วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การใช้ข้อมูลวงในอย่างถูกกฎหมาย


ในการลงทุนนั้นข้อมูลต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการตัดสินใจ การได้ข้อมูลก็มีที่มาหลายหลาย วิธีหนึ่งที่เรามักได้ยินลงทุนพูดถึงก็คือการใช้ข้อมูลวงใน ข้อมูลวงในหลายอย่างก็ผิดกฎหมาย เช่น ถ้าผู้บริหารใช้ข้อมูลที่ตัวเองรู้มาใช้ในการซื้อขายหุ้นอย่างนั้นผิดกฎหมายแน่นอน แต่สำหรับนักลงทุนอย่างเราแล้วเราก็ยังมีการใช้ข้อมูลวงในหรือเสมือนกับเป็นข้อมูลวงในมาตัดสินใจในการลงทุนได้ และได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายด้วย ข้อมูลวงในเหล่านี้ เช่น
  • เข้าใจธุรกิจของบริษัทและสภาพตลาด
  • ดูงบการเงินให้ทะลุปรุโปร่ง
  • พูดคุยกับผู้บริหารสามารถประเมินนิสัยใจคอแนวความคิดและความสามารถของผู้บริหารได้
  • สอบถามจากแผนก นักลงทุนสัมพันธ์ ของบริษัท
ข้อมูลทั้งสี่อย่างนี้หากนักลงทุนนำมารวบรวมประกอบการตัดสินใจได้ดีก็จะเปรียบเสมือนกับได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นอยู่ไม่น้อยเลย ทีนี้เราก็มาดูทีละอย่างว่าเราสามารถเข้าไปอยู่ใน "วงใน" ของบริษัทได้อย่างไรโดยไม่ได้ทำผิดกฏหมาย

เข้าใจธุรกิจของบริษัทและสภาพตลาด

เรื่องนี้ก็เหมือนกับการที่เราต้องการเปิดธุรกิจของตัวเราเอง เราคงต้องดูก่อนว่าเราจะทำอะไร มีลูกค้ามากหรือน้อยแค่ไหน ในอนาคตแล้วลูกค้ามีแนวโน้มจะมากขึ้นหรือน้อยลง หรือต่อไปจะแย่ขนาดไม่มีคนใช้ของนั้นๆ ที่เราผลิตออกมาขายอีกแล้ว แน่นอนเราคงต้องรู้ว่าบริษัทกำลังทำกิจการที่ต่อไปจะมีลูกค้ามากขึ้น มีความสามารถในการต่อสู้แข่งขันได้ดี หรือดีกว่านั้นคือมีความแตกต่างจากธุรกิจเดียวกันหรือคล้ายกัน (ทดแทนกันได้) และแน่นอนว่าดีที่สุดคือเป็นธุรกิจที่ถูก "ป้องกัน" เอาไว้ได้ด้วยอะไรบางอย่าง เช่น ใบอนุญาต สัมปทาน ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น ธุรกิจที่ดีจะมียอดขายที่สูงขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นบ้าง ในเวลาที่ผ่านไป แต่ จุดผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องระวังด้วยคือ บางครั้งการออกนอกแนวทางที่ตัวเองชำนาญก็จะเป็นภัยกับธุรกิจเองได้เช่นกัน

ดูงบการเงินให้ทะลุปรุโปร่ง

ธุรกิจที่ดีจะต้องมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี ถ้าเป็นธุรกิจที่ดีและมีสภาพตลาดที่ดี เติบโต จะมีผลทำให้งบการเงินดีขึ้นตามไปด้วยไม่มากก็น้อย จะเห็นได้จาก ยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการตลาดที่มีแนวโน้มคงที่หรือลดลง อัตรากำไรดีคืออย่างน้อยต้องไม่ลดลงเพื่อพยายามทำให้ยอดขายสูงขึ้น ทำให้กำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทที่ดีมักจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มอยู่ตลอดเวลา (คือ ลงทุนใน เครื่องจักร อุปกรณ์มากๆ เป็นสิ่งที่ต้องระวังว่าเงินลงทุนนั้นจะตามมาด้วยค่าเลื่อมราคาที่ทำให้กำไรลดลง นอกจากนั้นถ้าไม่สามารถทำกำไรได้เร็วเกินกว่าที่เครื่องจักรและอุปกรณ์จะล้าสมัย ก็ยิ่งตกที่นั่่งลำบาก ต้องลงทุนใหม่ และไม่คุ้มค่าต่อไปเรื่อยๆ) บริษัทที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนักแต่ทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น (อาจจะ มีการจ้างบริษัทอื่นช่วยทำงน จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายแปรผันไปแทน) จะทำให้คล่องตัวในการบริหาร มีภาระผูกพันน้อย มีหนี้สินระยะยาว (ไม่หมุนเวียน) น้อยและน้อยลงๆ เมื่อเวลาผ่านไป และถ้าบริษัทมีค่าเสื่อมราคาต่ำ ก็จะทำให้กำไรสูงขึ้นเมื่อยอดขายสูงขึ้นได้ไม่ยาก

