ถ้าจะว่าไปแล้วก็คงไม่มีบริษัทไหนที่ต้องการตั้งขึ้นมาแล้วขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาดหลักทรัพย์ก็ตามที แต่เมื่อดำเนินกิจการไปแล้วเกิดสิ่งที่ไม่คาดหวังคือรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ก็เกิดการขาดทุนขึ้น เมื่อขาดทุนบ้างกำไรบ้างแต่ขาดทุนมากกว่ากำไร ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ขาดทุนสะสม" ในบทความที่แล้ว (การลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม) เราคุยกันไปถึงการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม ก็คงคลายความสงสัยว่าทำไมถึงต้องเพียรพยายามล้างการขาดทุนสะสมที่มีอยู่ เพราะดูๆ ไปบริษัทก็สามารถทำกิจการได้เป็นปกติดีไม่ได้ล้มหายตายจากไป เหตุผลก็เพราะต้องการให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของบริษัทได้นั่นเอง แต่บังเอิญนึกขึ้นได้ว่ายังมีอีกหลายกรณีที่บริษัทจะต้องทำเพื่อสามารถล้างขาดทุนสะสมและสามารถจ่ายปันผลได้ จึงคิดว่าน่าจะเขียนให้ต่อเนื่องกันเพื่อให้ครอบคลุมน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เลยนำมาเล่ากันต่อในคราวนี้
ย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการขาดทุนสะสม (จะเห็นในงบแสดงสถานะทางการเงิน หรืองบดุล งบการเงินอื่นไม่เห็นนะครับ) จะเห็นว่า:
1. ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยลง เพราะ
ส่วนของผู้ถือหุ้น = ทุนเรือนหุ้น + ส่วนเกินมูลค่าหุ้น +/- กำไรหรือขาดทุนสะสม (ถ้ากำไรก็ + เพิ่มไป ถ้าขาดทุนก็ - ออกไปเรื่อย)
โดย
ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือส่วนต่างของราคาหุ้นที่ขายให้กับผู้ถือหุ้น (แล้วบริษัทก็ได้เงินสดมา) กับราคาพาร์ของหุ้น หรือเรียกว่ากำไรจากการขายหุ้นได้แพงกว่าราคาพาร์ก็ไม่น่าจะผิดไปเท่าไร เงินส่วนนี้ก็ไม่ได้ไปไหนหรอกครับ แต่อยู่กับบริษัทเหมือนกับทุนเรือนหุ้นที่เป็นรายได้จากส่วนที่ขายหุ้นที่ราคาพาร์นั่นเอง
2. เมื่อมีการขาดทุนสะสม บริษัทจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ บริษัทที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้จะต้องไม่มีการขาดทุนสะสมคงเหลืออยู่
และยังมีข้อจำกัดพิเศษอยู่อีกหนึ่งข้อคือ
3. บริษัทจะสามารถจ่ายปันผลได้จะต้องไม่มีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้น (แม้ตรงนี้ไม่มีเขียนไว้ชัดเจนใน พรบ. บริษัทมหาชน แต่ในหลักและมาตรฐานการบัญชีแล้วจะต้องไม่มีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นเหลืออยู่ กลต. เองก็จะเพ่งเล็งตรงนี้ด้วย) นั่นคือถ้าบริษัทระดมทุนขายหุ้นออกไปที่ราคาต่ำกว่าราคาพาร์ (ถ้าสูงกว่าก็แล้วไป) บริษัทก็ได้เงินน้อยลงมาทำกิจการแต่บางทีก็จำเป็นเพราะถ้าขายหุ้นแพงโดยไม่มีส่วนลดให้ก็ไม่มีใครซื้อ ซึ่งทำให้ต้องหาเงินมาเติมส่วนนี้ให้เท่ากับหรือมากกว่าราคาพาร์เสียก่อน อาจจะด้วยการเพิ่มทุน (ด้วยราคาหุ้นสูงกว่าราคาพาร์) หรือลดพาร์ลงก็ได้ จึงสามารถจ่ายปันผลได้ (การลดทุน ก็ต้องบอกเจ้าหนี้ก่อนด้วย)
วิธีล้างขาดทุนสะสมมีหลายวิธีคือ
1. ก้มหน้าก้มตาทำธุรกิจให้ดี ดีขึ้น ให้มีกำไร และนำกำไรจากผลประกอบการค่อยๆ ล้างขาดทุนสะสมออกไป วิธีนี้ดีแต่ใช้เวลานาน คนทำงานหรือผู้ถือหุ้นก็อาจจะต้องคอยกันนานหน่อย
2. เงินส่วนอื่นที่ชดเชยได้
ที่จริงแล้วบริษัทมีเงินอื่นอีกคือ เงินสำรองอื่น, เงินสำรองตามกฏหมาย (มาตรา 116), และส่วนเกินมูลค่าหุ้น ที่สามารถนำมาล้างขาดทุนสะสมได้ โดยการชดเชยผลขาดทุนสะสมจะต้องหักจากเงินสำรองอื่นๆ ก่อน แล้วจึงหักจากเงินสำรองตามกฎหมาย จากนั้นจึงหักจากส่วนเกินมูลค่าหุ้น (มาตรา 51) ตามลำดับ โดยวิธีการข้อสุดท้ายหรือการหักจากส่วนเกินมูลค่าหุ้นก็คือข้อ 3 ด้านล่างนี้
