วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มือเก่าหัดขับพาเที่ยว เขาใหญ่

น้ำตกเหวสุวัติ เขาใหญ่

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเที่ยวชมธรรมชาติในหลายจังหวัดในภาคกลาง และหลายครั้งก็ขับผ่านบริเวณที่เป็นที่รู้จักกันว่า "เขาใหญ่" ที่ถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีอาณาบริเวณกินพื้นที่หลายจังหวัดคือ สระบุรี นครราชสีมา นครนายก และปราจีนบุรี (แต่พื้นที่ก็น้อยกว่าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ที่เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทย) เนื่องจากมีพื้นที่และความสูงหลากหลายทำให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประกอบไปด้วยป่าไม้หลายชนิดคือ ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ทำให้มีพืชต่างๆ กว่า 3,000 ชนิด นกกว่า 350 ชนิด สัตว์ป่าอีกกว่า 70 ชนิด (ตอนที่ไป เห็นกวางเดินเล่นและเล็มหญ้าอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานอย่างสบายใจด้วย) ก็ต้องขอบคุณธรรมชาติที่แม้หน้านี้จะไม่ใช่หน้าน้ำอย่างเต็มที่นัก แถมมีข่าวภัยแล้งอยู่เนืองๆ น้ำตกเหวสุวัติก็ยังมีน้ำให้เห็นอยู่บ้าง เลยถ่ายภาพมาฝากกันสักหน่อยครับ

 
 
ความชุ่มฉ่ำของป่าและสายฝน
 
ผมออกเดินทางจากกรุงเทพไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในเวลาเช้าตรู่ เพื่อถ่ายภาพนกในตอนเช้า และเดินทางถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทางด้านจังหวัดนครราชสีมา เวลาก็ประมาณ 07:00 น. หลังจากชำระค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์และคน (คนละ 40 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท) เรียบร้อยแล้ว ก็ขับผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติและสามารถเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติได้แล้ว ในการไปครั้งนี้จุดประสงค์หลักคือต้องการพักผ่อนและถ่ายภาพนก ทันทีที่เข้าไปในบริเวณอุทยาน ก็จอดรถลงมายืดเส้นยืดสายรับอากาศยามเช้าซึ่งต้องบอกว่าเช้าจริงๆ กระทั่งไม่พบนักท่องเที่ยวอื่นขับรถเข้ามาเลย อุณหภูมิยามเช้ากำลังสบาย ในขณะที่กรุงเทพฯ คงจะร้อนประมาณ 30 องศา แต่อุณหภูมิที่อุทยานแห่งชาติกลับสบายๆ ที่ราวๆ 20-22 องศาเซลเซียสเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีเสียงร้องของนกตลอดสองข้างทางที่ขับรถเข้ามาตั้งแต่ถนนธนะรัชต์แล้วจวบจนถึงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ก็ยังไม่เบาเสียงลงเลย ณ บริเวณนี้ผมก็เก็บภาพของนกกลับมาได้บ้างเหมือนกัน

ไลเคน สาหร่ายและราที่พึ่งพาอาศัยกัน


การไปครั้งนี้ในบริเวณจุดชมวิวผาเดียวดาย ได้พบ ไลเคน (lichen) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากเห็ดราและสาหร่ายและพึ่งพาอาศัยกัน เส้นใยจากราก็ทอหุ้มห่อเซลล์สาหร่ายเพื่อปกป้องสาหร่ายเอาไว้ ส่วนเจ้าสาหร่ายก็มีคลอโรฟิลด์รับพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อปรุงอาหารแบ่งให้ราเหมือนเป็นค่าตอบแทน ช่างน่ามหัศจรรย์จริงๆ เราสามารถพบไลเคนได้ในบริเวณที่ไม่มีมลพิษเท่านั้น สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดมลพิษทางอากาศได้เป็นอย่างดี ขณะที่เดินลงไปนั้นเนื่องจากเป็นฤดูฝน จึงมีเมฆฝนปกคลุมไปทั่ว ถ่ายภาพออกมาเห็นเมฆหมอกเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน


 
 
 
 
ไว้คราวหน้า หากได้ไปเยือนอีก อาจจะลองค้างคืนในอุทยานแห่งชาติ หรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อถ่ายภาพนกและชีวิตป่าเพิ่มเติมมาฝากกันอีกนะครับ