เมื่อสองสามวันที่แล้วไม่รู้ว่านึกยังไงคุณพ่อส่งข้อความมาถามว่าลองคำนวนดูสิว่าเงิน 35,000 บาทเมื่อ 50 ปีที่แล้วในวันนี้จะมีค่าเป็นเท่าไร
ด้วยความไม่ไว้ใจว่าคุณพ่อจะมาไม้ไหน ผมก็เลยนึกตัวเลขอัตราดอกเบี้ยไว้สองสามอย่างในการคำนวณ อย่างแรกก็คืออัตราเงินเฟ้อ อย่างที่สองก็คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ส่วนตัวเลขที่สามนึกในใจเอาไว้แต่ยังไม่นำไปใช้ในการคำนวณก็คือผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนฝีมือดีทำได้ (คงยากหน่อย เพราะย้อนไปไกลมาก)
สิ่งที่คำนวณได้
- ถ้าใช้อัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปที่ประกาศกันว่าอยู่ประมาณ 3% ต่อปีในระยะเวลา 50 ปีมูลค่ามันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.38 เท่า
- ถ้าใช้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ค่าเฉลี่ยคงประมาณ 4.5% ต่อปีในระยะเวลา 50 ปีมูลค่ามันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9.03 เท่า ถ้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ว่า 3% ด้านบนแล้ว ดูเหมือนจะดี เอาล่ะ มาดูกันต่อ
- ถ้าสมมติอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในตลาดหลักทรัพย์ ค่าเฉลี่ยคงประมาณ 10% ต่อปี จะได้ตัวเลข 117.39 เท่าตัว (ดูอลังการมาก แต่เอาล่ะต่อให้ได้ครึ่งเดียวก็มากมายแล้วล่ะ)
- ถ้าเปรียบเทียบกับที่ดินผืนหนึ่งเมื่อ 40 ปีที่แล้ว (ไม่ถึง 50 ปีด้วยเอ้า) ราคาตารางวาละ 700 บาท ปัจจุบันมีราคา 33,000 บาท ก็เป็นประมาณ 47.14 เท่าตัว ถือว่าสุดยอดเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่อยากมีของที่ จับต้องได้ อยู่อาศัยทำกินได้ คงชอบมากๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคำถามที่ว่า พันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนที่ดีจริงหรือ?
ในฐานะคนทั่วไป ทั้งที่เห็นตัวเลขแบบนี้แล้วยังอาจจะไม่แน่ใจ แต่ในฐานะนักลงทุนคงต้องบอกว่า "แน่ใจเถอะ" เพราะเราทราบกันในหมู่นักลงทุนอยู่แล้วว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรนั้น "แพ้เงินเฟ้อ" ที่แท้จริงแน่นอน ยิ่งเป็นการฝากเงินในธนาคารยิ่งแพ้เงิรฝนเฟ้อมากขึ้นไปอีก (ผู้คนเลยพยายามซื้อพันธบัตรกันเพราะแพ้น้อยหน่อย กับคิดว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าเพราะมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน) ดังนั้น ถ้าเราสามารถลงทุนในรูปแบบอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, ที่ดิน (ถ้ามีสิ่งปลูกสร้างด้วยจะทำให้ต้นทุนสูง และเสื่อมสภาพ ถ้าทางบัญชีคือมีค่าเสื่อมราคา เก็บเอาไว้ก็ใช้การไม่ได้ เผลอๆ มีค่ารื้อถอนอีก สู้เอาเงินไปซื้อที่ดินเปล่าให้ใหญ่ขึ้นจะดีกว่า)
ความเสี่ยง
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงแล้วก็ใช่ว่าพันธบัตรรัฐบาลจะไม่มีความเสี่ยงเลยทีเดียว พันธบัตรรัฐบาลที่ว่ากันว่ามั่นคงนักหนาเป็นเพียงเพราะว่ารัฐบาลมีเครดิตที่ดี เมื่อครบสัญญาจะต้องชดใช้เงินรัฐบาลก็เอาเงินมาไถ่ถอนพันธบัตรเท่านั้น หรือหากไม่มีเงินไถ่ถอนรัฐบาลก็ใช้เครดิตของตัวเองในการออกพันธบัตรรุ่นใหม่แล้วนำเงินไปไถ่ถอนพันธบัตรรุ่นเก่า ตราบใดที่ยังได้รับความน่าเชื่อถือก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเครดิตของรัฐบาลเสียหาย การออกพันธบัตรรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่มีผู้ซื้อทำให้ไม่สามารถไถ่ถอนพันธบัตรรุ่นเก่าได้ เมื่อนั้นแหละครับก็จะเกิดการ "เบี้ยวหนี้" เกิดขึ้น
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงของพันธบัตรรัฐบาลก็คืออัตราดอกเบี้ย (เงินฝาก) ในท้องตลาด เมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีค่าสูงขึ้นกว่า ณ เวลาที่ออกพันธบัตร การจะขายพันธบัตรเพื่อให้ได้เงินสดกลับมาก่อนเวลาครบอายุก็จะทำให้เสียราคา นั่นคือไม่สามารถขายได้ในราคาตามที่พิมพ์ไว้หน้าพันธบัตร แปลว่าผู้ลงทุนจะขาดทุนเงินต้นนั่นเอง อีกอย่างหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงก็คือสภาพคล่องของพันธบัตรที่ต่ำมาก การจะซื้อจะขายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การได้เงินสดกลับมาในเวลาที่ช้ากว่าที่ต้องการก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไป สำหรับผู้คนทั่วไป การลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำกว่าจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่า และการลงทุนที่ความเสี่ยงสูงกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่นักลงทุนที่มีทักษะก็สามารถเลือกการลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดโดยรักษาระดับความเสี่ยงไม่ให้สูงเกินไปได้ นอกจากนั้นก็ยังมีการลงทุนในที่ดินที่ยังน่าสนใจและอาจจะถูกจริตกับนักลงทุนอีกหลายท่านที่มีสิ่งของที่จับต้องได้อยู่ในครอบครอง ก็เป็นสิทธิที่นักลงทุนแต่ละท่านสามารถเลือกได้นะครับ