจเล่นจริงไหมครับ