วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

หุ้นกับการฝากเงิน


นานๆ ครั้ง มีเพื่อนบางท่านได้ถามถึงเรื่องของหุ้น เมื่อเทียบกับการออมในรูปแบบอื่นๆ ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สำหรับนักลงทุนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเป็นเวลานานแล้ว ย่อมรู้ความแตกต่างได้ดี อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีผู้ที่สนใจด้านการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้น น้องใหม่เหล่านี้ย่อมมีคำถามพื้นฐานเหล่านี้อยู่ในใจ วันนี้ผมก็ขอถือโอกาสอธิบายขยายความขึ้นสักเล็กน้อยครับ

ความเหมือนหรือแตกต่าง:

หุ้น ได้ปันผล มากน้อย แล้วแต่กิจการ อาจจะไม่ได้เลยก็ได้ ถ้ากิจการขาดทุน
หุ้น ขึ้นได้ ลงได้ ขึ้นกับความสามารถของกิจการเช่นกัน การขึ้นลงของหุ้น ก็เพราะคนในตลาดให้ค่าการต่อรอง ยอมซื้อ-ยอมขาย ที่ราคานั้นๆ
หุ้น สามารถมีราคาผิดไปจากที่ควรเป็นได้ หากตลาดประเมินผิดไป
ดังนั้น หุ้น ไม่เหมือนกับ การฝากเงิน อย่างแน่นอน


การฝากเงิน ส่วนมากแล้ว (ดูเหมือนว่า) จะรับประกันได้เลยว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้ แต่หุ้น ไม่รับประกัน อาจจะได้มากกว่า หรือน้อยกว่าปันผลที่เคยจ่ายๆ กันมาก็ได้ขึ้นกับผลการดำเนินงาน นโยบายการจ่ายปันผลที่อาจจะเปลี่ยนไป ความจำเป็นของบริษัทที่จะต้องเก็บเงินสดไว้ใช้ในการขยายกิจการ เป็นต้น
แต่หุ้นก็ต่างจากการที่เราทำกิจการเอง เราสามารถเลือกเป็นเจ้าของธุรกิจที่โดยทั่วไปแล้วเราแทบจะไม่สามารถทำได้เองคนเดียวเลยเช่น สายการบิน โรงงานผลิตไฟฟ้าโรงกลั่น ธุรกิจหาและจัดหาถ่านหิน ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ แถมการทำธุรกิจเองยังต้องลุ้นว่าจะรอดหรือไม่รอด แต่การซื้อหุ้นร่วมเป็นเจ้าของของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วนักต่อนักแบบนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีโอกาสเจ๊ง หรือล้มหายตายจากไปยากกว่าที่เราทำเองเป็นไหนๆ

เปรียบเทียบกับการเข้าหุ้นกับเพื่อน ในการเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรสักอย่างหนึ่ง การที่เราเอาเงินของเราไปลงทุนกับเพื่อน สมมติว่าวันหนึ่งเราเปลี่ยนใจแล้ว อยากได้เงินไปทำอย่างอื่นเนื่องจากพบช่องทางธุรกิจที่ดีกว่า เราก็ไม่สามารถเอาเงินคืนกลับมาได้ง่ายๆ แต่หากเป็นการลงทุนในหุ้น เราก็เพียงพิจารณาว่าการขายหุ้นนั้นไป แล้วไปลงทุนโดยการซื้อหุ้นของบริษัทอื่นแทนนั้นคุ้มค่ากันไหม ถ้าคุ้มเราก็สามารถดำเนินการได้แทบจะโดยทันที (แต่นอนนอนครับว่า สำหรับผู้ที่มีความสามารถในเชิงธุรกิจแล้ว การประกอบกิจการเองนั้น ย่อมได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องยอมรับว่ามาพร้อมกับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน)

ในอีกแง่มุมหนึ่ง หากนักลงทุนสามารถคาดการณ์ความสามารถในการทำกำไรของกิจการได้ดี นอกจากปันผลที่ได้รับจากหุ้นแล้ว การที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นก็จะทำให้ราคาของหุ้นเพิ่มสูงมากขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว นักลงทุนที่มีความสามารถและอดทนรอคอยจนบริษัทของตัวเองเจริญก้าวหน้างอกเงยได้ ก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ผิดไปจากเงินต้นในบัญชีเงินฝากของธนาคาร ที่ไม่สามารถงอกเงยมากไปกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่านั้น

สำหรับการลงทุนในหุ้น ยังมีข้อคล้ายคลึงกับการฝากธนาคารบ้างเช่น ในกรณีที่นักลงทุน ต้องการใช้เงินบ้าง ก็ยังมีทางเลือกในการ "ขายกิจการบางส่วน" ซึ่งก็คือการขายหุ้นของตัวเองบางส่วนออกไป คือไม่จำเป็นต้องขายทั้งหมด แต่ขายแค่จำนวนที่ได้เงินมาในส่วนที่ต้องการเท่านั้น เช่นนี้จึงบอกได้ว่า หุ้นนั้นมีสภาพเทียบเท่ากับเงินสด ยิ่งถ้าใครถือว่าเงินสดคือโอกาส การลงทุนในหุ้นก็น่าสนใจ เป็นการใช้ให้เงินทำงานมากขึ้นกว่าการฝากธนาคารเฉยๆ

แต่ถ้าเราเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้น กับการลงทุนกิจการอื่นเช่นปลูกสร้างอพาร์ตเม้นต์ (ซึ่งก็มีข้อดีและเสียของตัวเองนะครับ ผมไม่ได้กำลังบอกว่าอะไรดีกว่าอะไรไปทั้งหมด) จะเห็นว่าหุ้นมีสภาพคล่องที่สูงกว่ามาก หากเราไม่พอใจในบริษัทที่เราลงทุนเป็นเจ้าของกิจการอยู่ การที่เราจะขายหุ้นนั้นแล้วเปลี่ยนไปซื้อหุ้นอื่น (คือไปเป็นเจ้าของกิจการอื่นแทน) ก็ง่ายกว่ามากและแทบจะทำได้ในทันที บางทีใช้เวลาไม่กี่วินาทีด้วยซ้ำไป ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นเช่นปลูกสร้างอพาร์ตเม้นต์แล้ว หากเกิดอะไรขึ้นกับที่ดิน หรือธุรกิจบริเวณนั้น การจะย้ายที่ดิน ตึก สิ่งปลูกสร้างหนีไป ย่อมทำไม่ได้ง่าย และหากต้องการขาย เปลี่ยนมือ เปลี่ยนใจ ไม่อยากทำต่อไปแล้ว ก็ทำไม่ได้ง่ายนัก หากเมื่อต้องการเงินเมื่อใช้คราวฉุกเฉินบ้าง จะตัดขายห้องของอพาร์ตเม้นต์ออกไป ก็ไม่ได้จะทำได้อีก แต่ในขณะที่การลงทุนในที่ดิน ก็มีข้อดีว่าหากเป็นทำเลที่ดีจริงแล้ว มูลค่าเพิ่มของที่ดินในอนาคตย่อมมีความเป็นไปได้สูง แต่ก็เป็นการทำกำไรเมื่อเกิดการขายเท่านั้นอยู่ดี

ทั้งนี้ ไม่มีอะไรเหนือกว่าอะไร การจะจัดพอร์ตการลงทุนของแต่ละบุคคล ก็จะต้องเหมาะสมกับสภาพของนักลงทุนแต่ละท่านครับ