พูดเป็นเล่นไปทำไมจะไม่ได้?
ขึ้นชื่อว่าการลงทุนแล้วก็มีความเสี่ยงปนอยู่ด้วยเสมอไม่ว่าจะลงทุนด้วยแนวทางการลงทุนประเภทใดก็ตาม แก่นแท้ของนักลงทุนในแนวเน้นมูลค่าของกิจการก็คือความสามารถในการประเมินค่าของกิจการในอนาคต ถ้าเราสามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้ราคา 100 บาทในขณะที่กิจการนั้นมีหุ้นทั้งหมดจำนวน 100 หุ้นก็หมายความว่าราคาของหุ้นที่เหมาะสมก็คือหุ้นละ 1 บาท ถ้าเราเห็นว่าราคาของหุ้นในตลาดอยู่ที่ราคา 50 สตางค์การเข้าไปซื้อก็จะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ การลงทุนในแนวเน้นมูลค่าของกิจการมีหลักความคิดเช่นนี้โดยเป็นการประเมินส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย อย่างในกรณีตัวอย่างที่ผ่านมาก็คือมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยอยู่ 50 สตางค์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การประเมินมูลค่าของกิจการขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งความสามารถในการสร้างผลกำไรและพอกพูนทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้นให้เพิ่มขึ้น ความสามารถในการเจริญเติบโตของบริษัท ในหลายกรณีก็ต้องรวมถึงความสามารถในการพลิกฟื้นกิจการ หรือ ความพยายามในการเจริญเติบโตต่อไปอันเนื่องมาจากการเสื่อมความนิยมของสินค้าบริการหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทสูญเสียความสามารถในการทำกำไรจากบางผลิตภัณฑ์หรือบางบริการและกำลังพยายามสร้างเสริมสินค้าและบริการอื่นขึ้นมาทดแทน ในกรณีดังกล่าวนี้บริษัทมักจะมีกำไรที่ลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง นักลงทุนที่มีความสามารถในการคาดเดาหรือคาดหวังการพลิกฟื้นของบริษัทโดยขึ้นอยู่กับสินค้าและบริการชนิดใหม่แทนก็อาจฉวยโอกาสเข้าลงทุนได้
แต่. สำคัญก็คือมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไร หนี้สินเดิม ความจำเป็นในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งอาจจะหมายถึงหนี้สินใหม่ที่บริษัทจำเป็นต้องสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือในกรณีเลวร้ายก็คือการเพิ่มทุน) การเติบโตของตลาดและอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังนั้นการคาดการณ์ต่างๆเหล่านี้ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ และถึงแม้ว่าเราจะมีชวนเผื่อเพื่อความปลอดภัยหรือ margin of safety (MOS) รวมอยู่ด้วยแล้วก็ยังอาจจะไม่เพียงพอ
นั่นหมายความว่าถ้านักลงทุนแบบวีไอได้คาดการณ์ไว้แล้วผิดพลาด คือผิดพลาดในเชิงพื้นฐาน บริษัทไม่สามารถเพิ่มรายได้และกำไร หรือจำเป็นต้องลงทุนมากมายเกินกว่าที่นักลงทุนได้คาดหวังไว้ ทำให้ผลตอบแทนต่างๆ รวมทั้งมูลค่าของบริษัท (มีผลไปถึงราคาหุ้นที่เหมาะสม) ที่คำนวณไว้แต่แรกผิดเพี้ยนไปหมด นักลงทุนก็จะต้องยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในลักษณะอย่างนี้จะต้องมีการสร้างสมดุลย์ผสมผสานระหว่างการดูแลการลงทุน ราคาหุ้น และพื้นฐานที่ได้ทำการประเมิน หากการประเมินผิดพลาดด้วยและราคาหุ้นซบเซาตกต่ำลง นักลงทุนแม้เป็นแนววีไอก็จะต้องยอมรับและตัดสินใจขายตัดขาดทุนออกไป ไม่ควรฝืนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น โดยอาจจะต้องรอการพลิกฟื้นของกิจการหรือการเจริญเติบโตของกิจการที่เราเคยศึกษาและประเมินว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็อาจจะเป็นเวลาที่ดีที่กลับเข้าไปลงทุนในบริษัทเดิมอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการหลายๆ คนอาจจะไม่สามารถทำใจขายตัดขาดทุนโดยยอมติดหุ้นเป็นเวลานาน แต่สำหรับผมเองแล้วถ้ารู้ตัวว่าผิดพลาดก็จะทำใจยอมรับและยินดีที่จะขายหุ้นออกไปเพื่อจำกัดการขาดทุน และคอยหาโอกาสในการลงทุนใหม่ที่มีผ่านเข้ามาตลอดเวลาเสมอ ขอให้เพื่อนๆ ลองพิจารณาและโชคดีในการลงทุน ในระยะยาว ทุกท่านนะครับ