วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ถ้าบริษัทเคยขาดทุนมาก่อน เราจะหา P/E อย่างไร


ว่าด้วยค่า P/E

ในการลงทุนผ่านการซื้อหุ้นนั้น หนึ่งในวิธีคำนวณราคาที่เหมาะสมหรือดูว่าหุ้นนั้นราคาแพงไปหรือไม่ก็คือการใช้ค่าอัตราส่วน P/E โดย P คือ Price หรือราคาหุ้น (ตลาด เป็นผู้กำหนด หรือให้ราคา ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท) และ E คือ Earning หรือกำไรต่อหุ้นต่อปี (เป็นผลงานของบริษัท) เมื่อจับตั้งหารกันก็จะได้อัตราส่วน P/E ที่บอกเราว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร (กี่ปี) จึงคุ้มค่าในการลงทุนซื้อหุ้นนั้น (ในราคานั้น) มา เช่น หากค่าอัตราส่วน P/E เป็น 3 คือต้องลงทุนนาน 3 ปีจึงคุ้มค่าเงินที่จ่ายค่าหุ้นไป (คือ ใช้เวลา 3 ปีบริษัทจึงทำกำไรได้เท่ากับราคาหุ้นที่เราจ่ายไป ไม่ใช่เอาเงินมาคืนเราในจำนวนนั้น โดยเงินอาจจะอยู่ในบริษัทบางส่วนเพื่อไปขยายงานต่อนั่นเอง) ถ้าบริษัททำกำไรได้น้อยลง หรือราคาหุ้นสูงมากขึ้น ค่าอัตราส่วน P/E ก็จะมากขึ้น เพราะ P มีค่ามาก (ราคาหุ้นแพง) และกำไรต่อหุ้น E มีค่าน้อย (ทำกำไรต่อหุ้นได้น้อย) เมื่อเอา P ตั้งแล้วหารด้วย E จึงมีค่ามาก ตัวอย่างเช่น 20 นั่นคือต้องใช้เวลา 20 ปีบริษัทจึงทำกำไรได้คุ้มค่าหุ้นที่เราจ่ายไป

หมายเหตุ
ถึงตรงนี้ อาจจะมีคนสงสัยว่า แล้วจะมีคนซื้อ-ขายหุ้นนั้นในราคานั้นหรือ ความเป็นจริงก็คือ "มีแน่นอน" ด้วยหลายเหตุผล เช่น เพราะมีบางคนคิดว่าแพงไปจึงขาย บางคนคิดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าบริษัทอาจจะทำกำไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ 5-6 เท่าตัว ณ วันนั้น P/E = 20 เวลานี้อาจจะเหลือ 3-4 ก็ได้ เป็นต้น ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีใครรุมซื้อหุ้น P/E ระดับ 90-100 ในวันนี้หรอกครับ

ค่า P/E ของบริษัทที่ไม่ทำกำไร

คราวนี้ อาจจะมีคำถามจากเพื่อนๆ นักลงทุนว่าถ้าบริษัทขาดทุนแล้วจะหา P/E อย่างไร ในเมื่อค่าของ P/E นั้นหาจาก ราคาหุ้น/กำไรต่อหุ้นต่อปี ในเมื่อ E นั้นติดลบ (คือ ขาดทุนแล้ว จะคำนวณได้อย่างไร) เพราะก็ไม่เคยเห็นว่าค่า P/E จะมีค่าเป็นลบ (ติดลบ คือน้อยกว่า 0) เสียที เพราะถึงแม้จะเขียนตัวเลขนี้ลงไปก็ไม่ประโยชน์อะไรในการคำนวณความถูก-แพงของหุ้นด้วยค่าอัตราส่วนนี้ หรือร้ายกว่านั้นอาจจะพาลทำให้เข้าใจผิดหนักเข้าไปอีก

ดังนั้นเราจะเห็นว่า ถ้าบริษัทขาดทุนในระยะเวลา 12 เดือนล่าสุด (สังเกตดูนะครับ ว่าเป็น 12 เดือนล่าสุด ไม่ใช่ ไตรมาสหรือ 3 เดือนล่าสุด) เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์จะแสดงค่า P/E ของบริษัทนั้นเป็น N/A นั่นคือไม่สามารถคำนวณออกมาได้

