วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กินอยู่ต่ำกว่าฐานะ - จุดเริ่มต้นของการลงทุน



เราคงเคยได้ยินคำทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในแบบภาษาอังกฤษว่า Live below your means หรือในภาษาไทยที่บอกว่า "อย่าทำตัวรวยจะไม่มีวันรวย ทำตัวจนจะไม่มีวันจน" อะไรประมาณนั้น (จริงๆ แล้วสำหรับคำที่สองนี้ ผมค่อนข้างมีข้อไม่เห็นด้วยในบางจุด แต่เอาไว้ก่อนครับ เดี๋ยวเราค่อยพูดเรื่องนี้ที่ด้านท้ายของเรื่องกัน) ซึ่งการกินอยู่ต่ำกว่าฐานะนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนและความร่ำรวยเลยก็ว่าได้

อย่างที่เราทราบกันดีในแง่ของการลงทุนในหุ้นว่า สิ่งแรกในงบการเงินที่เราควรจะดูเป็นพิเศษก็คืองบกำไรขาดทุน บริษัทที่มีกำไรที่แท้จริงจากการประกอบการ (ไม่ใช่จากการขายสินทรัพย์เก่า ที่ไม่ได้เป็นการประกอบกิจการตามปกติจึงเป็นรายได้ที่จะเกิดเพียงครั้งเดียว) และมีกระแสเงินสดจากการประกอบกิจการไหลเข้ามา ประกอบกับกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงินเป็นลบจากการทะยอยใช้หนี้ที่มี ย่อมแสดงความสามารถทางการเงินที่เป็นหลักของสิ่งต่างๆ ที่จะตามมา นั่นคือกิจการหาเงินได้มากกว่าที่จ่ายออกไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหนี้สินที่ลดลง (ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลง) และมีกำไรสะสมเกิดขึ้น
ย้อนกลับมาทางคนเราก็เช่นเดียวกัน คนเราทุกคนควรทำทุกวิถีทางให้เกิดสภาพที่เรียกว่า "งบประมาณเกินดุล" (budget surplus) ให้ได้ นั่นแปลว่าต้องสามารถหาได้มากกว่า การใช้ การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ และทะยอยจ่ายเงินต้นคืน และจ่ายภาษี (ในบางกรณีภาษีอาจจะลดลงได้บ้างหากมีหนี้สินจากการกู้ยืมซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย) รวมกัน และเป้าหมายสำคัญสำหรับบุคคลหนึ่งก็คือ การมีชีวิตอยู่โดยปลอดจากภาระหนี้สินที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนภายใต้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนอย่างแท้จริง การปลอดหนี้ย่อมแปลว่าเราไม่ต้องจ่ายเงินออกไปจากกระเป๋าให้กับคนอื่นอีกต่อไป ที่สำคัญกว่านั้นคือการมีเงินเหลือจะสร้างโอกาสให้สามารถลงทุนต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การทดลองทำธุรกิจ หรืออื่นใดก็ตาม

คราวนี้ย้อนกลับมาถึงคำพูดที่ผมบอกว่าผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนักกับคำที่ว่า "อย่าทำตัวรวยจะไม่มีวันรวย ทำตัวจนจะไม่มีวันจน" เพราะจริงๆ แล้วผมก็มีเพื่อนที่เรียกว่า "รวย" อยู่หลายคน ทุกคนล้วนแต่ทำตัวในรูปแบบหนึ่งคือ ขยัน ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ไม่จ่ายเงินมากกว่าที่ตัวเองหามาได้ ไม่ก่อหนี้โดยไม่เกิดประโยชน์ทางการลงทุน พยายามหาความรู้ทางธุรกิจการเงินการลงทุนอยู่เสมอ ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราหวังว่าจะให้กลุ่มคนที่เรียกว่า "คนจน" ปฏิบัติเพื่อให้เขาเหล่านั้นรวยขึ้นมาได้ ผมคิดว่าคำพูดที่ถูกต้องก็คือ "ถ้ายังจน จงคิดและทำตัวแบบคนรวย เพื่อจะได้มีโอกาสรวยบ้าง" น่าจะเป็นคำที่ถูกต้องมากกว่า แต่ปัญหาเรื่องนี้อาจจะเกิดจากการที่คนภายนอกมองคนรวย (ที่จะรวยจริงไหมก็ไม่ทราบได้) โดยผิวเผินและคิดว่าเขาจ่ายเงินมากก็คิดว่าสุรุ่ยสุร่ายทั้งที่จริงๆ แล้วเขายังจัดการ budget surplus ได้อยู่อย่างสบายนั่นเอง

อย่าลืมนะครับ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือบริษัท การจัดการงบประมาณหรือ budgetting เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจัดการได้ไม่ดี คือหาได้ไม่เท่าที่จ่ายออกไป ก็มีแต่จะเหี่ยวเฉาไปทุกวันนั่นเอง