พูดคุยกับผู้บริหารบ้าง

ข้อนี้ใครได้ยินครั้งแรกก็ต้องสงสัยในใจ ว่า แล้วเราจะพูดคุยได้อย่างไร การไปสอบถามข้อมูลต่างๆ เขาก็คงไม่ตอบหรอก หรือไม่ก็จะกลายเป็นการใช้ข้อมูลวงในไม่ใช่หรือ ความเป็นจริงแล้วเราสามารถ "พูดคุย" กับผู้บริหารได้โดยทางอ้อมหลายทางเช่น การฟัง Opportunity Day, การฟังการให้สัมภาษณ์หรือการให้ข่าวของผู้บริหาร นอกจากนั้นที่ชัดเจนขึ้นคือการ เข้าประชุมผู้ถือหุ้น ที่เราจะมีโอกาสได้ฟังการตอบคำถามสดๆ จากผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่เราเป็นผู้ซักถามเองก็ยังได้ จากการฟังคำให้สัมภาษณ์ คำถาม คำตอบเหล่านี้ เอามาเปรียบเทียบกับ ธุรกิจ การตลาด และสิ่งที่ผู้บริหารนั้นทำมาในอดีต (ว่า เวลาผ่านไป ได้ทำ หรือ ทำได้สำเร็จตามที่ได้พูดไว้หรือไม่) ก็จะพอบอกนิสัยใจคอ ความมุ่งมั่น ความขยัน ความสามารถในการบริหารของผู้บริหารได้  แน่นอนว่ากูรูในการลงทุนได้มีความเห็นว่าเราควรลงทุนในบริษัทที่ไม่ต้องการ "คนพิเศษ" มาบริหารก็ยังทำกำไรได้ เรื่องนี้ผมยังคงเห็นด้วย 100% แต่การมีผู้บริหารที่สามารถนำพาให้บริษัทเติบโตไปได้ด้วยย่อมต้องดีกว่า จริงไหมครับ

สอบถามจากแผนก นักลงทุนสัมพันธ์ ของบริษัท

เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถทราบข้อมูลจากบริษัทได้ อย่างไรก็ตามก็ย่อมขึ้นกับแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ของแต่ละบริษัทว่าสามารถให้ข้อมูลได้ชัดเจนหรือไม่ แน่นอนว่าทางแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ไม่สามารถให้ข้อมูลตรงๆ ในหลายเรื่องได้เช่น การคาดการณ์ยอดขาย การคาดการณ์กำไร หรืออื่นๆ อีกหลายประการ เพราะอาจจะติดขัดกฏข้อบังคับหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็มีสิทธิถาม ทางฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ก็มีสิทธิพิจารณาว่าจะตอบหรือไม่ หรือตอบได้เท่าไร จึงขึ้นกับความฉลาดในการถามของนักลงทุนเองด้วย เช่น อาจจะถามว่า จำนวนลูกค้าดูมากขึ้นหรือไม่ ยอดสั่งจองดูเป็นอย่างไร จำนวนสินค้าคงคลังมีมากขึ้นหรือน้อยลงหรือไม่ กำลังการผลิตเหลือหรือไม่ จากข่าว .... ที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ เป็นต้น หลายกรณีคำตอบก็มีประโยชน์มากในการตัดสินใจลงทุนด้วย

อย่างที่เขาบอกกันล่ะครับว่า ถ้าเราไม่ได้เป็นคนวงใน เราก็เป็นคนวงนอก แต่เราก็ต้องเป็นคนวงในให้ถูกวิธี ถูกกฏหมายด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้และทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนมากขึ้นครับ