พูดเรื่องความเสี่ยงแล้ว ใครๆ ก็คงไม่ชอบ เพราะฟังดูแล้วเหมือนกับว่าเราต้องสูญเสียอะไรไปสักอย่างหนึ่งเมื่อเราต้องเสี่ยงอะไรสักอย่างหนึ่งแต่ในความเป็นจริงของชีวิตเราทุกวันนี้ เราก็มีความเสี่ยงเป็นเพื่อนอยู่รอบๆ ตัวอยู่แล้ว (เช่น การเดินทางไปไหนมาไกนก็มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ, การรับประทานอาหารนอกบ้านก็มีความเสี่ยงที่จะท้องเสีย เป็นต้น) บางที เราก็ทำในสิ่งที่เสี่ยงอยู่เป็นประจำ และรับผลเสียจากความเสี่ยงนั้นอยู่แล้ว (เช่น บางคนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและไม่ถูกรางวัล, การขี่จักรยานโลดโผนแล้วล้มบาดเจ็บ เป็นต้น) หรือแม้แต่การรับความผิดพลาดไปโดยที่เขาคิดว่าการกระทำนั้นไม่มีความเสี่ยง (เช่น การเก็บเงินจำนวนมากไว้ในธนาคารโดยได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น)
ดังนั้นเวลาใครพูดว่าเสี่ยง ส่วนมากแล้วเป็นการพูดภายใต้สภาพของกรอบความคิดของตัวเอง ซึ่งก็อาจจะเสี่ยงจริงๆ นั่นแหละ เพราะเขาไม่มีความรู้ ความชำนาญ ในการนั้นๆ ดังนั้นคำว่า "ทำไม่ได้หรอก อย่าทำนะ เจ๊งแน่ๆ" เปึนคำพูดที่มาจากกรอบของผู้พูดเช่นกัน บางทีเลยอดคิดไม่ได้ว่า คนเรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเสมอหรือเปล่า (ใครทำไม่ได้กันแน่ คนพูดเองมากกว่านะ)
หันมามองทางด้านการลงทุนก็เช่นกัน การที่เราจะเลือกซื้อหุ้นของบริษัทไหน ที่ราคาเท่าไร จำนวนเท่าไร ถือไว้นานแค่ไหน หากซื้อแล้วราคาตลาดปรับตัวลดลง (หรือแม้แต่เพิ่มขึ้น) จะทำอย่างไร ด้วยผลสุดท้ลยคือต้องการทำกำไรเท่าที่ควรทำได้ ในกรอบเวลาที่ต้องการอันสมควรได้ (เราไม่พูดถึงว่าต้องได้มากที่สุด ต้องได้เร็วที่สุด เพราะล้วนเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้) การลดความเสี่ยงในการนี้ก็โดยการสร้างความรู้ ความชำนาญ และทักษะในสิ่งที่เรากำลังทำ
หากจะเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับเหมือนกับการขี่จักรยาน คนที่ขี่เป็นคงบอกว่า "เรื่องเล็ก สบายมาก" คือแทบไม่มีความเสี่ยงเลยที่จะล้ม ในขณะที่คนที่ขี่ไม่เป็นย่อมต้องบอกว่า "ไม่รอดแน่ เจ็บตัวชัวร์" เพียงแต่การใช้ความชำนาญในตลาดหลักทรัพย์นั้นเหมือนกับการขี่จักรยานบนพื้นที่กำลังเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงโดยไม่ให้ล้ม ซึ่งก็ต้องฝึกให้มากขึ้นอีกขั้นหนึ่งนั่นเอง
อย่าโลภเกินความรู้และความชำนาญ ถ้าโลภมากหน่อย ก็ต้องมีความรู้และความชำนาญมากหน่อย แต่หากโลภมากเกินตัวไปมาก ก็คงยากที่จะรอดแล้วล่ะ