วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วิธีประมาณการเติบโตของบริษัท

วิธีประมาณการเติบโตของบริษัท

การลงทุนในหุ้นนั้น นับว่ามีทั้งข้อดี และข้อแตกต่างจากการลงทุนในรูปแบบอื่นด้วยตัวเองมาก (แน่นอน ย่อมมีข้อเสีย แต่มักจะเกิดจากตัวของผู้ลงทุนเองเป็นส่วนใหญ่)  หลายคนเมื่อลงทุนโดยใช้การซื้อหุ้นเป็นเครื่องมือ ก็อาจจะกังวลในการขาดทุน ความเป็นจริงของการลงทุนในหุ้นข้อหนึ่งก็คือ "เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าเราจะได้กำไรเท่าไร แต่เราสามารถบอกได้ว่าเราจะขาดทุนเท่านี้ล่ะ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า การขายตัดขาดทุนหรือ cut loss" ดังนั้นก็ อย่ากังวลเกินไป เพราะยังแตกต่างจากการลงทุนอย่างอื่นอีกมาก ที่บางครั้งเราจำกัดการสูญเสียได้ยาก อาจจะเป็นหนี้สิน มีภาระผูกพันอื่นๆ อีกเยอะก็มี

คราวนี้หันกลับมาเรื่องหุ้นกันต่อ ว่า ถ้าเราอยากจะไม่ขาดทุนแล้ว จะมีหลักการอย่างไร หลักการหนึ่งก็คือ อย่าซื้อหุ้นแพงเกินไป (ดู วิชาที่สอง วิชาหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ ประกอบ) และ บริษัทต้องโต เพราะว่าเมื่อกิจการโตขึ้นไปเรื่อย สักวันหนึ่งหุ่นที่เราถือไว้จะ "ถูกลง" ไปเอง เพราะ P คงที่ตอนที่เราซื้อไว้ และ E หรือกำไรต่อหุ้นต่อปีมันเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ค่า P/E ก็จะต่ำลงนั่นคือหุ้น (ในมือเรา ต้นทุนของเรา) ถูกลง และถ้าตลาดเห็นตามนั้น ก็จะให้ราคาหุ้นสูงกว่าที่เราซื้อเข้าสักวัน

ใช้อะไรประมาณการเติบโต

ทีนี้ คำถามคือ แล้วเราจะดูหรือรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทจะโตขึ้น และเป็นเท่าไร เอาล่ะสิ ตรงนี้ล่ะที่ไม่ได้ง่ายนัก เพราะจะว่าไปคือเรากำลังสนใจ คาดการณ์ คาดเดา อนุมาน (สมัยนี้เรียกรวมๆ ว่า มโน หรือการมโนภาพ) ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แน่นอนเมื่อเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ย่อมเป็นความเห็น การคาดการณ์ จึงต้องอาศัยจินตนาการอย่างเดียวเลย โดยจินตนาการที่ใกล้เคียงความจริงจะได้มาจากการที่เราคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนั้นๆ การประมาณกำไรก็ทำจากพื้นฐานสองประการคือ การประมาณรายได้ และ รายจ่าย นั่นเอง (ถ้าให้ดี แถมด้วยการลงทุนเพิ่ม ที่ตามมาด้วยหนี้สินและค่าเสื่อมราคา) หักลบกลบหนี้กันไปก็คือกำไรที่จะเกิดขึ้นว่าจะมากขึ้นหรือน้อยลง ขอเน้นอีกทีว่า สุดท้ายเราต้องประมาณ "กำไร" เป็นหลักนะครับ รายได้โตแต่กำไรลด แบบนี้บริษัทและราคาหุ้นก็คงไม่โตไปไหน แถมยังต้องคิดหนักหน่อยว่าบริษัทไปทำท่าไหนมา

