ในระหว่างที่หุ้นยังอยู่ในช่วงของการ "ติ้ดชึ่ง" แบบนี้ ผมมีเรื่องเล่าถึงความโชคร้าย (ซวย นั่นแหละ) มาเล่าให้ฟังกันพลางๆ เพราะไม่นานมานี้ได้อ่านพบเรื่องสั้นๆ ด้านล่างนี้ จึงทำให้คิดขึ้นมาได้
"ผมเล่าให้พ่อฟังเกี่ยวกับเรื่องของนักพนันคนหนึ่งที่เล่นเสียเป็นประจำ วันหนึ่งเค้าได้ยินเกี่ยวกับการแข่งขันที่มีม้าเข้าแข่งขันเพียงตัวเดียว เขาเลยเอาเงินเก็บทั้งหมดมาเดิมพัน พอม้าวิ่งไปได้ครึ่งทาง ม้าก็กระโดดข้ามรั่วหนีไปเลย สิ่งต่างๆ สามารถออกมาเลวร้ายกว่าที่คนคิดได้เสมอ บางที “กรณีที่เลวร้ายที่สุด” หมายถึง “กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยเห็นในอดีต” แต่มันไม่ได้หมายความว่า ในอนาคตมันจะเลวร้ายไปกว่านั้นไม่ได้"
ผมเรียกมันว่า "ทฤษฎีของความซวย"
ทฤษฎีนี้ก็ไม่ใช่เป็นของใครที่ไหนหรอกครับ แต่เป็นของผมเอง จะเรียกว่าทฤษฎีของความซวย โดยมือเก่าหัดขับก็คงพอได้อยู่ (ฮา..)
คือ
"เมื่อเกิดการซวย มันจะซวยจนถึงที่สุด"
ทฤษฏีนี้มาจาก เหตุการณ์ที่ว่าเวลาที่เราทำงาน หรือทำอะไรก็ตามแล้ว "เมาหมัด" คือ ควบคุมสิ่งต่างๆ ไม่ได้ เริ่มผิดพลาด เรียกว่า "เริ่มซวย" ถ้าเราไม่หยุดมันเอาไว้ มันจะเกิดผลพวงความผิดพลาดต่อเนื่องให้เราเสียหายได้มาก มากขึ้น และมากที่สุด นั่นเอง
และกับพวกเราที่เป็นนักลงทุน (หรือ การทำอะไรก็ตามในชีวิตเรา) ต้องรู้จักหยุดความซวยนั้นไว้ได้
การ cut loss, การวางแผนกลยุทธ์ จัดพอร์ตการลงทุน (หุ้น, อสังหาฯ, ธุรกิจ, commodity, โลหะมีค่า, ของสะสม, ฯลฯ) จึงเป็นการป้องกัน "ความซวยจนถึงที่สุด" เหล่านี้ เมื่อรู้สึกแย่ อย่าเมาหมัด คิดให้ดี แล้วหยุดความแย่นั้นให้ได้ อย่าให้เราตกอยู่ตามสภาพของ "ทฤษฎีของความซวย" ได้
แน่นอนนะครับว่า ระวังให้มาก (คือ ฉลาด) ระแวงนิดๆ (คือ เฉลียว) แต่อย่ามากเกินไป ไม่อย่างนั้นเรรคงไม่กล้าทำอะไร ความกล้าจะเกิดขึ้นได้ด้วยประสบการณ์ที่เราหาวิธี low risk - high return ได้ บวกกับการจัดการความเสี่ยงได้สำเร็จ ครับ