วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Cut Loss หรือไม่ Cut Loss

 
ช่วงนี้ (ขณะที่เขียนนี้คือ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554) หุ้นไทยเหมือนถูกกระหน่ำขายแบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้เลย ทั้งที่ดูพื้นฐานโดยทั่วไปของเศรษฐกิจแบบที่พึ่งพาตัวเอง ผลิตของที่เป็นสิ่งจำเป็น (ของกิน ของใช้) ไม่ว่าจะส่งออกหรือผลิตใช้กันแต่ภายในประเทศ เมืองไทยของเราก็น่าที่จะสามารถเติบโตต่อไปได้ แม้จะช้าสักหน่อยแต่ก็ไม่ได้ถึงกับถดถอยลง เรื่องที่หุ้นมีราคาปรับตัวลดลงตอนนี้ เลยดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับบ้านเราเป็นหลัก เพียงแต่เพราะกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่ขายหุ้นไทยออกมาอย่างหนัก ความเป็นไปได้หนึ่งก็คือ การโยกเงินไปยังที่ๆ (น่าจะ) ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งหากดูสภาพของตลาดหุ้นยุโรป และอเมริกาที่ปรับตัวลดลงมามาก (กว่าเรา) ในช่วงที่ผ่านมา โอกาสรีบาวด์ระยะสั้นย่อมมีสูงกว่าที่เมืองไทย

ช่วงที่หุ้นตกนี้ เพื่อนๆ ก็ได้มีการถกถึงเรื่องของการขายตัดขาดทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดนะครับ เพราะว่าหุ้นบางตัวนั้น พื้นฐานได้เปลี่ยนไป หรือด้วยราคาและจำนวนหุ้นที่มีอยู่ ที่สามารถซื้อมาได้ในราคานั้น มีจำนวนน้อยมาก จนเมื่อถือเอาไว้ก็ไม่ได้ปันผลหรือผลประโยชน์อะไรมากนัก หรือแม้กระทั่งซื้อหุ้นที่ไม่มีปันผล (เช่นบริษัทกำลังอยู่ในสภาวะขาดทุน) แบบนี้การขายหุ้นออกไปก่อนก็น่าจะเป็นความคิดที่ดี
ยกตัวอย่างตัวผมเอง ขายตัดขาดทุนหุ้นการบินไป ตั้งแต่ราคาราวๆ 28 บาทโดยขาดทุนไปราวๆสามช่อง เนื่องจากว่าไม่แน่ใจว่าเมื่อถือไว้แล้วจะได้ปันผลหรือไม่ อีกตัวอย่างหนึ่งคือหุ้นเกี่ยวกับการกลั่น ที่ผมเองขายตัดขาดทุนไปที่ราคาราวๆ 37 บาท โดยขาดทุนที่ราวๆ สามช่องเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าผมซื้อเพราะต้องการเก็งกำไร และระดับของปันผลที่ได้ ต่ำเกินกว่ามาตรฐานที่ผมต้องการ และปันผลระดับต่ำเช่นนั้น หุ้นสามารถปรับตัวลดลงได้อีกมาก นับถึงวันนี้ หากไม่ขายตัดขาดทุนหุ้นทั้งสองบริษัทนี้ออกไปก่อน ท่าทางอาจจะลำบากเหมือนกัน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าทั้งสองบริษัทนี้จะไม่ดี หรือราคาของหุ้นที่กล่าวมา กำลังจะปรับตัวลงต่อไปอีกนะครับ ไม่แน่ว่าจากจุดนี้ อีกสองสาม หรือหนึ่งสัปดาห์ หุ้นอาจจะปรับตัวขี้นสูงเลยจุดที่ผมขายตัดขาดทุนไปก็ได้ ดังนั้นขอให้เพื่อนๆ นักลงทุนได้ศึกษา หาข้อมูล และตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่งนะครับ

ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น ตัดสินใจได้ง่าย ที่จะขายตัดขาดทุนออกไป หากในหลายครั้ง มีกรณีที่ตัดสินใจได้ยาก เพราะว่าสภาพแวดล้อมไม่ได้ชัดเจนอย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างไว้ด้านบน เนื่ิิองจากหุ้นตกลงมาทั้งตลาด ทำให้หุ้นของบริษัทที่เราได้คัดสรรอย่างดีแล้ว ปรับตัวลดราคาลงมาด้วย แบบนี้นักลงทุนก็จะพิจารณาให้ดีว่า เราได้ตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นไว้ด้วยเหตุผลอะไร เช่นหากเราซื้อหุ้นนั้นเพราะว่ามีการจ่ายปันผลในอัตราที่สูงอย่างสม่ำเสมอ และแนวโน้มการทำกำไรของบริษัทก็ยังคงดีอยู่ (แถมบางทียังเติบโตต่อด้วยซ้ำไป) เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น สิ่งที่น่าจะทำคือเพียงการขายช็อตและรับซื้อกลับมาด้วยราคาที่ต่ำกว่า หรือหากขายไม่ทัน หรือไม่สามารถเฝ้าได้ก็อาจจะใช้วิธีค่อยๆ ขายออก แล้วค่อยๆ รับกลับมา การขายออกไปแล้วไม่สนใจอีกเลย และเมื่อเวลาผ่านไปสักหนึ่งหรือสองเดือนแล้วหันกลับมาดูอีกครั้งหนึ่งและเห็นหุันนั้นมีราคาสูงกว่าที่ซื้อครั้งแรกเสียอีก เป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจเป็นอย่างมาก

เราอาจจะสังเกตได้ว่า ช่วงเวลานี้ หุ้นดีๆ ที่จ่ายปันผลสูงย่างสม่ำเสมอ (ผมหมายถึงทั้งสม่ำเสมอ และจ่ายสูงระดับ 7-8% ขึ้นไป) และมีแนวโน้มของการทำกำไรได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ได้ปรับตัวลดลงมาจำนวนมาก หากนักลงทุนที่มีความพร้อมในการซื้อหุ้นเหล่านี้เข้ามาเก็บในพอร์ต ก็ถือว่าเป็นการเก็บดาวที่ร่วงหล่นลงมาจากฟ้า การที่เรียกว่า "รับมีด" นั้น สำหรับผมแล้ว ผมหมายถีงการซื้อหุ้นที่เพิ่งปรับราคาลดลงมา โดยที่หุ้นนั้นเองไม่ได้มีพื้นฐานอะไรที่ดี และมีการจ่ายปันผลที่ต่ำ ผมมองว่านี่คือปัญหาสำคัญของตลาดหุ้นไทย ที่หุ้นที่เรียกว่าพื้นฐานดี ถูกซื้อไล่ราคาขึ้นไปจนสูงมากๆจนกระทั่งเหลืออัตราการจ่ายปันผลที่ต่ำมาก ดังนั้นเมื่อค่าตอบแทนในการถือหุ้นไว้ไม่คุ้มกับการขายทิ้งทำกำไร ทำให้ผู้ที่มีหุ้นนั้นเป็นจำนวนมาก ทำการขายหุ้นทำกำไรในวันนี้ ดีเสียกว่าการถือไว้และรับผลประกอบการของบริษัท และสุดท้ายก็ทำให้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ไทย แกว่งไหวมากมายอย่างที่เราเคยเห็นกันจนชาชิน

ขอให้ทุกท่านโชคดีและผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้นะครับ