วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

กับดักความเคยชิน


การที่คนเราทำอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเวลานานๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดความเคยชิน บางครั้งก็เป็นเรื่องอันตรายที่ทำให้เราตกที่นั่งลำบากได้เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือเรื่องการทำงานกับเครื่องจักรเครื่องกล จะเห็นว่าอัตราอุบัติเหตุในการทำงานของพนักงานใหม่ๆ มักจะค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อพนักงานคนนั้นได้ทำงานไปสักพักหนึ่งจนเกิดความเคยชิน การเห็นอะไรซ้ำๆ กันอยู่ทุกวันก็อาจจะทำให้เกิดความละเลยในกฎหรือระเบียบแห่งความปลอดภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้ง่าย ดังอาจจะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุในการทำงานของพนักงานที่มีอายุการทำงานมาสักพักหนึ่งมักจะสูงขึ้น

นอกจากนั้นในด้านการลงทุน ความเคยชินก็อาจจะเป็นศัตรูหนึ่งของเราก็ได้เช่นกัน การที่นักลงทุนบางท่านเฝ้าเห็นราคาของหุ้นตัวหนึ่งๆ (หรือหลายตัวก็ตามที่สนใจและติดตามเฝ้าดู)​ จนทำให้เกิดความเคยชินกับราคาของหุ้นของบริษัทนั้น ก็อาจจะเป็นเหตุทำให้เราเสียเงินและเสียโอกาสได้เช่นกัน เนื่องจากการที่เราเห็นอะไรอยู่ทุกวัน นั่นทำให้เราคิดว่า "เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องถูกต้อง" (ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องรถจักรยานยนต์ที่วิ่งแทรกระหว่างช่องทางเดินรถนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องถูกต้อง แต่เมื่อเห็นกันทุกวัน ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้น จึงกลายเป็นเรื่องถูกต้องไป เป็นต้น)​

ผมเลยขอยกตัวอย่างที่ "ความเคยชิน" สามารถเป็นศัตรูของการลงทุนในสองแง่มุมให้เพื่อนๆ ได้พิจารณา และรู้เท่าทัน (ตัวเอง) ดังนี้นะครับ

1) ความเคยชินอาจทำให้เสียเงิน

ตัวอย่างนี้เช่น หุ้นที่มีข่าวดีชั่วคราว ราคาเปลี่ยนจากต่ำมาอยู่ที่ราคาสูงขึ้น และคงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาค่อนข้างนาน อาจจะด้วยการยังคงเป็นที่นิยมจากนักลงทุนบางกลุ่มหรือด้วยเหตุผลอื่นก็ตาม เมื่อราคาปรับลงมาเล็กน้อย นักลงทุนก็อาจจะเห็นว่าราคาถูกแล้วเนื่องจากเคยชินกับราคาที่ค่อนข้างสูงเป็นเวลานาน และเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้น แต่ผลการดำเนินงานกลับไม่เป็นไปตามที่ข่าวออกมา และหุ้นก็ยังคงปรับตัวลงต่ออีกเรื่อยๆ โดยที่นักลงทุนไม่ได้ขายตัดขาดทุนออกไป กรณีอย่างนี้ก็ทำให้เสียเงินได้ เนื่องจากการที่เข้าไปซื้อหุ้นนั้นไม่ได้ผ่านการพิจารณาว่าข่าวที่ได้ยินนั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือการที่ราคาปรับลดลงมานั้นเป็นไปด้วยเหตุผลอะไร (เช่น อาจจะมีผู้อื่นที่ทราบก่อนว่า ข่าวไม่เป็นจริง หรือผลประกอบการจะไม่ออกมาดีดังคาด เป็นต้น)

2) ความเคยชินอาจทำให้เสียโอกาส

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราเห็นหุ้นตัวหนึ่งมีราคาคงที่ อาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยเป็น และราคาคงตัวอยู่ในระดับนั้นเป็นเวลานาน เรามักจะคิดว่านั่นคือราคาปกติของมัน ราคาไม่ควรสูงกว่านี้หรอก แต่เมื่อราคาหุ้นนั้นมีปรับตัวขึ้น ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่ได้กลับไปตรวจสอบหาข่าวเรื่องเกี่ยวกับพื้นฐานหรือผลประกอบการของมัน เรากลับคิดว่าหุ้นนั้นมีราคาสูงไปแล้ว ไม่ควรเข้าไปซื้อ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นอาจจะเป็นการเห็นหุ้นนั้นปรับราคาสูงขึ้นไปอีกมากมาย เนื่องจากพื้นฐานของบริษัทได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก หากเป็นอย่างนี้ เราก็จะเสียโอกาสที่ดีในการลงทุนไป

จะเห็นได้ว่า ในการเป็นนักลงทุนที่ดีนั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคอยตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอคือ พื้นฐานของบริษัทที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรก่อนที่จะลงทุน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ หากเป็นบริษัทที่พื้นฐานไม่ดีจริง และ/หรือ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนระหว่างที่เราถือครองหุ้นของบริษัทนั้น (เช่นในรูปของปันผล เป็นต้น) การเปลี่ยนใจในการลงทุนเช่นการขายตัดขาดทุนออกไป ก็เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรแท้ของนักลงทุนเช่นกันครับ