วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อ่าน Fact Sheet อย่างไรให้ได้เปรียบใ​นการลงทุน


ในโลกแห่งการลงทุนแล้วข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น เพราะทั้งที่เรามีข้อมูลมากมายแต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ยังต้องถูกนำมากรองอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือไปจากนั้นก็ยังมีต่อไปอีกคือการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะมีผลต่อธุรกิจที่เราต้องการลงทุน โชคดีที่ปัจจุบันนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและเรามีแหล่งของข้อมูลต่างๆทางที่เกี่ยวกับตัวบริษัทเองและสิ่งที่เกิดรอบรอบธุรกิจของบริษัทนั้นให้เราได้อ่านและนำมาตัดสินใจในการลงทุนเ หนึ่งในนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน หรือ Fact Sheet ซึ่งสามารถหาได้ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เอกสารนี้เพียงหน้าเดียวที่อยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวสามารถบอกอะไรเราได้มากมายเราค่อยๆ มาแกะดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง

เข้าไปดูหน้า Fact Sheet กันดีกว่า

เข้าเว็บไซต์ www.set.or.th
ข้อมูลบริษัท/หลักทรัพย์ > ตราสารทุน > ข้อมูลบริษัท/หลักทรัพย์ <คลิก>
เลือกบริษัทที่สนใจ
คลิกแท็บแรก (บริษัท/หลักทรัพย์)
คลิกแถบสีส้ม "สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน"

หรือวิธีที่สอง เข้า www.google.com  ป้อน set.or.th ชื่อบริษัทมหาชนที่สนใจ (เช่น อารียา พรอพเพอร์ตี้) ลงไป (ที่เลือกบริษัทนี้เพราะเป็นบริษัทแรกที่เรียงตามตัวอักษรนะครับ อย่าคิดมากเป็นอื่นไป) แล้วกด ค้นหา จะได้ลิ้งค์ของหน้า ข้อมูลบริษัท/หลักทรัพย์ ก็เข้าลิ้งค์นั้นไป แล้ว
คลิกแถบสีส้ม "สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน" เหมือนวิธีแรก

คลิกที่ "สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน"


ตัวอย่างหน้าตาของ "สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน"
หรือ Fact Sheet ของบริษัทตัวอย่าง A


บริษัททำอะไร

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่สำคัญอยู่ภายใต้ "ลักษณะธุรกิจ" บางครั้งเราอาจได้ยินเพื่อนนักลงทุนพูดถึงชื่อของบางบริษัทหรือแม้แต่ชื่อย่อหุ้นแต่เราไม่มีความรู้เลยว่าบริษัทนั้นทำอะไรหรือแม้ว่าเรารู้ว่าทำอะไรอยู่เราก็อาจจะรู้ไม่หมดก็ลองมาอ่านหัวข้อนี้ทำให้ทราบว่าบริษัททำอะไรบ้าง เมื่ออ่านแล้วเราจะต้องพิจารณาอยู่ว่าธุรกิจดังกล่าวนั้นมีโอกาสเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนหรือเป็นธุรกิจที่เรียกว่าตะวันตกดินสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือตัวเราเองมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้นแค่ไหนความรู้ที่ว่าก็คือความรู้ด้านการลงทุนคือรู้แนวโน้มตลาดและ สามารถคาดเดาได้ว่าในอีกหนึ่งหรือห้าปีข้างหน้าธุรกิจนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไปจะไปโรจน์หรือไปร่วงนั่นเอง

ทุนของบริษัท

จะทำกิจการก็ต้องมีทุน ทุนถือเป็นการตั้งต้นในการทำธุรกิจของบริษัท ให้มองหา ทุนจดทะเบียน และ ทุนที่ออกและชำระเต็มมูลค่า ตัวเลขสองตัวนี้ควรจะเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันเมื่อใด (คือ ทุนจดทะเบียนมีตัวเลขสูงกว่า) นั่นแปลว่าอีกไม่ช้านานจะต้องมีการเพิ่มทุน ไม่ว่าจะด้วยการแปงวอแร้นท์ หรือการที่มีใครบางคนได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบจำเพาะเจาะจง ทั้งสองอย่างนี้จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มมากขึ้น ตัวหารมากขึ้น กำไรต่อหุ้นลดลง นักลงทุนคงไม่ชอบใจนักยกเว้นแต่ว่าบริษัทมีฝีมือมากจนทำให้กำไรรวมของบริษัทจากการเพิ่มทุนนั้นสูงมาก มากจนเมื่อหารกับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นแล้วยังได้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น แบบนั้นก็ไม่ว่ากัน

