วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

TSR คืออะไร

 

ทีแรกว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้ แต่เพื่อความรู้ เป็นการบันทึก และเพื่อให้เพื่อนๆ นักลงทุนได้ไว้ศึกษานำไปใช้งานในโอกาสต่อๆ ไป ผมเลยตัดสินใจเขียนเรื่อง TSR นี้ เนื่องจากเมื่อไม่กี่วันมานี้  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกเอกสารสิทธิชนิดนี้ออกมาโดยมีรายละเอียดดังนี้

ตัวอย่าง


TRUE-T1
จำนวนหน่วยใบแสดงสิทธิที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน 8,391,181,682 หน่วย
อายุของใบแสดงสิทธิ 59 วัน (วันที่ 25 เม.ย.2559 ถึง วันที่ 22 มิ.ย.2559)
เข้าเทรด 12 -23 พ.ค. 2559
ขึ้น SP วันที่ 24 พ.ค. 2559
แจ้งใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน 7-21 มิ.ย. 2559
อัตรา 1:1 ราคาใช้สิทธิ 7.15 บาท 2559
วันพ้นสภาพเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนของใบแสดงสิทธิ 23 มิ.ย. 2559
ทำให้หลายท่านเกิดความสงสัยว่ามันคืออะไร บางท่านที่ไม่ได้ติดตามการลงทุนอย่างไกล้ชิดมีเจ้าหลักทรัพย์ TRUE-T1 โผล่เข้ามาในพอร์ตแบบงงๆ และไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ก็คงต้องถามเพื่อนหรือเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตติ้ง) ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต (ของเจ้าหลักทรัพย์นี้ ดี)

TSR คืออะไร


นั่นก็คือรายละเอียดของ TRUE-T1 ซึ่งจะเห็นว่าใบแสดงสิทธินี้ (เน้นว่าไม่ใช่หุ้นนะครับ ดังนั้นไม่ควรเรียกมันว่าหุ้นไม่ว่ากรณีใดๆ) จะมีตัวหนังสือ -T ต่อท้าย และเลข 1 คือตัวแสดงชุดที่ที่บริษัทนี้ออกหลักทรัพย์ชนิดนี้มา คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า TSR คืออะไร โดยนิยามแล้วมันคือ "ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้" (Transferable Subscription Rights, TSR) นั่นคือผู้ที่ถือหรือเป็นเจ้าของใบสำคัญฯ ชนิดนี้จะสามารถใช้สิทธิแลกเป็นหุ้นสามัญได้โดยการเพิ่มเงินเข้าไปตามที่ได้กำหนดไว้เมื่อออกใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้นี้ อย่างในกรณีของ TRUE-T1 นี้จะต้องเพิ่มเงินจำนวน 7.15 บาท เป็นต้น (หรือ จะถือไว้จนหมดอายุและไม่แปลงก็ได้ ไม่บังคับ เพราะเป็น options หรือทางเลือก ไม่ใช่สัญญาว่าจะต้องแปลงสภาพจริงๆ) และในระหว่างที่ยังไม่หมดอายุ ใบแสดงสิทธิฯ นี้สามารถถูกซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้เช่นเดียวกับหลักทรัพย์อื่น โดยราคาของ TSR จะขึ้นอยู่กับสิทธิ ราคาแปลงสิทธิ และราคาของหุ้นแม่ที่จะได้รับหลังการแปลงสิทธิที่ซื้อขายกันอยู่ในกระดาน สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเพิ่มเงินก็สามารถขายเพื่อรับเงินสดมาได้ หรือถ้าอยากเพิ่มเงินมากกว่าที่ตัวเองมีใบแสดงสิทธิฯ นี้อยู่ก็สามารถซื้อเพิ่มได้จากตลาดเช่นกัน สิ่งสำคัญที่ต้องระวังก็คือ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะถูกห้าม-พักการซื้อขาย เหลือแต่เพียง "สิทธิ" ที่เลือกได้ว่าจะเพิ่มเงินและแปลงเป็นหุ้นแม่หรือไม่ โดยในที่สุดเมื่อมันหมดอายุลงจริงๆ ค่าของมันจะกลายเป็น 0 บาท (อ่านว่า ศูนย์ บาท) และหมดสิทธิใดๆ คือไม่สามารถขายใครได้อีกแล้ว ไม่สามารถไปแปลงอะไรได้อีก ส่วนการคุ้มค่าเงินที่จะเพิ่มเข้าไปนั้นมีข้อต้องพิจารณาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นราคาของหุ้นแม่ในตลาดในปัจจุบัน ราคาหุ้นที่เหมาะสมหลังจากที่หายฝุ่นตลบแล้ว และราคาของตัวใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้เองในเวลานั้นๆ

แล้วต่างจากวอร์แร้นท์อย่างไร


ฟังดูนิยาม พฤติกรรม สิทธิต่างๆ ก็ดูเหมือนว่าเจ้า ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ นี้จะไม่แตกต่างจากใบสำคัญแสดงสิทธิ (ในการแปลงเป็นหุ้นสามัญ) หรือวอแรนท์ (Warrant) อย่างไร คำตอบง่ายๆ คือเหมือนกันแทบทุกประการ แต่มีข้อแตกต่างกันเพียงข้อเดียวคือ TSR จะมีอายุไม่เกิน 2 เดือนหรือ 60 วัน (อย่างที่เห็นกับ TRUE-T1 ว่ามีอายุ 59 วัน) เนื่องจากบริษัทผู้ออก (และต้องการให้ใช้สิทธิ เพื่อให้บริษัทมีเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นในเวลาสั้น) ทำให้เราต้องระวังว่า อายุของมันสั้นมาก ถ้าเราไม่ประสงค์จะใช้สิทธิแปลงสภาพ ก็ควรหาจังหวะพิจารณาขายไป หรือถ้าต้องการใช้สิทธิก็ต้องใช้ความรู้มากขึ้นในการพิจารณาค่าที่แท้จริงของหุ้นแม่ว่าควรมีค่าเท่าไร เอาเงินใส่เข้าไปแล้วคุ้มค่าหรือไม่ และอย่าลืมว่าเมื่อเราแปลงสิทธิแล้วกว่าที่หุ้นแม่ (เป็นหุ้นสามัญแล้ว) จะเข้าเทรดได้ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ราคาาของหุ้นแม่ในกระดานก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในระยะสั้นทำให้ไม่สามารถขายทำกำไรได้ ต้องเก็บไว้ในระยะหนึ่งอีกด้วย

หวังว่าจะช่วยให้เพื่อนๆ เข้าใจหลักทรัพย์ที่เรียกว่า TSR และสามารถใช้ประกอบการลงทุนในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