ถ้าบริษัทขาดทุนเรื่อยๆ เราจะหา P/E อย่างไร

แน่นอนว่าถ้าบริษัทยังขาดทุนเรื่อยๆ เราย่อมไม่สามารถหาค่า P/E ได้ เนื่องจาก E หรือ Earning จะติดลบตลอด ถ้าบริษัทไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวได้ ก็ไม่ควรไปเสียเวลาพยายามหา P/E ของบริษัทนั้นเลย และเราก็ไม่ควรลงทุนด้วย เพราะจะกินทุนไปเรื่อย สุดท้ายก็ต้องเพิ่มทุน ทำให้เราเดือดร้อนอีก เพิ่มไปแล้วอาจจะไม่ทำอะไรให้แตกต่างจากเดิม ก็ขาดทุนและกินทุนไปเรื่อยๆ อีก ทำไปทำมาสุดท้ายก็ไม่พ้นต้องเข้าหมวดฟื้นฟูกิจการ โดนขังยาวจนกว่าจะสำนึกผิดปรับตัวใหม่ได้ (ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นไหม)

บริษัทฟื้นตัว

มาถึงคำถามสำคัญคือ ถ้าบริษัทเคยขาดทุนมาก่อน เราจะหา P/E อย่างไร ถ้าบริษัทจะกลับตัวมามีกำไร จะมีโมเดลของมันเอง คือ เปลี่ยนลูกค้า เปลี่ยนธุรกิจ เปลี่ยนแนวคิดผู้บริหาร เปลี่ยนโครงสร้างทางการเงิน เปลี่ยนตลาดที่บริษัทนั้นเล่นอยู่ หรือแม้แต่ไม่ต้องทำอะไรเลยหากเกิดความผิดพลาดเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ชั่วคราว (เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว วัตถุดิบขาดแคลนชั่วคราว เป็นต้น) ถ้าเราคิดว่าบริษัทมีโอากสจะฟื้นตัวได้ค่อยน่าสนใจ แต่ต้องดูว่าฟื้นแล้วจะมีกำไรเท่าไร กรณีที่เป็นเหตุการณ์แวดล้อมภายนอกชั่วคราว ก็อาจจะประมาณจากความสามารถในการทำกำไรเดิมก็ได้ จากนั้นประมาณการว่าเมื่อฟื้นตัวหรือกลับเข้าที่แล้วจะมีกำไรเท่าไร มีหนี้สินระยะยาว/หมุนเวียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีการขาดทุนสะสมหรือไม่-เมื่อไรจะล้างขาดทุนสะสมหมด และการที่จะทำให้หุ้นขึ้นจริงๆ ได้คือ (1) จ่ายปันผลได้ (2) เพิ่มทุนในราคาสูงได้ (โดยเราซื้อมาก่อน ที่ราคาต่ำกว่า) กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอนาคตดีมากๆ

การจะรู้ได้ว่า บริษัทจะกลับตัวทำกำไรได้ไหม เราต้องคุ้นเคยกับบริษัท เรียกว่า ใช้ข้อมูลวงในเป็นอย่างถูกกฏหมาย เคยได้คุยกับ ผบห. หรือได้ข้อมูลอื่นจากผู้บริหาร (ผ่านช่องทางถูกต้อง เช่น Opp. day, AGM, เอกสารชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสอบถามจาก IR เป็นต้น) แล้วเราต้องคาดการณ์เองจากสิ่งต่างๆ ในและรอบตัวบริษัท ว่าจะมียอดขายเท่าไร มีกำไรเท่าไร หารกับจำนวนหุ้นี่มีแล้วจะได้กำไรเท่าไร เมื่อได้กำไรต่อหุ้นกับราคาหุ้น ก็พอจะนำมาคำนวณค่าขออัตราส่วน P/E ได้แล้ว (ส่วนการเหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ จะมีเรื่องอื่นอีก ไม่ใช่ลำพังค่าอัตราส่วน P/E เท่านั้น แต่อยู่นอกเหนือหัวข้อนี้ครับ)

ข้อสังเกต

ปกติแล้ว ค่าของ P/E ที่แสดงในเว็บไซต์ต่างๆ มักเป็นค่าที่คำนวณจาก 12 เดือนล่าสุด นั่นหมายความว่าหากบริษัทขาดทุนในไตรมาส 1-3 ที่ผ่านมา และกำไรในไตรมาส 4 หรือไตรมาสล่าสุด ตัวเลขจึงอาจจะเป็น N/A ได้ ทั้งที่การขาดทุนในไตรมาส 1-3 อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เราสามารถคาดคะเนเอาว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดปกติ บริษัทจะมีกำไรใน 12 เดือนเท่าไร คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่าไร และเป็นค่า P/E ปัจจุบัน (เพราะขึ้นกับ ราคาหุ้นปัจจุบันด้วย) เท่าไร แล้วนำไปประกอบกับการพิจารณาอื่นๆ เพื่อตัดสินใจว่าควรลงทุนในบริษัทนั้นต่อไปหรือไม่ ครับ