วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

High Risk - High Return เสมอไปจริงๆ หรือ


ทุกครั้งที่ผมได้ยินคำนี้ พาลอดคิดไปถึงการพนันขันต่อไม่ได้ โดยในทั่วไปของการพนันนั้น มักจะมีการ "ต่อ" และ "รอง" เกิดขึ้น จนทำให้ผลตอบแทนรวมที่ได้มักจะจูงใจพอที่จะมีการพนันกันเกิดขึ้น ในหลายๆ ครั้งการต่อและการรองที่เกิดขึ้นก็ทำให้ความเสี่ยงและผลตอบแทนมีระดับพอๆ กัน และในอีกหลายๆ ครั้งเช่นกันที่ ความเสี่ยงและผลตอบแทนก็ไม่พอดีกัน โดยที่ผู้ได้รับผลประโยชน์รวมมากที่สุดก็คือเจ้ามือนั่นเอง

ย้อนกลับมาในเรื่องของการลงทุน เรามาลองพิจารณาความเสี่ยง และผลตอบแทนแยกจากกันทีละส่วนดังนี้

Risk (ความเสี่ยง)


เมื่อเทียบกับการทำงานเป็นลูกจ้าง, เทียบกับการทำงานส่วนตัว, เทียบกับการทำธุรกิจส่วนตัว หรืออย่างอื่น ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า การทำอะไรเอง ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อคนเราเริ่มต้นธุรกิจใหม่เลยตั้งแต่เริ่่มต้นและไม่มีความชำนาญ ยิ่งมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นไปอีก และที่สำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ การนำเงินที่มีอยู่เพื่อเริ่มธุรกิจของเราเองนั้นหลายกรณีจะต้องใช้เงินจำนวนมาก และเมื่อผิดพลาด การจะ "คัทลอส" ทำได้ยากหรือแทบจะไม่ได้อะไรเหลือกลับมา มูลค่าซากแทบไม่มีก็มีโอกาสเป็นไปได้มาก จะเห็นได้ว่า การทำธุรกิจเองนั้น ในหลายกรณี เสี่ยงกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทดีๆ ในราคาที่เหมาะสมมากโขอยู่ อย่างน้อย ธุรกิจที่ดี ที่เราเลือกแล้ว ก็คงจะถึงกับขาดทุนจนล้มหายตายจากไปได้ยากกว่าการทำธุรกิจส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความเสี่ยงก็จะต่ำกว่าการทำงานหรือธุรกิจส่วนตัวในระดับหนึ่ง

Return (ผลตอบแทน)


คราวนี้เรามาลองดูในด้านของ Return กันบ้าง ว่าเราอยากให้เป็นขนาดไหนอย่างไร เราจะต้องไม่ลืมว่า การทำงานส่วนตัว, ทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องลงเงิน (หลายกรณีต้องลงเงินเป็นจำนวนมากกว่าการซื้อหุ้นด้วยซ้ำไป) และยังต้องลงแรงที่เป็นต้นทุนเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งต้องนำมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย ว่าจริงๆ แล้วได้ค่าตอบแทนเป็นจำนวนสัดส่วนร้อยละเท่าไร ในความเป็นจริง ผลตอบแทนที่ได้จากการทำงานส่วนตัวจะได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่ายังคงเป็นการทำงานอยู่ดี (ลักษณะของ self-employed คือจะได้ค่าตอบแทนจากค่าแรงของตัวเอง) ในขณะที่ผลตอบแทนที่ได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว (คือมีคนอื่นมาช่วยทำงาน) อาจจะมากกว่าในกรณีที่มีจำนวนคนที่มาช่วยงานเป็นจำนวนมาก (เป็นการดำเนินงานในลักษณะของธุรกิจและได้รับผลตอบแทนที่เรียกว่า surplus หรือส่วนเกิน จากการทำงานของคนอื่น)

ต่อไปเราลองมาพิจารณาในเรื่องของการลงทุนโดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นอย่างไรกัน

สำหรับท่านที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นเวลานาน คงไม่ต้องอธิบายมากถึงเรื่องของราคาของหุ้นแต่ละตัวที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน เพราะท่านเหล่านั้นจะทราบดีว่า ราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับสารพัดเหตุ โดยที่ในหลายๆ ครั้งก็ไม่ถูกต้องตามสิ่งที่ควรเป็น ถ้าฟังดูแล้วไม่เข้าใจ ก็อาจจะอธิบายง่ายๆ เพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นสูงเกินไปจากการปั่นหุ้นขึ้นไป หรือราคาต่ำเกินไปจากการทำราคาให้ต่ำลงมากๆ เพื่อเก็บของ (เรียกเป็นภาษาตลาดฯ ว่าการทุบหุ้น) เป็นต้น (หากจะให้อธิบายวิธีการปั่นหุ้น และการทำราคาหุ้นลงเพื่อการเก็บของ คงจะต้องเขียนแยกออกเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก) นอกจากการมีคนทำราคาให้ผิดปกติแล้วนี้ ก็อาจจะเกิดจากสภาวะแวดล้อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการซื้อหรือขายอย่างบ้าคลั่งด้วยความกล้าหรือความกลัว (Panic-Buy คือไล่ซื้อไม่ว่าจะราคาเท่าไรอาจจะเพราะว่ากลัวตกรถ, หรือ Panic-Sell คือการขายทุกราคาไม่ว่าจะราคาถูกแค่ไหนเพราะกลัวรถจะคว่ำ) ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน

ดังนั้นเราจะเห็นว่า ความผิดปกติของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นได้นี้ เป็นไปได้ในสองทิศทางคือ หุ้นของบริษัทหนึ่งๆ มีราคาแพงเกินไป หรือมีราคาถูกเกินไป ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีสภาวะผิดปกติเกิดขึ้น โดยสภาวะที่นักลงทุนประเภท "คอยจ้องหาโอกาส" จะชอบใจเป็นพิเศษก็คือเมื่อ "หุ้นมีราคาถูกเกินไป(มาก)" เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อมีอะไรก็ตามทำให้นักลงทุนทั่วไปเกิดความกลัว เทขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ถ้าผสมกับการไม่มีใครต้องการซื้อหุ้นนั้นด้วยแล้ว ราคาของหุ้นดังกล่าวจะยิ่งตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนที่ได้ทำการบ้านมาแล้ว ได้เตรียมตัวให้พร้อมอยู่แล้วและรู้ว่าหุ้นของบริษัทใด ควรมีราคาทีแท้จริงเท่าไร มีทักษะในการเข้าซื้อหุ้นและปรับพอร์ตการลงทุน และมีเงินเหลือรอไว้พร้อม ก็สามารถใช้โอกาสที่ตลาดไม่มีเหตุผลนี้ เข้าซื้อหุ้นที่หมายตาเอาไว้นั้นได้ในราคาที่มีส่วนลดมากๆ จากนั้นก็มีความสุขกับการรับผลประโยชน์โดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนักครับ

โดยสรุปแล้วก็คือ



1. ในเวลาปกติ เมื่อตลาดมีเหตุผล ราคาของหุ้นอาจจะพอใกล้เคียงกับค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น
2. ในบางช่วงเวลา เมื่อตลาดมีเหตุผลน้อยลง หุ้นสามารถที่จะมีราคาที่ไม่ถูกต้องได้
3. นักลงทุนที่ฉลาด จะต้องทำการบ้าน ศึกษาบริษัทต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้า และสามารถรู้ได้ว่า ราคาหุ้นที่เหมาะสมของบริษัทหนึ่งๆ ควรจะเป็นเท่าไร
4. นักลงทุนชั้นเลิศ จะต้องเตรียมเงินไว้พร้อม และมีความอดทนเป็นเลิศ เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่ตลาดไม่มีเหตุผล ยอมตั้งราคาขายหุ้นของบริษัทชั้นดีในราคาที่ต่ำกว่าที่สมควรที่รู้อยู่ในใจแล้วมากๆ จะได้มีโอกาสเข้าซื้อหุ้นนั้นได้ในราคาต่ำกว่าค่าที่แท้จริงของมัน

ในที่สุดแล้ว ในระยะยาว ราคาของหุ้นใดๆ ก็จะเป็นไปตามผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ เอง โดยที่หากนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำเป็นพิเศษ ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เทขาย (ผมอยากเรียกว่า เทกระจาด เหลือเกิน) ในที่สุดท้าย ก็จะได้ทั้งผลประโยชน์ทางด้านปันผล (ที่คิดเป็นอัตราที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากสามารถซื้อหุ้นมาได้ในราคาต่ำกว่าปกติ) และการสะท้อนกลับของราคากลับไปยังราคาที่เหมาะสมของมันเอง

กฏทุกอย่างมีข้อยกเว้นฉันใด High Risk - High Return ก็มีข้อยกเว้นฉันนั้น
การเตรียมตัวให้พร้อม หมายถึงการศึกษาล่วงหน้าในบริษัทที่สนใจ การรอคอย และการเตรียมทุนทรัพย์เอาไว้ เป็นวิธีที่จะได้มาซึ่ง Low risk, High return แต่ในขณะเดียวกัน หากเพื่อนๆ ไม่ได้ทำการบ้านให้ดี แต่ดูเพียงราคาขึ้นลงของหุ้นในการตัดสินใจซื้อขาย ก็สามารถกลายเป็น High risk, Low return ได้เช่นกันนะครับ


Update บทความวันนี้ (3 ก.พ. 54)
เรื่องพื้นฐานการลงทุนแนวคุณค่าเรื่อง "เกราะป้องกันธุรกิจ"
คลิ๊กที่ "การลงทุนโดยพิจารณามูลค่าของบริษัท (Value Investment)" ทางด้านขวามือครับ