วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

VI ทำไมไม่ขายหมู-ไม่ติดดอย-คอยสอยเพิ่ม-และรอได้


เป็นคำถามที่เรียกได้ว่าออกจะพื้นฐานเอามากๆ นะครับว่า ทำไมนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของหุ้นหรือที่เรียกว่า VI - Value Investor ถึงไม่ค่อยขายหมู ไม่ติดดอย และที่สำคัญคือ ทำไม "รอได้" วันนี้เลยขออนุญาตเล่าให้ฟังตามความรู้และประสบการณ์ที่มีนะครับ


หุ้นที่เห็นขึ้นๆ มากันนี้ บางคนยังบ่นว่า พอร์ตยังติดลบมากมายแดงแปร๊ด ก็น่าสงสัยเหมือนกันนะครับว่าทำไม อาจจะเป็นเพราะว่าได้ซื้อหุ้นตั้งแต่ดัชนี 600 จุด แล้วมาขายตอน 1,000 จุด จากนั้นหุ้นไม่ยอมลง ก็เลยมาซื้ออีกทีที่ 1,050 จุด พอดัชนี sideway เล่นกลให้เห็นอย่างทุกวันนี้ แม้จะขยับตัวขึ้นมาวนเวียนอยู่แถวๆ 1,200 จุด อาจจะขึ้นลงในกรอบ +/-20 จุดก็ถือว่ายังอยู่ราวๆ นี้ แต่หุ้นบางตัวกลับมีราคาต่ำกว่าเมื่อดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,050 จุดก็มี การขาดทุนก็อาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับเพื่อนๆ บางท่านที่ซื้อหุ้นบางตัวที่ดัชนีระดับ 1,050 จุด


คราวนี้ ก็มาถึงกับคำถามที่ว่า แล้วจะทำอย่างไรกันดี กับการเลือกซื้อหุ้น บางคนที่เราเห็นที่เรารู้จัก (เช่นคุณพ่อผมเองเป็นต้น) กลับไม่ค่อยมีอาการที่เรียกว่า "ติดดอย" ให้ได้เห็นมากนัก ถึงแม้พ่อจะซื้อหุ้นที่ราคากลางๆ สักหน่อย พ่อก็มักจะรอได้ และรับปันผลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งขายหุ้นนั้นได้ราคาสูงกว่าที่ได้ซื้อมาเสมอ น้อยครั้งมากที่พ่อตัดสินใจขายตัดขาดทุน ลักษณะนี้เองก็ส่งผ่านมาถึงผมด้วย เนื่องจากสิ่งที่ยังไม่ได้เล่าให้ฟังในย่อหน้านี้นั่นเอง


ในการที่เราจะซื้อหุ้นสักตัวหนึ่ง เราจะต้องรู้ว่าหุ้นนั้นมีผลประกอบการเป็นอย่างไร มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น หรือแย่ลง อย่างไร และราคาของหุ้นนั้นมีธรรมชาติเป็นอย่างไรด้วย ในปีไหน เดือนไหน ช่วงเวลาใด ที่ราคาจะขยับแบบไหน นักลงทุนมีหน้าที่หนึ่งที่จะต้องทราบด้วย นอกจากนั้นแล้วแน่นอนที่สุดว่าเรื่องของพื้นฐานของตัวหุ้นเองนั้นเป็นสิ้่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราพิจารณาได้ว่า บริษัทนั้นๆ ควรจะมีราคาเท่าไร แล้วเราจึงมาคำนวณหาราคาต่อหุ้นที่น่าจะเป็น หากราคาสูงเกินไป เราก็ยังไม่เข้าไปซื้อ (หรือถ้ามีหุ้นอยู่แล้วก็อาจจะพิจารณาขายออกไปก่อนได้) แต่ถ้าราคาต่ำเกินไป และเราไม่มีหุ้นอยู่ ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ค่อยๆ เข้าไปทะยอยสะสมซื้อหุ้นนั้นเข้าพอร์ตเพื่อการลงทุน หรือแม้หากว่ามีหุ้นนั้นอยู่แล้ว แต่เรามั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทยังคงดีอยู่ พื้นฐานของบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ก็สามารถพิจารณาค่อยๆ ซื้อสะสมเพิ่มเข้ามาอีกก็ได้เช่นกัน


แต่ ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจก็คือ ต้องสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของตัวหุ้นได้ (นั่นคือต้องสามารถประเมินราคาของบริษัทที่เรากำลังสนใจจะลงทุนได้ก่อน) เราจึงสามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นที่เราเห็นในกระดานนั้น ถูก หรือ แพงเกินไป หรือไม่ แค่ไหน ถ้าเราไม่สามารถประเมินราคาได้ เราก็อาจจะได้แต่เห็นราคาวิ่งขึ้นลง โดยไม่มีหลักยึดว่า แล้วราคาไหนล่ะที่เป็นราคาที่ถูกต้องสำหรับหุ้นนั้้นๆ


และที่สำคัญที่สุด หากนักลงทุน (ที่ตามนิยามก็คือมีเงินเหลือ สามารถนำไปใช้ทำงานให้งอกเงยได้ ในระยะเวลาหนึ่งๆ ที่หากยิ่งยาวมากๆ ยิ่งดี) รู้ว่า บริษัทหนึ่งๆ ควรมีราคาเท่าไร เมื่อราคาซื้อขายบริษัทนั้นในตลาด ตกต่ำลงมามากๆ นักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องตกใจ แต่กลับเห็นเป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นเพิ่มได้ และ/หรือ อย่างน้อยก็สามารถรอได้ ในเมื่อเรารู้ว่า บริษัทหนึ่งควรมีราคา 100 บาท และในตลาดซื้อขายกันอยู่ที่ 80 บาท เราจะไปขายตามเขาทำไม ทำไมไม่ทำกลับกันคือซื้อเข้ามาเพิ่มเติม


การรู้ราคาหรือมูลค่าที่ควรเป็นของบริษัทนี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรา "ไม่ขายหมู" "ไม่ติดดอย" "สอยเพิ่ม" และ "รอได้" ในยามที่ราคาหุ้นตกต่ำลงไปเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการที่จะรู้มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาบริษัทนั้นๆ มาอย่างจริงจังเท่านั้นนะครับ


หมายเหตุทั้งนี้ ผมไม่ได้คัดค้าน หรือมีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการ ขายหุ้นออกไปก่อนเพื่อลดความเสี่ยง และ/หรือ แนวคิดของการขายหุ้นออกไปที่ราคาสูง แล้วซื้อกลับมาที่ราคาต่ำกว่า (Short Against Port) นะครับ ทั้งสองแนวคิดเป็นแนวคิดที่ดี แต่อะไรก็ตามก็ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง คืออาจจะเสี่ยงในการที่ต้องซื้อคืนที่ราคาสูงกว่าเดิมเพราะหุ้นปรับตัวทำราคาสูงขึ้น (ตัวอย่างเช่น "เปิดกระโดดขึ้น" เป็นต้น) ซึ่งการ short against port ก็ต้องจัดการด้วยความระมัดระวัง และมีเวลาในการเฝ้าหุ้นด้วยอีกส่วนหนึ่ง