วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Cut Loss (ตอนที่สอง - ทำอย่างไร)

 

ขอเขียนถึงเรื่องการ Cut Loss อีกทีเป็นตอนที่สองก็แล้วกันนะครับ เพื่อให้ครอบคลุมสมบูรณ์มากขึ้น เพราะบางที เราน่าจะพิจารณาเรื่องการนิยามความหมายของคำว่า Cut Loss กันให้ดีและถ่องแท้สักหน่อยนะครับ

คำว่า Cut Loss ประกอบไปด้วยคำสองคำคือ
Cut แปลว่า ตัด ทำให้ขาดออกจากกัน ทำให้หมดความต่อเนื่อง
Loss แปลว่า สูญเสีย หายไป ขาดทุน

เมื่อสองคำนี้มารวมกัน ก็มีความหมายถึงการ "ขายเพื่อต้ด หรือ หยุดการขาดทุนที่จะเกิดขี้นต่อไป"

เมื่อเราใช้กับการลงทุนในหุ้น (ในที่นี้ผมขอยกตังอย่างจำเพาะกรณีที่ซื้อหุ้นมาก่อน เพื่อหวังให้ราคาหุ้นสูงเพิ่มขึ้นไปแล้วจะได้กำไร หรือเรียกว่า "long" เท่านั้นเพื่อควมมง่ายในการอธิบาย ส่วนขาด้านตรงกันข้ามคือ "short" ก็เพียงเป็นด้านตรงกันข้ามเท่านั้น) คำนี้ก็หมายความตรงๆ ตัวก็คือ เป็นการขายหุ้น ในกรณีที่ซื้อหุ้นมาแล้ว ราคากลับลดต่ำลงมาก และเกิดการขาดทุน โดยที่แนวโน้มของราคาก็ยังคงลดต่ำลงเรื่อยๆ อีก จึงต้องตัดสินใจขายหุ้นออกไปก่อน เพื่อไม่ให้การขาดทุนเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อใดที่ขายหุ้นออกไป เมื่อนั้นก็จะเกิดการขาดทุนที่เกิดขึ้นจริง (realized loss) คือเสียเงินจริงๆ นั่นล่ะ

ข้อดีของการขายหุ้นเพื่อตัดหรือหยุดการขาดทุนที่มากขึ้น มีข้อดีก็อย่างที่ชื่อมันบอกล่ะครับก็คือมันจะ

1. "หยุดการขาดทุนที่มากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้" (และก็อาจจะไม่เกิด) ในกรณีที่เมื่อขายไปแล้ว และหุ้นปรับราคาลดลงต่อไป นักลงทุนก็จะคงดีใจที่ได้ขายหุ้นนั้นออกไป เพราะว่าหากถืออยู่เอาไว้ก็คงจะต้องขาดทุนมากกว่าจุดที่ได้ขายออกไปแล้วนั้น 

2. การที่ได้เงินกลับมา เป็นเงินที่สามารถนำไปใช้หา หรือ ฉวยโอกาสในการซื้อหุ้นอื่นที่มีโอกาสปรับราคาขึ้นไปได้มากๆซึ่งในหลายๆ โอกาสก็ดีกว่าการอมหุ้นที่ราคาร่วงหล่นตกแล้วตกอีก โดยที่บางครั้งหุ้นเหล่านั้นก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนใดๆ ในรูปของปันผล เรียกได้ว่าถือไว้ก็ไม่ได้อะไร สู้ขายหุ้นไปแล้วใช้เงินนั้นในการเก็งกำไรอย่างอื่นอีกหลารอบเพื่อทำกำไรกลับคืนมาน่าจะดีกว่า

แต่ใช่ว่าการขายหุ้นตัดขาดทุนนี้จะไม่มีข้อเสียเสียเลยทีเดียว อย่างที่ผมอาจจะสรุปออกได้เช่น

1. เราต้องไม่ลืมว่า เมื่อได้ขายหุ้นเพื่อตัดขาดทุนออกไปในราคาที่ต่ำกว่าที่ได้ซื้อมา นักลงทุนได้ขาดทุนเรียบร้อยแล้ว การขาดทุนนั้นเกิดชึ้นจริงๆ และจะต้องจำให้ได้ด้วยว่า การขาดทุนที่เกิดขี้นนั้นเป็นเงินจำนวนเท่าไร เมื่อทำการลงทุนในหุ้นต่อไป หรือรอบต่อไป นักลงทุนจะต้องตรวจดูว่า ทุนเดิมก่อนการลงทุนจริงๆ เป็นเท่าไรก่อนการขายตัดขาดทุนไปนั้น เพื่อที่จะทำกำไรให้ได้มากเกินกว่านั้นชดเชยกลับมา บางคนซื้อหุ้นมา หนึ่งแสนบาท ขายตัดขาดทุนที่ 10% เหลือ เก้าหมื่นบาท นำเงินเก้าหมื่นบาทนี้ไปลงทุนหุ้นตัวใหม่ เมื่อหุ้นขึ้นมาได้ 7% ก็ขายทำกำไรเสีียแล้วทั้งๆ ที่หุ้นก็ยังมีท่าทีที่จะปรับตัวขึ้นต่อไปอีก แบบนี้รวมความแล้วก็ยังขาดทุนอยู่ ต้องไม่ลืมที่จุดนี้ด้วย บางที คัทไป ซื้อหุ้นใหม่ ขายทำกำไร ซื้อหุ้นอีกตัวหนึ่ง ขาดทุน ขายตัดขาดทุน นำเงินไปซื้อหุ้นอีกตัว พอได้กำไรนิดหน่อยขาย ทำไป ทำมา เหลือเงินน้อยลงๆ แบบนี้จนไม่รู้ตัวเลยนะครับ

