วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

สร้างวินัยการออมเงินด้วยการลงทุนแบบประจำ



จริงอยู่ที่ว่าเงินทองนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา เพราะยังมีอาหาร ผู้คนรอบข้าง และสิ่งอื่นอีกมากมายที่ทำให้คนเรามีความสุขและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข เราต้องยอมรับว่าหลายอย่างไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงิน รวมทั้งหลายอย่างเราก็ไม่ควรพยายามใช้เงินซื้อด้วยซ้ำไป แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินก็สามารถใช้แก้ปัญหาได้หลายอย่างรวมทั้งสร้างความมั่นคงความสุขในชีวิตทั้งส่วนตัวและครอบครัวของเรา การที่จะเป็นคนมีเงินได้นั้นนอกจากจะต้องหาเงินเก่งไม่ว่าจะทำงานประจำทำการค้าขายใดก็ตามก็ยังจะต้องรู้จักนำเงินรายได้ส่วนที่ได้วางแผนไว้มาเก็บออมรวมทั้งทำให้งอกเงยอีกด้วย

การทำเงินให้งอกเงยเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เรามีความมั่งคั่งทางการเงิน และรักษาค่าของเงินที่เรามีเอาไว้ เพราะเราคงรู้จักคำว่า "เงินเฟ้อ" เป็นอย่างดี เงินเฟ้อทำให้เงินของเรามีค่าลดน้อยลงในเวลาข้างหน้า เราจึงต้องทำเงินให้งอกเงยด้วยการลงทุนที่มีโอกาสชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี ทั้งการนำไปลงทุนเองในธุรกิจ การนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยตัวเอง และการนำเงินไปให้ผู้ที่มีความชำนาญลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แทนเรา สำหรับคนที่มีเวลามากและมีความชำนาญสูง มีประสบการณ์ยาวนาน การทำธุรกิจก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่สำหรับมือใหม่แล้ว การทำธุรกิจย่อมแฝงไปด้วยความเสี่ยงมากมาย กว่าจะตั้งตัวได้ก็อาจจะล้มจนลุกไม่ขึ้นหรือใช้เวลานานมาก ยิ่งผู้ที่ทำงานประจำแล้วยิ่งยากที่จะมีเวลาทำธุรกิจใหญ่ๆ ได้ด้วยตัวเอง การลงทุนเองในตลาดหลักทรัพย์หรือตราสารทุนรวมทั้งตราสารหนี้ต่างๆ ก็ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ต้องฝึกฝน ดังนั้นในระหว่างที่ยังไม่พร้อมในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงด้วยตัวเอง ก็ยังมีทางเลือกอื่นในการลงทุนโดยอาศัยบริการของผู้ที่มีความชำนาญในการสร้างเงินให้งอกเงยแทนเรา การอาศัยบริการของกองทุนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามการออมเงินโดยอาศัยบริการของกองทุนนั้นก็ยังมีสิ่งที่นักลงทุนหรือผู้ฝากเงินจะต้องเรียนรู้เช่นกัน เพราะถ้าซื้อหน่วยลงทุนจำนวนมากๆ เพียงครั้งเดียวแต่เป็นจังหวะเวลาที่ไม่ดีคือหน่วยลงทุนมีราคาสูงอาจจะเพราะเป็นช่วงเวลาที่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์มีตัวเลขที่สูงพอดี ในเวลาต่อมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงก็จะทำให้ราคาของหน่วยลงทุนลดลงตามไปด้วยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ว่าลงทุนแล้วผลที่ได้ขึ้นกับกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์มากน้อยเพียงใด แต่จะว่าไปแล้วแม้ว่ากองทุนจะไม่ได้เลือกลงทุนด้วยวิธีการที่ทำให้ราคาของหน่วยลงทุนปรับตัวขึ้นลงตามดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม ราคาของหน่วยลงทุนก็ยังคงขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจของโลกนี้อยู่ดีไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ก็ตาม พูดง่ายๆ ก็คือการเลือกซื้อหน่วยลงทุนโดยหวังว่าจะซื้อได้ในราคาที่ต่ำ ต่ำมาก หรือต่ำที่สุดคงยากที่จะเป็นไปได้ในสภาวะปัจจุบันนี้ พอคิดไปกลัวมาว่าจะซื้อที่ราคาต่ำเพื่อให้ได้กำไรไม่ได้ ก็เลยไม่ได้เริ่มลงทุนเสียที นับว่าน่าเสียดายทีเดียว ทั้งเสียดายเงินที่บางทีเราก็นำไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์จริงไม่ได้มีโอกาสเพิ่มค่าของตัวเองให้มากขึ้นไปและเสียดายเวลาที่เงินนั้นสามารถไปทำงานแทนเราได้

โชคดีที่ผู้ออมเงินที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจแปรค่าไปมาได้แบบเรื่อยๆ เป็นประจำ ยังมีวิธีหนึ่งที่ถูกคิดค้นมาใช้กันเพื่อวัตถุประสงค์ให้ลงทุนได้ง่ายอยู่หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือวิธีที่เรียกว่า Dollar Cost Averaging หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า DCA นั่นเอง

