การลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจใดๆ ก็ตาม นักลงทุนย่อมต้องการความมั่นใจ ความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้ด้วยเมื่อเรากำลังทำงานกับสิ่งที่ "คาดเดาได้" เมื่อเราดูผลประกอบการของธุรกิจหนึ่งเราจะเห็นตัวเลขความสามารถต่างๆ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเหล่านั้น และวาดภาพในใจ (หรือนอกใจ ด้วยการสร้างเส้นกราฟ แผนภูมิ บอกตัวเลขความสามารถในการทำงานของบริษัทออกมา) ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมี "แนวโน้ม" เป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นโดยตลอดคงหาได้ไม่ง่ายนัก (ถ้าบังเอิญมองเห็นได้ก้อย่าปล่อยให้หลุดมือไปเลยเชียว) แนวโน้มที่เกิดขึ้นจึงมักจะ ขาดๆ วิ่นๆ บ้าง คือไม่ได้ต่อเนื่องสมบุรณ์ตลอด การพิจารณาความต่อเนื่องของแนวโน้มผลประกอบการของธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ทำไมแนวโน้มจึงสำคัญ
นักลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุแนวเน้นมูลค่าของกิจการ ล้วนต้องการสิ่งที่คาดหมายได้ คาดเดาได้ คงไม่มีใครชอบของที่สามวันดี สี่วันไข้ (แต่ นักเก็งกำไรอาจจะคิดอีกแบบหนึ่งก็ได้นะครับ) แนวโน้มที่ดีทำให้คาดหมายกำไรและสิ่งต่างๆ ของธุรกิจได้แม่นยำมากขึ้น เป็นผลทำให้สามารถคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมได้แม่นยำขึ้นโดยมี เงื่อนไขในการคาดการณ์ (assumption, condition) น้อยที่สุดนั่นเอง
แนวโน้มที่ดี
คราวนี้เรามีดูลักษณะของแนวโน้มที่ดีกัน (หรือ ถึงจะไม่ดีก็ขอให้ "พอใช้ได้ดี" ก็ยังพอไปวัดไปวาได้) ว่าต้องมีอะไรบ้าง
- ควรต่อเนื่อง ความต่อเนื่องไม่ได้หมายความว่าต้องเพิ่มขึ้นตลอดทุกปี อาจจะมีบางปีที่เท่าเดิมหรือหย่อนลงไปบ้าง ก็ต้องไปดูว่าหย่อนเพราะอะไร เพราะรายจ่ายพิเศษ เพราะเหตุการณ์พิเศษภายนอกที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรงในปีนั้นๆ หรือไม่ การหย่อนนี้หย่อนเป็นปริมาณเท่าใด ย่อหย่อนลงจนกลายเป็นขาดทุนไปเลยหรือไม่ (ถ้ากรณีจนขาดทุนนี่ต้องพยายามทำความเข้าใจกันเป็นพิเศษว่า เพราะอะไร เป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวหรือไม่ พื้นฐานเปลี่ยนหรือไม่ มีเหตุจากภายนอกหรือภายในบริษัท เป็นต้น)
- ต้องโต แน่นอนว่าความต่อเนื่องคือด้านการเติบโต ถ้าเป็นความต่อเนื่องด้านการถดถอยแล้วเราก็ต้องทำตรงกันข้ามคือไม่ลงทุนในบริษัทเหล่านั้น (ยกเว้นว่าเรามีเหตุผลพิเศษในการลงทุน เช่น รู้ว่าเกิดการถดถอยเนื่องจากเป็นไปตามวัฎจักรเศรษฐกิจ หรือของราคาสินค้า/กำไรของบริษัทนั้น และราคาหุ้นตกต่ำมากเกินไป ก็สามารถพิจารณาลงทุนได้
- ความเสี่ยง การต่อเนื่องขณะที่บริษัทกำลังโต ที่เราเห็นแต่คนอื่นยังมองไม่เห็น ไม่สนใจ หรือกลัว และนักลงทุนสามารถคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมได้ค่อนข้างแม่นยำ และมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยในการลงทุนที่มากพอ จะทำให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด มีโอกาสได้กำไรเป็นกอบเป็นกำสูง
อะไรที่ต้องต่อเนื่องบ้าง
คราวนี้มาดูรายละเอียดว่าเราต้องดูอะไรบ้าง ผมพยายามเรียงจากสิ่งที่สำคัญขึ้นมาก่อน ดังนี้
- ยอดขาย ควรเพิ่มขึ้นเรื่อย ตรงจุดยอดขายนี้ไม่ควรลดลงด้วยซ้ำ หากลดลงแสดงว่าบริษัทมีปัญหาในการขาย ในสินค้า/บริการ หรือคู่แข่งมาก
- โอกาสทางการตลาดของธุรกิจ ที่จริงอยากเอาข้อนี้ขึ้นไว้ว่ามีความสำคัญก่อนยอดขายด้วยซ้ำ แต่เพราะเป็นนามธรรมมากไปนิดเลยลดลำดับมาเล็กน้อยอยุ่ลำดับที่สองนี้ โอกาสทางการตลาดอาจจะไม่ได้มีตัวเลขของงบการเงินใดบอกได้ แต่เราสามารถรู้รู้ได้จากการอ่านคำอธิบายผลประกอบการของผู้บริหาร เทียบกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดภายนอก แล้วพิจารณาว่ามีช่องว่างเหลืออยู่สำหรับบริษัทหรือไม่ และที่สำคัญคือ ผู้บริหารสนใจที่จะเก็บส่วนการตลาดนั้นไว้หรือไม่ ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นิ่งสำคัญมากเลยทีเดียว
- กำไร ควรเพิ่มขึ้นเช่่นกัน หรืออย่างน้อยต้องเท่าเดิมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ ไป (ดูแนวโน้มจากอดีต)
- ROA ควรดีขึ้น แต่อาจจะช้ากว่าอย่างอื่น เป็นเรื่องปกติ (ROE ไม่ว่ากัน อาจจะลดได้ถ้าหนี้น้อยลง ไปพิจารณาเรื่องความสามารถในการจัดการหนี้ การเติบโตต่อไป)
- อัตรากำไรขั้นต้น ควรเท่าเดิมหรือเพิ่มก่อน
- อัตรากำไรสุทธิ ถ้าลดลงก็ไปดูว่ามีเหตุผลไหม ค่าเสื่อมมาก ดอกเบี้ยจ่ายมาก หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมาก
- หนี้ที่ลด โดยปกติแล้วหนี้สินของธุรกิจควรลดลงซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าหนี้สินเพิ่มมากขึ้นไม่ทันกำไรที่ทำได้ ถือว่าเริ่มไม่ดี แต่ในทางกลับกันหากหนี้สินเพิ่มขึ้นแต่ ROA และ ROE พุ่งสูงขึ้นไป อาจจะแสดงความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สินจากการสร้างหนี้สินก็ได้
- ส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าเมื่อบริษัทมีกำไร แม้มีการจ่ายปันผลแต่ยังคงเก็บเงินไว้เพื่อการเติบโตในภายหน้า บริษัทย่อมต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ตัวเลขนี้อาจจะไม่พุ่งมากมายแต่มักจะไม่วูบวาบกว่าตัวเลขอื่น จึงเป็นตัวเลขที่น่าจับตาด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าอาจจะไม่มีบริษัทใดที่มีแนวโน้มต่างๆ ดีไปทั้งหมดในเวลาเดียวกัน หน้าที่ของนักลงทุนคือแยกของที่ดีกว่าออกจากของที่ดีธรรมดา และจัดการวางแผน ชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงในการลงทุนให้ดีที่สุดครับ