เมื่อสักพักใหญ่ที่ผ่านมา มีเพื่อนบางท่านได้สอบถามไว้ในเว็บไซต์พันทิป ว่าทำไมเมื่อดูตารางผลประกอบการของบริษัทบางบริษัทแล้ว เห็นว่าตัวเลข ROA (Return on Asset - ผลกำไรที่ได้เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของบริษัทที่มีอยู่) มีค่าสูงกว่า ROE (Return on Equity - ผลกำไรที่ได้เมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของของบริษัท) ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วสินทรัพย์ มักจะต้องมีตัวเลขสูงกว่าส่วนของเจ้าของ (ยกเว้นว่าบริษัทนั้น ขาดทุนสะสมมากมายจนหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนของเจ้าของไม่เหลือหรอหรือติดลบด้วยซ้ำไป) ดังนั้นเมื่อคิดคำนวณแล้ว ถ้าบริษัทไม่มีหนี้เลย ตัวเลข ROA และ ROE ก็น่าจะเท่าๆ กัน และยิ่งถ้าบริษัทกู้มากขึ้น ตัวเลข ROE ก็จะต้องมากขึ้นไปอีก แล้วทำไมตัวเลข ROA จึงจะสูงกว่า ROE ไปได้ล่ะ?
ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ของไทยเราตัวเลข ROA ที่แสดงไว้จะเป็นตัวเลขที่คำนวณผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ก่อนหักภาษี ในขณะที่ตัวเลข ROE นั้นเป็นตัวเลขของผลตอบแทนหลังจากหักภาษีมาแล้วบริษัทที่หนี้น้อยๆ หรือว่ามีการ leverage ต่ำมากๆ จึงอาจจะมีตัวเลขของ ROA สูงกว่า ROE ได้
โดยเหตุผลที่ทางตลาดฯ ทำแบบนั้นก็นัยว่าเพื่อให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบบริษัทได้ง่ายขึ้นเนื่องจากว่าลักษณะการจ่ายภาษีของบริษัทต่างๆนั้นไม่เท่ากันครับ แต่ผมก็ว่ามันยังเปรียบเทียบกันยากอยู่ดี ดังนั้นในฐานะนักลงทุนแล้ว เราก็ควรจะต้องคำนวณตัวเลขพวกนี้เองอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนครับ
หมายเหตุ
สำหรับรายละเอียดเรื่องการคำนวณ ROA และ ROE ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูได้จากด้านล่างนี้นะครับ
การคำนวณ ROA
สำหรับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ
ROA = กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ * 100 / รวมสินทรัพย์ (เฉลี่ย)
สำหรับธุรกิจอื่นๆ
ROA = กำไรก่อนภาษีเงินได้ * 100 / รวมสินทรัพย์ (เฉลี่ย)
โดยที่ "รวมสินทรัพย์ (เฉลี่ย)" จะถูกคำนวณได้จาก
ค่าเฉลี่ยรายปี = [ยอดสิ้นสุดงวดปีก่อนหน้า + ยอดสิ้นสุดงวดปีปัจจุบัน] / 2
ค่าเฉลี่ยรายไตรมาส = [ยอดสิ้นสุดไตรมาสในปีก่อนหน้า + ยอดสิ้นสุดไตรมาสในปีปัจจุบัน] /2
การคำนวณ ROE
ROE = กำไรสุทธิ * 100 / รวมส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ (เฉลี่ย)
"ส่วนของผู้ถือหุ้น (เฉลี่ย)" จะถูกคำนวณโดยใช้สูตรดังนี้
ค่าเฉลี่ยรายปี = [ยอดสิ้นสุดงวดปีก่อนหน้า + ยอดสิ้นสุดงวดปีปัจจุบัน] / 2
ค่าเฉลี่ยรายไตรมาส = [ยอดสิ้นสุดไตรมาสในปีก่อนหน้า + ยอดสิ้นสุดไตรมาสในปีปัจจุบัน] /2