2. ข้อนี้เป็นข้อเสียที่เป็นตลกร้ายสำหรับการขายหุ้นตัดขาดทุนเลยทีเดียว คือ หลังจากขายหุ้นไปแล้ว หุ้นปรับตัวเพิ่มราคาขึ้น และเพิ่มขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา นักลงทุนจำนวนมากจะได้แต่มองตามปริบๆ เห็นราคาหุ้นที่เพิ่งขาย (และขาดทุนด้วย) ไปนั้น วิ่งเลยราคาที่ขาย และวิ่งเลยราคาที่ซื้อมาแต่แรก (เข้าใจว่า เป็นกันเยอะ ผมก็เป็นบ้างเหมือนกันในตอนแรกๆ) แบบนี้ นักลงทุนก็จะเสียโอกาสสองต่อ คืนแทนที่จะได้กำไรหุ้นนั้น กลับขาดทุนเสียได้ เรียกว่าซวยสองต่อก็ได้ครับ

ดังนั้นจะเห็นว่า สิ่งใดก็ตาม ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียของมัน การขายตัดขาดทุนนั้นมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสีย นักลงทุนก็จะทำตัวเองเพื่อให้ได้รับแต่ข้อดีของมันมใช้ คือขายตัดขาดทุน (อย่าให้ขาดทุนมาก) เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุนจำนวนมาก แต่เมื่อได้ขายหุ้นเพื่อตัดขาดทุนไปแล้ว และเห็นว่าหุ้นนั้นได้หยุดการไหลลงของราคา และนักลงทุนยังคิดว่ามันเป็นหุ้นที่ดี ก็ควรที่จะต้องกลับเข้าไปซื้อกลับมา ซึ่งด้วยเงินจำนวนเท่ากัน นักลงทุนจะได้หุ้นจำนวนมากขึ้น (คือลงไปซื้อที่ราคาที่ต่ำกว่าที่ได้ขายตัดขาดทุนออกไป) หรือหากซื้อหุ้นกลับมาด้วยเงินทั้งหมดที่ได้มา ก็จะได้หุ้นเป็นจำนวนที่มากขึ้น

ซึ่งวิธีการดังกล่าว ยังคงเป็นที่แนะนำอย่างมากกับหุ้นที่เรียกว่าเป็นหุ้นปันผล ยิ่งเป็นหุ้นที่นักลงทุนได้คำนวณมูลค่าหรือราคาต่อหุ้นมาเป็นอย่างดีแล้วว่า ต้องมีราคาเหมาะสมที่สูงกว่าราคาตลาดที่ซื้อมามาก การขายตัดขาดทุนนั้นเป็นสิ่งที่"ทำได้" แต่จะต้องระวังให้มาก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว จุดที่นักลงทุนมือใหม่ๆ จะขายตัดขาดทุน มักจะเป็นจุดที่หุ้นลงจนสุดและใกล้ที่จะกลับตัวแล้ว ดังนั้นเมื่อขายออกไป แล้วหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมา จะต้องซื้อคืนอย่าได้หวั่นไหว โดยเฉพาะหุ้นที่มีพื้นฐานมั่นคงและจ่ายปันผลสูง

แต่หากเป็นหุ้นที่เรียกว่า "หุ้นปั่น" ที่มีลักษณะพื้นฐานก็ไม่ดี ข่าวลือ (ดีๆ ที่ทำทีท่าแบบว่าลับสุดยอด แต่ดันหลุดรอดมาถึงห้องค้าได้) เยอะ ทั้งที่หนี้สินรุงรัง กำไรไม่มี แต่ทำราคาขึ้นไปแบบไม่เคยมีมาก่อน แบบนี้เมื่อขายตัดขาดทุนไปแล้ว การจะเข้าไปรับกลับคืนมานั้น ขอให้ใช้ความระวังถึงสองเท่าเลยนะ หากลองเข้าไปแล้ว "โดน" อีกเป็นรอบทีสอง ก็ขอให้ดูให้ดีอีกทีว่าอันตัวเรานั้น อาจจะมีดวงอันไม่สมพงษ์กับคนทำราคาก็ได้ ก็ขอให้เจ็บตัวแค่สองรอบเป็นพอ

จะอย่างไรก็ตาม เรื่องที่เขียนเล่ามานั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญ และหลายๆ ครั้งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของหุ้นที่แต่ละท่านซื้อขายอยู่ด้วยนะครับ นักลงทุนแต่ละคนอาจจะมีความชำนาญในหุ้นแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน บางคนดูหุ้นกลุ่มพลังงาน ดูดีอย่างไรแล้วก็ตาม เข้าไปทีไร เจ็บตัวออกมาทุกที ในขณะที่บางคน หลับหูหลับตาซื้อหุ้นกลุ่มเดียวกันนี้อย่างไรก็ได้กำไร ในขณะที่คนที่เสียเชิงหุ้นพลังงานนั้น เมื่อเข้าๆ ออกๆ กลุ่มการเงิน กลับได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคน และกับหุ้น ว่าถูกโฉลกกันหรือไม่ นักลงทุน ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหุ้นทั้งตลาดหรอกครับ เพียงขอให้เรารู้จักหุ้นกลุ่มที่เราถนัด ได้สัก 2-3 บริษัท และรู้ว่าตัวเราเองควรจะหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มไหน ตลอดจนมีความรู้ความชำนาญในการลงทุนตามสมควร เท่านั้นก็พอแล้วในการที่เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ (ความเห็นส่วนตัวนะครับ)