เราไม่สามารถประมาณได้ทั้งหมดหรอก

นักลงทุนคนหนึ่งๆ คงไม่มีความสามารถพอที่จะประมาณผลการดำเนินงานของบริษัทได้ทุกบริษัท หรือทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีความชำนาญมากมายหลากหลายขนาดนั้น เพราะย่อมมีความถนัดในธุรกิจเฉพาะด้านบ้าง รวมทั้งธุรกิจบางอย่างก็ยากที่จะประมาณการเติบโตได้แม้เป็นผู้บริหารเองก็ตาม (คือ มีตัวแปรรอบข้างมากที่มากระทบมากเกินไป) เช่น
  • บางธุรกิจอาจจะประมาณการเติบโตของกำไรได้ไม่ยาก เช่น เปิดสาขาใหม่ ก็ประมาณได้ตามสาขา จนกว่าสาขาต่างๆ จะมีครบหรือเริ่มแย่งลูกค้ากันเอง
  • บางธุรกิจดูเหมือนง่าย เช่น กลุ่มรับเหมา หรืองานที่มีความต้องการ แต่ด้วยความที่ต้องประมูลแย่งลูกค้ากัน จึงคาดการณ์กำไรยากมาก
  • บางธุรกิจ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เรือยๆ แทนของที่ตกรุ่น ล้าสมัย ก็ประมาณไม่ง่ายเช่นกัน เพราะของเก่าก็อาจจะยังขายได้ ในขณะที่ของใหม่อาจจะขายไม่ได้ดีก็ได้
  • บางธุรกิจ มีสัญญารออยู่ มีสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ชัดเจน ก็ประมาณได้ง่าย เช่น โรงไฟฟ้า ทางด่วน รถไฟฟ้า ฯลฯ (ประมาณๆ แล้วก็ใส่ MOS ไปหน่อย ก็ปลอดภัย)
  • บางธุรกิจมี อุปสงค์เพิ่มขึ้นมากตามจำนวนหรือพฤติกรรมประชากร ก็สามารถประมาณยอดขายและกำไรได้ไม่ยาก
  • บางธูรกิจมี ตัวแปรของการได้รายได้ และต้องจ่ายรายจ่ายซับซ้อน หรือมีลักษณะเป็นโภคภัณฑ์ (commodity) ก็ประมาณได้ยาก
  • ธุรกิจที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาได้ง่าย ไม่แน่นอน ประมาณรายได้และกำไรยากมาก
  • บางบริษัท มีลดหนี้ จะด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็จะทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็ต้องดูว่าทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ กำไรโตทันจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นหรือไม่ หรือ มีการขายทรัพย์สินบางอย่างออกไป ทรัพย์สินนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ จะทำให้กระทบกับราได้ในอนาคตอันได้มาจากทรัพย์นั้นไหม
เป็นต้น แต่โดยสรุปก็คือ ต้องคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ล่ะครับ

ประมาณตัวเลขจากอะไร

ส่วนมากแล้วเราอาศัยการประมาณจากประวัติที่เป็นมา เช่น เคยมีสาขาเท่านี้ ยอดขายต่อสาขาเท่านี้ กำไรต่อสาขาเท่านี้ มีผลิตภัณฑ์เท่านี้ จะเพิ่มเป็นเท่านั้น หรือเคยทำกิจการนี้ จะขยายออกไปต่างประเทศซึ่งมีสภาพการณ์แบบนี้แบบนั้น ควรได้กำไรเท่านี้เท่านั้น เวลานี้มีลูกค้าเท่านี้ ต่อไปต้องมีมากขึ้นเป็นเท่านั้นเพราะว่า (เหตุผลใดๆ ที่เราเข้าใจ มั่นใจว่าจริง เช่น เมืองเติบโตขึ้น อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น และอื่นๆ) คือต้องอาศัยของที่เกิดขึ้นแล้วคือกำไรในอดีตเป็นฐานในการคำนวณ แน่นอนว่า บางครั้งก็มีความคาดเคลื่อนในการประเมินและประมาณสิ่งต่างๆ ทำให้ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า Margin Of Safety ในการประมาณนี้ด้วย ว่าถ้าผิดพลาดไปเท่านี้ ก็ยังได้ตัวเลขที่มีความเสี่ยงต่ำในการนำไปตัดสินใจลงทุนอยู่

ผู้บริหาร

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ผู้บริหารบริษัทมีความสำคัญมาก ถ้าเป็นผู้กระตือรือร้นในธุรกิจ ขยายทั้งทางลึก ทางกว้าง หรือเล็งมองในการควบรวมกิจการ หรืออื่นๆ จะเป็นผลดีต่อการเติบโตของบริษัทอย่างมาก (ทั้งนี้ ต้องอยู่บนสมดุลของการสร้าง high return จาก low risk ด้วย) ต่างจากผู้บริหารที่ทำงานแบบเดิมๆ หลายสิบปีก็ไม่เคยเปลี่ยนอะไร บริษัทเคยดำเนินงานมาแบบไม่โตมา 5 ปี ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็คงยากที่จะหวังให้บริษัทโตได้มากมายอะไร (แม้เมื่อมีโอกาส ก็อาจจะคว้าไว้ไม่ได้ด้วยซ้ำไป)

ดังนั้นโดยสรุป คือต้องคุ้นเคยและติดตามสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมนั้น ของบริษัทนั้นเป็นอย่างดี สามารถมองสภาพตลาด สภาพผู้บริโภค และความคิดของผู้บริหารได้ การเป็นนักลงทุน คุ้นแค่ 2-3 อุตสาหกรรม และ 3-4 บริษัทในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็เพียงพอในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จได้แล้ว ไม่ต้องรู้หมดเพราะมากมายเกินไป และถึงแม้เรารู้หมด เราก็ไม่มีเงินไปซื้อมันทั้งหมดอยู่ดี และถึงจะซื้อหมด มันก็กลายเป็นเบี้ยหัวแตกอีกอยู่ดีครับ