วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

ซื้อหุ้นถือลืม เลือกอย่างไร

 

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้เป็นวันหยุด เลยมีเวลาเพิ่มเติมบทความให้เพื่อนๆ ได้อ่าน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ เคยถามกันไว้ว่า อยากซื้อหุ้นแล้วถือลืม (เอ่อ ไม่เป็นไรครับ อย่าลืมถือ หรือถือจนลืม จริงๆ ก็แล้วกัน) จะทำอย่างไร เลือกอย่างไร ผมเลยพยายามเลือกคุณสมบัติของหุ้นที่จะ "ถือได้นานๆ ไม่ต้องกังวลกับราคามากนัก") เอาไว้ตรงนี้ ทีนี้พอรวมไปรวมมา ก็เห็นว่าหุ้นนั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างตามนี้ครับ

1. ต้องเข้าใจธุรกิจ
ตัวนักลงทุนเองจะต้องเข้าใจธุรกิจนั้นตามสมควร ถ้าเข้าใจดีมากได้ก็ยิ่งดี หรือสุดยอดกว่านั้นคือเคยเป็นคนในวงการนั้นมาก่อน แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อยก็ต้องเข้าใจว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำ, ผลิต, หรือให้บริการกับใคร มีจุดแข็ง จุดอ่อน อย่างไร ใครเป็นลูกค้า มีความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือไม่อย่างไร และในเวลาที่ผ่านมานานๆ (5-10 ปี) บริษัทหรือธุรกิจแบบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร เป็นต้น ตรงจุดนี้ นักลงทุนก็จะพอนึกภาพออกแล้วว่า ควรจะสนใจลงทุนเป็นเจ้าของบริษัทนี้หรือไม่

2. ผู้บริหาร - ธรรมาภิบาล
คนครับ คน คนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ทั้งทางสร้างสรรค์และทำลาย ในกรณีนี้ผมหมายถึงโดยตรงกับ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นเดิม ว่าคนเหล่านี้รักบริษัทของตัวเอง ซื่อสัตย์และมีความตั้งใจในการบริหารงานเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริงต่อลูกค้าของบริษัทจากการดำเนินงาน ไม่ใช่ว่าเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากราคาหุ้น หรือไม่ ผู้บริหารของบางบริษัท (ไม่ว่าประเทศไหน) เอาบริษัทเข้าตลาดมาเพื่อหาประโยชน์อย่างอื่น เช่นเข้ามาเพื่อ ซื้อๆ ขายๆ ทุบๆ ลากๆ ราคา หรือแอบๆ ซื้อขายหุ้น หรือหาผลประโยชน์อื่นใดให้กับตัวเองและพวกพ้อง ที่แย่กว่านั้นคือไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทไปเข้ากระเป๋าตัวเอง ก่อนที่จะแบ่งให้กับผู้ถือหุ้น แบบนี้ต้องหนีให้ไกลล่ะจ้ะ

3. กำไรได้ รอดได้ แม้มีแมวบริหารหรือทำงานให้
เพื่อนๆ อ่านถึงตรงนี้ คงบอกว่าคุณ มือเก่า หัดขับ นี้เพี้ยนไปหรือเปล่า แต่บางทีเราลืมเรื่องนี้ไปแล้วว่า ในสารพัดอุตสาหกรรมนั้น มีความยากและง่ายในการทำงานต่างกัน บางอุตสาหกรรมต้องการพนักงานที่มีความสามารถค่อนข้างธรรมดาๆ ก็อยู่รอดได้ มีกำไรและเติบโตได้บ้างตามควร บางบริษัท (พวกบริษัทไฮเทคฯ ทั้งหลาย) ต้องมีพนักงานระดับหัวกะทิ มาทำงานให้ จึงจะอยู่รอดได้ ทั้งเรื่องการบริหาร เรื่องเทคนิค เรื่องการเงิน การตลาด แบบนี้ก็เหนื่อยหน่อย อย่างน้อยก็ต้องเสียค่าจ้างแรงงานค่อนข้างแพง และที่สำคัญ ถ้าพวกเขาลาออกหรือเปลี่ยนตัว เราที่เป็นนักลงทุนก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้แมว (เอ่อ.. เป็นคำเปรียบเทียบนะครับ) มาบริหารให้เราจริงๆ

