พอพูดถึงคำว่า "นักลงทุน" ทุกครั้งทำให้ผมรู้สึกหวั่นใจได้เสมอ เพราะเป็นคำที่กินความหมายกว้างมาก เพราะโดยเนื้อแท้แล้วการลงทุนมีได้หลากหลายหลายรูปแบบ จะยกตัวอย่างก็เช่นการใช้เงินเข้าหุ้นร่วมกับเพื่อนแล้วทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะทำเต็มที่ซึ่งก็จะออกเป็นแนวการทำธุรกิจด้วย หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง ประมาณว่าออกเงินแต่ไม่ออกแรง หรือไม่มั่นใจว่าแรงและความคิดจะดีเท่าเพื่อน ก็ออกแต่เงินไป เป็นนายทุนให้ไปว่าอย่างนั้น แล้วรอเก็บดอกเก็บผลในรูปแบบต่างๆ ก็เรียกว่าเป็นการลงทุนได้เหมือนกัน แต่สำหรับพวกเราที่วนเวียนอยู่ในตลาดทุนอย่างเช่นตลาดหลักทรัพย์นั้น เรียกว่าเป็นการใช้เงินในการไปซื้อส่วนของกิจการที่เขาดำเนินงานอยู่แล้ว (ในทางเทคนิคหรือหลักวิชาเรียกว่า "ตลาดรอง") แล้วก็รอออกดอกออกผลให้เราได้รับประโยชน์กลับคืน แต่ในหลายกรณีก็มีนักลงทุนอีกส่วนหนึ่งที่สนใจในส่วนต่างของราคาหุ้นในระยะสั้น จึงทำการซื้อขายหุ้นเพื่อทำกำไรในระยะสั้น สั้นมาก หรือสั้นที่สุด (ยิ่งดี - เขาอาจจะมีความคิดแบบนั้น ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับถ้าทำกำไรได้อยู่) ต่างจากนักลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่หวังผลรอให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในระยะกลางหรือยาว และ/หรือ ต้องการผลตอบแทนจากการซื้อหุ้นในรูปแบบอื่น เช่น ปันผล, การได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาถูก, การได้สิทธิจองซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิต่างๆ เป็นต้น
พอย้อนกลับมาดูนักลงทุนส่วนที่สนใจในส่วนต่างของราคาหุ้นในระยะสั้น นักลงทุนเหล่านี้มักจะจับจ้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นรายนาทีก็มี และมีวิธีการสารพัดเทคนิคในการตัดสินใจซื้อและขายหุ้น (รวมถึงบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ที่ออกมาในปัจจุบัน เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือ Derivative Warrants - DW เป็นต้น) ที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น แต่หากเราพิจารณากันดูดีๆ บางครั้งก็อดสงสัยว่า ทำไมหนอราคาหุ้นจึงเปลี่ยนแปลงไปมาได้ถึง 10% หรือ 20% ต่อวัน ขึ้นบ้างลงบ้างสลับกันไปมาแบบนั้น ในขณะที่ก็ไม่เห็นว่าบริษัทจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะทำให้พื้นฐานเปลี่ยนไปได้ขนาดนั้น (หรือเปลี่ยนกลับไป กลับมา ได้ขนาดนั้น) ในทัศนะความเห็นของนักลงทุนแบบเน้นค่าของกิจการ (value investor) แล้วดูแปลกและไม่สมเหตุสมผลด้วยซ้ำและอะไรที่เข้าใจยาก ไม่สมเหตุสมผลนั้น ในสายตาของนักลงทุนแบบเน้นค่าก็จะบอกว่าไม่น่าจะเป็นการลงทุนที่ดี แต่แน่นอนว่าในอีกทัศนะของนักลงทุนแบบเน้นที่การเปลี่ยนแปลงของราคาแล้วล่ะก็ ต้องขอบอกว่า "สนุกฉันล่ะ" เพราะมีโอกาสในการทำกำไร (จริงๆ แล้วก็คือทำขาดทุนด้วย) ได้สูง
ดังนั้นถ้าเรามองดูภาพแบบรวมๆ ในตลาดแล้ว ก็คงแบ่งผู้คนที่อยู่ในตลาดได้เป็นหลายประเภทก็คือ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investor), นักลงทุนแบบเน้นราคา (price investor) นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิด และผู้คนในทั้งสองฝ่ายนี้ก็มีได้ทั้งแบบที่เก่งและไม่เก่ง ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ได้เช่นกันทั้งคู่ เพียงแต่เมื่อเราได้อยู่ในที่แห่งหนึ่ง เราก็ควรจะทราบว่าที่แห่งนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะทำให้เรามีความสุขหรืออย่างน้อยก็มีความเข้าใจในสภาพการณ์ของที่นั้นๆ ดีขึ้น จริงไหมครับ