วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเพิ่มทุนจดทะเบียน

ในหลายๆ ช่วงที่ผ่านมา แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ เราอาจจะได้ยินข่าวเรื่องของการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทต่างๆ อยู่ตลอดเวลา วันนี้เราจะมาลองดูว่า การเพิ่มทุนนั้นมีข้อดีและข้อเสียอะไรอย่างไรบ้างกันนะครับ


การเพิ่มทุนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ผู้ถือหุ้นจะต้องควักกระเป๋าตัวเอง เอาเงินใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อยังสามารถคงสัดส่วนการถือหุ้น (กำจัดผลจาก dilution effect) เอาไว้ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทที่ดี (เลิศ) ควรจะสามารถสร้างเงินสดได้ด้วยตัวเอง ทั้งเพื่อการขยายงานในอนาคต และ/หรือ เพิ่มกำลังการผลิต หรือการออกสินค้าใหม่ ฯลฯ โดยไม่ต้องรบกวน
ผู้ถือหุ้น แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มทุน คือรบกวนกระเป๋าของผู้ถือหุ้น จริงๆ ก็จะต้องอธิบายให้ได้ว่าเงินนั้นเอาไปทำอะไร ให้เกิดประโยชน์กว่าการไม่รบกวนผู้ถือหุ้น หรือในทางกลับกัน หากผู้ถือหุ้นไม่ได้จ่ายเงินนั้นออกมา แต่เอาไปทำอย่างอื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่า การจ่ายเงินออกมากับการเพิ่มทุนนั้นให้ประโยชน์มากกว่าอย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้วราคาของหุ้นที่จะเพิ่มทุนก็จะสูงกว่าราคาหุ้นในกระดาน (ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีใครยอมไปจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ว่า แต่ซื้อเอาในกระดานดีกว่า) ผลที่เกิดขึ้นโดยทันทีคือ ราคาหุ้นในกระดานมักจะวิ่งเข้าหาราคาของหุ้นเพิ่มทุนที่ "เคาะ" ออกมา เราจะเห็นเรื่องแบบนี้ได้ในสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ครั้งแรคือเมื่อ บมจ. การบินไทย ทำการเพิ่มทุน ราคาหุ้นที่อยุ่ค่อนข้างนิ่งที่ 25 บาทเมื่อ มิ.ย.-ก.ค. 53 ก็ค่อยๆ  ขยับปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 53 ราคาขึ้นไปเป็นแตะ 42 บาท และก็ค่อยๆลดระดับราคาลงมาจนเหลือระดับ 36 บาทเมื่อบริษัทประกาศราคาขายหุ้นเพิ่มทุนที่ 31 บาทต่อหุ้นออกมาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 53 ซึ่งก็ยังคงสูงกว่าราคาขายของหุ้นเพิ่มทุนอยู่ดี และครั้งที่สองเมื่อ บมจ. ไทยยูเนี่ยนฯ ทำการ เพิ่มทุนที่ 50 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นในกระดานวิ่งขึ้นจากราวๆ 42 บาทต่อหุ้นไปเป็น 64 บาทต่อหุ้นสูงเหนือราคาของหุ้นเพิ่มทุน

การจะเคาะราคาหุ้นเพิ่มทุนออกมาที่ราคาเท่าไร จริงๆ แล้วก็จะต้องคำนวณจากการคาดการผลประกอบการณ์ของบริษัทในอนาคต ว่าจะมีความสามารถในการทำเงินโดยรวมเป็นเท่าไร (เมื่อมีเงินจากการเพิ่มทุนนั้นผสมเข้าไปด้วยแล้ว) ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีตัวเลขออกมาที่สวยงาม จึงจะสมควรทำการเพิ่มทุนได้ เช่น ถ้าบริษัท ABC ต้องการเพิ่มทุนที่ 10 บาทต่อหุ้น บริษัทอาจจะคำนวณ (หรือจ้าง third party มาทำการคำนวณ) แล้วว่า หุ้นแต่ละหุ้นของบริษัท (รวม dilution แล้ว) จะมีราคาเหมาะสมเป็น 15 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี DCF (เป็นต้น - ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้จะเต็มไปด้วยการประมาณ คาดการณ์ อนุมาน ต่างๆ อยู่ด้วย) ด้วยเหตุฉะนี้ การเพิ่มทุนจึงสำเร็จและมีนักลงทุนยอมซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น (ไม่นับว่าซื้อด้วยเหตุเก็งกำไรอื่น)

บางครั้ง การเพิ่มทุนแล้วสามารถทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีได้ แต่ก็ยังคงมีหลายบริษัท ที่ทำการเพิ่มทุนเพียงเพื่ออยู่รอด หรือล้างขาดทุนสะสมให้หมดไป ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็มีให้เห็นเหมือนกัน เป็นสิ่งที่พวกเรานักลงทุนจะต้องคอยสังเกตให้ดีครับ

Update ความรู้เกี่ยวกับหุ้น และการลงทุน วันนี้
คุยกันต่อในเรื่อง "งบดุล" วันนี้เรื่อง "ส่วนของผู้ถือหุ้น"
คลิ๊กที่ "การลงทุนโดยพิจารณามูลค่า - การวิเคราะห์เชิงปริมาณ"
ทางด้านขวามือครับ