ในรูปของการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์นั้น มีบุคคลหลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีหลายแนวคิดอยู่ในตลาดพร้อมกันในเวลาเดียวกัน บางคนเมื่อลงทุนแล้วก็ใจเย็นหวังให้บริษัทเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ และจ่ายปันผลสูง สม่ำเสมอรวมทั้งเติบโตไปตามยอดขายและขนาดของบริษัท หลายคนอาจจะคล้ายๆ กันนี้คือให้บริษัทมั่นคงเติบโตไปเรื่อย จะจ่ายปันผลมากหรือน้อยไม่สนใจเท่าไหร่นักขอให้ราคาหุ้นของบริษัทขยับสูงขึ้นไปตลอดก็พอใจแล้ว ทั้งสองกลุ่มนี้เรียกได้ว่าช้าๆ แต่มั่นคง ประมาณว่าไม่เป็นไรหรอกไม่ต้องรีบฉันรอได้
แต่แน่นอนว่ามีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กว่าทั้งหมด ที่เมื่อซื้อหุ้นแล้วก็เฝ้าแต่รอหวังให้หุ้นนั้นมีราคาสูงขึ้นทุกวี่ทุกวันอาจจะหวังให้สูงขึ้นไปตามดัชนีของตลาดหลักทรัพย์หรือว่าเอาชนะดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ได้ยิ่งดี บุคคลกลุ่มนี้มักจะหาจังหวะซื้อและขายตามราคาของหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนไปในตลาดในแต่ละวันโดยไม่ได้คิดคำนวนถึงความเหมาะสมและความสมเหตุสมผลว่าราคาที่แท้จริงของหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้นควรจะเป็นเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วเมื่อหุ้นเปลี่ยนแปลงราคาสูงขึ้นไปเขาก็มักจะชิงขายเพื่อทำกำไร เรียกได้ว่า "อยากขายหุ้นเพื่อทำกำไรอยู่ตลอดเวลา" นั่นเอง จริงอยู่ที่ว่าการทำกำไรนั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องเป็นบางส่วนแต่ราคาที่ขายนั้นก็อาจจะยังต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ดีหรือตามภาษานักลงทุนที่เราเรียกว่าขายหมูนั่นเอง
ย้อนกลับไปดูกลุ่มนักลงทุนที่มีความสามารถคำนวณราคาที่เหมาะสมของหุ้นได้ นักลงทุนกลุ่มนี้จะใช้เวลามากในการค้นหาธุรกิจที่น่าลงทุน ธุรกิจที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ธุรกิจที่เจ้าของและผู้บริหารตั้งใจทำงานสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้บริษัทเติบโตขึ้นไปในอนาคต และถ้าเขาคำนวณแล้วว่าราคาที่เหมาะสมหรือมูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทนั้นสูงกว่ามูลค่าตลาดที่เป็นปัจจุบันมากนักลงทุนกลุ่มนี้คงไม่รีรอที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจนั้น (เราเรียกนักลงทุนกลุ่มนี้ว่านักลงทุนแนวเน้นพิจารณามูลค่าของกิจการ หรือ VI - Value Investor นั่นเอง) ซึ่งมักจะคิดตรงกันข้ามกับกลุ่มบุคคลที่อยากให้ราคาหุ้นสูงขึ้นเพื่อหาโอกาสขายอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนเน้นมูลค่าเหล่านี้จะไม่ค่อยอยากให้ราคาหุ้นของบริษัทที่ตัวเองได้คำนวณหรือพิจารณาไว้แล้วเพิ่มสูงขึ้นในเวลารวดเร็วเกินไป อาจจะด้วยแผนกลยุทธ์การซื้อ หรือการเอารายได้อื่นมาทะยอยลงทุนเพิ่มก็ตามเขาเหล่านี้จะพยายามทยอยสะสมหุ้นของบริษัทที่สนใจนี้ไปเรื่อยๆ ในราคาที่ถูก เพื่อให้ได้ต้นทุนรวมที่ต่ำนั่นเอง นักลงทุนเหล่านี้ยังคงมีความสุขกับการที่ "หุ้น (ยัง) ไม่ขึ้น" แต่ผลการดำเนินการเติบโต และอาจจะจ่ายปันผลสูงอยู่ตลอด จนสักวันหนึ่งที่เหมาะสม มีการกระตุ้นบางอย่างเกิดขึ้นในบริษัท สิ่งดีๆ ก็จะถูกสะท้อนออกมาในราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นเอง
บางครั้งที่มีคนถามผมว่าหุ้นที่ซื้อไว้ขึ้นมากแค่ไหน หลายครั้งผมก็ยิ้มแล้วตอบว่ายังไม่ขึ้นหรอก ผู้ถามก็ถามกลับมาว่าแล้วพี่ไม่อึดอัดหรือ ผมจึงมักต่อไปด้วยเหตุผลที่เก่ามากข้างบนทั้งหมดว่า ตราบใดที่ผมยังมั่นใจว่าวิเคราะห์และคาดการณ์ไม่ผิด ผมจะรู้สึกเฉยๆ และยินดีนะ ผมจะอยากให้หุ้นเพิ่มราคาสูงขึ้นไปทำไมในเมื่อผมยังไม่ได้อยากขายมันและก็ยังคงอยากหาเงินมาซื้อมันเพิ่มอยู่