วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

หุ้นสภาพคล่องต่ำ - ลงทุนไหวหรือ



ถ้าเรามองดูหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทุกวันนี้ อาจจะแบ่งออกตามสภาพคล่องได้ด้วยเช่นกัน ก็คือหุ้นสภาพล่องสูง ปานกลาง และหุ้นสภาพคล่องต่ำ โดยที่สองแบบแรกนั้นเราคงไม่มีคำถามกับมันมากนัก แต่กับหุ้นแบบที่สามที่มีสภาพคล่อต่ำถึงต่ำมากนี่สิ หลายครั้งที่เราต้องการซื้อหรือขายก็มักจะมีคำถามในใจเสมอว่าจะไหวหรือ ซื้อก็ยากขายก็ยาก แล้วจะไปขายใครเป็นต้น จนไม่นานมานี้ผมก็ได้รับจดหมายจากเพื่อนนักลงทุนท่านหนึ่งที่สอบถามเกี่ยวกับแนวคิดและความรู้สึกที่มีต่อหุ้นสภาพคล่องต่ำนี้ ว่าจะลงทุนได้หรือไม่อย่างไร และผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีจึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมด้วยในบล็อกนี้

จริงๆ แล้วถ้าเรามองที่ตัวบริษัทแล้ว สภาพคล่องของหุ้นไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับความสามารถในการทำกำไร การเติบโต การรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทหนึ่ง ๆ เรื่องนี้คิดว่าพวกเรานักลงทุนเกือบทุกคนคงทราบกันอยู่แล้ว และถ้าเรามาพิจารณาดูว่าสภาพคล่องที่ต่ำนั้นเกิดจากอะไร เราอาจจะเห็นอะไรดีๆ ในนั้นก็ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นได้อยู่ในมือของผู้ที่ไม่ยอมซื้อๆ ขายๆ เป็นประจำอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นกองทุนต่างๆ อาจจะเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนทั้งในแง่เงินปันผลและในแง่ของการเติบโตของราคาหุ้น และที่น่าสนใจที่สุดที่เป็นเรืองที่ดีสำหรับหุ้นสภาพคล่องต่ำก็คือ หุ้นได้อยู่ในมือของเจ้าของเก่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราคงเดาได้ไม่ยากนักว่าทำไมหุ้นยังอยู่ในมือพวกเขา โดยคำตอบก็น่าจะเป็นเพราะเขายังเห็นความสามารถและความเป็นไปได้ในการเติบโตของบริษัท การได้รับปันผลจำนวนมาก นั่นก็คือเป็นบ่อเงินบ่อทองสำหรับเขานั้นเองซึ่งก็ย่อมจะต้องพยายามรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี (ทั้งนี้ ต้องดูว่าไม่มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่นซื้อๆ ขายๆ หรือทำราคาขึ้นลงโดยได้ประโยชน์โดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วเราก็ทราบได้ยาก) และข้อดีของหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำก็คือ เมื่อผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้น ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นได้ไม่ยากเนื่องจากมีหุ้นหมุนเวียนในปริมาณน้อย ใครที่อยากได้ก็ย่อมจะต้องยอมซื้อที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการของอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง

อีกอย่างหนึ่งที่ดูแล้วน่าจะเป็นข้อดีและเหมาะกับนักลงทุนรายย่อยก็คือ หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำนั้นมักจะไม่เป็นที่สนใจของกองทุนหรือคนโดยทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำให้บรรดาบริษัทตัวแทนค้าหลักทรัพย์และนักวิเคราะห์ทั้งหลายมักไม่ให้ความสนใจ ไม่ออกบทความวิเคราะห์ออกมาบ่อยนัก (ความไม่ดีจุดนี้ก็คือเราจะต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเอง วิเคราะห์กันเอง) แต่เรื่องดีก็คือ การที่ไม่มีใครสนใจนั้นมักจะทำให้ราคาของหุ้นนั้นๆ "ผิดไปจากค่าของมันที่เป็น" และความผิดปกติที่ว่านี้ก็มักจะเป็นไปในลักษณะ "ราคาถูกกว่าค่าที่แท้จริง" ตรงกันข้ามกับหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงที่บรรดากองทุนทำกำไรต่างๆ ให้ความสนใจกันมาก ก็มีคนวิเคราะห์กันมาก ทำให้ราคาที่อยู่บนกระดานมักเป็นราคาที่ "ถูกต้อง" หรือแม้จะเป็นราคาแพงเกินไปก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว ด้วยปริมาณจำนวนเงินของนักลงทุนรายย่อย ก็คงไม่สามารถซื้อหุ้นในปริมาณที่มากมายมหาศาลได้ หุ้นสภาพคล่องที่ว่าต่ำนั้นอาจจะเพียงพอกับเงินที่มีที่จะทำการซื้อขายได้อย่างสบายด้วยซ้ำไป