ตัวเลขอีกสองตัวที่สำคัญคือ ส่วนเกิน(ต่ำกว่า)มูลค่าหุ้น ซึ่งควรเป็นจำนวนบวก แปลว่าบริษัทขายหุ้นครั้งแรกได้ในราคาสูงกว่าราคาพาร์ และมีเงินส่วนเกินนำมาเป็นทุนใช้ดำเนินงาน อีกตัวหนึ่งคำ กำไร(ขาดทุน)สะสม ควรเป็นจำนวนบวกเช่นกัน คือบริษัทมีกำไรสะสม เมื่อใดที่ ส่วนเกิน(ต่ำกว่า)มูลค่าหุ้น และ/หรือ กำไร(ขาดทุน)สะสม ติดลบ (ไม่ว่าอันใดอันหนึ่งหรือสองอัน) แม้ว่ามีกำไรในปีนั้นๆ บริษัทจะจ่ายปันผลไม่ได้นะครับ จะต้องจัดการล้างขาดทุนสะสมแล้วทำให้บริษัทมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นให้ได้ก่อน จึงจะจ่ายปันผลได้ (อ่านเรื่อง การล้างขาดทุนสะสม ประกอบ)

ใครเป็นเจ้าของ และเป็นเท่าไร

อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่จะเห็นบนหน้าสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนได้ชัดเจนก็คือ "ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก" สิ่งที่ต้องดูก็คือถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางการลงทุนนั่นก็คือเขาต้องพิจารณาดีแล้วจึงลงทุนในบริษัทต่างๆ หรือเป็นเจ้าของเดิมถือหุ้นไว้เป็นจำนวนมากโดยไม่ยอมขายออกมา หรือซื้อๆ ขายๆ ทำกำไรเอาเอง ถ้าบุคคลหรือนิติบุคคลเหล่านี้ถือหุ้นบริษัทจำนวนมากเอาไว้ หรือแสดงว่าเจ้าของเดิมรักบริษัทมาก ก็น่าจะสบายใจได้ระดับหนึ่งว่าเขาช่วยเลือกหุ้นให้เราหรือเป็นบริษัทที่เจ้าของและผู้บริหารจะตั้งใจทำงานจริง นอกจากนี้ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือจำนวนของผู้ถือหุ้นรายย่อย (ดูได้ที่ "% /จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย" อยู่ด้านล่างของ "ลักษณะธุรกิจ") ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวนมากเช่น เกินร้อยละ 50 หรือ 70 ก็จะเหลือหุ้นสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นจำนวนไม่มากนัก บริษัทที่มีร้อยละของการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่มาก (%free float ต่ำ) เวลาผลประกอบการออกมาดีหรือบริษัทมีอนาคตที่ดีราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะมีจำนวนหุ้นหมุนเวียนเหลืออยู่ในตลาดน้อยดังนั้นเมื่อต้องการได้ก็ต้องสู้ราคากันหน่อยราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้ไม่ยากไม่เหมือนหุ้นที่มีรายย่อยถึงอยู่มากๆ เวลาหุ้นจะขึ้นก็ถูกขายทำกำไรสวนลงมาบ่อยๆ

ผู้บริหาร

ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าคนในบริษัทหรือผู้บริหารมีส่วนสำคัญแทบจะที่สุดในการนำพาธุรกิจเจริญรุ่งเรืองหรือย่ำแย่ลงในโลกปัจจุบันนี้ธุรกิจหนึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยการค้าขายหรือผลิตสินค้าอย่างหนึ่งแต่เมื่อเวลาผ่านไปบริษัทนั้นอาจจะ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทำธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็เปลี่ยนชื่อบริษัทสุดท้ายกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับตอนที่เริ่มต้นได้ ในหน้าสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนที่ "คณะกรรมการ" จะมีรายชื่อของผู้บริหารบริษัทเริ่มต้นตั้งแต่ ประธานกรรมการ / กรรมการผู้จัดการของบริษัท จนถึงกรรมการตรวจสอบ เราก็ลองดูรายชื่อว่าเป็นเจ้าของเก่าหรือไม่ (ถ้าเป็นน่าจะดี) เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือเปล่า หรือเป็นบุคคลที่บริษัทเชิญมาช่วยในการบริหาร (อาจจะดีกว่าก็ได้) แต่ถ้าเจอรายชื่อที่ไม่น่าไว้ใจหลายรายชื่ออยู่ในส่วนนี้ก็อาจจะต้องคิดพิจารณาให้ดีสักนิดว่าเราควรจะให้ความไว้ใจในการบริหารงานหรือไม่