3. ลดทุนจดทะเบียน เช่นที่เราได้คุยกันไปในบทความที่แล้ว วิธีนี้ทำให้มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นเหลือขึ้นมาและนำไปใช้ล้างขาดทุนสะสมได้ วิธีนี้ดีในกรณีที่บริษัทมีราคาพาร์สูงซึ่งสามารถลดลงได้ แต่ก็ไม่ช่วยในเรื่องเงินสดในการดำเนินงาน (คือ มีเท่าเดิม หรือไม่มีเท่าเดิมนั่นเอง) ถ้าอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องใช้วิธีกู้เอาแทน
4. เพิ่มทุน โดยการจดทะเบียนเพิ่มทุนและออกขายหุ้นใหม่ในราคาสูงเกินราคาพาร์ (ต้องเกินราคาพาร์) จากนั้นจึงขออนุมัติเอาส่วนเกินราคาพาร์ (ส่วนเกินมูลค่าหุ้น) มาลดหรือล้างขาดทุนสะสม วิธีนี้มีข้อดีคือบริษัทได้เม็ดเงินจริงๆ มาดำเนินกิจการด้วย แต่ก็ต้องรบกวนผู้ถือหุ้นที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินออกไป
วิธีที่ล้างขาดทุนสะสมไม่ได้ (เน้นว่า ไม่ได้) คือการ "กู้เงิน" ไม่ว่าจะกู้ด้วยวิธีใดก็จะอยู่ในส่วนของการสร้างหนี้สิน แต่การขาดทุนสะสมนั้นยังอยู่ อาจจะมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงินเป็นบวกเข้ามา แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการขาดทุนสะสม และถ้ามีการขาดทุนสะสมค้างอยู่ก็จะไม่สามารถจ่ายปันผลได้
การจ่ายปันผล
ไหนๆ ก็คุยเรื่องปันผลไปหลายคำ เลยขอแถมเรื่องการจ่ายปันผลเสียเลยว่ามีบัญญติไว้ชัดเจนตามกฏหมายในเรื่องนี้คือ การจ่ายเงินปันผลต้องมาจากเงินกำไรเท่านั้น จะนำมาจากเงินประเภทอื่นไม่ได้รวมทั้งในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล (มาตรา 115 พรบ) และทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผลต้องเก็บเงินไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิประจำปีหักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุนจดทะเบียน เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องมีทุนสำรองมากกว่านั้น (มาตรา 116) เป็นไงครับ เป๊ะเลยว่าเราต้องทำแบบนั้น
พรบ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
มาตรา 115: การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร จะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล เงินปันผลนั้นให้แบ่งตามจำนวนหุ้น หุ้นละเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะมีข้อบังคับ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ โดยการจ่ายเงินปันผลต้องได้รับ อนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้ทำได้ คณะกรรมการอาจจ่ายเงินปันผล ระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะ ทำเช่นนั้นและเมื่อได้จ่ายเงินปันผลแล้ว ให้รายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบใน การประชุมคราวต่อไป การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือคณะกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ถือหุ้นกับให้ โฆษณาคำบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลนั้นในหนังสือพิมพ์ด้วย
มาตรา 116: บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุน สำรองไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของกำไรสุทธิประจำปีหักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสม ยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุน จดทะเบียน เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องมีทุนสำรอง มากกว่านั้น
มาตรา 51: “ในกรณีที่บริษัทจะเสนอขายหุ้นสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ บริษัทต้องให้ผู้จองหุ้นส่งใช้จำนวนเงินที่สูงกว่ามูลค่าหุ้นพร้อมกับเงินค่าหุ้น และนำค่าหุ้นส่วนที่เกินนี้ตั้งเป็นทุนสำรองส่วนล้ำมูลค่าแยกต่างหากจากทุนสำรองตามมาตรา 116”