4. อึด ทน
ในการจะถือหุ้นนานๆ นักลงทุนคงต้องเลือกบริษัท/ธุรกิจที่สามารถทนทานการขึ้นลงของเศรษฐกิจได้ เป็นที่นิยมอยู่เป็นเวลานานๆ เป็นของพื้นฐานของธรรมชาติของลูกค้าที่จะต้องกิน ใช้ และ/หรือใช้บริการ เรียกได้ว่าอยู่ยงคงกระพันทั้งสินค้า/บริการ และตัวบริษัทนั่นแหละครับ มีบริษัทจำนวนมาก ที่ไม่สามารถทนทานกับการขึ้นลงของรอบเศรษฐกิจได้ ถึงคราวดีก็ดีใจหาย ถึงคราวแย่ก็ตกต่ำจนขาดทุนเป็นจำนวนมากหลายปีติดต่อกัน แบบนี้อาจจะไม่รอดได้ หากไม่สามารถบริหารเงินสดได้ดีพอ

5. กำไรจริงๆ นะ จ่ายปันผลด้วยล่ะ
เป็นบริษัทที่ มีกำไรสม่ำเสมอและมากพอที่จะจ่ายปันผลได้ในจำนวนพอสมควร ในขณะที่ยังมีเงินเหลือเก็บไว้ทำการต่อยอดธุรกิจของตัวเองอีกจำนวนหนึ่ง บางบริษัทแจ้งว่ามีกำไร แต่กำไรนั้นไม่ได้อยู่ในรูปของเงินสด ทำให้ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ ซึ่งเรื่องการไม่จ่ายปันผลนี้ไม่เท่าไร แต่ว่าอาจจะแสดงให้เห็นโดยทางอ้อมได้ว่า บริษัทนั้นขาดเงินสดในมือ อีกอย่างหนึ่งคือ เงินปันผลนี้ เป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้ ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับโดยตรงจากบริษัท และเป็นสิ่งที่ "ค้ำ" ราคาหุ้นนั้นๆ อยู่ไม่ว่าในระยะกลางหรือระยะยาว แต่ในระยะสั้น ก็ต้องทำใจว่าราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนในตลาด และสภาพแวดล้อมระยะสั้น รวมถึงการจัดการทำราคาจากใครบางคน

6. โตขึ้น โตขึ้น โตแล้วแตกได้ยิ่งดี
ต้องเป็นบริษัทที่เติบโต เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับอีกอย่างหนึ่งในการถือหุ้นนั้นไว้เป็นเวลานานๆ (และทำให้ไม่อยากขาย) บริษัทที่มียอดขายและกำไร (เน้นนะครับ ว่าทั้งสองอย่าง ท่านเชื่อหรือไม่ว่า บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งทั้งในเมืองไทยและแม้แต่สหรัฐอเมริกา เน้นย้ำนักหนาเรื่องการเพิ่มยอมขาย ทั้งที่ไม่ได้จำเป็นอะไร และหลงลืมดูไปเลยว่าตัวเองนั้นทำงานมากขึ้น เหนื่อยขึ้น โดยไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเลย) เติบโตขึ้นตลอดเวลา สิ่งนี้ล่ะที่จะทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่โตขึ้นแล้วแตกกิ่งก้านสาขาออกไป ยิ่งดีมากทั้งตัวบริษัทเอง พนักงานของบริษัท เนื่องจากมี carrier path ให้กับพนักงานที่มีคุณภาพและตั้งใจในการทำงาน สุดท้ายก็เป็นผลดีแก่ผู้ถือหุ้นครับ

7. ราคาที่ซื้อ
ต้องซื้อมาในราคาไม่แพงจนเกินไป เมื่อเทียบกับพื้นฐานของมัน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องมีการปนกันระหว่างการคาดเดา (เรื่องทางเทคนิคอล - Technical) และการคำนวณ (เรื่องทางพื้นฐาน - Fundamental) เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกลงทุนที่เรียกว่า Value Investment และเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากัน แต่อย่างไรก็ตามผมจะพยายามเขียนบทความเรื่องพวกนี้เพิ่มเติมไว้ตลอดครับ

Update ความรู้เกี่ยวกับหุ้น และการลงทุน วันนี้
"การลงทุนโดยพิจารณามูลค่า - การวิเคราะห์เชิงปริมาณ"
ด้านล่างสุดของสารบัญ ด้านขวามือครับ