สิ่งหนึ่งที่พวกเราซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายย่อยและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ควรจะทราบ (จริงๆ ก็น่าจะทราบอยู่แล้ว แต่คงต้องย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่ง) ก็คือ เราไม่สามารถควบคุมราคาหุ้นได้ เรียกง่ายๆ ว่ามันจะขึ้นหรือจะลงสิ่งที่เราทำก็คือสิ่งที่เราตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งตัดสินใจอยู่เฉยๆ (การอยู่เฉยๆ คือการตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ทำอะไรนะครับ ไม่ใช่ยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะตลาดนั้นดำเนินต่อไปโดยไม่รอเรา) ดังนั้นเมื่อเราซื้อหุ้นแล้ว โดยสรุปแล้วจะมีหนทางที่เราทำเมื่อราคาหุ้นเปลี่ยนไปได้คือ ขายทำกำไร, ขายตัดขาดทุน, ไม่ทำอะไร และ ซื้อเฉลี่ย ซึ่งในตอนนี้เราจะคุยกันเรื่องของการซื้อเฉลี่ยกัน
1. ซื้อเฉลี่ยขาลง
การ "ซื้อเฉลี่ยขาลง" เป็นสิ่งที่เพื่อนๆ นักลงทุนนึกถึงเป็นอย่างเดียวของการซื้อเฉลี่ยเลยทีเดียว เมื่อราคาหุ้นในตลาดตกต่ำลงหลายคนก็ซื้อเฉลี่ยเพื่อลดต้นทุนโดยรวมให้ต่ำลงซึ่งจะว่าไปก็จริง แต่ถ้าราคาหุ้นในตลาดลดลงต่อเนื่องไปอีก เราก็ขาดทุนอยู่ดี และขาดทุนมากขึ้นด้วย เพราะเอาเงินเติมเข้าไปมากขึ้นหากเราขายหุ้นนั้นออกไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง อย่างไรก็ตามการเข้าใจการซื้อเฉลี่ยว่ามีเพียง "ขาลง" อย่างเดียวนั้นเป็นความเข้าใจถูกเพียงครึ่งเดียว (คือผิดอีกครึ่งหนึ่งนั่นแหละ)
2. การซื้อเฉลี่ยขาขึ้น
นี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในการซื้อเฉลี่ย นอกจากการซื้อเฉลี่ยขาลงซึ่งอาจจะนำพาให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นได้ ก็ยังมีการ "ซื้อเฉลี่ยขาขึ้น" อีก (นี่คืออีกครึ่งส่วนที่หายไป) จะว่าไปเป็นเรื่องที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะแม้ว่าการซื้อเฉลี่ยขาขึ้นจะทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้น (ซึ่ง ถ้าราคาหุ้นในตลาดเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก หุ้นส่วนที่เราซื้อเพิ่มย่อมมีกำไรด้วย ทำให้ได้กำไรมากขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการซื้อเฉลี่ยนั้นจากประสบการณ์ผมมีข้อแนะนำต่อไปนี้คือ
1. ขาลงของหุ้นปั่น
ห้ามซื้อเฉลี่ยเด็ดขาด ถ้ารู้ตัวว่าซื้อหุ้นปั่น แล้วมันไม่ขึ้น ก็ต้องเตรียมขายตัดขาดทุน ถือกรรไกรไว้ในมือให้มั่น (อย่าลืมอ้าไว้ด้วย เดี๋ยวตัดไม่ทัน) หุ้นที่โดนทำราคาขึ้นมาโดยไร้พื้นฐานรองรับ หากถูกขายจนหมดแล้วย่อมร่วงหล่นเหมือนใบไม้ที่เหี่ยวเฉาแล้ว หาคำตอบไม่ได้เลยว่าเมื่อไรจะฟื้น
2. ขาลงของหุ้นดี มีปันผล ราคาเหมาะสมสูงกว่านั้นมาก
ถ้าลงเพราะลงตามตลาดแต่ไม่อยากขายแล้วซื้อกลับ หรือขายตัดขาดทุนตอนน้อยๆ ไม่ทัน จะขายก็เสียดาย เคยไหมครับ ขายปุ้บ เด้งปั้บเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านมาถึงต้นเดือนนี้ก็เห็นอยู่ (มีนาคม 2558 - ต้นเดือน เมษายน 2558) หุ้นลงมาหลายสิบจุด หลายคนถอดใจ สองวันต่อมาขึ้นไปหลายสิบจุดให้เจ็บใจเล่น ก็ซื้อเพิ่มได้ (เท่ากับได้ปันผลมากขึ้น) แต่ว่าต้องมีวิธีซื้อ คือให้มันกลับตัวก่อนแล้วค่อยซื้อเพิ่ม นี่ต้องว่ากันที่ว่าราคานั้นต่ำกว่าพื้นฐานพอสมควรนะครับ ไม่ใช่ว่าสูงกว่าพื้นฐานของมันแล้วยังหวังว่าจะให้มันขึ้นในเร็ววัน คงยาก
การลงทุนจึงต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ไว้ตั้งแต่แรกว่า ถ้าเป็นไปตามแผนจะทำอย่างไร ถ้าไม่เป็นไปตามแผนจะทำอย่างไร จริงๆ แล้วคือควรมีเงินสำรองเสมอ หรือถ้าไม่มีก็อาจจะต้องปรับพอร์ตก็ได้ คือแบ่งขายตัวอื่นที่ upside ต่ำกว่าหรือจ่ายปันผลน้อยกว่า ไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีกว่า เป็นต้น นี่คือข้อดีของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ คือเราสามารถโยกเงินไปมาได้เสมอครับ