ผู้สอบบัญชี

ส่วนนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจว่าคุณภาพของการสอบบัญชีของบริษัทถูกให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใดลองดูว่าผู้สอบบัญชีของบริษัทเป็นรายใหญ่ที่ได้รับความเชื่อถือสามหรือสี่อันดับแรกหรือไม่ (PwC, Ernst & Young, KPMG, Deloitte) ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าถ้าบริษัทใช้ผู้สอบบัญชีอื่นนอกเหนือไปจากผู้สอบบัญชีที่มีชื่อเสียงดังกล่าวแล้วจะไม่น่าเชื่อถือนะครับ แต่ก็บอกอะไรๆ ได้หลายอย่าง (เช่น ยอมจ่ายแพงเพื่อความถูกต้องหรือความเห็นที่ดีหรือไม่ เป็นต้น)

อัตราผลตอบแทนและการจ่ายปันผล

ส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่หลายหลายคนให้ความสนใจก็คือเมื่อเราถือหุ้นบริษัทเพื่อการลงทุนแล้วเราจะได้ผลประโยชน์อะไรบ้างนอกเหนือไปจากราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้อยู่ในส่วนของ "อัตราผลตอบแทนและการจ่ายปันผล" เราสามารถดูได้ว่าบริษัทมี นโยบายเงินปันผล เป็นอย่างไร ที่ผ่านมามี อัตราผลตอบแทน เป็นร้อยละเท่าใด ที่จริงแล้วก็คือตัวเลขที่ลอกมาจากสรุปงบการเงินและผลประกอบการของบริษัทนั่นเอง สิ่งที่เราควรดูตรงนี้ก็คือการเติบโตของเงินปันผลและอัตราปันผล ควรเติบโตขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่าอัตราร้อยละของปันผลจะเทียบกับราคาหุ้น ณ วันสิ้นปีนั้นๆ ไม่ใช่กับราคาหุ้นปัจจุบันนะครับ ดังนั้นตัวเลขร้อยละของปันผลที่สูงมากๆอาจจะเป็นเพราะราคาหุ้น ณ วันสิ้นปีนั้นๆ ต่ำผิดปกติหรือในทางกลับกันอัตราร้อยละของปันผลที่ต่ำก็อาจจะเป็นเพราะราคาหุ้น ณ วันสิ้นปีสูงผิดปกติก็ได้อีกเช่นกัน

