งบการเงินถือเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนเข้าไปอยู่ใกล้ชิดบริษัทมากขึ้น หลายครั้งการมองดูงบการเงินอย่างละเอียดทำให้เราเห็นอะไรดีๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในบริษัท เผลอๆ แล้วสำหรับผู้ที่พิจารณางบการเงินเก่งจริงๆ อาจจะมองเห็นสภาพการณ์ของธุรกิจได้ดีกว่าผู้บริหารหรือพนักงานในบางจุดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามงบการเงินนั้นมีรายละเอียดมากมายที่ต้องดูจริงๆ หลายสิบจุด ดังนั้นในการกวาดสายตามองหาว่าบริษัทไหนมีงบการเงินที่น่าสนใจจะลงทุนได้ก็จะสามารถย่อลงเหลือสัก 5 จุดได้คือ:
1) รายได้โต กำไรโต อัตรากำไรดีสม่ำเสมอ
เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ ปีบริษัทควรจะมีรายได้มากขึ้น และหากรายได้นี้มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ไม่ลดลงก็แสดงว่าไม่มีการแข่งขันทางราคาในสินค้าและบริการของกิจการ อาจจะเป็นเพราะเป็นกิจการกึ่งผูกขาดหรือมีลักษณะพิเศษ หรือเพราะแนวโน้มของตลาดดีทำให้อุปสงค์สูงกว่าอุปทานอยู่เสมอ เมื่อเป็นดังนี้แล้วกำไรสุทธิควรจะเพิ่มตามไปด้วย ตรงงบกำไรขาดทุนนี้ลองมองดูค่าเสื่อมราคาด้วยว่ามากหรือไม่ ถ้ามากแสดงว่าบริษัทต้องใช้เครื่องจักรจำนวนมาก อาจจะลองพิจารณาว่าเครื่องจักรนั้นเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งของบริษัทด้วย
2) หนี้สินไม่มากเกินไป
ถ้าว่ากันตามตำราก็คือควรทำกำไรจนสามารถใช้หนี้สินไม่หมุนเวียนหมดใน 3 ปีได้ และมีความสามารถในการใช้หนี้/จ่ายดอกเบี้ยสูง มีกำไรเป็นหลายเท่าของดอกเบี้ยจ่าย เมื่อมองย้อนหลังไปไม่สร้างหนี้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และสามารถนำหนี้สินมาทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงตั้งแต่ 15% ขึ้นไป สิ่งที่ควรเพ่งเล็งคือหนี้สินระยะยาวที่มีดอกเบี้ยจ่าย ต้องระวังไม่ให้มากเกินไปหรือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
3) ใช้งานสินทรัพย์ได้ดี
เราสามารถดูได้จากผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ROA สูงพอควร (ควร 10% ขึ้นไป) มีสินทรัพย์ดำเนินงาน (working capital = ทรัพย์สินหมุนเวียน หักลบด้วย หนี้สินหมุนเวียน) สูงและสูงขึ้น ทรัพย์สินและหนี้สินส่วนมากควรเป็นแบบหมุนเวียน (เพราะหนี้สินหมุนเวียนมักไม่มีดอกเบี้ย) ซึ่งจุดนี้คนมักจะไม่ค่อยดูกัน บริษัทที่มี ROA ต่ำอาจจะเป็นเพราะมีทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์อยู่มาก (แถมบางครั้งมีราคาสูงซ่อนอยู่ด้วย เช่นที่ดิน อาคาร) ถ้าเป็นทรัพย์สินเสื่อมค่าได้ก็ไม่ค่อยน่าสนใจ ถ้าเป็นทรัพย์ที่ขึ้นราคาได้ก็ต้องลองพิจารณาดูว่าในอนาคตบริษัทสามารถขายทำกำไรได้หรือไม่
4) กระแสเงินสดดี
Cash flow + - - หรือ
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน เป็นบวก
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน เป็นลบ
กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน เป็นลบ
เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าผิดไปจากนี้ก็ต้องหาคำอธิบายได้ เช่นบางปีอาจจะไม่จ่ายปันผล บางทีไม่จำเป็นต้องลงทุนเครื่องจักร บางปีอาจจะต้องกู้เงินระยะสั้นมากเป็นพิเศษ คืออาจจะผิดไปบางปีได้แต่รวมแล้วสุดท้ายควรจะดี ไม่ใช่ว่าผิดจากนี้ไม่ได้เลย
5) เหลือบดูรายละเอียดของงบแสดงสถานะทางการเงิน (งบดุล) อีกครั้งหนึ่ง
ดูว่ามีการผิดปกติที่ทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายปันผลได้ไหม มีความผิดพลาดซ่อนเร้นไว้หรือไม่เช่น
ส่วนเกิน(ต่ำกว่า)มูลค่าหุ้น -- ควรแสดงเป็นส่วนเกินมูลค่าหุ้น ไม่ใช่ต่ำกว่า
กำไร(ขาดทุน)สะสม -- ควรมีกำไรสะสม ไม่ใช่ขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก
ส่วนของผู้ถือหุ้น -- มีมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงถึงการมีกำไรสะสม (ที่ยังไม่ได้จัดสรร)
ทั้งหมดด้านบนนั้นเป็นเรื่องของ "งบการเงินของบริษัท" โดยคร่าวๆ แต่ก็แสดงให้เราเห็นได้ว่าบริษัทมีผลการดำเนินธุรกิจเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตามการตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทนั้นหรือไม่ต้องดูด้วยว่าราคาหุ้นนั้น ถูกหรือแพงอย่างไร โดยปกติแล้วเราจะคำนวณราคาที่เหมาะสมได้จากสามส่วนคือ อัตราส่วนคิดลดเงินสด (DCF), อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E), อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) โดยทั้งสามอย่างนี้จะมีตัวแปรเรื่องการเติบโตของบริษัทมาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งต้องถูกประมาณโดยผู้ลงทุนเอง โดยส่วนใหญ่แล้วเราอาจจะดู P/E เทียบกับอัตราการเติบโตของรายได้ต่อหุ้น ถ้าหุ้นถดถอยต่อเนื่องก็ควรเลี่ยงการลงทุน ถ้าหุ้นเติบโตช้าก็ลองมอง P/E ไม่เกิน 12 ถ้าเติบโตเร็วอาจจะยอมให้ P/E ระดับ 15-20 ได้ หรือถ้าโตเร็วมาก (เช่นปีละกว่า 30-40%) ก็อาจจะยอมซื้อที่ราคาสูงกว่านั้นได้อีก (แต่ความเสี่ยงก็สูงขึ้นตาม เพราะบริษัทอาจจะไม่โตดังคาดก็ได้) ส่วนเงินปันผลตอบแทนอาจจลองมองที่เท่ากับหรือมากกว่าเงินฝากธนาคารในกรณีหุ้นเติบโตมาก หรือมากกว่าเงินฝากกธนาคารสัก 2-3 เท่าสำหรับหุ้นที่เติบโตปานกลาง หรือ 7-8% สำหรับหุ้นที่โตช้าก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการคัดเลือกหุ้นในการลงทุน
การสนใจลงทุนในธุรกิจที่งบการเงินดูไม่ดีมีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็อาจจะทำได้โดยต้องมีเหตุผลพิเศษอื่นว่าบริษัทสามารถกลับตัวทางธุรกิจและใช้วิศวกรรมการเงินทำให้บริษัทมีกำไรและตอบแทนผู้ถือหุ้นได้ การลงทุนในหุ้นที่ราคาสูงเกินไปก็มีความเสี่ยงในอีกรูปแบบหนึ่ง (เรียกว่าบริษัทไม่เจ๊งแต่นักลงทุนอาจจะเจ๊งได้) แต่ถ้าหุ้นแพงไปและบริษัทมีงบการเงินไม่ดีด้วย ก็เตรียมขาดทุนได้เลย ดังนั้นการมีความรู้เรื่องงบการเงินจึงเป็นอาวุธสำคัญของนักลงทุนเลยทีเดียวครับ