สำหรับนักลงทุนหลายๆ คนแล้ว การขายเป็นเรื่องที่คู่กันกับการซื้อ นั่นคือซื้อมาแล้วก็ต้องขาย แต่สำหรับบางคนแล้วเมื่อซื้อของดีมาได้ในมือแล้ว ความคิดในการขายนั้นยังไม่เกิดขึ้นมาเลยเมื่อทการซื้อของดีชิ้นนั้นๆ เราคงบอกไม่ได้ว่าแบบไหนเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือแบบไหนเป็นเรื่องที่ผิด เพราะความต้องการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน โดยส่วนตัวแล้วผมอาจจะจัดอยู่ในประเภทที่สองก็ได้นะครับ คือเมื่อได้ของดีที่เป็นห่านทองคำ ออกไข่เป็นทองคำตลอดเวลาในปริมาณที่มาก ก็คงมีความคิดที่จะจัดการกับ "ไข่ทองคำ" ที่ออกมามากกว่าจะจัดการกับ "แม่ห่านทองคำ" ที่ออกไข่ให้กับผม ดังนั้นแน่นอนครับว่าการซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ เราจะต้อง "รู้ล่วงหน้า" แล้วว่าเราจะขายหุ้นนั้นออกไปได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคตก็ได้เช่น เมื่อใดที่บริษัทนั้นเติบโตมากขึ้น สภาพคล่องที่เคยเห็นว่าต่ำก็อาจจะสูงขึ้นได้เมื่อมีคนสนใจมากขึ้น และถ้ามองในแง่ของการซื้อเพื่อลงทุน การเข้าลงทุนซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำต่างๆ นี้ เราก็คงไม่สามารถเข้าซื้อได้ทีละมากๆ แต่เป็นลักษณะของการทะยอยซื้อ ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นเราก็ยังพอมีโอกาสที่จะขายออกมา (เมื่อสิ่งที่คิดว่าจะเป็น ผิดไปจากที่เราคิดไป) ได้อยู่

ส่วนการขายหุ้นออกจริงๆ นั้น เมื่อบริษัทเติบโตขึ้นมาก จนหุ้นขึ้นไป 5-6 เท่าหรือมากกว่านั้น และจ่ายปันผลเป็นจำนวนมากหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อนั้นเราอาจจะลืมความต้องการในการขายหุ้นนั้นไปเลยก็ได้ หรือแม้แต่เมื่อต้องการขาย จำนวนที่จะต้องขายเพื่อให้ได้เงินมาทำอะไรสักอย่างหนึ่งตามต้องการ ก็อาจจะน้อยกว่าตอนที่ซื้ออยู่หลายเท่าก็ได้ (เพราะราคาหุ้นได้ขยับสูงขึ้นไปมาก)

บางที ความลับของการลงทุนสำหรับบางคนก็คือ การพยายามหาหุ้นที่ถูกลืม หุ้นสภาพคล่องต่ำๆ ที่นักวิเคราะห์ไม่รู้จัก แต่มีศักยภาพในการเติบโตในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก (ซึ่งก็เหมาะกับการซื้อของรายย่อย เพราะสภาพคล่องส่วนที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้วกับปริมาณเงินของเราที่จะเข้าไปซื้อได้) แล้วจัดการเข้าไปซื้อลงทุน ถือกินปันผลแล้วรอให้บริษัทนั้นเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเองครับ