ถ้าจะว่าไปแล้วการลงทุนนั้นมีหลากหลายมากเป็นเรื่องกว้างขวางและซับซ้อนจนกระทั่งถ้าเรารู้ภาพรวมให้ครบถ้วนจะเห็นว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องยากวุ่นวายไปหมด แต่ถ้าเราแบ่งย่อยลงมาพิจารณาเฉพาะการลงทุนในหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์อาจจะทำให้ดูง่ายขึ้นมาก แนวทางการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีมากมายหลายแนวทาง โดยแต่ละแนวก็อาจจะต้องการเวลาและประสบการณ์ต่างกัน ช่วงหลังหลังมานี้มีการลงทุนที่เรียกว่าการลงทุนแบบเน้นมูลค่าหรือ VI (Value Investment) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีเหตุผลทางธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และเป็นแนวทางที่น่าจะทำให้ผู้ลงทุนมีความสุขที่สุดแนวหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และไม่ได้กระทำการในสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนความไม่รู้ (ความไม่รู้คืออวิชชาและจะนำมาซึ่งความทุกข์)
อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักลงทุนมูลค่าแต่ก็มีสภาพจิตใจลุกลี้ลุกลนมีความทุกข์ไม่เว้นแต่ละวันทวันหนึ่งๆ ก็วุ่นวายอยู่แต่การคิดว่าทำไมหุ้นตัวเองราคาลง ว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็นั่งคิดต่อว่าทำไมหุ้นตัวเองราคาขึ้น (เป็นเอามาก) วันละหลายครั้ง อย่างนี้ดูเหมือนจะผิดแนวทางการลงทุนที่ทำให้เกิดความสุขอยู่ไปมาก เราก็มาลองดูกันว่า ทำไมนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าที่แท้จริง (VI ตัวจริง) จึงมีความสุขในขณะที่บางคนที่เบี่ยงเบนไปมากกลับมีความทุกข์
ทำไม VI ตัวจริงมักมีความสุข
พวกนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าตัวจริงเสียงจริงมักมีความสุขเพราะหลายเหตุปัจจัย (เขียนถึงตรงนี้นึกถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้คือ ทุกอย่างมีที่มา มีเหตุเสมอ) โดยอาจจะสรุปได้ดังนี้
1) รู้ราคา
เคยสังเกตคนที่ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรหรือลงทุนไหมครับ เขามักไม่เดือดร้อนอะไรในการซื้อที่ดินไว้แล้วราคาขึ้นบ้างลงบ้างในระยะสั้น แต่ในที่สุดแล้วราคาที่ดินก็จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเงินที่จ่ายไปเมื่อซื้อที่ดินผืนนั้นมา อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นเหมือนกันกับหุ้นก็คือในบางสมัยที่ที่ดินมีราคาสูงขึ้นมากผิดปกติโอกาสที่จะได้กำไรจากการขายที่ซื้อมาในราคาสูงนั้นย่อมน้อยลง สรุปสั้น ๆ ในข้อนี้ก็คือนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าก็จะเหมือนกับนักลงทุนที่ดินตรงที่จะไม่ซื้อหุ้นหรือที่ดินที่ราคาสูงเกินไปและเขาตัดสินใจจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อหุ้นหรือที่ดินก็เพราะรู้ว่าราคาที่จ่ายนั้นไม่แพงและในที่สุดแล้วราคาของหุ้นหรือที่ดินที่สามารถขายได้จะสูงกว่าราคาที่จ่ายเมื่อตอนซื้อมา
2) รู้จักการรอคอย
การที่ราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นนั้นก็เป็นเพราะบริษัทมีการเติบโตมียอดขายและกำไรสูงขึ้นหรืออย่างน้อยก็ต้องทำตัวให้เห็นว่าจะมีการเติบโตที่ดีในอนาคต แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นภายในเวลาหนึ่งหรือสองวันเหมือนกับนักเก็งกำไรระยะสั้นมากต้องการให้หุ้นตัวเองขึ้นราคาในวันถัดไปหลังจากที่ตัวเองซื้อ ไม่มีนักลงทุนวีไอคนไหนที่อยากได้ผลตอบแทนวันละ 2-3% ทุกวันแบบนักเก็งกำไรระยะสั้น แต่พวกเขาอาจจะเล็งผลกำไร 50-100% ในเวลา 1-2 ปี (ต่ำกว่า 2-3% ทุกวันมากเลยทีเดียว) โดยต้องเป็นผลตอบแทนที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงและเป็นไปได้คือตามการเติบโตของบริษัทที่นักลงทุนวีไอได้คำนวนไว้ จะเห็นว่าบรรดานักลงทุนแบบวีไอมีความอดทนเป็นเลิศ ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนกับการลงทุนซื้อที่ดิน เมื่อถนนยังไม่ตัดผ่านหรือแม้แต่เฉียดมาใกล้ ชุมชนทั้งยังไม่ย้ายมาชิด ราคาที่ดินก็ยังไม่เพิ่มสูงขึ้นไปไหน นักลงทุนที่ดินก็จะรอจนกว่าวันที่ดีนั้นจะมาถึง นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใดก็ควรรู้จักรอคอยและมองว่าการรอคอยนั้นเป็นขั้นตอนปกติที่อยู่ในกระบวนการลงทุนนั่นเอง
3) ได้กำไรตอนซื้อ
การซื้อหุ้นก็เหมือนกับการซื้อที่ดิน นักลงทุนที่ดินทราบกันดีว่าต้องได้กำไรตั้งแต่ตอนซื้อ (ตรงจุดนี้ถ้าเทียบกันอาจจะไม่เหมือนกับการซื้อหุ้นสักเท่าไหร่เนื่องจากราคาหุ้นนั้นเป็นราคาตลาด ทุกคนรู้กันดีว่ามีราคาเท่าใด แต่การซื้อที่ดินเป็นราคาตามตกลงนอกตลาด ราคาที่เกิดขึ้นก็คือราคาที่ผู้ขายตกลงพอใจที่จะขาย ผู้ซื้อยินดีจ่าย ตามเงื่อนไขการซื้อ เงื่อนไขการขายตามตกลง ดังนั้นราคาอาจจะผิดไปจากราคาตลาดอยู่มากก็ได้) และนักลงทุนที่ดินก็มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเหมือนกับการซื้อหุ้นเช่นเดียวกัน (คือ ราคาตลาด - ราคาซื้อ - ค่าใช้จ่ายทางการเงิน - ค่าใช้จ่ายอื่นๆ - กำไรที่คาดหวัง) ส่วนการซื้อหุ้นเราคงไม่สามารถซื้อหุ้นที่ผิดไปจากราคาตลาดมากมายได้ ดังนั้นการ "ได้กำไรตั้งแต่ตอนซื้อ" สำหรับหุ้นก็คือเราได้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาที่มันควรจะเป็นในอนาคตซึ่งเรามองเห็นแต่คนมองไม่เห็นนั่นเอง
4) ไม่ต้องเดาใจคนอื่น / ตลาด
นักเก็งกำไรระยะสั้นไม่ว่าจะใช้วิธีการใดมักจะต้องคอยระวังว่าคนอื่นในตลาดจะคิดอย่างไร และใครจะทำอะไรก่อนหรือหลังกัน ต้องคอยคิดหาจุดขายตัดขาดทุน จุดขายทำกำไรต่างๆ และโดยทั่วไปแล้วต่างคนก็ต่างรู้ว่าอีกฝ่ายจะทำอะไรที่ราคาใด สุดท้ายแต่ละคนก็ต้องช่วงชิงจังหวะเพื่อทำก่อนอย่างนี้เรื่อยไป คิดผิดบ้างถูกบ้าง ได้บ้างเสียหายบ้าง ทำไปทำมาหลายคนเสียเวลา (อาจจะไม่เสียเงิน) หลายคนขาดทุนเสียทั้งเงินและเวลา
ทำไม VIVI (ไวๆ) มักเดือดร้อนใจ
คราวนี้มาดูนักลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่มักถูกเรียกเล่นๆ กันว่านักลงทุนแบบ VIVI ฟังตามชื่อแล้วเหมือนจะเกือบดีเพราะเป็นแบบบวีไอคูณสอง แต่ที่มาของชื่อกลับเป็นภาษาไทยว่า ไวๆ คืออะไรก็เร็วนี่ล่ะ เลยเกิดปัญหาขึ้น เหตุก็เช่น:
1) เป็นตัวปลอม
ช่วงหลังหลังมีสิ่งที่เรียกว่านักลงทุนแบบ VIVI (อ่านเป็นภาษาไทยว่า "ไวไว" แล้วก็มีความหมายเป็นภาษาไทยตรงตัวว่ารวดเร็วว่องไวนั่นแหละ ก็คือไม่ใช่วีไอนะครับ แต่เป็นนักลงทุนที่ลงทุนแล้วคาดหวังได้กำไรอย่างรวดเร็ว
2) ยังขาดความมั่นใจ
แน่นอนสำหรับการทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เราไม่มีความมั่นใจหรือไม่มีความชำนาญพอ เราย่อมรู้สึกไม่มั่นใจ ถ้าแม้มีเพียงชั่วขณะเดียวที่สิ่งที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มไม่เป็นไปในทางที่เราคาดหวัง (เช่น เมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นไม่ขึ้นแต่กลับตกลงมา) เราก็จะเริ่มเป็นทุกข์ทั้งๆ ที่การแปรปรวนชั่วคราวเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องของความมั่นใจนี้ถ้าพูดกันตรงๆ คือไม่สามารถสอนกันได้ จนกระทั่งนักลงทุนมีประสบการณ์มากพอจากที่ได้ทำการคัดเลือกหุ้นด้วยตัวเอง ทั้งซื้อทั้งขายมาหลายครั้งจนกระทั่งรู้ว่าวิธีการคิด วิธีการทำที่ตัวเองทำนั้นสุดท้ายแล้วจะให้ผลที่ดี ทำให้ได้กำไร เมื่อนั้นเองความมั่นใจในการลงทุนก็จะถูกสร้างขึ้นเอง
3) ไม่มีพื้นฐานความเป็นนักลงทุนที่แท้จริง
พื้นฐานความเป็นนักลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แน่นอนว่านักลงทุนทุกคนไม่ชอบความเสี่ยง แต่ขึ้นชื่อว่าการลงทุนแล้วย่อมมีความเสี่ยงเสมอ เราจึงต้องมีชีวิตอยู่กับมันให้ได้ ไม่มีนักลงทุนคนไหนที่ลงทุน 10 ครั้งแล้วแต่กำไรทั้ง 10 ครั้ง นักลงทุนที่ดีเมื่อลงทุน 10 ครั้งจะได้กำไรมากกว่า 6-7 ครั้ง และอาจจะขาดทุนเสีย 3-4 ครั้ง และแต่ละครั้งที่ได้กำไรนั้นอาจจะได้กำไร 80-100% ในขณะที่เมื่อขาดทุนจะขาดทุนเพียง 5-10% นักลงทุนที่ดีจะต้องยอมรับในสิ่งเหล่านี้ได้และต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่าคิดว่าการขาดทุนเพียงครั้งละ 5-10% จำนวน 3-4 ครั้งใน 10 ครั้งเป็นความผิดพลาดที่ให้อภัยไม่ได้ เพราะหากคิดแบบนั้นจะทำให้เป็นทุกข์ตลอดเวลา ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วไงครับ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ คงเลือกแนวทางและสิ่งที่ตัวเองต้องเป็นได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อชีวิตการลงทุนที่มีความสุขสมตามความตั้งใจครับ