วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทเรียนการตลาดข้างร้านอาหาร


สวัสดีวันแห่งความรัก และขอส่งความรักความปรารถนาดี ให้กับเพื่อนๆ ทุกท่านด้วยนะครับ

เมื่อช่วงวันหยุดเสาร์/อาทิตย์ ผมขับรถไปนั่งทานข้าวที่ร้านซอยแถวๆ บ้าน นำรถไปล้างด้วย ขณะที่นั่งทานก็มีคนขายของ เดินเข้ามาในร้าน เป็นแบบเดินขาย แต่ตรงจุดนั้นไม่น่าสนใจเท่าไรนัก แต่สนใจตรงสิ่งที่เขาขายต่างหาก ซึ่งก็คือ "ของเล่นเด็ก" เป็นลักษณะโมบายล์ สำหรับให้เด็กเล่นทำนองนั้น ผมนั่งทานข้าวอยู่มองแล้วก็คิดในใจว่า ของแบบนี้ ในสถานที่แบบนี้ น่าจะไม่ขายง่ายเท่าไร และก็เป็นจริงดังว่าคือ ขายไม่ได้ (อย่างน้อยก็ในร้านที่ผมกำลังทานข้าวอยู่ ทั้งๆ ที่มีเด็กอายุราวๆ 4-6 ขวบสองสามคนวิ่งอยู่ คงเป็นลูกหลานของเจ้าของร้านและบ้านใกล้เรือนเคียง)

เรื่องเล็กๆ นี้ทำให้ผมนั่งคิดต่อถึงเรื่องว่า การขายอะไรก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นที่ต้องการ และลูกค้าจำเป็นต้องใช้ในบัดนั้นแล้ว การขายจะง่ายขึ้นมาก เรียกว่าต้องถูกของ ถูกคน ถูกที่และถูกเวลา เปรียบไปกับบริษัทที่มีสินค้าและ/หรือบริการต่างๆ ถ้าเป็นของที่จำเป็น สำคัญ และเร่งด่วน พื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ก็จะมั่นคงไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่ถ้าเป็นบริษัทที่มีสินค้าและ/หรือบริการที่ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ ในช่วงเวลาวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือสภาวะเงินชะงักงัน บริษัทเหล่านี้ย่อมจะมีปัญหาได้

กับหุ้นก็เช่นกัน หุ้นของบริษัทที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ประชาชนทั่วไปจะต้องกิน ใช้ และหากโมเดลของธุรกิจนั้นมีกำไรสม่ำเสมอ ก็ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่พื้นฐานแข็งแกร่งทนร้อนทนหนาว เรียกได้ว่าเป็น defensive stock คือหุ้นเชิงรับ โดยทั่วไปนักลงทุนอาจจะเมินหุ้นพวกนี้เนื่องจากการเติบโตไม่เด่นชัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหุ้นเหล่านี้โต จะโตแบบแน่นอนและแน่นหนา ไม่โตขึ้นแล้วยุบลงแบบหุ้นวัฏจักรทั่วไป ในบางจังหวะ การสะสมหุ้นที่เรียกว่า defensive stock ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจได้ โดยเฉพาะในยามที่ราคาของหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงมาอย่างไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานครับ

บทความวันนี้ (14 ก.พ. 54)
ต่อกันในเรื่อง "การพิจารณาคุณภาพในการบริหารจัดการ"
คลิ๊กที่ "การลงทุนโดยพิจารณามูลค่าของบริษัท(Value Investment)" ทางด้านขวามือครับ