ดูงบการเงินคร่าวๆ

ปกติแล้วเวลาผมดูงบการเงิน จะแยกการดูออกเป็นสองอย่างคือ ส่วนของบริษัทเองว่าดีหรือไม่ และ ราคาหุ้นถูกหรือแพงกว่ามูลค่าที่แท้จริง  ส่วนของบริษัทที่ดูคือ
  • ยอดขายเพิ่มขึ้นหรือไม่ เทียบกับคู่แข่งแล้วเป็นอย่างไร
  • อัตรากำไรขั้นต้นเป็นเท่าไร เมื่อเวลาผ่านไป อัตรากำไรลดหรือเพิ่มขึ้น ข้อนี้สำคัญมากรองจากยอดขาย แต่ตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้นเราต้องคำนวณหาเองจาก ((ยอดขาย - ต้นทุนขาย) / ยอดขาย) x 100 ส่วนอัตรากำไรสุทธิคือ ((กำไรสุทธิ - ยอดขาย) / ยอดขาย) x 100 ได้ตัวเลขเป็นร้อยละ บริษัทที่ควรสนใจมีสองประเภทคือ มีตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้นสูงมาก (เช่น มากกว่า 35%) เพราะแสดงถึงการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด (ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อย) กับอีกประเภทหนึ่งคือมีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 10-15% แล้วเหลืออัตรากำไรสุทธิเพียง 4-5% ในขณะที่มียอดขายสูงมาก (เป็นหมื่นล้านบาท) และเป็นผู้นำ บริษัทประเภทที่สองนี้จะมีคู่แข่งใหม่น้อย เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามา เนื่องจากถ้าไม่สามารถทำยอดขายได้สูงขนาดนั้นคงขาดทุน (สู้ค่าใช้จ่ายคงตัวไม่ไหว)
  • ROA (อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์), ROE (อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น) เป็นเท่าไร โดยถ้า ROE สูงกว่ามากให้ระวังว่าบริษัทมีหนี้สินมาก (ส่วนมากผมมักมอง ROE มากกว่า 18% ขึ้นไป) ก็ไปดูอีกทีว่า กำไร EBITDA นั้นเป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยเงินกู้ ถ้ามากกว่าหลายเท่าก็คงสบายใจได้เปราะหนึ่ง
  • Cash Flow เป็นสิ่งที่ไม่มีในหน้าผลประกอบการตามปกติ แต่อยู่ในหน้า Fact Sheet นี้ ตามหลักการคือ บวก ลบ ลบ แต่ก็ต้องดูประกอบในแต่ละปีที่ผ่านไปว่า บางปีที่ไม่ใช่แบบนั้นอาจจะมีความจำเป็นในการลงทุนธุรกิจบางอย่างหรือไม่ นั่นหมายความว่า Cash Flow อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็น บวก ลบ ลบ เสมอไปก็ได้ แต่เราต้องเข้าใจมันให้ได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
  • อัตรากำไรต่อหุ้น ควรมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และต้องสัมพันธ์กับยอดขายด้วย ถ้าเกิดยอดขายตกแต่กำไรมาก ต้องหาให้พบว่าทำไม กำไร (ที่มักจะ) พิเศษนั้นมาจากไหน และ หักออกไปจากการดูแนวโน้ม
  • ทุนหมุนเวียน คือ ทรัพย์สินหมุนเวียน ลบด้วย หนี่สินหมุนเวียน ตัวเลขนี้นักลงทุนมักไม่ค่อยดูกัน แต่ผมให้ความสำคัญมากเพราะมันบอกง่ายๆ ว่า บริษัทมีของที่จะได้มาซึ่งรายได้ในระยะสั้น มากกว่าที่โดนไล่ทวงหนี้อยู่เท่าไร ซึ่งทำให้ตัวเลขนี้แสดงความสามารถในการดำเนินงานในระยะปัจจุบันได้ดี บริษัทที่มีทุนหมุนเวียนเป็นบวก และมีมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมด แสดงว่ามีความสามารถในการเอาทรัพย์สินมาสร้างผลกำไรได้ดี และทำงานได้อย่างสบายใจกว่าบริษัทที่มีทุนหมุนเวียนติดลบอย่างแน่นอน
  • ดู หนี้สิน สักหน่อย ตรงนี้ผมใส่เป็นตัวเอียงเพราะผมมักจะดูด้วยเสมอว่า บริษัทมีหนี้สินไม่หมุนเวียนแค่ไหน จะต้องทำงานใช้หนี้สน่วนนี้นานเท่าไรจึงหมดไป ให้เอา "หนี้สินไม่หมุนเวียน" หารด้วย "กำไรสุทธิ" ในปีนั้นๆ (หรือ 4 ไตรมาสล่าสุด) คำนวณออกมาได้เป็นจำนวนปี บริษัทที่ดีจะสามารถใช้หนี้สินไม่หมุนเวียนนี้ได้ในเวลา 3-5 ปีเท่านั้น
ในส่วนของราคาหุ้นนั้น คงต้องเอาทั้งหมดไปคำนวณก่อนว่าราคาเหมาะสมเป็นเท่าไร แล้วจึงตัดสินใจได้

กราฟเล็กๆ อย่ามองข้ามไป
กราฟบอกการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น และเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์


ในหน้า Fact sheet มีกราฟเล็กๆ แสดงแนวโน้มของราคาหุ้นนั้นๆ เทียบกับดัชนีตลาด กราฟนี้จะบอกเราสองอย่างที่สำคัญมากคือ ราคาหุ้นตามดัชนีหรือไม่ ตามแค่ไหน และเราควรคิดต่อเองได้ว่าทำไม นอกจากนั้นยังพอบอกเราได้ว่า ราคาที่ถ้าเราตัดสินใจซื้อตอนนี้จะ ได้หรือเสียเปรียบคนอื่นที่ซื้อก่อนหน้าเราไปสัก 6 เดือนด้วย

ข่าวเกี่ยวกับบริษัทและผลประโยชน์

ปกติแล้วถ้าเราอยากหาข่าว ประกาศ หรือ การจ่ายปันผลหรือผลประโยชน์อื่น (เช่น การรวบรวมรายชื่อเพื่อเข้าประชุม, การได้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิต่างๆ เป็นต้น) เราต้องไปดูจากหลายที่ แต่ทั้งหมดถูกรวมไว้ในหน้า Fact Sheet นี้ด้วย

ที่พูดถึงมาข้างต้นนั้นเป็นส่วนที่มักจะนอกเหนือจากการดูงบการเงินปกติ หรือเป็นสิ่งที่เห็นได้จาก Fact Sheet มากกว่าจากที่อื่น นั่นหมายความว่ายังมีสิ่งอื่นๆ เช่น P/BV, P/E, การเติบโตหรือ Glowth ที่เราควรดูด้วยซึ่งหลายอย่างก็อยู่ใน Fact Sheet นี้ด้วย ก็เรียกได้ว่า สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน หรือ Fact Sheet เป็นสรุปสิ่งต่างๆ ของบริษัทฉบับย่อให้เราได้ดู ได้มองเห็น และถ้าเราดูเป็น จะช่วยให้มองเห็นภาพการลงทุนกับบริษัทหนึ่งๆ ได้ง่ายขึ้นเลยเชียวครับ