หลักการของวิธี Dollar Cost Averaging นี้อธิบายง่ายๆ ก็คือการนำเงินมาลงทุนด้วยจำนวนเท่ากันทุกช่วงเวลาเดียวกัน (เช่น 1000 บาททุกๆ 15 วัน, 5000 บาททุกๆ 1 เดือน เป็นต้น) ไปซื้อหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนเป็นประจำด้วยเงินจำนวนนั้นเป็นประจำ นั่นหมายความว่าเมื่อใดที่ราคาของสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนมีราคาต่ำเราก็จะได้จำนวนสินทรัพย์หรือจำนวนหน่วยลงทุนเป็นปริมาณมากในการซื้อในครั้งนั้น และเมื่อใดที่ราคาของสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนมีราคาสูงขึ้นเราก็จะได้จำนวนของสินทรัพย์หรือจำนวนของหน่วยลงทุนเป็นจำนวนน้อยลงด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมนั้น การลงทุนในลักษณะแบบนี้ในท้ายที่สุดแล้วผู้ลงทุนจะมีสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่มี "ราคาเฉลี่ย" ระดับหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ใช่ราคาที่ต่ำสุดที่เคยเป็นแต่ก็ไม่ใช่ที่ราคาสูงสุดที่เคยเป็นของสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนนั้น และเมื่อเวลาผ่านไปย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาของสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนได้ซื้อสะสมเอาไว้และย่อมต้องมีช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งที่ราคาสินทรัพย์หรือราคาของหน่วยลงทุนในตลาดมีค่าสูงกว่าราคาเฉลี่ยของสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนได้ซื้อเพื่อลงทุนเอาไว้ นั่นคือผู้ลงทุนจะได้กำไรจากการลงทุนแล้ว

ข้อดีของวิธีลงทุนแบบ DCA

1. เป็นวิธีการลงทุนที่มีโอกาสได้กำไรสูงมากในช่วงระยะลงทุนพอสมควรที่ไม่สั้นเกินไป คือยาวนานกว่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนหนึ่งรอบ

2. เป็นวิธีที่ไม่ต้องการความชำนาญพิเศษใดๆ ของผู้ลงทุน ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการคาดการณ์เศรษฐกิจหรือสภาพแวดล้อม เพียงแต่ต้องมีวินัยทางการออมเงินจำนวนเท่ากันทุกระยะเวลาที่เท่ากัน เท่านั้นเอง ดังนั้นจึงเหมาะมากกับผู้ที่ทำงานประจำและ/หรือไม่มีเวลาในการหาจังหวะซื้อขายเพื่อการได้กำไร (ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และซื้อขายเก็งกำไรด้วยตัวเองจะทราบเรื่องนี้ดี)

3. ผู้ลงทุนสามารถเลือกจำนวนเงินที่เหมาะสมในการออมแบบลงทุนของตัวเองในแต่ละครั้ง และเลือกความถี่ห่างได้เองอีกด้วย บางคนอาจจะทุกหนึ่งเดือน หรือบางคนอาจจะทุก 15 วัน หรือบางคนอาจจะทุกสองเดือนก็แล้วแต่การวางแผนการออมของแต่ละคน
4. เนื่องจากผู้ลงทุนจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกระยะเวลาที่เท่ากันเพื่อกำไรในการลงทุนในท้ายที่สุด จึงเป็นการบังคับตัวเองให้มีวินัยในการออมเพื่อการลงทุนไปในตัว เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ก็จะไม่ได้กำไรนั่นเอง

ข้อเสียของวิธี DCA

แน่นอนว่าวิธีนี้ง่ายและมีอัตราความสำเร็จสูง แต่ก็ย่อมมีข้อเสียอยู่บ้าง

1. ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด นั่นคือไม่ใช่วิธีที่ได้กำไรมากที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสสูงที่จะได้กำไรแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลมากอยู่

2. วิธีนี้ยังมีโอกาสที่จะขาดทุนอยู่ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาของสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนมีราคาลดลงเรื่อยๆ ตลอดเวลาเป็นระยะเวลายาวนาน หรือสินทรัพย์นั่นมลายหายไป เช่น ถ้าสินทรัพย์นั้นเป็นหุ้นสามัญ ก็คือบริษัทขาดทุนจนเลิกกิจการและไม่มีสิ่งใดเหลือคืนแก่ผู้ถือหุ้น หรือในกรณีของกองทุนก็เช่น กองทุนขาดทุนจนล่มไป ซึ่งกรณีนี้เป็นไปได้ยากมากในปัจจุบันที่มีกฏหมายและระเบียบป้องกันไว้อย่างแน่นหนา หรือถ้าเป็นกองทุนที่อิงกับดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ก็คือดัชนีลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยไม่ฟื้นกลับขึ้นมาอีก ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบันมีธนาคารและสถาบันการเงินที่พร้อมที่จะให้บริการด้านการลงทุนในลักษณะต่างๆ และแน่นอนรวมทั้งวิธี Dollar Cost Averaging (DCA) พร้อมให้บริการอยู่ ผู้อ่านสามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของธนาคารได้ทันทีที่ต้องการซึ่งจะมีข้อดีแถมท้ายมาด้วยก็คือสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีบริการด้านนี้อยู่ด้วย ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ลิ้งค์นี้ครับ
http://www.krungsri.com/bank/th/Planyourmoney/dca.html

ด้านล่างนี้เป็นภาพประกอบน่ารักๆ ของการลงทุนแบบ DCA จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าลงทุนไปเรื่อยๆ เหนือยก็อย่าพัก ทำเท่าที่ทำได้ มีความสุข สุดท้ายก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงมากๆ นั่นเอง หากสนใจก็ลองติดต่อธนาคารได้นะครับ